Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

นายกรัฐมนตรีกล่าวปาฐกถาที่ประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลกครั้งที่ 65

$
0
0

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปาฐกถาที่ประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลกครั้งที่ 65 ย้ำบทบาทสื่อลดขัดแย้งสังคม ระวังมือที่ 3 บิดเบือน ระวังการเปิดพรมแดนโลกไซเบอร์อาจมีการนำข้อมูลข่าวสารไปใช้อย่างไม่ถูกต้อง

000

หมายเหตุ: เฟซบุ๊คของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ปาฐกถาที่กล่าวในการประชุมสภาหนังสือพิมพ์โลก ครั้งที่ 65 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยมีรายละเอียดังนี้

คำกล่าวปาฐกถานายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
การประชุม 65th World News Paper Congress
วันอังคารที่ 3 มิถุนายน 2556
กรุงเทพฯ


ในลำดับแรก ดิฉันต้องขออภัยที่เมื่อวานนี้ดิฉันไม่สามารถเข้าร่วมพิธีเปิดการประชุมได้ เนื่องจากยังติดภารกิจการเยือนต่างประเทศ ดิฉันทราบมาว่าในการประชุมมีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นอย่างน่าสนใจและเป็นประโยชน์ และดิฉันหวังว่าจะได้รับทราบประเด็นต่างๆที่ได้หารือกัน และพูดคุยถึงความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นได้เพื่อเสริมสร้างประโยชน์ร่วมกัน

ประการที่สอง ดิฉันขอขอบคุณคณะกรรมการของ WAN-IFRA ที่เลือกประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมในปีนี้ ดิฉันรู้สึกยินดีที่ได้เห็นผู้เชี่ยวชาญด้านการหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ บรรณาธิการ และนักโฆษณาจากทั่วทุกมุมโล

ดิฉันขอต้อนรับและขอขอบคุณที่ทุกท่านเชื่อมั่นในประเทศไทย WAN-IFRA นั้นเป็นองค์กรที่มีความสำคัญและมีอิทธิพลสูง ดิฉันจึงภูมิใจที่ประเทศไทยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงานในครั้งนี้

กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีชีวิตชีวาไม่เหมือนใคร ดิฉันจึงหวังว่าทุกท่านจะมีเวลาไปเที่ยวชมและสัมผัสความเปลี่ยนแปลงและประสบการณ์ใหม่ๆตามวิถีไทยด้วย

ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่ได้อยู่ในภูมิภาคนี้ของโลก และหากศตวรรษของเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มต้นขึ้นอย่างแท้จริงแล้ว ดิฉันขอให้ท่านเชื่อมั่นได้ว่า อาเซียนจะเป็นหนึ่งในเครื่องจักรกลหลักของการเจริญเติบโต ด้วยจำนวนประชากรกว่า 600 ล้านคน ที่มีรายได้และกำลังการซื้อสูงขึ้น ศักยภาพของการเติบโตทางธุรกิจมีมหาศาล

ประเทศสมาชิกทั้งสิบประเทศของอาเซียน ต่างเร่งทำงานกันอย่างหนักเพื่อลดอุปสรรคทางการค้าและการลงทุน และดิฉันมั่นใจว่าการเป็นประชาคมอาเซียนจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในปี 2015

นอกจากนี้ เรากำลังร่วมมือกันเพื่อสร้างความเชื่อมโยงเป็นจริง ซึ่งมีหลากหลายมิติที่จะทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันได้ ดิฉันขอยกตัวอย่างเพียงบางประเด็น

อันดับแรกคือ ความเชื่อมโยงทางกายภาพ การไหลเวียนอย่างเสรีของสินค้าและบริการไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากปราศจากสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เพียงพอ เอเชียและอาเซียนนั้นเป็นทวีปที่ต่อเนื่องแผ่นดินและผืนน้ำ การเชื่อมโยงจึงหมายถึงการเดินทางและขนส่งอย่างมีประสิทธิภาพไปสู่ศูนย์กลางโลจิสติกส์ทุกแห่ง และศูนย์กลางความเจริญเติบโตแห่งใหม่ๆ

ทั้งนี้ประเทศไทยมีแผนการลงทุนกว่า 66 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานทั้งรางรถไฟและการเชื่อมต่อทางถนน โดยมีการสร้างเครือข่ายรถไฟความเร็วสูง และเสริมด้วยรถไฟรางคู่ เพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านทางเหนือสู่ใต้ และตะวันออกสู่ตะวันตก

หากโครงการเหล่านี้แล้วเสร็จ ก็จะมีรถไฟความเร็วสูงที่วิ่งผ่าน ไทย ลาว และเข้าสู่จีน ขณะเดียวกันจะสามารถจะเชื่อมเอเชียใต้ เอเชียกลาง รัสเซีย และยุโรปเข้าด้วยกัน

ท่าเรือและสนามบินกำลังมีการปรับปรุงและมีการวางแผนสร้างใหม่ อย่างเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ซึ่งไทยและพม่ากำลังร่วมงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นประตูแห่งใหม่ที่มีท่าเรือน้ำลึก เชื่อมต่ออินเดียและศรีลังกา ไปยังตะวันออกกลางและแอฟริกา เราจะเชื่อมจุดต่างๆเพื่อทำให้การเชื่อมโยงบรรลุผลสำเร็จ

การเชื่อมโยงที่สอง คือ การเชื่องโยงระหว่างประชาชนต่อประชาชน เอเชียนั้นมีความหลากหลายทางวัฒนธรรม การเมือง แนวคิดทางเศรษฐกิจ และวิถีการดำเนินชีวิต ในความหลากหลายอาจมีความแข็งแกร่ง แต่ขณะเดียวกันก็อาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าได้

เราจำเป็นต้องทำงานกันอย่างหนักเพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีให้เกิดขึ้นระหว่างประชาชน องค์กร ชุมชน และสังคม การศึกษาเพื่อเสริมสร้างพื้นฐานร่วมกัน และความร่วมมือทางวัฒนธรรมเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง

ดิฉันจึงเชื่อว่าทุกท่านในที่ประชุมแห่งนี้มีบทบาทที่สำคัญที่ทำให้สิ่งที่กล่าวถึงเป็นจริง

บทบาทของสื่อและสื่อสารมวลชนไม่เคยมีความสำคัญไปกว่าในปัจจุบัน สำนักพิมพ์ ผู้สื่อข่าว บรรณาธิการ และนักโฆษณา คือคนกลางหลักในการเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ และข่าวสารในรูปแบบต่างๆ

ความรับผิดชอบและเสรีภาพของสื่อสารมวลชนช่วยทำให้สาธารณชนได้รับรู้ข้อมูล และสาธารณชนที่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ถือเป็นหัวใจสำคัญต่อความเข้าใจในมุมมองซึ่งกันและกัน

มีคำกล่าวทั่วไปที่ว่า “ลองยืนในรองเท้าของคนอื่น” ซึ่งในสำนวนไทยคือ “เอาใจเขา มาใส่ใจเรา”

ดิฉันเชื่อว่า ในก้นบึ้งของหัวใจ มนุษย์นั้นมีจิตใจที่งดงาม ดังนั้นการเข้าอกเข้าใจกันนั้นไม่เพียงช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ยังจะทำให้มนุษย์ทุกคนใกล้ชิดกันยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เสรีภาพที่ขาดความรับผิดชอบ สามารถสร้างความสับสน การเข้าใจผิด และหรือความวุ่นวายให้เกิดขึ้นได้ เสรีภาพของสื่อมวลชนจึงไม่ใช่จะไม่มีข้อจำกัด แม้แต่ในประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้ว

ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของสาธารณชน ความสงบเรียบร้อย สิทธิส่วนบุคคล และแม้แต่ความมั่นคงของชาติด้วย นอกจากนี้ เราจำเป็นต้องตระหนักเสมอด้วยว่า ยังมีบุคคลที่สามที่ต้องการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพื่อผลประโยชน์ส่วนตน

ดังนั้น ความรับผิดชอบของสื่อและสื่อสารมวลชนบนพื้นฐานของมาตรฐานของความเป็นมืออาชีพและสามัญสำนึกที่สูงจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ดั่งคำสอนของศาสนาพุทธที่ให้ดำรงอยู่บนทางสายกลาง จึงต้องมีความสมดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชน สำหรับดิฉันเชื่อเสมอว่าสื่อและสื่อสารมวลชนจะต้องเป็นผู้หาจุดสมดุลนี้ด้วยตนเอง

ประเด็นดังกล่าวมีความสลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการเปิดพรมแดนใหม่ของสื่อมวลชนในโลกไซเบอร์ สื่อสิ่งพิมพ์ปัจจุบันใช้ประโยชน์จากโลกไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาก แม้ช่องทางนี้มีทั้งศักยภาพที่นำไปใช้อย่างถูกต้องและไม่ถูกต้องเช่นกัน โดยที่ข้อมูลหรือข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง สามารถแพร่ขยายสู่ประชาชนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

และเมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้น ก็เป็นการยากที่จะแก้ไขให้ถูกต้อง เราจึงจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในระหว่างผู้ที่เป็นบรรณาธิการ เพื่อให้มั่นใจว่าข้อมูลและข่าวสารในอินเทอร์เน็ตนั้น สะท้อนความสมดุลระหว่างเสรีภาพและความรับผิดชอบของสื่อมวลชนเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนอย่างแท้จริง

กล่าวโดยสรุปดิฉันเชื่อว่า อุตสาหกรรมข่าวสารและการผลิตอยู่ในช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้น โดยบทบาทของท่านมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในการส่งเสริมประชาธิปไตย การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการสร้างความเข้าใจระหว่างประชาชนชาติต่างๆ ด้วยพวกท่านมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเข้าถึงผู้อ่านได้อย่างกว้างขวางรวดเร็วแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

ดิฉันขออวยพรให้ท่านประสบความสำเร็จในห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนี้ และขณะเดียวกัน ดิฉันหวังว่าท่านจะมีเวลาท่องเที่ยวชมและเพลิดเพลินกับการดูแลตามวิถีไทยด้วย

ขอบคุณคะ

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles