เพจของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ได้โพสต์ขออภัยต่อกรณีปรากฏภาพอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ในป้ายแสดงความยินดีบัณฑิต ระบุอาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของนิสิตที่จัดทำ ขณะที่ยังไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการของผู้บริหารจุฬาฯ
จากกรณีที่ศูนย์ไซมอน วีเซนธาล (Simon Wiesenthal Center) ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนของชาวยิว มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอส แองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ประณามจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจากการใช้รูปภาพอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ เป็นภาพประกอบฉากถ่ายรูปวันรับปริญญา โดยระบุว่ารู้สึก "ไม่พอใจอย่างมาก"และ "รังเกียจ"ที่บุคลากรมหาวิทยาลัยเงียบงันและเฉยเมยต่อการใช้ภาพดังกล่าว (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
โดยอับราฮัม คูเปอร์ นักบวชศาสนายิว ผู้ช่วยคณบดีของศูนย์ไซมอน วีเซนธาลกล่าวว่า "ศูนย์ไซมอน วีเซนธาล รู้สึกโกรธเคืองและรังเกียจอย่างมากต่อการแสดงภาพในที่สาธารณะเช่นนี้ในมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย รูปนี้ยังตั้งแสดงอยู่ใกล้ๆ กับอาคารภาคประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอยู่ด้วย เรารู้สึกไม่พอใจอย่างมากต่อคนที่สร้างภาพล้อเลียนนี้ขึ้นมา และต่อคนที่โพสท่า 'ซีก ไฮล์'ของนาซี และยังเสียใจและรังเกียจความเงียบงันจากชนชั้นนำของมหาวิทยาลัย ที่ล้มเหลวในการให้เอารูปดังกล่าวออก"พร้อมแนะนำด้วยว่าอาจจะถึงเวลาที่มหาวิทยาลัยจะดูเรื่องนี้ เพื่อให้เป็นบทเรียนในการจัดการเรียนการสอนเรื่องการต่อต้านการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ให้แก่ทั้งบุคลากรและนิสิตมหาวิทยาลัย
ล่าสุดเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) เพจของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้โพสต์สเตตัสขออภัยจากกรณีที่เกิดขึ้นว่า
"ในนามของสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต้องขออภัยในความเข้าใจผิดเกี่ยวกับป้ายแสดงความยินดีบัณฑิตใหม่ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระหว่างวันที่ 11-12 กรกฎาคม 2556 ซึ่งปรากฏภาพวาดที่กำลังเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่งภาพวาดนั้นไม่ได้มีจุดประสงค์ในการพาดพิงถึงฝ่ายใดๆ ทั้งสิ้น แต่ทั้งนี้อาจเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของกลุ่มนิสิตที่จัดทำ ซึ่งทางสโมสรนิสิตคณะศิลปกรรมศาสตร์ต้องขออภัยในกรณีที่เกิดขึ้นนี้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม จนถึงขณะนี้ (13 ก.ค.) ยังไม่มีคำชี้แจงหรือท่าทีอย่างเป็นทางการของผู้บริหารของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมถึงคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต่อเหตุการณ์ดังกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2554 ได้เกิดเหตุการณ์คล้ายกันที่โรงเรียนพระหฤทัย จ.เชียงใหม่ เด็กนักเรียนจำนวนหนึ่งได้ใส่ชุดเครื่องแบบทหารนาซีเดินพาเหรดในวันกีฬาสีของโรงเรียน ทำให้เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และฝรั่งเศสประจำเชียงใหม่ เดินทางมาที่โรงเรียนเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วย
เหตุการณ์ดังกล่าวมิได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี 2550 นักเรียนจากโรงเรียนทิวไผ่งาม กรุงเทพฯ กว่า 200 คนแต่งกายเป็นชุดทหารนาซีในงานกีฬาสี พร้อมทั้งเปล่งเสียงคารวะผู้นำฮิตเลอร์เลียนแบบกองทัพนาซีเมื่อ 50 ปีก่อน ทำให้กันยา เขมานันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนทิวไผ่งามในเวลานั้น ต้องทำการขอโทษอย่างเป็นทางการไปยังศูนย์ไซมอน วีเซนธาล