Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

กลุ่มเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ป้อง 'หมอวิทิต'

$
0
0
 
31 พ.ค. 56 - กลุ่มเพื่อนมหิดลออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2 “ร่วมกันปกป้องคนดีในวงการสาธารณสุข : กรณีการสั่งปลดหมอวิทิต” และการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์การเภสัชกรรม โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์กลุ่มเพื่อนมหิดล ฉบับที่ 2
“ร่วมกันปกป้องคนดีในวงการสาธารณสุข : กรณีการสั่งปลดหมอวิทิต”
และการใช้อำนาจการเมืองแทรกแซงองค์การเภสัชกรรม
 
จากกระแสข่าวที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายประดิษฐ สินธวณรงค์) ขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าตรวจสอบการบริหารของผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กรณีการจัดซื้อวัตถุดิบเพื่อการผลิตพาราเซตามอล และกรณีการก่อสร้างโรงงานผลิตวัคซีน โดยจงใจสร้างให้เกิดความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่องค์การเภสัชกรรม และยกเป็นเหตุให้บอร์ดองค์การเภสัชกรรมมีมติปลด นพ.วิทิต อรรถเวชกุล ในฐานะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม แล้วเสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ที่ผ่านมาอย่างมีเงื่อนงำ นำมาซึ่งข้อสงสัยของประชาชนโดยทั่วไป ถึงความไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้องชอบธรรมในการดำเนินการดังกล่าว 
 
กลุ่มเพื่อนมหิดล ในฐานะองค์กรภาคีความร่วมมือของบุคลากรในแวดวงวิชาชีพสาธารณสุข วิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งเป็นอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลที่รักประชาธิปไตย รักความเป็นธรรม และมุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาระบบสุขภาพที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม จึงติดตามกรณีดังกล่าวอย่างใกล้ชิดด้วยความห่วงใยต่อระบบสุขภาพโดยรวม และมีความเห็นร่วมกันว่า
 
(1) จากประวัติและผลงานที่โดดเด่นของ นพ.วิทิตฯที่ผ่านมา นับตั้งแต่การเป็นผู้บริหารระดับต้นที่โรงพยาบาลชุมชนบ้านแพ้ว จนถึงการเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม กล่าวคือ
 
1.1) เมื่อครั้งที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (ช่วงปี 2530 - 2550) ได้สร้างผลงานและความก้าวหน้าให้แก่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เช่น ผลักดันให้เกิดการผ่าตัดที่ยากๆ ได้โดยสามารถเชิญอาจารย์จากศิริราชไปช่วยผ่าตัดให้ จัดบริการ “เชิงรุก” โดยออกไปตั้งคลินิกผู้ป่วยนอกในชุมชน เพื่อให้ประชาชนสะดวกขึ้นและลดความแออัดในโรงพยาบาล จนเป็นที่ยกย่อง ได้รับการยอมรับและความร่วมมือเป็นอย่างมากจากประชาชนในพื้นที่ และในที่สุดก็สามารถพัฒนาให้โรงพยาบาลบ้านแพ้วเป็น “องค์การมหาชน”แห่งแรกของประเทศไทยที่มีการบริหารงานแบบอิสระ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 นอกจากนี้ยังได้ขยายการให้บริการเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง เช่น โรงพยาบาลบ้านแพ้วพร้อมมิตร คลินิกบ้านแพ้วที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ อาคาร A และอาคาร B  เป็นต้น    
 
1.2) จากการบริหารงานโรงพยาบาลบ้านแพ้วของหมอวิทิตฯ ด้วยความทุ่มเทอุตสาหะมาเป็นระยะเวลายาวนานจนประสบความสำเร็จ จึงกลายเป็นต้นแบบของการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลของรัฐให้เป็นองค์กรมหาชนที่เป็นอิสระจากกระทรวงสาธารณสุข โดย นพ.วิทิตฯได้รับรางวัลมหิดล-บีบราวน์ เพื่อการแพทย์และสาธารณสุขไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 อันเป็นการแสดงถึงความสำเร็จในเรื่องนี้
 
1.3) นอกจากนี้ รูปแบบการบริหารโรงพยาบาลบ้านแพ้วนี่เอง ได้กลายเป็นต้นแบบของโครงการ “30 บาท รักษาทุกโรค” เพราะ นพ.วิทิตฯ ได้บริหารงานโรงพยาบาลบ้านแพ้วโดยได้รับงบประมาณเป็นก้อนไปจากรัฐบาล แล้วดำเนินการรักษาพยาบาลให้ประชาชนในเขตอำเภอ โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเพียงครั้งละ 40 บาท เท่านั้น และเมื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ รับนโยบายสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จึงใช้รูปแบบจากบ้านแพ้ว แต่ให้ปรับลดเก็บค่าบริการลงเหลือ 30 บาท
 
1.4) ต่อมาในปี พ.ศ. 2550 เมื่อ นพ.วิทิตฯ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ก็ได้สร้างผลงานที่มีคุณูปการต่อระบบสุขภาพอย่างมากมาย โดยเฉพาะการทำ CL ยา และการจัดบริการยาเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพในราคาที่ลดลงอย่างมาก ซึ่งช่วยให้คนไข้โรคเอดส์ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง รวมทั้งประชาชนโดยเฉพาะผู้สิทธิบัตรทอง(UC) สามารถเข้าถึงยาที่จำเป็นและราคาแพงได้อย่างทั่วถึง เช่น โอเซลทามิเวียร์ (ป้องกัน/รักษาโรคไข้หวัดนก H1N1) ยาขับเหล็ก Deferipone ให้กับคนไข้ Thalassemia หลายหมื่นคน (จากราคาเม็ดละ 30 บาทของอินเดีย ลดเหลือเม็ดละ 3.50 บาท) หรือ ยาจิตเวช Resperidone, Sertraline (จากราคาเม็ดละ 40-50 บาท ลดเหลือเม็ดละ 3 บาท ถึง 5 บาท) เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยจำนวนมากในระบบ UC แล้วยังทำให้ประเทศไทยประหยัดงบประมาณไปหลายพันล้านบาท
 
1.5) ในช่วงสถานการณ์อุบัติภัยน้ำท่วมเมื่อปี 2545 องค์การเภสัชกรรมโดยการนำของ นพ.วิทิตฯ ก็ยังได้สนับสนุนช่วยเหลือยาสามัญประจำบ้าน ข้าวสารอาหารแห้ง น้ำบรรจุแกลลอน เครื่องกรองน้ำ RO ส่งไปช่วยประชาชนผู้ประสบภัยในพื้นที่ จ.ปทุมธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี รวมทั้งสนับสนุนเรือท้องแบนให้โรงพยาบาลใหญ่ๆ แม้กระทั่งโรงพยาบาลในกรุงเทพหลายแห่ง รวมทั้งโรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี และ จ.ลพบุรีด้วย
 
(2) ด้วยผลงานและคุณูปการต่อระบบสุขภาพของไทยของ นพ.วิทิตฯข้างต้น จึงถือได้ว่า นพ.วิทิตฯ เป็นนักบริหารรุ่นใหม่ที่เก่งดีมีความสามารถ หนึ่งในวงการสาธารณสุข สมควรได้รับการสนับสนุนเชิดชูและยกย่อง แต่กลับถูกผู้บังคับบัญชาทั้งฝ่ายการเมืองและบอร์ดองค์การเภสัชกรรมใช้กระบวนการตรวจสอบที่รวบรัด โดยไม่เปิดโอกาสให้คู่กรณีได้โต้แย้งแสดงเหตุผลอย่างเพียงพอ ตามหลักธรรมาภิบาลอย่างโปร่งใส รวมทั้งกระบวนการตัดสินใจที่มีการตั้งธงไว้ของฝ่ายการเมืองแล้วชี้นำคณะกรรมการ(บอร์ด)อย่างมีอคติ โดยปราศจากการชั่งน้ำหนักถึงผลงานเชิงประจักษ์จากการบริหารองค์การเภสัชกรรมของผู้อำนวยการ(นพ.วิทิตฯ)ที่ผ่านมา กับ ผลกระทบของประเด็นที่หยิบขึ้นมาตรวจสอบ ด้วยความยุติธรรม 
 
กลุ่มเพื่อนมหิดลจึงขอคัดค้านมติของบอร์ดและมติคณะรัฐมนตรีในการปลด นพ.วิทิตฯ ออกจากตำแหน่ง “ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม” ครั้งนี้ และขอให้คณะรัฐมนตรีเพิกถอนคำสั่งปลดและคืนความเป็นธรรมให้ นพ.วิทิตฯ ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมต่อไป
 
(3) ด้วยกระบวนการการปลดออกจากตำแหน่งอย่างเร่งรัด และหวังเข้าครอบงำองค์การเภสัชกรรม สร้างความกังวลใจให้กับกลุ่มเพื่อนมหิดลเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะ“องค์การเภสัชกรรม” ถือเป็นกลไกของรัฐเพียงแห่งเดียว(ที่ไม่เน้นการแสวงหากำไร) ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ในด้านยาและเวชภัณฑ์ของประเทศและประชาชนที่เจ็บป่วย ด้วยการทำการผลิต จัดซื้อ/นำเข้ายาเวชภัณฑ์ที่มีคุณภาพมาตรฐานในราคาต่ำ ลดการผูกขาดราคายาของบริษัทยาข้ามชาติได้ ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบสุขภาพที่หน่วยบริการจะสามารถให้การรักษาพยาบาลและการป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึง
  
นอกจากนี้ ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมให้มีการยุติการสั่งการในการใช้เงินสะสมขององค์การเภสัชกรรมจำนวน 4 พันล้านในการสร้างศูนย์ความเป็นเลิศของกระทรวงสาธารณสุข หรือการสั่งการให้องค์การเภสัชกรรมแทรกแซงการซื้อยาโรคหัวใจจำนวน 2,000 ล้านบาท และคัดค้านการแปรรูปองค์การเภสัชกรรม เพื่อพิทักษ์ระบบยา อันมีความสำคัญยิ่งต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และความมั่นคงของมนุษย์ เป็นสิ่งที่ผู้รับผิดชอบทั้งในภาครัฐและภาคการเมืองต้องใส่ใจอย่างจริงจัง
 
กลุ่มเพื่อนมหิดลจึงขอสนับสนุนสหภาพแรงงานองค์การเภสัชกรรมในการเคลื่อนไหวปกป้ององค์การเภสัชกรรมให้ปราศจากการครอบงำและแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองที่เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจสุขภาพเชิงพาณิชย์ และขอเรียกร้องให้ภาคประชาสังคม กลุ่มสหวิชาชีพด้านสุขภาพ กลุ่มผู้ป่วย ชมรมแพทย์ชนบท และเครือข่ายภาคีความร่วมมือด้านสุขภาพ รวมทั้งสื่อสารมวลชน ได้ร่วมกันติดตามตรวจสอบความเป็นไปขององค์การเภสัชกรรมอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย
 
ด้วยจิตคารวะ
กลุ่มเพื่อนมหิดล
31 พฤษภาคม 2556
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles