Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ประจักษ์ ก้องกีรติ: 40 ปี 14 ตุลา-40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย

$
0
0

ประจักษ์ ก้องกีรติ อภิปราย "มรดกของ 14 ตุลา"ที่ทิ้งไว้ให้สังคมไทยคือ “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” ชี้ลักษณะ “อีเหละเขะขะ” ของขบวนการ 14 ตุลา ที่ผสมชุดความคิดมั่วไปหมดตั้งแต่ซ้ายใหม่ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เสรีนิยมประชาธิปไตย จนถึงกษัตริย์นิยมด้วย แต่จุดร่วมคือโค่นเผด็จการทหาร ปิดท้ายด้วยขบวนการ "เราจะสู้เพื่อในหลวง"ที่เป็นราชาชาตินิยมล้วน ไม่มีประชาธิปไตยปน 

13 ก.ค. 56 ร้าน Book Re: public จังหวัดเชียงใหม่ จัดเสวนาในหัวข้อ “เสวนาว่าด้วยเรื่องคนเดือนตุลา” โดยมีวิทยากรคือ ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และธงชัย วินิจจะกูล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ดำเนินรายการโดย เวียงรัฐ เนติโพธิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในตอนแรกนี้ ประชาไทนำเสนอคำอภิปรายของ ประจักษ์ ก้องกีรติ ซึ่งได้นำเสนอในหัวข้อ “40 ปี 14 ตุลา 40 ปี ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย”

000

ประจักษ์เกริ่นนำว่าการพูดในหัวข้อนี้ มีเหตุมาจากการจัดพิมพ์ “และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ”เป็นครั้งที่สอง ซึ่งเป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ที่ศึกษาเรื่องขบวนการนักศึกษาในช่วง 14 ตุลาคม 2516 โดยในครั้งนี้ทางผู้จัดพิมพ์อยากให้เขียนบทสะท้อนย้อนคิดเพิ่มเติมขึ้นมา ซึ่งได้นำมาสู่หัวข้อที่ตนจะพูดในวันนี้

ประจักษ์กล่าวว่ามรดกของ 14 ตุลาที่ทิ้งไว้ให้สังคมไทยประการที่สำคัญที่สุดคือ มรดกในแง่อุดมการณ์ โดยเฉพาะอุดมการณ์ที่เรียกว่า “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” โดยขบวนการ 14 ตุลา นักศึกษาประชาชนนั้นไม่ได้มีเอกภาพทางความคิดมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นขบวนการที่ตนเรียกว่ามีลักษณะ “อีเหละเขะขะ” มาก คือมีการผสมกันมั่วไปหมดของอุดมการณ์ความคิดหลากหลายชุด โดยมีตั้งแต่ซ้ายใหม่ สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ เสรีนิยมประชาธิปไตย และรวมถึงอุดมการณ์กษัตริย์นิยมด้วย เพียงแต่มีจุดร่วมกันในเรื่องการโค่นล้มเผด็จการทหาร

อุดมการณ์ชุดอื่นที่เติบโตมาจาก 14 ตุลานั้นได้ล่มสลายไปบ้าง อ่อนแอไปบ้าง เช่น สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ หรืออุดมการณ์เสรีนิยม ซึ่งก็ไม่เคยแข็งแรงในสังคมไทย กลับกลายเป็นว่าอุดมการณ์ที่ตกทอดมาและทรงพลังที่สุด คืออุดมการณ์ “ราชาชาตินิยมประชาธิปไตย” จนกลายเป็นอุดมการณ์ครอบงำหลัก และเป็นเพดานทางความคิดของคนในสังคม เป็นกรอบจำกัดจินตนาการทางการเมือง และเป็นประชาธิปไตยในจินตกรรม (imagined democracy) ที่ทำให้คนในสังคมคิดถึงประชาธิปไตยไม่พ้นจากต้องมีราชาชาตินิยมกำกับ

ประจักษ์กล่าวว่าตนพยายามดูว่าราชาชาตินิยมในบริบทความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน ได้คลี่คลายขยายตัวมาอย่างไร จากการอ่านงานเขียนของหลายๆ คนที่สนับสนุนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ก็ได้พบความต่อเนื่องอย่างน่าสนใจระหว่างขบวนต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ที่ก่อตัวในปี 2548 กับขบวนการ 14 ตุลา โดยเฉพาะในมุมของผู้ที่เคลื่อนไหวเอง เช่น ในงานของสนธิ ลิ้มทองกุล หรือคำนูณ สิทธิสมาน ซึ่งมองกันว่า 19 กันยา คือ 14 ตุลาภาคสอง หรือเป็นการเคลื่อนไหวต่อเนื่องจาก 14 ตุลา ไม่ได้แยกจากกัน ซึ่งไม่ใช่เพียงความต่อเนื่องในตัวบุคคล แต่เป็นความต่อเนื่องในทางอุดมการณ์ ที่เห็นว่าการคัดค้านระบอบทักษิณ เป็นสิ่งเดียวกับที่ขบวนการ 14 ตุลาเคยทำ

แต่ประจักษ์ก็เห็นว่าการเคลื่อนไหวสองครั้งนี้ ไม่ได้มีรายละเอียดที่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่มีลักษณะที่กลายพันธุ์ไประดับหนึ่ง คือมันเปลี่ยนจาก “ราชาชาตินิยมเพื่อประชาธิปไตย” ไปเป็น “ประชาธิปไตยเพื่อราชาชาตินิยม” หรือถ้ามองแบบลบหน่อย อาจจะบอกว่ามันเปลี่ยนไปสู่ “ราชาชาตินิยมที่ไม่มีประชาธิปไตย”

ประจักษ์ย้อนกล่าวถึงหน้าตาของวาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตยตอน 14 ตุลา ซึ่งเริ่มถูกพัฒนามาในช่วง 4-5 ปีก่อนเหตุการณ์ โดยสิ่งที่มันทำก็คือไปรื้อฟื้นอุดมการณ์ “กษัตริย์ประชาธิปไตย” กับรื้อฟื้นสิ่งที่อ.ธงชัยเสนอว่าเป็นอุดมการณ์ “ราชาชาตินิยม” เอาสองอันนี้มาแต่งงานกัน จนเกิดเป็นวาทกรรมใหม่

อุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยนั้น มีแหล่งผลิตสำคัญหลายแหล่ง ได้แก่ งานเขียนสารคดีการเมือง ซึ่งเริ่มประมาณหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 งานเหล่านี้มองคณะราษฏรว่าปกครองอย่างเผด็จการ ในขณะที่ยกย่องรัชกาลที่ 7 ว่าเป็นนักประชาธิปไตยที่แท้จริง ประวัติศาสตร์นิพนธ์แบบนี้มาเฟื่องฟูอย่างมากในยุคของสฤษดิ์ ซึ่งมีการให้จัดทำพระบรมราชานุสาวรีย์ของรัชกาลที่ 7 ให้ประชาชนสักการะบูชาในฐานะที่พระองค์ “ทรงวางรากฐานให้ประชาธิปไตยไทย”

อีกแหล่งหนึ่งคือในนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ซึ่งแม้เป็นนิตยสารที่ก้าวหน้าในหลายมิติ แต่ในมิติหนึ่งก็มีส่วนในการสร้างมรดกบาปเอาไว้ คือการทำให้ปรีดีและคณะราษฎรเป็นผู้ร้าย และมอง 2475 เป็นการชิงสุกก่อนห้าม ขณะที่ฝ่ายรัชกาลที่ 7 เป็นฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งดูน่าเชื่อถือเพราะเป็นนิตยสารปัญญาชนหัวก้าวหน้า ไม่ได้อยู่แค่ในสารคดีการเมืองสมัครเล่นอีกต่อไป หรือแม้แต่สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ผู้ก่อตั้งนิตยสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ในช่วงนั้นก็ได้สร้างความเข้าใจผิดหลายประการต่อคณะราษฎร ซึ่งในช่วงหลังก็พยายามไถ่บาปโดยการฟื้นฟูชื่อเสียงให้ปรีดี

อีกส่วนหนึ่ง คืองานวิชาการ เช่น งานของชัยอนันต์ สมุทวณิช เรื่อง “สัตว์การเมือง” เป็นหนังสือวิชาการรุ่นบุกเบิกเกี่ยวกับ 2475 โดยใช้วาทกรรมชิงสุกก่อนหามเช่นกัน มาทำให้เป็นวิชาการ และใช้ทฤษฎีมาอธิบายให้น่าเชื่อถือหนักแน่น มีเชิงอรรถและเอกสารประวัติศาสตร์อ้างอิง งานนี้มองประชาชนว่ายังไม่พร้อมกับการมีประชาธิปไตย และ 2475 เป็นเพียงการยึดอำนาจของข้าราชการกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่การปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริง หรือเป็นแค่การถ่ายโอนอำนาจจากสถาบันกษัตริย์ไปสู่ข้าราชการ โดยประชาชนไม่มีส่วนร่วม

อีกกลุ่มหนึ่ง คืองานบันทึกความทรงจำโดยอดีตนักโทษการเมืองฝ่ายกษัตริย์นิยม ที่เคยพยายามต่อสู้ในกบฏบวรเดช โดยนำเสนอตัวเองในฐานะเหยื่อของอำนาจเผด็จการของคณะราษฎร โดยเฉพาะการเปรียบเทียบจอมพลป. เป็นฮิตเลอร์และมุสโสลินี พล็อตเรื่องเป็นขาว-ดำ ธรรมะต่อสู้กับอธรรมะ คณะเจ้าสู้กับคณะราษฎร โดยพวกเขาพยายามสู้เอาประชาธิปไตยกลับมาให้ประชาชน แต่ก็พ่ายแพ้ไป

ส่วนสุดท้าย คือการผลิตซ้ำโดยขบวนการนักศึกษาเอง ที่ได้เอาวาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยมาใช้ เพื่อทำลายความชอบธรรมของระบอบถนอม-ประภาส ทำให้เกิดลักษณะที่พิสดาร คือนักศึกษาได้เชื่อมตัวเองกับความเป็นกษัตริย์นิยม รู้สึกว่าตนเองได้แรงบันดาลใจจากอดีตนักโทษการเมืองกษัตริย์นิยม และรัชกาลที่ 7 และกำลังสืบทอดการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ซึ่งถูกขโมยไปโดยกองทัพ มองเห็นถนอมและประภาส เป็นเผด็จการสืบเนื่องมาจากจอมพลป.และคณะราษฎร

งานอย่างของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ถูกนำมาผลิตซ้ำในหนังสือนักศึกษาหลายเล่ม เผยแพร่ความคิดทำนองว่าประชาธิปไตยไทยมีมาตั้งแต่พ่อขุนรามคำแหง หรือหนังสือ “ภัยเขียว” ของนักศึกษาเชียงใหม่ ก็มีส่วนผลิตซ้ำอุดมการณ์กษัตริย์นิยม โดยมองภัยเขียวหรือเผด็จการทหารว่ามีมาตั้งแต่ 2475

