ช้างป่าจำนวน 3-4 เชือก ได้พากันอพยพข้ามลำน้ำโขงจากฝั่งลาวไปยังฝั่งไทย โดยเชื่อว่ามีสาเหตุสำคัญมาจากการลักลอบสัตว์ป่าเพื่อการค้าอย่างผิดกฎหมายในลาวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เจ้าหน้าที่ชั้นสูงในจังหวัดนครพนมของไทย ให้การยืนยันว่า ช้างป่าจำนวนอย่างน้อย 3 ตัว ได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงจากแขวงบอลิคำไซของลาว เข้าไปยังเขตอำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย นับตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคมเป็นต้นมาแล้ว และในขณะนี้ช้างป่าจำนวนดังกล่าวก็ได้เข้าไปอยู่ในเขตวนอุทยานภูลังกา ซึ่งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยู่ระหว่างจังหวัดนครพนมกับจังหวัดบึงกาฬ
สาเหตุที่ทำให้ช้างป่าจำนวนดังกล่าวนี้อพยพข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวไปหาไทยนั้น ก็ยังไม่ชัดแจ้งว่าเป็นสาเหตุใดแน่นอน หากแต่เจ้าหน้าที่ชั้นสูงในจังหวัดนครพนมของไทยเชื่อว่า เกิดขึ้นเรื่องจากช้างป่าถูกล่าอยู่ในลาว ดังที่ได้ให้ปากคำว่า
“เจ้าหน้าที่อุทยานก็ได้เฝ้าระวังจับตา ก่อนที่ช้างโขลงดังกล่าวจะเดินทางต่อไปทางอำเภอบึงโขงหลง และต่อไปทางอำเภอบุ่งคล้า ตามที่ได้ข่าวว่ามีคนไล่ล่าช้างกลุ่มดังกล่าวอยู่ ช้างจึงหนีข้ามแม่น้ำมาฝั่งไทย แต่ความจริงนั้นก็ยังไม่แน่ชัดเนื่องจากเป็นเพียงคำเล่าลือกันไปมาเท่านั้น”
ทางด้านเจ้าหน้าที่วนอุทยานแห่งชาติภูลังกาของไทย ยังเปิดเผยว่า ช้างตัวที่ใหญ่ที่สุดเป็นช้างพลายเพศผู้ สูงถึงสามเมตร และหนักกว่าสามตัน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า งวงของช้างดังกล่าวนี้มีบาดแผลคล้ายกับรอยลูกปืน จึงมีความเป็นไปได้ว่า ช้างป่าเหล่านี้ได้พากันอพยพข้ามแม่น้ำโขงจากฝั่งลาวมายังไทยเพราะถูกกลุ่มพรานล่าสัตว์ป่าในลาวนั่นเอง
ก่อนหน้านี้ องค์การอนุรักษ์ช้างเอเชีย (Elefant Asia) รายงานว่าจำนวนประชากรช้างในลาวยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการเก็บข้อมูลครั้งล่าสุด ประเมินได้ว่า ในปัจจุบันยังมีประชากรช้างบ้านที่เหลืออยู่ในลาวไม่เกิน 470 ตัวเท่านั้น ส่วนประชากรช้างป่าก็เชื่อว่าเหลือน้อยกว่าช้างบ้านอย่างแน่นอน เนื่องจากช้างป่ายังต้องเผชิญกับการถูกล่าโดยกลุ่มลักลอบค้าสัตว์ป่าอยู่ตลอด
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อประกอบกับปัญหาการตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนักหน่วงทั่วประเทศลาว ทำให้ถิ่นที่อยู่และแหล่งอาหารของช้างป่าถูกทำลาย ซึ่งก็ได้ส่งผลต่อระบบนิเวศและการผสมพันธุ์ของสัตว์ป่าอีกด้วย ถ้าหากว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ก็เชื่อได้ว่าช้างป่าในลาวจะสูญพันธุ์ไปภายใน 50 ปีนี้อย่างแน่นอน
ทางด้านองค์การคุ้มครองสัตว์ป่า (WCS) ที่ให้การช่วยเหลือรัฐบาลลาวในการอนุรักษ์เสือโคร่งในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำแอด-พูเลียในภาคเหนือของลาวนั้น ก็รายงานว่า ปัจจุบันมีประชากรเสือโคร่งในเขตป่าสงวนดังกล่าวเหลือเพียงไม่เกิน 30 ตัว และยังมีแนวโน้มว่าจะลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากการลักลอบล่าเสือโคร่งในลาวเพื่อส่งออกไปต่างประเทศยังดำรงอยู่เรื่อยมา โดยถึงแม้ว่า WCS จะร่วมมือกับทางการลาดตระเวนในเขตป่าสงวนแห่งชาติน้ำแอด-พูเลีย ตั้งแต่ปี 2010 มาแล้วก็ตาม หากแต่ก็ยังไม่สามารถทำได้ทั่วถึง และปัญหานี้ก็เกิดกับกับเขตป่าสงวนแห่งชาติทุกแห่งอีกด้วย
นอกจากปัญหาประชากรช้าง เสือ และสัตว์ป่าอื่นลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ยังมีปัญหาเกี่ยวกับประชากรปลาบึกในแม่น้ำโขงที่ลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้ทำให้ทางสหรัฐอเมริกา นำโดยท่านคาเรน บี. สจ๊วต เอกอัครรัฐทูตสหรัฐอเมริกาประจำสปป.ลาว ได้ส่งมอบอุปกรณ์ติดตั้งสัญญาณติดตามการเคลื่อนไหวของปลาบึกในแม่น้ำโขง ทั้งนี้เนื่องจากประชากรปลาบึกได้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา
แปล-เรียบเรียงจาก http://lao.voanews.com/lao-elephants-across-mekong-river-to-thailands-northeastern-provinces/
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai