Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

นัดพิพากษาคดีคนงาน ‘ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง’ สมัยรบ.อภิสิทธิ์ 11 ก.ค.นี้

$
0
0

เบิกคดีคนงานไทรอัมพ์ฯ เอนี่ออนและเวิลด์เวลล์การ์เม้น ‘ก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง’ สมัย รบ.อภิสิทธิ์ พยานจำเลยเบิกยันชุมนุมโดนสงบตาม รธน. อดีตที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ชี้สหภาพฯชุมนุมเป็นเรื่องปกติ  ส่วหน้าทำเนียบ-สภา มีการชุมนุมเป็นประจำออยู่แล้ว นัดฟังคำพิพากษา 11 ก.ค.นี้

ภาพคนงานไทรอัมพ์ฯ ชุมนุมหน้ารัฐสภา 27 ส.ค.52

เมื่อวันที่ 29 - 30 พ.ค.56 ที่ห้องพิจารณาคดี 707 ศาลอาญา รัชดา มีการสืบพยานจำเลย ในคดีที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ นายสุนทร บุญยอด และ น.ส.จิตรา คชเดช ในความผิดฐานมั่วสุมกันก่อการวุ่นวายในบ้านเมือง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 ว่าด้วยการชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป จากกรณีการชุมนุมของคนงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือ และคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้น เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552

โดยหลังพยานจำเลยเปิกความครบทุกปากแล้วศาลนัดฟังคำพิพากษา 9.00 น. วันที่ 11 ก.ค.56 ที่ห้องพิจารณา 707 ศาลอาญารัชดา ทั้งนี้ศาลได้ขอตัดพยานจำเลยออกหลายปาก เช่น ผศ.ดร.จันทจิรา เอี่ยมมยุรา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมที่สาธารณะ นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นต้น โดยศาลให้เหตุผลว่าต้องการเพียงข้อเท็จจริงในการพิจารณาเป็นหลักไม่ใช่ความเห็น ส่วนข้อกฎหมายนั้นศาลทราบอยู่แล้ว

สุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 เบิกความว่า ขณะเกิดเหตุ เป็นเจ้าหน้าที่ของสภาองค์การลูกจ้างสภาศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย ทำหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ และให้การศึกษากับสมาชิก โดยช่วงดังกล่าว สมาชิกของสภาฯ คือ สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) ประสบปัญหาถูกเลิกจ้างจำนวน 300 กว่าคนและไม่ได้รับค่าชดเชย จึงช่วยเหลือในการร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ โดยแม้มีคำสั่งจากพนักงานตรวจแรงงาน ชลบุรี ให้บริษัทจ่ายเงินชดเชย แต่บริษัทไม่ปฏิบัติตาม จนเมื่อ 26 ส.ค.52 บรรจง บุญรัตน์ ซึ่งเป็นประธานสภาฯ แจ้งว่าได้ประสานกับลูกจ้างที่ประสบปัญหา ได้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์และคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ว่าจะไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบในวันที่ 27 ส.ค.

สุนทร เล่าว่า ในวันดังกล่าว พบกับคนงานทั้งสามกลุ่มที่บ้านหน้าพิษณุโลก ซึ่งคนงานเอนี่ออนนั้นนำโดยกันยาภรณ์ ดวงเกิด รองประธานสหภาพฯ ส่วนลูกจ้างบริษัทอื่น ไม่ทราบว่าใครเป็นแกนนำ ทั้งนี้ ในส่วนของสภาฯ และเอนี่ออน ตัวแทนที่เข้าไปยื่นหนังสือคือ บรรจงและกันยาภรณ์ ขณะที่ตนเองไม่ได้รับมอบหมายให้เป็นหัวหน้า

ขณะเดินไปทำเนียบและรัฐสภา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกให้ตลอดทาง การจราจรทั้งที่ทำเนียบและรัฐสภา ไม่ได้ปิดตาย ยังสัญจรได้ แม้จะผ่านสถานที่ราชการต่างๆ เวลานั้น ผู้คนก็เข้าทำงานกันหมดแล้ว ขณะที่หน้ารัฐสภา บริเวณเขาดินที่ผู้ชุมนุมอยู่กันก็ไม่ใช่ทางเข้าหลัก ทั้งนี้ ตนเองได้ขึ้นปราศรัยนำเสนอปัญหาของคนงานเอนี่ออน ทั้งที่หน้าทำเนียบและรัฐสภา โดยไม่ได้มีปากเสียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือ พล.ต.ต.วิชัย แต่อย่างใด

อัยการถามว่า พนักงานตรวจแรงงานให้จ่ายค่าชดเชยโดยกำหนดระยะเวลาให้จ่ายด้วยใช่หรือไม่ โดยคำสั่งลงวันที่ 17 ส.ค. สุนทร ตอบว่า ใช่ โดยให้ปฏิบัติใน 30 วันหลังรับทราบคำสั่ง ซึ่งไม่ทราบว่านายจ้างได้รับทราบคำสั่งเมื่อใด สุนทรตอบทนายซักค้านด้วยว่า ตามคำสั่งดังกล่าว นายจ้างมีสิทธิฟ้องเพิกถอนคำสั่งได้ใน 30 วัน นับแต่ทราบคำสั่ง จนปัจจุบันนี้นายจ้างก็ยังไม่จ่ายค่าชดเชย

ภาพคนงานทั้ง 3 โรงงานชุมนุมหน้าทำเนียบรัฐบาล 27 ส.ค.52

เทวฤทธิ์ มณีฉาย ผู้สื่อข่าวประชาไท พยานในเหตุการณ์ เบิกความว่า ขณะนั้นเป็นผู้สื่อข่าวอิสระและนักศึกษาปริญญาโทคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) มีความสนใจเรื่องนโยบายของรัฐด้านสวัสดิการ จึงไปติดตามการชุมนุม และได้บันทึกภาพนิ่งและวิดีโอ เพื่อรายงานข่าวและเก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์

เทวฤทธิ์ ระบุว่า ผู้ชุมนุมมีจำนวนพันกว่าคน โดยเป็นผู้ชายราว 5% ในวันดังกล่าว ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ไม่มีใครออกมารับหนังสือ คนงานจึงตัดสินใจเดินขบวนไปหน้ารัฐสภา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจโบกรถให้ และเมื่อไปถึงมีการวางแผงเหล็กกั้นปิดท้ายขบวน เพื่ออำนวยความสะดวกในการชุมนุม ไม่ให้รถเข้ามาในบริเวณดังกล่าว ต่อมา ในช่วงบ่าย มีการใช้เครื่อง LRAD รบกวนการชุมนุม โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บที่แก้วหู

เทวฤทธิ์ กล่าวว่า ในการปราศรัยของผู้ชุมนุมทั้งที่หน้าทำเนียบและรัฐสภา มีการพูดถึงปัญหาการถูกเลิกจ้าง ขอความเป็นธรรม และพูดถึงการแถลงนโยบายของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯในขณะนั้น ที่จะประกันการเลิกจ้าง โดยไม่ได้มีการชักชวนให้ทำผิดกฎหมาย  ทั้งนี้ มองว่าการชุมนุมในวันดังกล่าวไม่ได้สร้างความวุ่นวายใดๆ 

ภาพเครื่อง LRAD บริเวณรั้วด้านในรัฐสภา 27 ส.ค.52

พงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงานฝ่ายการเมือง สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะผู้ติดตามปัญหาแรงงานสัมพันธ์และรับผิดชอบติดตามกรณีปัญหาการเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์ฯ เบิกความว่า ติดตามการชุมนุมของคนงานไทรอัมพ์ฯ ตั้งแต่เริ่มที่หน้าโรงงาน มาสวัสดิการสังคมจังหวัด กระทรวงแรงงาน เพื่อเรียกร้องทางสังคม เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ติดตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งฝ่ายคนงานไม่ต้องการถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ปกติคนงานก็จะแสดงออกหากไม่พอใจ ก็จะมีการชุมนุม เช่น ชุมนุมหน้าโรงงาน แรงงานจังหวัดและกระทรวงแรงงาน รวมทั้งที่หน้าทำเนียบ

พงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า วันเกิดเหตุพยานอยู่สภา เนื่องจากเป็นที่ปรึกษากรรมาธิการด้านแรงงาน  ซึ่งนอกจากคนงานไทรอัมพ์ฯ แล้ว ยังมีอีก 2 บริษัท ต้องการมายื่นหนังสือต่อรัฐบาล ผ่าน รมว.แรงงาน และในวันนั้นได้ยื่นหนังสือด้วย โดยก่อนหน้านั้น คนงานไทรอัมพ์ฯ มีการยื่นมาเป็นระยะด้วย โดยคนงานกลุ่มนี้เป็น สหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง สมาชิกของเขาร่วมกันเต็มที่ การชุมนุมในวันนั้นผู้ชุมนุมไม่มีการใช้อาวุธหรือใช้ความรุนแรง เป็นการไปใช้สิทธิด้านแรงงาน กับรัฐบาล โดยที่ผ่านมาการชุมนุมลักษณะนี้ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นช่องทางในการเรียกร้องให้รัฐดำเนินการ โดยเฉพาะการมีปัญหารุนแรงก็จะมาชุมนุมจำนวนมากอย่างกรณีไทรอัมพ์ฯ ก็ประสบปัญหารุนแรง และการชุมนุมดังกล่าวก็ทำให้การแก้ปัญหาหรือจัดการโดยเจ้าหน้าที่รัฐได้รับการพิจารณาเร็วขึ้น อีกทั้งขณะนั้น รัฐบาลอภิสิทธิ์ มีนโยบายชะลอการเลิกจ้าง รวมทั้งรัฐบาลให้ประชาชนใช้สิทธิการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญได้ และโดยปกติจะมีการจัดระเบียบการชุมนุมบริเวณหน้ารัฐสภาอยู่แล้ว

พงษ์ศักดิ์ กล่าวถึงกระบวนการการทำลายสหภาพแรงงานด้วยว่า ส่วนมากนายจ้างจะใช้การเลิกจ้างกรรมการสสหภาพแรงงาน และกรณีไทรอัมพ์ฯ ก็มีการเลิกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงานด้วย สำหรับการเลิกจ้างคนงานนอกจากบริษัทต้องปฏิบัติตามข้อกฎหมายในการเลิกจ้างแล้ว ต้องทำตามสภาพการจ้างที่มีการตกลงกับสหภาพแรงงานไว้ด้วยเช่นกัน ซึ่งกรณีนี้นายจ้างได้มีการจ่ายค่าชดเชยขั้นต่ำตามกฎหมาย แต่ฝ่ายลูกจ้างประท้วงเรื่องการยุติการเลิกจ้าง และปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้าง รวมถึงสิทธิขั้นที่สูงกว่าที่กฎหมายไทยกำหนด ซึ่งข้อตกลงสภาพการจ้างดังกล่าวเป็นประเด็นที่ นายจ้างกับคนงานมีกระบวนการเจรจากัน และมีเส้นตายของการที่คนงานไทรอัมพ์ฯ 1959 คนจะถูกเลิกจ้างในวันที่ 29 ส.ค. 52 เขาจึงมาชุมนุมกันเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาในวันที่ 27 ส.ค.52

บรรจง บุญรัตน์ ประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานศูนย์กลางแห่งประเทศไทย เบิกความว่า สหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ และแม็คคานิคส์ในเครือ เป็นสหภาพของคนงานเอนี่ออน ซึ่งร่วมชุมนุมในวันเกิดเหตุนั้นเป็นสมาชิกของสภาองค์การลูกจ้างฯ ซึ่งสหภาพฯ เริ่มมีข้อพิพาทแรงงานเมื่อปี 51 และมาร้องเรียนว่านายจ้างจ่ายเงินไม่ถูกต้อง จึงมีการไปร้องกับกระทรวงแรงงาน แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ต่อมามีการปิดกิจการและเลิกจ้างคนงานประมาณ 300 คนในเดือน ส.ค. 52 สหภาพฯ จึงร้องเรียนให้สภาองค์การลูกจ้างฯช่วย จึงร้องเรียนทั้งในระดับจังหวัด และกระทรวง แต่ก็ไม่เป็นผล จนยื่นเรื่องต่อนายก

บรรจง ระบุว่า หลังจากนั้น รองประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์ฯ ได้ประสานกับคนงานไทรอัมพ์ฯ เพื่อเดินทางไปทวงถามความคืบหน้าดับนายกฯ ในวันที่ 27 ส.ค. 52 พยานจึงคุยกับนายสุนทร บุญยอด จำเลยที่ 2 ที่เป็นเจ้าหน้าที่สภาองค์การลูกจ้างฯ ให้ไปดูแลคนงาน ที่นัดกันที่ บ้านพิษณุโลก ลูกจ้างของเอนี่ออนมาประมาณ 300 กว่าคน ของไทรอัมพ์ ประมาณ 600-700 คน รวมแล้วกว่าพันคน เดินไปหน้าทำเนียบ ระหว่างเดินไปทำเนียบรถก็เดินทางไปได้ ขณะนั้นสถานที่ราชการเข้าทำงานหมดแล้ว เพราะประมาณ 10.00 น. อยู่หน้าทำเนียบประมาณ 1 ชม. ทราบว่านายกไม่อยู่ และอยู่ที่รัฐสภา จึงเดินทางกันไปหน้ารัฐสภาโดยมีตำรวจนำขบวน และอำนวยความสะดวกให้ไปรัฐสภา

บรรจง  เบิกความต่อว่า ขณะอยู่หน้ารัฐสภา ประตูถูกปิดโดยตำรวจ สักพักตำรวจเปิดเสียงรบกวน ส่งผลกระทบมาก ขณะนั้น สวนสัตว์เขาดินสามารถเข้าได้เพราะทางซื้อบัตรเข้าออกไม่ได้อยู่บริเวณนั้น หลังจากนั้น 14.00 น. ที่ปรึกษา รมว.แรงงาน ได้เชิญพยานไปพบ รัฐมนตรีในรัฐสภา และได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีและรับปากว่าจะช่วยเหลือ รวมถึงกรณีของสหภาพฯ อื่นด้วย เมื่อเสร็จจากยื่นหนังสือแล้วก็เลิก โดยพยานสั่งการให้ผู้ชุมนุมคนงานเอนี่ออนเลิกจึงยุติการชุมนุม

ส่วนสุนทร จำเลยที่ 2 ที่อยู่ทั้งหน้าทำเนียบและรัฐสภานั้นไม่ได้เป็นผู้นำ และไม่ได้เข้าพบรัฐมนตรี แต่มีการปราศรัยปัญหาความเดือดร้อนของลูกจ้างที่มายื่นหนังสือ โดยคนงานทั้งหมดที่มาวันนั้นเพียงแค่ต้องการให้ รัฐบาลแก้ปัญหา ไม่มีความคิดที่จะมาสร้างความวุ่นวายหรือยึดอำนาจรัฐ และจำเลยทั้ง 3 ไม่ได้เป็นหัวหน้าคนงาน เป็นเพียงตัวแทนของคนงาน

ประธานสภาองค์การลูกจ้างฯ เบิกความด้วยว่า พนักงานตรวจแรงงานมีคำสั่งให้นายจ้างเอนี่ออนจ่ายค่าชดเชยกับแล้ว แต่นายจ้างยังไม่ปฏิบัติตาม และนายจ้างได้หายไปจึงเรียกร้องให้นายกช่วยประสาน อย่างไรก็ตามในตอนนี้นายจ้างก็ยังไม่ปฏิบัติตาม

