สืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.50 ซึ่งมีประชาชนหลายร้อยคนชุมนุมหน้ารัฐสภา เรียกร้องให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หยุดการออกกฎหมายแบบเร่งด่วน โดยมีประชาชนกว่าร้อยคนปีนรั้วรัฐสภาเข้าไปนั่งหน้าห้องประชุม ต่อมา เอ็นจีโอ 10 คนถูกฟ้องฐานยุยงให้ประชาชนกระด้างกระเดื่อง มั่วสุมก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และบุกรุกโดยใช้กำลังประทุษร้าย
ล่าสุดวันนี้ (28 มี.ค.56) ศาลอาญา รัชดา ตัดสินว่าจำเลยมีความผิดฐานชุมนุมมั่วสุม บุกรุก ใช้กำลังประทุษร้าย ส่วนข้อหากบฏ ล้มล้างขัดขืนไม่ให้มีการออกกฎหมายนั้นให้ยกฟ้อง ตัดสินให้ลงโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 ซึ่งถือเป็นผู้นำการชุมนุม จำคุก 2 ปี ปรับ 9,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 5, 6, 9, 10 จำคุก 1 ปี ปรับ 9,000 บาท
แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา เป็นเหตุให้ลดโทษ จำเลยที่ 1-4, 7, 8 เหลือจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 6,000 บาท จำเลยที่ 5, 6, 9, 10 ลดโทษเหลือจำคุก 8 เดือน ปรับ 6,000 บาท และเนื่องจากจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อนและการกระทำการครั้งนี้เพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง ให้รอการลงโทษ 2 ปี
คดีดังกล่าว ศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.53 เป็นคดีดำที่ อ.4383/2553 พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้องว่า ผู้ชุมนุมละเมิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 กระทำการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดินหรือรัฐบาล สร้างความปั่นป่วน กระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน, มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง, มาตรา 362 เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น, มาตรา 364 เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควรและไล่ไม่ยอมออก, มาตรา 365 ใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายในการกระทำตามมาตรา 362, 364
ศาลพิพากษาว่าจำเลยทั้ง 10 ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยระบุว่า ผู้ชุมนุมใช้เสรีภาพในการชุมนุมและแสดงความเห็นโดยสันติวิธี แม้ต่อมาจะมีการปีนรั้วอาคารรัฐสภาและเข้าไปชุมนุมหน้าห้องประชุมสภา สนช.โดยจำเลยที่ 1-6, 8-10 ร่วมในปฏิบัติการดังกล่าวด้วย แต่ไม่ได้มีพยายามระบุชัดว่าจำเลยยุยง สั่งการให้ผู้ชุมปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภา และจากหลักฐานวีซีดีไม่ปรากฏภาพเหตุการณ์ว่ามีการปราศรัยดังกล่าว อีกทั้งโจทก์ ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยทั้ง 10 เตรียมบันไดและเหล็กครอบกันเหล็กแหลมเพื่อปีนรั้วรัฐสภา แต่เป็นเหตุการณ์เฉพาะหน้า และเป็นการตัดสินใจของผู้ชุมนุม อีกทั้งมีผู้ชุมนุมจำนวนมากที่ไม่ได้ปีนเข้าไปในรัฐสภา
ส่วน ข้อกล่าวหามั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เข้าไปในเคหะสถานโดยไม่มีเหตุอันควร และใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่ว่าจะประทุษร้ายนั้น ศาลพิจารณาว่า แม้การชุมนุมจะเป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ ที่เปิดให้มีการชุมนุมอย่างสงบ ปราศจากอาวุธ อยู่ในกรอบของกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น โดยการใช้สิทธิเสรีภาพต้องสมดุลกับสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นด้วย
