สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ประชุมออกแบบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน ตั้งเป้าขยายเครือข่ายกู้ชีพในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพิ่มโอกาสรอดชีวิตแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน
4 มิ.ย.56 สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ “กองทุนการแพทย์ฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด” ขึ้นที่โรงแรมบางกอก กอล์ฟ สปา รีสอร์ท จ.ปทุมธานี เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และกำหนดรูปแบบการจัดการกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด โดยมีผู้เข้าร่วม ได้แก่ ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ขององค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล และองค์การบริหารส่วนตำบล
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน มีเป้าหมายหลักคือให้ประชาชนได้รับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยการป้องกันให้การเจ็บป่วยฉุกเฉินเกิดขึ้นน้อยที่สุด จัดการให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่ได้มาตรฐาน จนพ้นภาวะฉุกเฉินหรือได้รับการบำบัดรักษาเฉพาะอย่างทันท่วงที ซึ่งจะส่งผลให้ลดการเสียชีวิตและลดความพิการ จากการบาดเจ็บและเจ็บป่วยฉุกเฉิน โดยเป้าหมายดังกล่าวนี้ต้องอาศัยความร่วมมือในการดำเนินงานการแพทย์ฉุกเฉินจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทภารกิจที่บัญญัติไว้ชัดเจนในพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 ที่ระบุว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินการการรักษาพยาบาลผู้ป่วยฉุกเฉิน ไม่ว่าเป็นการรักษาในสถานพยาบาลหรือนอกสถานพยาบาล และพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 มาตรา 33 วรรคสองที่บัญญัติว่า เพื่อส่งเสริมการมีบทบาทตามความพร้อม และความจำเป็นของประชาชนในท้องถิ่น ให้คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) สนับสนุนและประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่
“องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือกลุ่มคนทำงานที่ถือว่าใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด ดังนั้นจึงถือว่ามีความสำคัญ ซึ่งหากท้องถิ่นมีการจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดี ก็ย่อมส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับโอกาสและเข้าถึงการบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินที่มากขึ้นด้วย ดังนั้นหากเราสามารถจัดระบบ และมีกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อสนับสนุนการทำงานให้มีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวมากขึ้น ก็ย่อมส่งผลดีด้วย” นพ.วิทยากล่าว
นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการ สพฉ.กล่าวว่า การจัดประชุมดังกล่าวมีขึ้นเพื่อค้นหา และร่วมกันพิจารณารูปแบบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับจังหวัด และนำมายกร่างหลักเกณฑ์ ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถดำเนินงานและบริหารจัดระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการให้บริการแก่ประชาชนตามพระราชบัญญัติการแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ สำหรับในอนาคต สพฉ.ตั้งเป้าว่าจะต้องมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ครอบคลุมมากที่สุด หรือ “1 กู้ชีพ 1 ตำบล” เพราะการจัดตั้งชุดปฏิบัติการที่ให้บริการครอบคลุมพื้นที่ ถือเป็นโอกาสพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสิ้นรวม 7,851 แห่ง จำแนกเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด 76แห่ง เทศบาล 2,082 แห่ง องค์การบริหารส่วนตำบล 5,693 แห่ง รูปแบบพิเศษ 2 แห่ง ในจำนวนนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะในพื้นที่ตนเอง 4,731 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 60.03 เมื่อรวมการดำเนินงานกับภาคีเครือข่าย เช่น มูลนิธิ และหน่วยงานอื่นที่มีส่วนร่วมในพื้นที่จะมีความครอบคลุมจำนวน 6,683 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 85.12 ในจำนวนนี้มีการปฏิบัติงานเพื่อรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉิน จำนวน 4,026 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละของการปฏิบัติงานเท่ากับ 60.24