กลุ่ม "PTT Oil Spill Watch" เปิดแคมเปญล่ารายชื่อ เสนอตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบเหตุน้ำมันรั่วของ ปตท. ในอ่าวระยอง ล่าสุดได้กว่าพันรายชื่อแล้ว
ในเว็บไซต์ change.org กลุ่ม "PTT Oil Spill Watch"หรือ "กลุ่มติดตามน้ำมัน ปตท. รั่ว" ได้มีการตั้ง แคมเปญรณรงค์ออนไลน์เพื่อเรียกร้องนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้บริหารบริษัท ปตท. ให้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบกรณีน้ำมันดิบของบริษัทพีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) ไหลลงสู่อ่าวไทย โดยระบุให้มีองค์ประกอบในคณะกรรมการ ประกอบด้วยตัวแทนอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกกฎหมาย และภาคประชาชน โดยชี้ว่า คณะกรรมการตรวจสอบที่พีทีทีจีซีตั้งขึ้นมาเองนั้น อาจไม่สามารถสร้างความกระจ่างในกรณีนี้ได้ เนื่องจากเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง (อ่านต่อ)
ล่าสุด เวลา 13.50 น. วันนี้ (7 ส.ค.) การรณรงค์ดังกล่าว มีคนร่วมลงชื่อกว่า 1,440 รายชื่อแล้ว
000
ตั้งกรรมการอิสระตรวจน้ำมันรั่ว ปตท.
ถึง:
นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, นายกรัฐมนตรี
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
นายวิชิต ชาตไพสิฐ, ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง
นายวิชัย พรกีรติวัฒน์, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้น และก๊าซธรรมชาติ
นายชาครีย์ บูรณกานนท์, ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร, ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่
นายณัฐชาติ จารุจินดา, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย
นายสุรงค์ บูลกุล, ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน
นายสรัญ รังคสิริ, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจน้ำมัน
นายสรากร กุลธรรม, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์, รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลยุทธ์องค์กร
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
น้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (พีทีทีจีซี) จำนวนมหาศาลที่รั่วไหลสู่อ่าวไทย ได้ทิ้งคราบปนเปื้อนบนเกาะเสม็ดโดยเฉพาะอ่าวพร้าว รวมถึงชายฝั่งของระยองมานานกว่า 1สัปดาห์ กำลังค่อยๆ จางหายไปพร้อมไปกับความจริงและสาเหตุของเรื่องราวที่เกิดขึ้น
หายนะครั้งนี้ไม่ได้สร้างความเสียหายต่อธุรกิจการท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังก่อความเสียหายอย่างรุนแรงต่อสภาพแวดล้อม แหล่งอาหาร ทรัพยากร และระบบนิเวศในทะเลอ่าวไทย ไปอีกอย่างน้อยหลายสิบปี
พีทีทีจีซี และ ปตท. ยืนยันจะรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น แต่ความเสียหายทั้งหมดที่แท้จริงซึ่งผู้ก่อมลพิษจะต้องรับผิดชอบคือเท่าไหร่กันแน่
การนำเสนอข่าวสารจากพีทีทีจีซี และ ปตท. สร้างความสับสน ข้อมูลจำนวนมากยังคงถูกตั้งคำถามจากหลายฝ่าย อาทิ ปริมาณที่แท้จริงของน้ำมันดิบที่รั่วไหลสู่ทะเล ชนิดและปริมาณของสารเคมีที่ใช้ในการสลายคราบน้ำมัน ผลกระทบและอันตรายทั้งจากน้ำมันดิบที่รั่วไหลและสารเคมีที่นำมาใช้ ขั้นตอนในการป้องกันและระงับเหตุเพื่อลดผลกระทบ เป็นต้น
ด้วยเหตุดังที่กล่าวมา กลุ่มเครือข่ายประชาสังคมและประชาชน จึงขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง” อย่างเร่งด่วน
คณะกรรมการตรวจสอบที่แต่งตั้งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม โดย พีทีทีจีซี ซึ่งเป็นทั้งผู้ก่อเหตุเองและมีส่วนได้เสียโดยตรง จะไม่สามารถสร้างความกระจ่างให้กับเรื่องนี้ได้ พวกเราจึงเรียกร้องให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่มีการดำเนินงานที่เปิดเผยโปร่งใสตรวจสอบได้ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เข้ามาดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง องค์กระกอบของคณะกรรมการจะต้องมีตัวแทนจากอย่างน้อยจาก 5 ฝ่าย ได้แก่ ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคกฎหมาย และภาคประชาชน
เมื่อปี 2552 ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. เป็นต้นเหตุของการเกิดน้ำมันรั่วจากหลุมขุดเจาะที่แหล่งมอนทารา นานกว่า 74วัน เป็นการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่นขุดเจาะกลางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดของออสเตรเลีย เป็นเหตุให้ศาลของออสเตรเลียสั่งปรับไปกว่า 8,946ล้าน บาท รวมทั้งเซ็นสัญญาให้เงินสนับสนุนการวิจัยเพื่อติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมหลังจากเกิดเหตุแก่คณะนักวิทยาศาตร์อิสระที่มอบหมายโดยรัฐบาลออสเตรเลียอย่างต่อเนื่องอีก 2 – 5 ปี
ในครั้งนั้น ปตท. ประเมินว่ามีการรั่วไหลเพียง 4.5ล้านลิตร แต่รัฐบาลออสเตรเลียได้ตั้งคณะกรรมอิสระขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริง และประเมินว่าอาจมีน้ำมันรั่วถึง 34ล้านลิตร คณะกรรมการอิสระชุดนี้มีส่วนทำให้ ปตท. ต้องเสียค่าปรับ และจ่ายค่าทำความสะอาดเหมาะสมตามความเป็นจริง
เหตุการณ์น้ำมันรั่วครั้งเดียวกันนี้ ได้ส่งผลกระทบต่อนิเวศน์ทางทะเลและชาวประมงในประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งทางรัฐบาลอินโดนีเซียเรียกร้องค่าชดเชยเป็นเงิน 75,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากไม่มีกลไกอิสระในการสืบสวน ทำให้ ปตท. สผ. ออสตราเลเซีย ออกมาปฏิเสธความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นในน่านน้ำอินโดนีเซีย และจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีการจ่ายค่าชดเชยใดๆ
เป็นบทเรียนที่ทำให้เราเห็นความสำคัญของการมีคณะกรรมการที่เป็นอิสระเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริง
มีเหตุการณ์น้ำมันรั่วในประเทศไทยที่ประชาชนไม่ทราบ หรือไม่ได้เป็นข่าวนับครั้งไม่ถ้วน ขอให้ครั้งนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมกันเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่งตั้งคณะกรรมการอิสระที่ปลอดพ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อน และเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมดำเนินการหาความจริง
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai