คณะฝ่ายไทยเตรียมวงพูดคุยบีอาร์เอ็น คาดถกเงื่อนไข5ข้อ ขอให้หยุดใช้ความรุนแรง สมาคมต้มยำกุ้งเห็นด้วยพูดคุยสันติภาพ หวังให้คนมลายูได้ปกครองพื้นที่มากที่สุด “ดีฟเซ้าท์โพล”รอบ 2 เผยประชาชนสนับสนุนเพิ่มขึ้น อยากให้ลดความรุนแรงมากที่สุด
ก่อนถกBRN - พล.ท.ภารดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.พบปะกับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารในมาเลเซียที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ก่อนนำคณะเข้าร่วมพูดคุยเพื่อสันติภาพกับตัวแทนกลุ่มขบวนการบีอาร์เอ็นในวันที่ 13 มิถุนายน 2556
คณะฝ่ายไทยเตรียมวงพูดคุยบีอาร์เอ็น
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ในช่วงค่ำวันที่ 12 มิถุนายน 2556 ว่า ผู้แทนคณะพูดคุยเพื่อสันติภาพฝ่ายไทย นำโดยพล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้เดินทางมาถึงโรงแรมอินเตอร์คอนติเน็นต้อลในกรุงกัวลาลัมเปอร์ซึ่งเป็นที่พัก ในเวลาประมาณ 21.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อเตรียมการพูดคุยสันติภาพกับคณะผู้แทนฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2556
จากนั้นได้นำคณะทั้งหมดไปรับประทานอาหารที่ร้านต้มยำกุ้ง LALA Seafood ซึ่งเป็นของคน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และพบปะกับกลุ่มตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้มีรายงานว่า ในช่วงเช้าของวันที่ 13 มิถุนายน 2556 คณะฝ่ายไทยจะมีการประชุมกันเองก่อน เพื่อเตรียมข้อมูลและเนื้อหาที่จะเข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเน็นต้อล จากนั้นในช่วงเที่ยง เจ้าหน้าที่สันติบาลของมาเลเซียจะมารับคณะผู้แทนฝ่ายทั้งหมด เดินทางไปยังเซฟเฮ้าส์ลับแห่งหนึ่งที่จะใช้เป็นสถานที่พูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็น
คาดถกเงื่อนไข5ข้อ-ฝ่ายไทยขอให้หยุดใช้ความรุนแรง
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ เปิดเผยว่า ในการพูดคุยกับฝ่ายบีอาร์เอ็นในครั้งนี้ น่าจะมีการพูดคุยถึงประเด็นที่เป็นความเห็นจากคนในพื้นที่ที่มีต่อข้อเสนอ 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็นตามที่มีการเผยแพร่ทางเว็บไซต์ยูทูป และความต้องการของฝ่ายไทยที่ต้องการให้ลดการใช้ความรุนแรง ซึ่งคาดว่าน่าจะมีข้อตกลงไปอย่างน้อย 1-2 ข้อ
สำหรับคณะฝ่ายไทยที่จะเข้าร่วมพูดคุยกับฝ่ายขบวนการบีอาร์เอ็นครั้งนี้ ประกอบด้วย พล.ท.ภราดร ในฐานะหัวหน้าคณะ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก รองปลัดกระทรวงกลาโหม พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.ต.ท.สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล (ผบช.ส.) พล.ต.นักรบ บุญบัวทอง รองผู้อำนวยการศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (รอง ผอ.ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) นายประมุข ลมุล ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี
ว่าที่ร.ต.เลิศเกียรติ วงศ์โพธิพันธ์ รองเลขาธิการ ศอ.บต. ดร.มะรอนิง สาลามิง รองเลขาธิการ ศอ.บต. ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ และนายอาซิส เบ็ญหาวัน ประธานสภาที่ปรึกษาเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ พล.ต.ชรินทร์ อมรแก้ว เสนาธิการกองทัพภาคที่ 4
สมาคมต้มยำกุ้งเห็นด้วยพูดคุยสันติภาพ
ขณะที่นายเจฟรี มาละแซ นายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย กล่าวระหว่างการพบปะกับคณะของพล.ท.ภารดรว่า หลังจากการก่อตั้งสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย ต่อไปจะมีการตั้งสหกรณ์ผู้ประกอบการเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีต้นทุนในการประกอบกิจกรรมร้านอาหารในประเทศมาเลเซีย รวมทั้งเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อน โดยเฉพาะพนักงานเสิร์ฟซึ่งมีรายได้ไม่พอที่จะนำเงินไปทำหนังสือขออนุญาตทำงานในประเทศมาเลเซียได้
นายเจฟรี กล่าวด้วยว่า จะมีการเปิดสำนักของสมาคมเพื่อเป็นศูนย์กลางในการช่วยเหลือผู้ประกอบการรวมทั้งแรงงาน และจะตั้งศูนย์ช่วยเหลือของกระทวงแรงงาน รวมทั้งเป็นศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนให้กับแรงงานไทยอีกด้วย ซึ่งขณะนี้ได้เปิดสอนไปแล้วทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์
นายซัมซูดิง แวสุกาเลาะห์ รองนายกสมาคมผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในประเทศมาเลเซีย กล่าวว่า สมาคมยินดีจะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างหน่วยงานของรัฐกับผู้ประกอบการร้านอาหารไทยในมาเลเซีย แต่ไม่ใช่เป็นเครื่องมือให้รัฐ เพื่อสร้างความเข้าใจ โดยเชื่อว่าจะมีส่วนช่วยให้สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น
นายซัมซูดิง กล่าวด้วยว่า ส่วนในเรื่องการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทางสมาคมไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ เช่นเดียวกับสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย แต่ก็เห็นด้วยกับการพูดคุยหากจะก่อให้เกิดประโยชน์กับคนในพื้นที่
หวังให้คนมลายูได้ปกครองพื้นที่มากที่สุด
นายซัมซูดิง ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ถ้าการพูดคุยหรือการเจรจาเพื่อสันติภาพครั้งนี้ เกิดประโยชน์กับคนมลายูในพื้นที่ทางสมาคมก็เห็นด้วย เพราะที่ผ่านมาเหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตนก็มีความรู้สึกเช่นเดียวกับคนในพื้นที่ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบและคนที่ได้รับความเดือดร้อนในพื้นที่ก็คือญาติพี่น้องของตัวเองด้วย แต่ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องและไม่อยากที่จะเข้าร่วมในเรื่องการพูดคุยด้วย
“เราเห็นคนที่ตายจากความรุนแรงในพื้นที่ เราก็รู้สึกเศร้าใจ แต่เราก็ไม่รู้ว่าใครเป็นคนก่อเหตุรุนแรงเพราะเราไม่ได้ไปเห็นเอง ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มเดียวกับคนที่ออกมาประกาศผ่านเว็บไซต์ หรืออาจจะเป็นมือที่สาม เพราะในพื้นที่ก็มีหลายกลุ่มที่สามารถก่อเหตุรุนแรงได้” นายซัมซูดิง กล่าว
“ในการพูดคุยเพื่อสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น เราหวังว่าจะสามารถสร้างความสงบสุขได้ ถ้าเป็นไปได้เราก็ต้องการให้คนมลายูในพื้นที่ได้มีสิทธิที่จะบริหารพื้นที่ได้ เพราะแผ่นดินนั้นเป็นของคนมลายูที่นั่น อย่างให้คนมลายูสามารถขึ้นมาปกครองพื้นที่ให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าเรารังเกียจคนอื่นที่มาปกครองพื้นที่ แต่อยากให้คนมลายูมีโอกาสนี้มากที่สุด เพราะคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนมลายู” นายซัมซูดิง กล่าว
“ดีฟเซ้าท์โพล”คนหนุนพูดคุยสันติภาพเพิ่มขึ้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี ในฐานะผู้อำนวยการสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 9-11 มิถุนายน 2556 ที่ผ่านมา CSCD ได้สำรวจความเห็นหรือทำโพลของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา หรือ“ดีฟเซ้าท์โพล” จากกลุ่มตัวอย่าง 2 พันคน พบว่า 73 เปอร์เซ็นต์ ให้การสนับสนุนหรือมีความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ที่ได้ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยต่อไปว่า เหตุผลที่ประชาชนมีความมั่นใจมากขึ้นเชื่อว่า เป็นผลมาจากคณะพูดคุยสันติภาพทั้ง 2 ฝ่ายถูกนำเสนอข่าวออกมาเยอะ ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เนื่องจากมีการกระจายความรู้เรื่องการพูดคุยสันติภาพ ทั้งที่ในบางครั้งอาจจะมีประเด็นที่เป็นข้อติดขัดบ้าง แต่ประชาชนก็ยังมีความคาดหวังสูง
อยากให้ลดความรุนแรงมากที่สุด
“ข้อเสนอที่ประชาชนให้ความสนใจมากก็คือข้อเสนอที่ให้ลดความรุนแรง ซึ่งในแบบสอบถามได้นำข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ข้อเสนอของรัฐที่ขอให้ลดความรุนแรงและข้อเสนอในการลดกำลังทหาร รวมทั้งการยกเลิกกฎหมายพิเศษในพื้นที่มาถามด้วย” ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยอีกว่า จากประมวลผล พบว่า ข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้น ได้รับการยอมรับจากประชาชนอยู่ ควบคู่กับการยอมรับข้อเสนอที่ให้แก้ปัญหาอื่นๆ ซึ่งได้รับการยอมรับมากที่สุด เช่น ปัญหาเรื่องยาเสพติด ปัญหาความรุนแรง ปัญหาด้านการพัฒนาต่างๆ
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยต่อไปว่า เฉพาะข้อเสนอ 5 ข้อของบีอาร์เอ็นนั้น ข้อที่ประชาชนให้การยอมรับสูงมากที่สุดถึง 60 เปอร์เซ็นต์ คือการให้มาเลเซียเป็นตัวกลางในการไกล่เกลี่ย ส่วนข้อเสนออื่นๆ ประชาชนในการยอมรับเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ โดยข้อที่มีเปอร์เซ็นต์ต่ำสุดคือการปล่อยนักโทษการเมืองและนักโทษคดีความมั่นคง ซึ่งผลโพลดังกล่าวได้มอบให้เลขาธิการ สมช. แล้ว
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า มีแง่คิดหนึ่งที่นำเสนอในข้อเสนอที่ให้กับทางรัฐบาลหรือบีอาร์เอ็น ก็คือถ้าจะพิจารณาข้อเสนอบีอาร์เอ็น ก็ควรพิจารณาความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ด้วยว่าต้องการอะไร เพื่อให้สอดคล้องกัน ซึ่งผลโพลดังกล่าวเป็นการสะท้อนความรู้สึกของประชาชนได้
ผศ.ดร.ศรีสมภพ เปิดเผยด้วยว่า ในแบบสอบถามได้มีคำถามด้วยว่า ต้องการให้แก้ปัญหาอื่นๆ ด้วยหรือไม่ รวมทั้งในเรื่องการปกครองด้วยนั้น ปรากฏว่าไม่มีใครตอบคำถามข้อนี้