ด้านกลุ่ม “ธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย” ออกแถลงการณ์ทางเฟซบุ๊ค ขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ให้นักศึกษามีที่นั่งในสภามหาวิทยาลัย ระบุที่ผ่านมานักศึกษาไม่เคยมีส่วนร่วม
4 มิ.ย.56 กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)ออกแถลงการณ์ทางแฟนเพจเฟซบุ๊คของกลุ่ม แสดงความขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... โดยเฉพาะกรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยที่แก้ไขร่าง พรบ.ให้องค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องมีสัดส่วนของกรรมการที่เป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วย 2 คน
ในแถลงการณ์ระบุว่า ที่ผ่านมานักศึกษาซึ่งเป็นสมาชิกที่มีสัดส่วนมากที่สุดของประชาคมธรรมศาสตร์ ไม่เคยเข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารของสภามหาวิทยาลัยแต่อย่างใด แม้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการร่าง พรบ.ขึ้นมาใหม่ แต่ก็ไม่มีบทบัญญัติที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมของนักศึกษา
“ดังเช่นในมาตรา 20 เกี่ยวกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จำกัดเฉพาะในหมู่ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า และบุคคลภายนอก ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม จึงไม่อาจสะท้อนถึงสมาชิกของมหาวิทยาลัยได้อย่างครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
“กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์มากขึ้น โดยในส่วนของมาตรา 20 ได้มีข้อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องมีกรรมการที่เป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วยเป็นจำนวน 2 คน ได้แก่ 1. นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ 2. ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
“ด้านพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลเมื่อได้รับทราบถึงข้อเรียกร้องของนักศึกษา และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ด้วยความเข้าใจถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2556 กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ร่วมกับกรรมาธิการท่านอื่นๆ เห็นชอบต่อข้อเสนอของนักศึกษาในมาตรา 20 ดังกล่าว สำเร็จลุล่วงด้วยดี”
ในแถลงการณ์ระบุด้วยว่า การให้นักศึกษาร่วมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย เป็นการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย และการดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามเป้าประสงค์ของสมาชิกมหาวิทยาลัยทุกฝ่าย เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ และการแก้ไขร่าง พรบ.ดังกล่าวจะทำให้ธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของไทยที่มีนักศึกษาอยู่ในโครงสร้างการบริหารในมหาวิทยาลัยของตนเอง
สำหรับรายละเอียดของแถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) มีดังนี้
000
แถลงการณ์กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD)
เรื่อง: ขอบคุณกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ที่ลงมติเห็นชอบการมีตัวแทนนักศึกษาเข้าเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัย ตามข้อเสนอมาตราที่ 20
ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ได้มีการพิจารณาองค์ประกอบของสภามหาวิทยาลัยตามมาตรา 20 ว่าควรเปิดโอกาสให้นักศึกษามีส่วนร่วมในการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย (LLTD) ในฐานะส่วนหนึ่งของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีความเห็นว่าการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... อันเป็นกฎหมายที่กำหนดโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกของมหาวิทยาลัย ทั้งอาจารย์ นักศึกษา และเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยทุกคนนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนของประชาคมธรรมศาสตร์ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในโครงสร้างการบริหารมหาวิทยาลัย เพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ของมหาวิทยาลัยเป็นไปตามเป้าประสงค์ของสมาชิกมหาวิทยาลัยทุกฝ่าย เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมานักศึกษาไม่เคยได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารของสภามหาวิทยาลัยเลย ทั้งที่นักศึกษาเป็นสมาชิกของประชาคมธรรมศาสตร์ที่มีสัดส่วนมากที่สุดในมหาวิทยาลัย
อย่างไรก็ตามแม้ทางมหาวิทยาลัยจะมีการร่างพระราชบัญญัติใหม่ ก็มิได้มีบทบัญญัติข้อใดที่สนับสนุนการมีส่วนร่วมดังกล่าว ดังเช่นในมาตรา 20 เกี่ยวกับกรรมการสภามหาวิทยาลัย ที่จำกัดเฉพาะในหมู่ผู้บริหาร คณาจารย์ ศิษย์เก่า และบุคคลภายนอก ไม่เปิดโอกาสให้นักศึกษาเข้าไปมีส่วนร่วม จึงไม่อาจสะท้อนถึงสมาชิกของมหาวิทยาลัยได้อย่างครบถ้วน และไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยจึงได้มีข้อเรียกร้องให้มีการทบทวนร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับการมีส่วนร่วมของประชาคมธรรมศาสตร์มากขึ้น โดยในส่วนของมาตรา 20 ได้มีข้อเสนอให้สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะต้องมีกรรมการที่เป็นนักศึกษารวมอยู่ด้วยเป็นจำนวน 2 คน
ได้แก่
1. นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ
2. ประธานสภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ด้านพรรคเพื่อไทยในฐานะพรรครัฐบาลเมื่อได้รับทราบถึงข้อเรียกร้องของนักศึกษา และให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี ด้วยความเข้าใจถึงความสำคัญของระบอบประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยในการประชุมคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. .... ณ วันที่ 4 มิถุนายน 2556 กรรมาธิการจากพรรคเพื่อไทยได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ร่วมกับกรรมาธิการท่านอื่นๆ เห็นชอบต่อข้อเสนอของนักศึกษาในมาตรา 20 ดังกล่าว สำเร็จลุล่วงด้วยดี
ทำให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของประเทศไทยที่มีนักศึกษาอยู่ในโครงสร้างการบริหารในมหาวิทยาลัยของตนเอง
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยขอขอบคุณผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกท่านที่ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในกระบวนการบริหารมหาวิทยาลัยของนักศึกษาอันเป็นหลักหมุดที่สำคัญยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตยในมหาวิทยาลัย และขอเป็นกำลังใจให้พรรคเพื่อไทยและกรรมาธิการท่านอื่นๆได้ปฏิบัติหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตยตามเจตนารมณ์ของประชาชน เพื่อประโยชน์ของประชาชนต่อไป
กลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตย
4 มิถุนายน 2556