การชุมนุมดังกล่าวถือเป็นการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งต้องไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น การที่ผู้ชุมนุมใช้โซ่ล่ามประตู มีผู้ชุมนุมกว่า 100 คน ปีนบันได้เข้ามาบริเวณอาคารรัฐสภา และมีการผลักดันกับเจ้าหน้าที่รัฐสภาเพื่อเข้าไปหน้าห้องประชุม นั้นถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้ายอยู่แล้วในตัว อีกทั้งการเข้าออกรัฐสภาซึ่งเป็นสถานที่ราชการต้องขออนุญาต ไม่ใช่สถานที่ที่จะทำอะไรก็ได้ตามอำเภอใจ การเข้าเป็นในรัฐสภาของผู้ชุมนุมจึงถือเป็นการละเมิดสิทธิครอบครองพื้นที่ของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ไม่ใช่การชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป เพราะเป็นการใช้สิทธิละเมิดผู้อื่นเกินสมควร
กรณีนี้ที่มีการเบิกความว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นไปเพื่อยับยังการออกกฎหมาย 11 ฉบับของ สนช.ซึ่งได้พยายามคัดค้านในทุกวิถีทางแล้วไม่ประสบผล ศาลเห็นว่า การพิจารณากฎหมายย่อมมีผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และผู้ชุมนุมมีเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อเสนอข้อเรียกร้องต่อสาธารณะ สื่อมวลชน และ สนช.ให้รับทราบ แต่จะเห็นด้วย หรือทำตามหรือไม่นั้นเป็นสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งผู้ชุมนุมได้แสดงออกแล้วไม่จำเป็นต้องปีนรั้วรัฐสภา
การปีนรั้วเข้าไปในอาคารรัฐสภาเพื่อให้ สนช.ทำตามความเห็นนั้นเป็นการใช้สิทธิเกินสมควร ละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การทำให้รัฐปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญนั้น ต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่ใช่ใช้กำลังโดยพลการ
ส่วนประเด็นที่ว่า สนช.ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบด้วย ข้าราชการ ทหาร ตำรวจ และนักธุรกิจ และมีส่วนน้อยที่มาจากภาคประชาชนจะไม่ใส่ใจในการพิจารณาออกกฎหมาย และพิจารณาผ่านกฎหมายโดยไม่ครบองค์ประชุม ศาลพิจารณาว่า รัฐธรรมนูญให้ สนช.ทำหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่และประชุมสภานัดแรก การพิจารณาว่า สนช.มีการพิจารณาผ่านกฎหมายโดยครบองค์ประชุมหรือไม่นั้นศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่อยู่แล้ว ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จำเลยที่ 1-6 และ 8-10 ต้องเข้าไปในรัฐสภา
ศาลตัดสินให้จำเลยทั้ง 10 มีความผิดตาม มาตรา 215 มั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง จำเลยที่ 1-6 และ 8-10 มีความผิดตาม มาตรา 362 มาตรา 364 และมาตรา 365
แฟ้มภาพ 12 ธ.ค.50
จอน อึ๊งภากรณ์ จำเลยที่ 1 กล่าวหลังทราบคำตัดสินว่า เชื่อว่าการชุมนุมครั้งนี้ทุกคนทำไปโดยจิตสำนึกที่ดี ส่วนตัวคิดว่าจะมีการอุทธรณ์แน่นอน แต่คงต้องปรึกษาหารือกันก่อน ทั้งนี้ มีความกังวลต่อผลของคำพิพากษา ซึ่งมีการตีความเรื่องผลักดันกันไปมาบริเวณประตูว่าเป็นเหตุประทุษร้าย เพราะการชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วโลก การผลักดันกันไปมาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ และจากการชุมนุมท่อก๊าซไทย-มาเลย์ในลักษณะเดียวกันก็มีการตัดสินแล้วว่าผู้ชุมนุมไม่มีความผิด จึงเป็นห่วงว่า คำว่า "การใช้กำลังประทุษร้าย"จะถูกขยายความและเอามาใช้กับผู้ชุมนุมโดยทั่วไป ซึ่งจริงๆ แล้วในระดับโลก การผลักดันกันไปมาอยู่ในระดับการชุมนุมโดยสันติวิธี
อนิรุทธ์ ขาวสนิท จำเลยที่ 5 กล่าวว่า พอใจในผลการตัดสินคดีระดับหนึ่ง เพราะมีการระบุโทษหนัก-เบา โดยดูตามสถานการณ์และอำนาจหน้าที่ ส่วนจะเป็นบทเรียนให้การชุมนุมครั้งต่อไปรอบคอบมากขึ้นหรือไม่นั้นกำหนดไม่ได้ เพราะการชุมนุมขึ้นอยู่กับสถานการณ์
อนิรุทธ์ กล่าวด้วยว่า การชุมนุมครั้งนี้ ทุกคนมาชุมนุมเพื่อความถูกต้อง เป็นไปโดยสมัครใจ เพราะกฎหมายที่จะเกิดขึ้นจาก สนช. มีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริง ส่วนตัวเป็นเกษตรกร ซึ่งต่อสู้เรื่องทรัพยากร การออกกฎหมายเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำในขณะนั้น ทำให้ห่วงว่า อาจมีผลกระทบต่อชาวนาจนต้องซื้อน้ำมาทำนา และยังมีกฎหมายที่น่ากลัวอย่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงภายในฯ ด้วย
ไพโรจน์ พลเพชร จำเลยที่ 8 กล่าวว่า ผลของคดีนี้ เป็นการต่อสู้ของแนวความคิดสองแนวความคิดคือเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการไม่เห็นด้วยกับการกระทำอันไม่ชอบ กับแนวความคิดเรื่องความมั่นคง ซึ่งศาลยังให้น้ำหนักกับเรื่องความมั่นคงมากกว่า มองเรื่องความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก
ต่อการสู้คดีครั้งนี้ ไพโรจน์ กล่าวว่า ส่วนตัวที่ต้องเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดี คิดว่าการต่อสู้เพื่อพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ ต้องมีการสูญเสียสิทธิเสรีภาพบางอย่างอยู่แล้ว ถือเป็นเรื่องปกติของกระบวนการพัฒนาสิทธิมนุษยชน เราก็ได้มีการชั่งน้ำหนัก ไม่ได้ต้องการปกป้องสิทธิของตัวเอง แต่ต้องการปกป้องผลประโยชน์ส่วนรวม
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวผลของคดียังไม่มีผลกระทบกับตำแหน่งหน้าที่เพราะคดียังไม่ถึงที่สุด คิดว่าคงมีการอุทธรณ์แน่นอน แต่ต้องดูรายละเอียดก่อน
ทั้งนี้ จำเลยทั้ง 10 คนในคดีนี้ ประกอบด้วย
จำเลยที่ 1 จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.)
จำเลยที่ 2 สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จำเลยที่ 3 ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ
จำเลยที่ 4 พิชิต ไชยมงคล กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 5 อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว
จำเลยที่ 6 นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
จำเลยที่ 8 ไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จำเลยที่ 9 สารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
จำเลยที่ 10 สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กสทช.
จำเลยที่ 2 สาวิทย์ แก้วหวาน แกนนำสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
จำเลยที่ 3 ศิริชัย ไม้งาม ประธานสหภาพพนักงานรัฐวิสาหกิจการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อดีตแกนนำรุ่นที่สองของกลุ่มพันธมิตรฯ
จำเลยที่ 4 พิชิต ไชยมงคล กรรมการบริหารพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 5 อนิรุทธ์ ขาวสนิท เกษตรกรนักเคลื่อนไหว
จำเลยที่ 6 นัสเซอร์ ยีหมะ อดีตหัวหน้าสำนักงานพรรคการเมืองใหม่
จำเลยที่ 7 อำนาจ พละมี รองเลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
จำเลยที่ 8 ไพโรจน์ พลเพชร ปัจจุบันเป็นกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ขณะเกิดเหตุเป็นรองประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) อดีตเคยเป็นประธานสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
จำเลยที่ 9 สารี อ๋องสมหวัง นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิเพื่อผู้บริโภค ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
จำเลยที่ 10 สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง กสทช.
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai