Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

การประท้วงนายกฯ ที่ตุรกียังดำเนินต่อเนื่อง

$
0
0

การประท้วงรัฐบาลตุรขยายออกไปยังหลายเมือง โดยความรุนแรงยังดำเนินอย่างต่อเนื่อง เหตุเริ่มจากจากการใช้แก๊ซน้ำตาของตำรวจสลายการชุมนุมคัดค้านการทำลายสวนสาธารณะในอิสตันบูล ล่าสุดมีผู้บาดเจ็บกว่าพันคนแล้ว 

1 มิ.ย. 56 - ความรุนแรงในตุรกีดำเนินยังคงดำเนินต่อเนื่องในหลายเมือง อาทิ อิสตันบูล อังการา อิซเมียร์ และโบดรัม หลังจากเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ตำรวจจลาจลใช้แก๊สน้ำตาและสายฉีดน้ำเพื่อสลายการชุมนุมผู้ประท้วงหลายพันคนที่พยายามปักหลักอยู่บริเวณสวนเกซีในจตุรัสตักซิม ในใจกลางเมืองอิสตันบูล ในขณะที่นายกรัฐมนตรีรีเชป ตอย์ยิป เออร์โดแกน ประณามผู้ประท้วงว่าเป็น "พวกหัวรุนแรงบ้าคลั่ง" 
 
การชุมนุมดังกล่าว เริ่มต้นจากเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งประท้วงคัดค้านนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเปลี่ยนสวนสาธารณะเป็นห้างสรรพสินค้าในบริเวณศูนย์กลางกรุงอิสตันบูล แต่ต่อมา ตำรวจได้ใช้กำลังพร้อมแก๊ซน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมดังกล่าว อย่างไรก็ตามหลังจากนั้น การประท้วงก็ได้เริ่มขยายใหญ่ขึ้น โดยมีทั้งศิลปิน ปัญญาชน และส.ส. จากพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วมด้วย เพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความเป็นอำนาจนิยมที่มากขึ้นของรัฐบาล 
 
การปะทะดังกล่าวได้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดมีรายงานจากสมาคมแพทย์ตุรกีว่ามียอดผู้บาดเจ็บราว 1,000 กว่าคน มีราว 6 คนที่สูญเสียตาเนื่องจากถูกระเบิดแก๊ซน้ำตา  และมีผู้เสียชีวิตแล้วเป็นผู้หญิงหนึ่งคน และมีรายงานว่าตำรวจยังได้เข้าโจมตีผู้ประท้วงที่นั่งอ่านหนังสือและร้องเพลงอยู่อย่างสงบ ในขณะที่สำนักข่าวโดแกนระบุว่ามีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัว 81 คน 
 
ประกอบกับการขาดการรายงานข่าวการประท้วงจากสื่อกระแสหลัก ทำให้ผู้ชุมนุมคาดการณ์ได้ว่ารัฐบาลกดดันมิให้ช่องโทรทัศน์หลักๆ รายงานข่าวเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว และเกิดความตึงเครียดเพิ่มขึ้น
 
เว็บไซต์เดอะ การ์เดียนรายงานด้วยว่า มีคลิปวีดีโอมือสมัครที่ถ่ายเหตุการณ์ทหารตุรกี ปฏิเสธที่จะช่วยตำรวจจลาจลเข้าควบคุมฝูงชน และช่วยส่งหน้ากากกันแก๊สน้ำตาให้กับผู้ประท้วง และมีรายงานอีกว่าตำรวจบางส่วนตัดสินใจเปลี่ยนฝ่ายและเข้าร่วมการชุมนุมแทน 
 
ล่าสุด นายกรัฐมนตรีเออร์โดแกน ได้เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมยุติการประท้วงโดยทันที และกล่าวจะเดินหน้าโครงการพัฒนาการก่อสร้างในจตุรัสตักซิมต่อไป นอกจากนี้ ยังย้ำให้เรียกคืนระเบียบให้เหมือนเดิมและให้ตำรวจดำเนินการควบคุมผู้ประท้วงต่อ 
 
ทั้งนี้ ประเด็นการประท้วงคัดค้านการทำลายสวนสาธารณะที่เป็นชนวนของความรุนแรงนี้ เป็นแค่ปัญหาเทียบได้กับยอดภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น เนื่องจากสัปดาห์ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ดำเนินการสร้างสะพานข้ามช่องแคบบอสฟอรัส โดยไม่รับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยฝ่ายที่คัดค้านชี้ว่าการก่อสร้างดังกล่าวจะทำลายพื้นที่สาธารณะสีเขียวของประชาชน และไปรับใช้ผลประโยชน์ของธุรกิจเอกชน 
 
"วันนี้เปรียบเสมือนจุดเปลี่ยนสำหรับพรรคเอเคพี (พรรคความยุติธรรมและการพัฒนา)"โคเรย์ คาลิสกาน นักรัฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยบอสฟอรัส กล่าว "เออร์โดนแกนนั้นมีความมั่นใจมากและเป็นนักการเมืองอำนาจนิยมมาก และเขาก็ไม่ฟังใครแล้วทั้งนั้น แต่เขาต้องเข้าใจว่าตุรกีไม่ใช่ราชอาณาจักร และเขาไม่สามารถบริหารประเทศจากเมืองอังการาด้วยตัวของเขาเองคนเดียวได้" 
 
อูกูร์ ทันเยลี นักประวัติศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมกล่าวว่า "ปัญหาที่แท้จริงแล้วไม่ใช่ที่จตุรัสตักซิมและไม่ใช่สวนสาธารณะ แต่มันคือการขาดการมีส่วนร่วมการตัดสินใจที่เป็นประชาธิปไตย รวมถึงการขาดฉันทามติอย่างมาก ตอนนี้เรามีนายกรัฐมนตรีที่เขาจะทำอะไรก็ได้ที่เขาอยากทำ" 
 
การชุมนุมดังกล่าว นับเป็นการประท้วงที่ใหญ่ที่สุดภายใต้สมัยการปกครองของนายกรัฐมนตรีรีเชป ตอย์ยิป เออร์โดแกน ซึ่งปกครองตุรกีในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา และมีการตั้งข้อสังเกตว่า การประท้วงครั้งนี้มีลักษณะพิเศษในแง่มีคนร่วมชุมนุมจากหลายแนวอุดมการณ์และอายุ ทั้งฝ่ายขวาและฝ่ายซ้าย รวมถึงกลุ่มชาตินิยมเติร์กและเคิร์ดด้วย โดยพวกเขาคัดค้านในประเด็นที่นอกเหนือไปจากการสร้างสวนสาธารณะ ทั้งนโยบายของรัฐบาลต่อประเทศซีเรีย การจำกัดการดื่มเครื่องดื่มแอลกฮอลล์ และการห้ามการแสดงความรักใคร่กันในที่สาธารณะ ซึ่งรัฐบาลเพิ่งออกกฎหมายดังกล่าวมาเมื่อเร็วๆ นี้ 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles