Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

8 องค์กรทำ MOU เล็งสร้างเกณฑ์กำกับกันเองของเนื้อหาออนไลน์

$
0
0

สพธอ.จับมือ 7 องค์กรเอกชน ตั้งกลุ่ม Making Online Better (MOB) หวังร่างเกณฑ์กำกับดูแลกันเองด้านเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ สื่อห่วง กลายเป็นขยายขอบเขตการเซ็นเซอร์ตัวเอง ไปกว่ากฎหมายกำหนด  


 

(17 ก.ค.56)  สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) แถลงข่าวพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เพื่อการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ระหว่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง 8 องค์กร ได้แก่ สพธอ., มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย , สมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ, สมาคมไทยแลนด์พีเคไอ, สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย, กูเกิล เอเชีย แปซิฟิค, อีเบย์ อินเตอร์เนชั่นแนล เอจีและสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย ภายใต้ชื่อกลุ่ม "Making Online Better" (MOB) หรือ Thai Online Self-regulation Community (TOSC) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการกำกับดูแลตนเองด้านเนื้อหาบนสื่อออนไลน์

ทั้งนี้ เอกสารประกอบการแถลงข่าว ระบุว่า จะมีการดำเนินการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม (Code of Conduct) ในการดูแลเนื้อหาบนสื่ออินเทอร์เน็ต เพื่อให้มีกระบวนการที่ชัดเจนในการจัดการกับเนื้อหาที่อาจกระทบต่อสิทธิของผู้อื่น อันเป็นการผิดต่อกฎหมาย และอาจมีผลกระทบทำให้ผู้ให้บริการต้องรับผิดจากการกระทำของบุคคลที่สาม โดยขอบเขตเนื้อหาที่จะดูแลในระยะแรก ประกอบด้วยเรื่องสื่อลามก ที่เน้นให้ความสำคัญกับสื่อลามกเด็กด้วยมาตรการที่รวดเร็ว การก่อการร้าย ยาเสพติด การหลอกลวง เช่น ฟิชชิ่งและสแปม และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ระบุว่า ที่ผ่านมา มีการเผยแพร่เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมบนออนไลน์ ซึ่งบางครั้งก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง อีกทั้งในการบังคับใช้กฎหมาย ยังมีข้อถกเถียงว่าเนื้อหาแบบใดเหมาะสมหรือไม่ อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการปิดเว็บเป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความเห็นหรือไม่ ซึ่งทั้งผู้ใช้งาน เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เจ้าของเว็บไซต์ ต่างก็มีความเห็นที่ต่างกัน เพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงควรร่วมกันจัดทำเกณฑ์ในการกำกับเนื้อหาบนสื่อออนไลน์ เพื่อทำให้เกิดความเข้าใจที่อยู่บนพื้นฐานหลักการเดียวกัน

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน มีการขายของในเว็บมากขึ้น ภาครัฐก็เริ่มเข้ามากำกับมากขึ้น ทำให้ผู้ให้บริการต้องปรับตัวด้วย โดยยกตัวอย่างว่าเคยมีกรณีที่ผู้ประกอบการเอายาผิดกฎหมายมาขายในเว็บ โดยที่ตัวเองในฐานะผู้ให้บริการก็ไม่รู้ว่ามี เพราะมีของเข้ามาขาย 4,000-5,000 รายการต่อวัน และแม้จะมีการบล็อค แต่ก็ดูได้ไม่หมด จน อย. แจ้งความจะมาจับ ก็ต้องแย้งว่าไม่ใช่คนขาย เป็นเพียงตัวกลาง พร้อมยินดีเอาข้อมูลออกและประสานงานให้ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกับ อย. มีการเผยแพร่ข้อมูลว่าอะไรควรขาย อะไรขายไม่ได้ และตกลงกันว่าถ้าเกิดปัญหา ให้แจ้งมา ผู้ให้บริการแต่ละเจ้าก็จะเอาลงทันที ดังนั้น มองว่าการกำหนดบทบาทให้ชัดเจนว่าเมื่อเกิดปัญหาจะต้องติดต่อใคร ก็จะช่วยปกป้องผู้ให้บริการเอง และช่วยในการขับเคลื่อนธุรกิจ SME ด้วย

ณัฐวรรธน์ สุขวงศ์ตระกูล ผู้เชี่ยวชาญสำนักกฎหมาย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) กล่าวว่า มาตรฐานจริยธรรมฯ นี้จะมีเนื้อหาคู่ขนานกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแก้ร่างฯ โดยมีแนวคิดกันว่า อาจนำไปใส่ในมาตราเรื่องผู้ให้บริการ แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปรวมถึงกรอบเวลาที่ชัดเจน

จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท แสดงความเห็นว่า การกำกับกันเองย่อมดีกว่าให้คนอื่นมากำกับ แต่มีข้อเป็นห่วงว่า จะมีมาตรการแนวทางอย่างไรไม่ให้การกำกับดูแลเป็นการขยายให้แนวทางการเซ็นเซอร์ตัวเองไปไกลกว่าที่กฎหมายกำหนด

ณัฐวรรธน์ ตอบว่า ในต่างประเทศก็มีความกังวลในประเด็นนี้ว่า ผู้ให้บริการอาจเอาเนื้อหาลงทันทีเมื่อได้รับเรื่องร้องเรียน ซึ่งเท่ากับไม่ไตร่ตรองให้ดีก่อนและเป็นการเซ็นเซอร์เนื้อหาให้ภาครัฐหรือไม่ ส่วนตัวมองว่า มีเส้นบางๆ และความเห็นต่างกันอยู่ แต่การจัดทำแนวจริยธรรมนี้ จะยืนอยู่บนฐานของกฎหมาย ซึ่งจะน่าจะทำให้เส้นแบ่งชัดมากขึ้น แต่ก็รับเป็นข้อห่วงใยไว้

กำพล ศรธนะรัตน์ กรรมการสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศ กล่าวถึงแนวทางดำเนินงานว่า ด้านหนึ่งจะเป็น Fast track รับแจ้งเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ขณะเดียวกัน ก็จะกำกับดูแลกันเอง โดยอาจมีเนื้อหาบางแบบที่ระบุชัดในแนวทาง ว่า ในฐานะผู้ให้บริการสามารถพิจารณาเอาออกเองได้โดยที่ไม่ต้องมีคนรับแจ้ง ซึ่งจะช่วยจัดระเบียบสังคมได้

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles