ที่ประชุม กสทช. มีมติ 8 ต่อ 3 เห็นชอบประกาศเกณฑ์ประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง คาด 2 สัปดาห์ประกาศใช้ เข้าสู่การประมูลใน ต.ค.-พ.ย.นี้
(17 ก.ค.56)ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่างประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการทางธุรกิจระดับชาติ หรือการประมูลทีวีดิจิตอลประเภทธุรกิจ 24 ช่อง โดยให้นำข้อสังเกตของกรรมการ กสทช. อาทิ การครองสิทธิ์ข้ามสื่อ การจัดทำแผนตาราง (Platform) การใช้คลื่นความถี่ระหว่างคลื่นโทรคมนาคมกับคลื่นวิทยุโทรทัศน์ที่ทับซ้อนกันให้เกิดความชัดเจน และใช้ประโยชน์คลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพนำไปประกอบการพิจารณาด้วย จากนั้นจะนำร่างประกาศดังกล่าว ไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับต่อไป คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า และจะเข้าสู่การประมูลทีวีดิจิตอลได้ในช่วง ต.ค.-พ.ย.2556
"การพิจารณาร่างประมูลดิจิตอลครั้งนี้ ด้วยมติ 8 ต่อ 3 โดย 3 เสียงขอสงวนความเห็น เพราะมีบางเรื่องเห็นด้วยและบางเรื่องไม่เห็นด้วย ได้แก่ นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ ส่วนประเด็นการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ นายสุทธิพล ทวีชัยการ เป็นผู้หยิบมาหารือในที่ประชุม เนื่องจากมีกรรมาธิการหลายคนฝากถามประเด็นดังกล่าว ซึ่งบอร์ดก็ได้ฝากเป็นข้อสังเกตแล้ว แต่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ยืนยันว่าไม่มีผลกระทบ เนื่องจากจะมีการออกประกาศเพื่อกำกับการดูแลอยู่แล้ว ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างดังกล่าว คาดว่าจะมีความชัดเจนก่อนการประมูลทีวีดิจิตอลอย่างแน่นอน"
ฐากร กล่าวต่อว่า ประเด็นการครองสิทธิ์ข้ามสื่อนั้นเป็นการดำเนินการตามมาตรา 31 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันการผูกขาดและการครอบงำกิจการในลักษณะที่เป็นการจำกัดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ซึ่งปัจจุบันสื่อมีการผสมผสานกันแล้ว ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการกำกับการดูแลที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์สาธารณะ และยืนยันว่าสื่อสิ่งพิมพ์ สามารถเข้าร่วมประมูลทีวีดิจิตอลได้อย่างแน่นอน และจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด
นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้เห็นชอบความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ และระยะเวลาการถือครองคลื่นความถี่โทรทัศน์ และการคืนความถี่ที่ถือครองอยู่ในปัจจุบัน โดยสถานีโทรทัศน์ช่อง 5 และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทยหรือช่อง 11 จะเสนอแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบการประกอบกิจการทีวีจากระบบอะนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลภายใน 5 ปี จากเดิม 10 ปี ส่วนสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส จะเสนอแผนปรับเปลี่ยนทีวีจากระบบอะนาล็อกไปสู่ดิจิตอลภายใน 3 ปี แต่ปัจจุบันคลื่นความถี่ของไทยพีบีเอสจะสิ้นสุดในเดือนเม.ย.2557 ดังนั้นไทยพีบีเอส มีสิทธิ์ที่จะขอใช้คลื่นความถี่ไปจนกว่าการเปลี่ยนผ่านระบบทีวีดิจิตอลจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ต้องไม่เกิน 3 ปี
สำหรับการประมูลทีวีดิจิตอล 24 ช่อง แบ่งเป็น ประเภทวาไรตี้ทั่วไป ความคมชัดสูง (เอชดี) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูลช่องๆ ละ 1,510 ล้านบาท เคาะครั้งละ 10 ล้านบาท ประเภทวาไรตี้ทั่วไป ความคมชัดมาตรฐานทั่วไป (เอสดี) 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูลช่องละ 380 ล้านบาท เคาะครั้งละ 5 ล้านบาท ประเภทข่าวและสาระ 7 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูลช่องละ 220 ล้าน เคาะราคาครั้งละ 2 ล้าน และประเภทเด็ก 3 ช่อง ราคาเริ่มต้นประมูล 140 ล้านบาท เคาะครั้งละ 2 ล้านบาท
ด้าน ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า ขณะนี้คณะอนุกรรมการส่งเสริมแข่งขัน อยู่ระหว่างการออกประกาศการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ ว่าจะมีรายละเอียดลักษณะใดของการครองสิทธิ์ข้ามสื่อ เช่น เจ้าของสื่อสิ่งพิมพ์มีสิทธิ์เป็นเจ้าของสื่อโทรทัศน์ แต่ไม่สิทธิ์เป็นเจ้าของสื่อวิทยุ หรือเป็นเจ้าของสิทธิ์สิ่งพิมพ์และวิทยุ แต่ไม่มีสิทธิ์ในกิจการโทรทัศน์ เป็นต้น ในลักษณะการเป็นเจ้าของกิจการสื่อเพียง 2 ใน 3 เท่านั้น ซึ่งจะเน้นการกำกับดูแลสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่เท่านั้น ส่วนรายละเอียดว่ารายใหญ่มีส่วนแบ่งการตลาดเท่าใดนั้น ก็ยังไม่ได้กำหนดแต่คาดว่าอยู่ในระดับมีส่วนแบ่งการตลาดไม่เกิน 40% สำหรับประกาศการถือหุ้นไขว้นั้น ก็ต้องดำเนินการเช่นกัน โดยคาดว่าทั้ง 2 ประกาศจะมีความชัดเจนใน 1-2 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะต้องแล้วเสร็จก่อนการประมูลทีวีดิจิตอล
"การออกร่างประกาศการห้ามครองสิทธิ์ข้ามสื่อ และการห้ามถือหุ้นไขว้นั้น เป็นไปตามกฎหมายมาตรา 31 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 เพื่อป้องกันการครอบงำในกิจการ เนื่องจากกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ มีผลต่อความคิดของประชาชน และสามารถชักจูงประชาชนได้ ฉะนั้นจึงต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด"ธวัชชัย กล่าว