นายกมอบ ก.พลังงานเจ้าภาพทำแผนรับมือหากเกิดซ้ำ ส่งต่อ กฟภ.-กฟน.ทำแผนสั่งตัดจ่ายไฟในบางพื้นที่รักษากำลังการผลิตฟื้นฟูระบบได้เร็วขึ้น เตรียมพัฒนากำลังการผลิตสำรองให้ภาคใต้พึ่งตนเองได้ หลังผลสอบไฟใต้ดับเหตุสุดวิสัย กฟผ.ไม่ต้องรับภาระชดเชย
11 มิ.ย.56 เดลินิวส์รายงาน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมกรรมการสอบสวนกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 56 มีมติว่า เหตุการณ์เกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้เป็นอุบัติเหตุ และเป็นเรื่องสุดวิสัย เนื่องจากเกิดจากฟ้าผ่าสายส่ง ขนาด 500 กิโลวัตต์ จึงไม่สามารถลงโทษการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ เพราะเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ทั้งหมด ขณะเดียวกันช่วงเวลาที่เกิดเหตุเกิดขึ้นในช่วงเวลา 8 วินาทีเท่านั้น จึงเป็นเรื่องน่าเห็นใจ ที่ทุกฝ่ายได้พยายามดำเนินการอย่างเต็มที่แล้ว
ทั้งนี้ ในระยะยาวได้รับคำสั่งจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพในการทำแผนรับมือกรณีเกิดเหตุดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต จึงได้สั่งให้ กฟผ.ร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือ เลกูเรเตอร์ ไปหารือร่วมกับ 2 การไฟฟ้า ได้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง ในการทำแผนสั่งตัดจ่ายไฟในบางพื้นที่เพื่อรักษากำลังการผลิตให้สามารถฟื้นฟูระบบได้เร็วยิ่งขึ้น รวมถึงลงทุนด้านสายส่งให้มีขนาด 500 กิโลวัตต์ ในพื้นที่ภาคใต้ถึงจังหวัดสงขลาและภูเก็ต
“คณะทำงานจะมีการประชุมหารือกันในวันที่ 21 มิ.ย.นี้ ซึ่งตามแผนสั่งตัดจ่ายไฟฟ้าจะต้องเลือกพื้นที่สำคัญที่ไฟฟ้าห้ามดับ เช่น โรงพยาบาล โครงข่ายการสื่อสาร และสถานีตำรวจ โดยจะเลือกดับไฟฟ้าในบริเวณแคบ แต่คงต้องไปดูว่าจะดับในพื้นที่ใดได้”
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า มาตรการป้องกันปัญหาไฟฟ้าดับในวงกว้างระยะยาวนั้นกระทรวงพลังงานได้วางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในภาคใต้ให้มีกำลังผลิตสำรองที่เพียงพอ เพื่อให้ภาคใต้สามารถพึ่งพาตนเองได้, เร่งพัฒนาระบบส่งไฟฟ้าควบคู่ไปด้วย และทบทวนภาพรวมของการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าและระบบส่งไฟฟ้าโดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าทั้งประเทศหากจุดใดมีความเสี่ยงหรือมีความสำคัญต่อประเทศก็จะเพิ่มระดับความมั่นคงด้านไฟฟ้าเพิ่ม
นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธาน กกพ. กล่าวว่า จากผลสอบที่ตัดสินว่าเป็นเหตุสุดวิสัย จึงทำให้ กฟผ. ไม่ต้องรับภาระชดเชยจากการไปซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย วงเงิน 13 ล้านบาท แต่ในส่วนนี้ กกพ.กำลังพิจารณาว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อไฟฟ้าดังกล่าว จะต้องเรียกเก็บจากประชาชนเพิ่มในงวดต่อไป หรือจะใช้เงินจากส่วนใดในการเข้ามาชดเชย
“อย่างไรก็ตาม แนวโน้มค่าเอฟทีในงวดต่อไป (ก.ย.-ธ.ค.) เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มค่าเชื้อเพลิงแล้วเชื่อว่ามีโอกาสจะปรับลดลงได้อีก แม้ว่าค่าเงินบาทจะเริ่มแข็งค่าขึ้นแล้ว แต่ในส่วนของวงเงิน 13 ล้านบาทในการซื้อไฟฟ้าจากมาเลเซียนั้นอาจจะไปรวมกับค่าเอฟทีลงอยู่ที่ไม่ถึง 0.1 สต.ต่อหน่วย”