วาทกรรมนี้ขึ้นสู่จุดสูงสุดก่อน 14 ตุลา 2-3 ปี ผ่านการนำอุดมการณ์กษัตริย์ประชาธิปไตยไปผูกกับราชาชาตินิยม กลายเป็นวาทกรรมใหม่ ซึ่งกษัตริย์มีสถานะสูงสุด คือเป็นทั้งนักชาตินิยมแบบเก่า ที่ค้ำจุนและปกป้องชาติไทยไว้ บวกกับมิติที่เป็นประชาธิปไตยเข้าไป สถาบันกษัตริย์จึงเป็นทั้งศูนย์รวมจิตใจของคนในชาติ ทั้งในยามที่เผชิญกับภัยคุกคามจากมหาอำนาจภายนอก และเป็นที่พึ่งสุดท้ายในยามที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย เผชิญกับภัยคุกคามภายใน พระองค์จึงเป็นผู้ทั้งรักษาชาติและรักษาประชาธิปไตยเอาไว้

ประจักษ์เปรียบเทียบว่าวาทกรรมนี้นำเสนอรัชกาลปัจจุบันในฐานะรัชกาลที่ 5 บวกกับรัชกาลที่ 7 โดยวาทกรรมชาตินิยมเดิมเชิดชูรัชกาลที่ 5 ในฐานะกษัตริย์ชาตินิยม วาทกรรมกษัตริย์ประชาธิปไตยชูรัชกาลที่ 7 ในฐานะที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน วาทกรรมราชาชาตินิยมประชาธิปไตยนั้นชูรัชกาลที่ 9 ทั้งสองด้านในเวลาเดียวกัน ที่เหนือกว่าทั้งรัชกาลที่ 5 และ 7

วาทกรรมทั้งหมดนี้ไปปรากฏเป็นจริง ในการต่อสู้บนท้องถนนของนักศึกษา 14 ตุลา โดยน่าจะเป็นครั้งแรกที่ขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ชูธงเรื่องราชาชาตินิยมบนท้องถนน เพื่อต่อสู้กับรัฐบาลที่เขามองว่าไม่ชอบธรรม โดยเฉพาะในเอกสารที่กลุ่มนักศึกษานำไปแจกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ วันที่ 13 ตุลาก่อนถูกจับกุม ได้อ้างอิงแรงบันดาลใจพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ยุทธวิธีการต่อสู้ ที่ถูกกำกับด้วยอุดมการณ์ราชาชาตินิยมประชาธิปไตยที่อยู่เบื้องหลัง

รวมทั้งกลายเป็นว่าในตอนจบของเหตุการณ์ 14 ตุลา กลับมาคอนเฟิร์มหรือมาตอกย้ำ ว่าสิ่งที่นักศึกษาคิดหรือเชื่อนั้นเป็นจริง ว่ากษัตริย์กับประชาธิปไตยนั้นเป็นสิ่งเดียวกัน คือกษัตริย์ทรงต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

000

ประจักษ์กลับมากล่าวถึงลักษณะอุดมการณ์ราชาชาตินิยมในปี 2548-49 โดยทบทวนว่าวันแรกที่มีการสวมเสื้อ “เราจะสู้เพื่อในหลวง” โดยคุณสนธิ เมื่อวันที่ 15 ก.ย.48 หลังจากรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ถูกถอดออกจากผังรายการ สโลแกนนี้ถูกชูตั้งแต่ตอนเริ่มต้น ซึ่งในตอน 14 ตุลายังไม่มี

จุดกำเนิดของสโลแกนนี้ ทางวารสาร Positioning ในเครือผู้จัดการ (ธ.ค.48) ได้ไปสัมภาษณ์สนธิ ลิ้มทองกุล ว่าเสื้อนี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร สนธิตอบว่าในหลวงถูกละเมิดพระราชอำนาจไปเยอะ ก็เลยทำ ว่าเราจะสู้เพื่อในหลวง และต้องการให้ถวายพระราชอำนาจคืนให้ในหลวง นัยยะมีแค่นั้น

ส่วนคำนูญ สิทธิสมาน ได้บันทึกว่าตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการชุมนุมในรายการเมืองไทยรายสัปดาห์สัญจร ได้ชูธงสองผืน คือธง “ถวายคืนพระราชอำนาจ” และ “พึ่งพระบารมี” ในรายการครั้งถัดๆ มา ก็มีการนำมวลชนไปถวายสัตย์ปฎิญาณต่อหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ว่าจะร่วมกันทำทุกวิถีทางเพื่อให้เกิดกระบวนการถวายคืนพระราชอำนาจเพื่อการปฏิรูปการเมือง และตามมาด้วยการถวายฎีกาแด่ในหลวง ผ่านสำนักราชเลขาธิการและประธานองคมนตรี ก่อนนำไปสู่การขอนายกฯ พระราชทาน ก็ล้วนเป็นตรรกะที่สืบเนื่องจากธงสองผืนนี้

คำนูญอธิบายต่อว่าสิ่งที่พันธมิตรฯ ทำคือการกลับไปหาหลักการของลัทธิราชประชาสมาศัย ซึ่งม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2515) ได้วางเอาไว้ สนธิเอาหลักการนี้มาปัดฝุ่น โดยเห็นว่าการผูกขาดและฉ้อฉลอำนาจของรัฐบาลทักษิณ จะยุติลงได้ด้วยหลักลัทธิราชประชาสมาศัย หรือ ‘ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน’ อันเป็นหลักนิติธรรมดั้งเดิมของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทางเป็นประมุข โดยมองกลุ่มทุนผูกขาดว่าจะเข้าไปแทรกตรงกลางระหว่างกษัตริย์กับประชาชน เพื่อให้ตนเองเป็นผู้นำใหม่ต่อประชาชน

คำนูญยังเล่าโยงการคัดค้านระบอบทักษิณ เข้ากับการต่อต้านถนอม-ประภาส โดยเปรียบเทียบกรณีการใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศขนคนไปร่วมงานวันเกิดและขึ้นบ้านใหม่ที่เชียงใหม่ ว่าเป็น “ทุ่งใหญ่ดิจิตอล”

รวมทั้งการหยิบคำขวัญของ 14 ตุลา มาแปลง จาก “เอาประชาชนของเราคืนมา” หรือ “เอาเพื่อนของเราคืนมา” ซึ่งถูกใช้เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยนักศึกษาที่ถูกจับ ไปสู่การเรียกร้องด้วยสโลแกน “เอาประเทศไทยของเราคืนมา” และมองการเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ ว่ากำลังสานต่อภารกิจของ 14 ตุลา หรือแม้แต่เข้าใจและอธิบายตนเองว่าเป็น “ลูกเสือชาวบ้านยุคดิจิตอล”

ประจักษ์ยังกล่าวถึงกลุ่มนักวิชาการที่ช่วยกันผลิตสร้างวาทกรรม โดยพยายามสร้างทฤษฎีราชาชาตินิยมประชาธิปไตยให้ทันสมัยมากขึ้น เช่น งานของธีรยุทธ บุญมี ที่เสนอเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องมีคุณธรรม ที่นำโดยสถาบันกษัตริย์, นครรินทร์ เมฆไตรรัตน์ เขียนประวัติศาสตร์ไทยฉบับราชาชาตินิยมประชาธิปไตย หรือเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เสนอนำคุณธรรมมากำกับผู้นำจากการเลือกตั้ง ซึ่งในสังคมไทยรวมศูนย์อยู่ที่พระมหากษัตริย์ โดยเหมือนกับนักวิชาการกลุ่มนี้มีโปรเจกต์ร่วมกัน โดยไม่ได้นัดหมาย ที่พยายามจะสร้างทฤษฎีประชาธิปไตยแบบไทยๆ แบบที่มีคำขยายต่อท้าย

ประจักษ์สรุปว่า “เราจะสู้เพื่อในหลวง” กับขบวนการถวายคืนพระราชอำนาจ ถึงที่สุดเป็นราชาชาตินิยม แบบที่ไม่มีประชาธิปไตย โดยบทความชิ้นหนึ่งซึ่งทางกลุ่มผู้จัดการสรุปการต่อสู้ของตนเอง หลังจากผ่านไป 4 ปีในการชูธง “เราจะสู้เพื่อในหลวง” (10 พ.ย. 52) สรุปว่าสิ่งที่พวกเขาต่อสู้มาเป็นจริง เพราะพวกขบวนการล้มสถาบันฯ นั้นมีอยู่จริง และบุคคลที่อยู่เบื้องหลังก็เป็นนักการเมืองและนักธุรกิจใหญ่ ภารกิจนี้จึงไม่ใช่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย สรุปสั้นๆ สำหรับตัวเขาเองคือเขาสู้เพื่อในหลวง จุดสุดยอดของวาทกรรมการต่อสู้นี้ก็คือขบวนการล้มเจ้า ซึ่งช่วยชี้ให้เห็นว่าสิ่งนี้เป็นภัยคุกคามสถาบันกษัตริย์

พันธมิตรฯ ไม่ได้ใช้ชูวาทกรรมราชาชาตินิยมต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยแบบตอน 14 ตุลา โดยถ้าถนอม-ประภาสเป็นภัยคุกคามประชาธิปไตย ที่ต้องใช้สถาบันฯ มาช่วยต่อสู้ แต่ในตอนนี้สถานการณ์กลับกัน คือสถาบันพระมหากษัตริย์เองนั่นแหละ ที่กำลังถูกคุกคามจากระบอบประชาธิปไตยที่กำลังถูกยึดกุมโดยทุนสามานย์

ถ้า 14 ตุลา เป็นการใช้วาทกรรมราชาชาติเพื่อล้มล้างความชอบธรรมของระบอบเผด็จการทหารและต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย 19 กันยา 2549 ก็คือการล้มล้างประชาธิปไตยเพื่อราชาชาตินิยม ประชาธิปไตยถูกจับแยกออกจากราชาชาตินิยม กลายเป็นขั้วตรงข้าม แล้ววาทกรรมราชาชาตินิยมแบบเดิม ก็ถูกลดทอน เหลือเฉพาะด้านที่เป็นกษัตริย์นิยมกับชาตินิยมเป็นหลัก กลบด้านที่เป็นประชาธิปไตยหายไปหมด

คู่ตรงข้ามที่ถูกสร้างขึ้นเป็นผลผลิตจากขบวนการนี้ คือการแบ่งระหว่างพวกล้มเจ้าและรักเจ้า ในฐานะคู่ตรงข้ามแบบมิตรและศัตรู การถกเถียงถูกดึงเข้าไปในเรื่องนี้ตลอด ไม่ค่อยได้ถกเถียงกันในเรื่องว่าคุณเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ได้เป็นประชาธิปไตย เวอร์ชั่นราชาชาตินิยมแบบ 14 ตุลาจึงยังมีด้านที่ก้าวหน้ากว่าแบบเวอร์ชั่น 2548

ประจักษ์สรุปว่า ถึงที่สุดแล้ว ถ้าจะก้าวข้ามไปสู่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยที่แท้จริง ขบวนการประชาชน ไม่ว่ากลุ่มไหนก็ตาม ต้องก้าวข้ามทั้งเวอร์ชั่น 2516 และ 2548 ไปเลย โจทย์คือทำอย่างไรที่การต่อสู้ทางการเมืองอย่าถูกดึงไปที่ประเด็นกษัตริย์นิยม วาทกรรมรักเจ้า-ล้มเจ้า รักชาติ-ไม่รักชาติ อยู่ตลอดเวลา ทำอย่างไรที่เราจะมาเถียงในมิติที่เกี่ยวกับประชาธิปไตยมากขึ้น ทำอย่างไรที่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะก้าวข้ามกรอบหรือเพดานของราชาชาตินิยมไป

(ติดตามคำอธิปรายของธงชัย วินิจจะกูล ในตอนต่อไป)

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles