Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

7 เรื่องความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับกรณีของแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง

$
0
0
ขณะที่สื่อหลายแห่งนำเสนอเรื่องของ แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง โดยพยายามลบล้างวาระทางการเมือง หรือสื่อว่าเรื่องที่เขาทำเป็นการต่อต้านอเมริกัน เชส มาดาร์ ทนายความเพื่อสิทธิพลเมือง ได้ชี้ให้เห็นว่าเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเข้าใจผิด

 
จากกระแสข่าวการดำเนินคดีกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง นายทหารสหรัฐฯ ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้ส่งข้อมูลแฉการกระทำละเมิดสิทธิฯ ของกองทัพสหรัฐฯ ให้กับเว็บไซต์วิกิลีกส์ เชส มาดาร์ ทนายเพื่อสิทธิพลเมืองได้เผยแพร่บทความลงในเว็บไซต์ thenation.com กล่าวถึงเรื่องที่สร้างความเข้าใจผิด (myth) เกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
เชส มาดาร์ กล่าวในบทความว่า สื่อส่วนมากมักจะนำเสนอเรื่องในประเด็นใหญ่ๆ โดยปราศจากบริบทและมุมมองทำให้เกิดความผิดพลาดหรือการบิดเบือนข้อมูล เช่น การรายงานว่าเรื่องที่รั่วไหลออกไปเป็น "เรื่องลับสุดยอด"หรือการที่วิกิลีกส์กำลังสร้างโลกอุดมคติด้วยการทำให้ทุกอย่างเป็นเรื่องโปร่งใส หรือเรื่องที่ว่าสิ่งที่แมนนิ่งทำไม่ใช่เรื่องทางการเมืองแต่เป็นเรื่องทางจิตวิทยา (หรือแม้กระทั่งเรื่องทางเพศ) ทำให้ตัวผู้เขียนบทความต้องออกมากล่าวถึงความเชื่อผิด 7 อย่างในเรื่องของ   แบรดลี่ย์ แมนนิ่ง
 
 
1.) แรงจูงใจของแมนนิ่งเป็นเรื่องการเมือง ไม่ใช่ว่าเขาเป็นคนสติฟั่นเฟือน
 
เรื่องแรกคือการที่สื่อมักกล่าวว่า แมนนิ่งออกมาเปิดเผยรายงานทหารและข้อมูลทางการทูตที่ควรเป็นความลับเป็นเพราะว่าแมนนิ่งเป็นพวก "ไม่เต็ม"บ้างก็บอกว่าเพราะเขาเป็นเกย์หรือทั้งสองอย่าง แต่ในความจริงแล้ว แมนนิ่งได้เปิดเผยแรงจูงใจของตัวเองออกมาว่าเป็นเรื่องทางการเมือง เขาบอกว่า "ผมต้องการให้คนรู้ความจริง ...ไม่ว่าคนๆ นั้นจะเป็นใครก็ตาม... เพราะถ้าหากไม่มีข้อมูลพวกนี้แล้ว คุณก็ไม่สามารถทำให้สาธารณชนตัดสินใจด้วยตัวเองโดยอาศัยข้อมูลได้"
 
เราอาจเห็นต่างกันในเรื่องผลกระทบที่มาจากการเผยแพร่ข้อมูลโดยแมนนิ่ง แต่ในเรื่องแรงจูงใจที่เขาเปิดเผยข้อมูล แมนนิ่งได้บอกด้วยตัวเองตรงไปตรงมาแล้ว และมันก็ไม่ใช่เรื่องอะไรเกี่ยวกับสุขภาพจิตหรือเรื่องเพศ เช่นเดียวกับที่อดีตนายทหาร อีธาน แมคคอร์ด (คนเดียวกับที่พยายามเข้าไปช่วยเหลือเด็กที่ได้รับบาดเจ็บในวีดิโอ "Collateral Murder"ที่เป็นวีดิโออื้อฉาวที่กองทัพสหรัฐฯ ใช้เฮลิคอปเตอร์ไล่ยิงนักข่าวและประชาชนอิรัก) กล่าวไว้ว่า การยึดติดกับเรื่องเพศสภาพของแมนนิ่ง เป็นแนวคิดที่พยายามกลบเกลื่อนวาระทางการเมืองของแมนนิ่ง
 
 
2.) ทั้งแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง และ วิกิลีกส์ เป็น "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian)
 
คำว่า "พวกนิยมโลกในอุดมคติ" (utopian) เปรียบเสมือนเป็นคำด่าที่แรงมากในกลุ่มคนอังกฤษที่มีการศึกษา มีความหมายโดยนัยระดับเดียวกับคำว่า "หัวรุนแรง"และ "พวกไม่ยอมรับความเห็นต่าง"หรือบางครั้งก็เป็นการด่าว่า "อุดมคตินิยม"ในเชิงลบ ซึ่งก็ดูแย่พอๆ กัน
 
เชส กล่าวว่า แม้การปล่อยข้อมูลลับของรัฐบาลของแมนนิ่งจะเป็นการฝ่าฝืนระบบความปลอดภัยครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ แต่สิ่งที่แมนนิ่งทำก็ไม่ได้เข้าใกล้ "การทำให้ทุกอย่างกลายเป็นเรื่องโปร่งใส"ซึ่งแม้แต่แมนนิ่งและวิกิลีกส์เองก็ไม่ได้เรียกร้องหรือกล่าวถึงแนวคิดอุดมคตินี้ 
 
แต่เชสคิดว่า สิ่งที่นายทหารแมนนิ่งทำน่าจะเป็นการตั้งรับในเชิงปฏิบัติต่อการปกปิดข้อมูลของรัฐบาล และข้อมูลลับที่แมนนิ่งเปิดโปงก็มีเพียงร้อยละ 1 จากเอกสารทั้งหมด 92 ล้านฉบับที่ทางการสหรัฐฯ อ้างว่าเป็นเอกสารลับ
 
 
3.) วิกิลีกส์ เป็นสิ่งที่ต่อต้านอเมริกัน
 
เชสกล่าวว่าที่คนคิดเช่นนี้น่าจะเป็นเพราะวิกิลีกส์ต่อต้านการบุกอิรักของสหรัฐฯ อย่างชัดเจน แต่ทว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่แทบจะทั้งหมดล้วนมีความเห็นคล้อยตามวิกิลีกส์ในประเด็นนี้
 
วิกิลีกส์เองก็มีแถลงการณ์ภารกิจที่กล่าวอ้างถึงอดีตปธน. โทมัส เจฟเฟอร์สัน และศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ซึ่งถ้าหากเรียกพวกเขาว่าเป็นพวกต่อต้านอเมริกันก็คงฟังดูแปลก เชสบอกว่า พวกเขาดูเหมือนคนมีอุดมการณ์แบบเสรีนิยมคลาสสิกที่บังเอิญมีความรู้ด้านคอมพิวเตอร์และมาจากซิลิคอน วัลเลย์ (ย่านธุรกิจไอทีในสหรัฐฯ) อีกทั้งเมื่อประเมินจากแถลงการณ์ของแมนนิ่งและวิกิลีกส์ (ทั้งแถลงการณ์ส่วนตัวและแถลงการณ์สาธารณะ) แล้วก็ไม่พบว่าพวกเขามีอคติใดๆ กับสหรัฐฯ
 
 
4.) แบรดลี่ย์ ทำให้ข้อมูล "ความลับสุดยอด"รั่วไหล
 
จริงอยู่ที่ว่านายทหารแบรดลี่ย์ดูจะชอบการเข้าถึงข้อมูลด้านความมั่นคงที่เป็น "ความลับสุดยอด"แต่เชสก็บอกว่าแบรดลี่ย์ก็เป็นเช่นเดียวกับประชาชนรายอื่นๆ จำนวนราว 1.4 ล้านคน ที่มีสิทธิ์เข้าถึงข้อมูล "ความลับสุดยอด"ด้านความมั่นคง ซึ่งถ้าหากมีคนได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลได้จำนวนมากกว่าจำนวนประชากรในวอชิงตันดีซี ข้อมูลเหล่านั้นยังจะถือว่าเป็น "ความลับ"อยู่หรือไม่
 
เชส ระบุอีกว่าในหมู่เอกสารของแมนนิ่งที่มีการเผยแพร่ ไม่มีเอกสารใดๆ เลยที่ถือว่าอยู่ในระดับ "ความลับสุดยอด"ข้อมูลโทรเลขทางการทูตมากกว่าครึ่งไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการ และภาพวีดิโอคลิปที่มีเฮลิคอปเตอร์อาปาเช่สังหารชาวอิรักหลายคนนั้นก็ไม่ถือว่าเป็นความลับทางราชการเช่นกัน
 
และแม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะไม่ยอมออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ประชาชนในอิรักหลายแสนคนเสียชีวิตในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่พวกเขาก็มักจะอ้างว่า การเผยแพร่ข้อมูลของแมนนิ่งทำให้มีคนถูกสังหาร หรืออย่างน้อยก็ส่งผลเสียหายต่อผลประโยชน์ของประเทศสหรัฐฯ ซึ่งจะพูดถึงในข้อต่อไป 
 
 
5.) การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์ ทำให้มีคนถูกสังหาร ทำให้ประเทศสหรัฐฯ เสียผลประโยชน์
 
แต่ในช่วงสามปีหลังจากที่ข้อมูลถูกเผยแพร่ออกมา ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่ามีพลเรือน ทหาร หรือแม้กระทั่งสายลับคนใดได้รับอันตรายจากการเผยแพร่ข้อมูลเลย อาจจะจริงที่ว่ามีเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ 2 คนถูกเรียกตัวกลับจากประเทศในแถบละตินอเมริกา แต่มันก็ไม่ถึงขั้นว่าเป็นวินาศภัยทางการทูต และฮิลลารี่ คลินตัน รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ ในสมัยนั้นก็ได้ให้คำมั่นพวกเราไว้แบบนี้เช่นกัน
 
 
6.) สิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมา ไม่ได้มีความสำคัญอะไร
 
อาจจะมองต่างจากข้ออื่นๆ แต่ก็ถือว่าเป็นเรื่องเท็จพอๆ กัน ในความจริงแล้ว การเผยแพร่ข้อมูลของแบรดลี่ย์อาจจะมีบทบาทเล็กๆ แต่ก็เป็นบทบาทสำคัญในการประท้วงของตูนีเซีย และทำให้กองทัพสหรัฐฯ ไม่ขยายเวลาการวางกำลังในอิรัก นอกจากนี้ข้อมูลที่ถูกเปิดโปงกลายมาเป็นเรื่องตามข่าวหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์และนิตยสารชั้นนำหลายร้อยชิ้นในหลายประเทศ ทั้งสื่อของเยอรมนี อินเดีย และกระทั่งสื่อสหรัฐฯ ถ้าหากสิ่งที่แมนนิ่งเผยแพร่ออกมาเป็นเรื่องไม่สำคัญจริง มีหรือที่สื่อจะนำมาตีพิมพ์
 
 
7.) ความรู้ในเรื่องดังกล่าวจะทำให้เรามีความเสี่ยง แต่ความไม่รู้จะทำให้เราปลอดภัย
 
เชส บอกว่าแนวคิดนี้เป็นความเข้าใจผิดที่ใหญ่ที่สุด การที่ทหารอเมริกันสามารถเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนในอิรักได้เป็นเพราะว่ารัฐบาลมีความสามารถสูงในการกุมความลับเอาไว้ได้ และบางครั้งก็มีการบิดเบีอนความจริง หรือกระทั่งมีการโกหก
 
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ก็เคยใช้วิธีการเดียวกันในสงครามแบบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือการเก็บความลับของรัฐบาลทำให้มีการนองเลือด (และสูญเสียเงิน) ทั้งจากฝ่ายสหรัฐฯ และจากประเทศที่ถูกสหรัฐฯ รุกรานซึ่งสูญเสียมากกว่าหลายเท่า จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่นโยบายการต่างประเทศใหญ่ๆ กลายเป็นวินาศกรรมและความล้มเหลวเมื่อไม่มีข้อมูลสำคัญ
 
 
 
เชส มาดาร์ เป็นทนายความเพื่อสิทธิพลเมืองในนิวยอร์ก และเป็นผู้เขียนหนังสือเกี่ยวกับแบรดลี่ย์ แมนนิ่ง เรื่อง "The Passion of Bradley Manning: The Story behind the Wikileaks Whistleblower"
 
 
เรียบเรียงจาก
 
Seven Myths About Bradley Manning, The Nation, 03-06-2013

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles