สภาผู้แทนราษฎรรับร่าง พรบ.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วาระ 1 ตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา แปรญัตติในเวลา 7 วัน นศ.ค้าน ม.นอกระบบ ผิดหวัง สภาฯ จากการเลือกตั้ง แต่ทำเหมือนยุคเผด็จการ คมช. ไม่ฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาที่คัดค้าน เตรียมยกระดับการเคลื่อนไหว
วันนี้(20 มี.ค.56) ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พ.ศ. .... วาระที่ 1 โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 386 คน ที่เห็นด้วยรับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีเพียง 1 คน ที่ไม่เห็นด้วย มีผู้ไม่ลงคะแนนเสียง 1 คน โดยมีสมาชิกฯ เข้าประชุม 388 คน หลังจากนั้นสภาได้แต่งตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว 31 คน เพื่อแปรญัตติในเวลา 7 วัน โดยมีสัดส่วน ประกอบด้วยตัวแทนรัฐบาล 5 คน ซึ่งมีรองอธิการบดี ม.เกษตรศาสตร์ รวมอยู่ด้วย จากพรรคเพื่อไทย 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 8 คน พรรคภูมิใจไทย 2 คน พรรคชาติไทยพัฒนา 1 คน และพรรคชาติพัฒนาพลังชล 1 คน
นศ.ค้าน ม.นอกระบบ ผิดหวัง สภาฯ จากการเลือกตั้ง แต่ทำเหมือนยุคเผด็จการ คมช.
ด้านนายนิพิฐพนธ์ คำยศ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และแกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ กล่าวหลังทราบมติดังกล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับ ทั้งรัฐบาล และฝ่ายค้าน ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับทำเหมือนยุคเผด็จการ คมช. ที่นำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยไม่ฟังเสียงของนิสิตนักศึกษาที่คัดค้าน กลุ่มแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เคยยื่นหนังสือหลายครั้งต่อท่านนายกรัฐมนตรี ให้ชะลอการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบก่อน และให้ทบทวน เป็นคนกลางจัดเวทีระดมความคิดจากหลายๆฝ่ายหาข้อสรุปเรื่องนี้ แต่ก็กลับเพิกเฉย หรือแม้แต่ทางกลุ่มก็เคยเข้าไปพบ ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาเพื่อหารือเรื่องนี้ท่านรัฐมนตรีเองก็รับทราบถึงปัญหากระบวนการให้ข้อมูลของมหาวิทยาลัยที่ไม่จริงใจและไม่เป็นธรรม
นายนิพิฐพนธ์ กล่าวด้วยว่า ฝ่ายค้านที่พูดอภิปรายว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ มีปัญหา ให้อำนาจผู้บริหารมากเกินไป ควรกลับไปทบทวน สุดท้ายผลออกมา เห็นด้วยเกือบทั้งหมดทั้งสองฝ่าย แสดงให้เห็นกระบวนการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแย่ทั้งกระบวนการตั้งแต่ในสภามหาวิทยาลัยจนมาถึงสภาระดับประเทศ ไม่ได้ดีไปกว่ายุคเผด็จการ คมช. เลย
สำหรับการเคลื่อนไหวต่อไป แกนนำแนวร่วมนิสิตนักศึกษาคัดค้าน ม.นอกระบบ เปิดเผยว่า ในวันที่ 21 มี.ค. นี้ ทางกลุ่มจะมีเวทีสรุปถอดบทเรียนการเคลื่อนไหว เพื่อวางแผนกำหนดทิศทางที่ชัดเจนและงานเคลื่อนไหว ให้ยกระดับมากขึ้น
นิพิฐพนธ์ คำยศ ขณะยื่นหนังสือประท้วงสภาฯ เมื่อวันที่ 13 ที่ผ่านมา
ร่างระบุสาระสำคัญ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง, อิสระคล่องตัวและความเป็นเลิศทางวิชาการ
สำหรับการลงมติในวันนี้ของสภาฯ นั้น เป็นการพิจารณาต่อจากการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 24 ปีที่ 2 ครั้งที่ 22 (สมัยสามัญนิติบัญญัติ) เมื่อ 14 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยในวันนั้น จากสรุปผลการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยสุพัตรา พรหมศรสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา ระบุว่า ที่ประชุมฯ ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว โดย มีสาระสำคัญในตัวร่างเพื่อปรับปรุงการศึกษาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ประกอบกับแนวนโยบายของรัฐบาลได้มีการส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยของรัฐพัฒนาไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการแต่อยู่ในกำกับของรัฐ เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการที่เป็นอิสระและมีความคล่องตัวสามารถจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาได้อย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาจะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระและความเป็นเลิศทางวิชาการ จึงมีการปรับปรุงร่าง กฎหมายให้เป็นตามแนวทางนี้
ร่างฯนี้สมาชิกได้อภิปรายทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยในการออกนอกระบบของครั้งนี้ของมหาวิทยาลัย โดยมีความกังวลในหลายประการอาทิ ประเด็นการกำหนดค่าหน่วยกิต การหารายได้เข้ามหาวิทยาลัยในแนวทางที่เหมาะสม คุณธรรม จริยธรรมของผู้บริหารองค์กรในการดูแลบุคลากร ด้านคุณภาพทางวิชาการให้ สอดคล้องกับโลกยุคโลกาภิวัตน์กับความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย
หลังการอภิปรายนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ตอบต่อข้อสังเกตในการอภิปรายของสมาชิกฯว่า ตามที่สมาชิกฯได้อภิปรายในความเป็นห่วงด้านบุคลากรของมหาวิทยาลัยว่าจะถูกลดหย่อนค่าตอบแทนหรือไม่ตรงนี้ในบทเฉพาะกาลในตัวร่างนี้ได้กำหนดไว้แล้วว่า ในกรณีไม่ต้องการเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือออกนอกระบบก็ให้ได้รับค่าตอบแทนเหมือนเดิมของรัฐ แต่ถ้าอยากเปลี่ยนสถานะเป็นพนักงานของรัฐหรือออกนอกระบบก็ให้ได้รับเงินเดือน ค่าจ้าง สวัสดิการไม่น้อยกว่าเงินเดือนก่อนที่จะออกนอกระบบ สำหรับประเด็นการประกันคุณภาพและการประเมินนั้นทำไมไม่ดูมหาวิทยาลัยอื่นที่ออกนอกระบบแล้ว ส่วนนี้ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็มีแบบประเมินของมหาวิทยาลัยตามร่างนี้แต่อย่างไรก็ตามก็สามารถปรับได้ในคณะกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้นภายหลังร่างฯรับหลักการในวาระที่ 1 ด้านคุณภาพการศึกษาถ้าออกนอกระบบก็จะดีขึ้น ด้านการจัดการศึกษารัฐสามารถสนับสนุนการศึกษาได้ระดับหนึ่งในระดับอุดมศึกษาโดยมีกระบวนการจัดหลักสูตรพิเศษขึ้นมากมายเช่นการจัดการศึกษาภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามค่าเล่าเรียนทั้งหมดโดยภาพรวมมหาวิทยาลัยที่ได้ออกนอกระบบไปแล้วนั้นก็มองว่าปัจจุบันยังไม่สูงมากเกินไปไม่ว่าจะเป็นในกำกับของรัฐหรือออกนอกระบบ ซึ่งถ้ามหาวิทยาลัยใดจะขึ้นค่าหน่วยกิตก็ต้องขึ้นอย่างมีเหตุมีผลที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ในความเหมาะสม