ปกป้อง เลาวัณย์ศิริ นักสิทธิมนุษยชน ชึ่งในช่วงเกิดเหตุเป็นเจ้าหน้าที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ของ สภาเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งเอเชีย (Forum Asia) ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน เบิกความว่า ก่อนหน้าที่จะมีการชุมนุม สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ขอให้ไปเป็นล่ามในการแปลระหว่างเจรจาด้านสวัสดิการและค่าจ้าง โดยลักษณะการทำงานของสหภาพแรงงานนี้ ตัวกรรมการไม่สามารถตัดสินใจได้ในทันทีเพราะต้องกลับไปคุยกับสมาชิกสหภาพก่อน

ต้นปี 52 พยานทราบจากคนงานว่าจะมีการเลิกจ้างจำนวนมาก รวมทั้งกรรมการ 13 คนจาก 20 คน สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯจึงยื่นข้อเสนอกับบริษัทเพื่อให้ยุติการเลิกจ้าง รวมทั้งให้รับจิตรา จำเลยที่ 3 ที่เป็นประธานสหภาพคนก่อนและถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงาน แต่การเจรจาไม่เป็นผล จนทำให้คนงานไปยื่นข้อเรียกร้องกับนายกในวันที่ 6 ส.ค. 52 ซึ่งพยานไปร่วมสังเกตการณ์ด้วย การชุมนุมวันนั้นใช้เวลาไม่นาน เนื่องจากมีคนออกมารับแล้วคนงานก็กลับ

แต่หลังจากยื่นหนังสือรัฐบาลไม่ได้มีการแจ้งความคืบหน้ากับคนงาน จึงทำให้สหภาพแรงงานเดินทางมาอีก วันที่ 27 ส.ค. และพยานได้ไปสังเกตการณ์ด้วยมีผู้ชุมนุมมีประมาณ 1500 คน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาอำนวยความสะดวกรวมทั้งมีแผงเหล็กของเจ้าหน้าที่กันรถไว้ รวมทั้งบริเวณที่ชุมนุมหน้าทำเนียบรถยังสามารถสัญจรไปได้

ปกป้อง เบิกความต่อว่า จากนั้นผู้ชุมนุมประชุมกันเนื่องจากทราบว่านายกฯ อยู่ที่รัฐสภา ก่อนเที่ยงจึงเดินทางไป ระหว่างทางมีตำรวจ อำนวยความสะดวก เมื่อมาถึงสภาขณะนั้นไม่มีรถสวนทางออกมา เพราะตำรวจกันรถเตรียมพื้นที่ชุมนุมไว้ให้ ตลอดการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ เนืองจากส่วนมากเป็นผู้หญิง โดยมีการปราศรัยเรื่องปัญหาเดือดร้อนที่คนงานประสบ แต่ยังไม่มีตัวแทนรัฐบาลออกมารับ จนกระทั่งตำรวจเปิดเครื่องขยายเสียงระดับไกลหรือ LRAD ผู้ชุมนุมจึงประสานไปกับตัวแทนฝ่ายค้านเพื่อยื่นหนังสือแทน

สำหรับเหตุผลที่เข้าไปสังเกตการณ์ชุมนุมนั้น ปกป้อง เบิกความว่า เนื่องจากการชุมนุมเป็นสิทธิ องค์กรของพยานก็ได้ติดตามการชุมนุมและประเด็นเรื่องสิทธิ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในไทย ได้เดินทางไปสังเกตการชุมนุมในประเทศอื่นในเอเชียด้วย การชุมนุมที่เกิดขึ้นในวันนั้นเนื่องจากมีวัตถุประสงค์มาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อน และส่วนมากผู้ชุมนุมเป็นผู้หญิง และมีอายุค่อนข้างมาก รวมทั้งมีการพาเด็กที่เป็นลูกหลานมาร่วมชุมนุมด้วย จึงถือเป็นการชุมนุมโดยสงบ ไม่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles