ศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีครั้งแรก คดีเพิกถอนมติ คชก. และใบอนุญาตก่อสร้างท่อส่งก๊าซไทย-มาเลเซีย ตุลาการผู้แถลงคดี ระบุ คชก.เห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ แต่ละเว้นด้านสังคม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่งผลใบอนุญาตก่อสร้างฯ ไม่ชอบด้วย แต่แก้ไขได้ ด้านทนายชี้ภารกิจชาวบ้านเดินหน้าต่อ ติดตามผลตัดสินคดี
ชาวบ้านจะนะนับร้อย ร่วมฟังศาลปกครองสูงสุดพิจารณาคดีครั้งแรก
วันนี้ (26 มี.คม.56) เมื่อเวลา 9.30 น.ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 43/2547 คดีเพิกถอนมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ และใบอนุญาตก่อสร้างท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย อ.จะนะ จ.สงขลา ที่นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ที่ 1 กับพวกรวม 17 คน ฟ้องกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานและอื่นๆ (คชก.) และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นจำเลยที่ 1-3 ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองสูงสุด
จากรณีที่ บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย โดยการวางท่อก๊าซจากในทะเลบริเวณอ่าวไทยเชื่อมต่อกับบนบก มีจุดขึ้นฝั่งบริเวณ ต.ตลิ่งชันและ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้ยื่นรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เข้าสู่การพิจารณาของ คชก.
ต่อมา คชก.มีมติให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ในประเด็นเทคนิควิชาการ โดยยกเว้นประเด็นด้านสังคม ซึ่งรายงาน EIA นั้นถูกนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาเพื่อการออกใบอนุญาตปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของโครงการฯ ในใบอนุญาตเลขที่ 09/2546 ลงวันที่ 13 มี.ค.46 ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี
ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นประชาชนในพื้นที่ เห็นว่าการที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีออกใบอนุญาตให้แก่บริษัททรานส์ไทย-มาเลเซียฯ เพื่อดำเนินโครงการฯ และมติให้ความเห็นชอบ EIA ของ คชก.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และดำเนินการฟ้องร้องให้มีการเพิกถอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการพิจารณาคดีครั้งนี้ มีชาวบ้านในนามเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย กว่า 100 คน จาก อ.จะนะ จ.สงขลา เดินทางมาศาลปกครองสูงสุดเพื่อร่วมรับฟังพิจารณาคดีครั้งแรก โดย นายนาซอรี หวะหลำ อุซตาซ (ครูสอนศาสนา) บ้านปากบาง ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา เป็นตัวแทนผู้ฟ้องคดีแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่
นายนาซอรี กล่าวว่า ตั้งแต่ทราบข้อมูลการทำ EIA โครงการดังกล่าว ได้สร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในชุมชน จากความเห็นที่แตกต่างกัน ส่วนผลกระทบทางทะเล ก็ทำให้อาชีพประมง การหาปลาชายฝั่งที่เต็มไปด้วยทรัพยากรทั้งทางบกและทางน้ำได้รับความเสียหาย ขณะที่การกระบวนการอนุญาตและให้ความเห็นชอบอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญก็มีการติดตามโดยกลุ่มชาวบ้านมาโดยตลอด
นอกจากนั้น ยังมีปัญหากรณีที่ดินวะกัฟ ซึ่งเป็นเส้นทางสาธารณะตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้ใช้ประโยชน์ (ไม่สามารถยกให้ใครคนใดคนหนึ่งครอบครอง จำหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนใดๆ ได้) กลับถูกใช้เป็นแนววางท่อส่งก๊าซ จึงถือได้ว่ากระบวนการอนุมัติอนุญาตไม่ชอบธรรมทั้งโดยหลักกฎหมายของประเทศและข้อกฎหมายของอิสลาม ดังนั้นชาวบ้านจึงร้องเรียนเพื่อเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว
“ขอร้องเรียนต่อศาล ต่อจากนี้จะมีคดีประเภทนี้อีก คดีที่เกี่ยวข้องกับผลกระทบต่อชุมชน อยากให้เห็นใจชาวบ้าน โดยขอให้คดีนี้เป็นคดีบรรทัดฐานต่อไป” นายนาซอรี กล่าว
ตุลาการผู้แถลงคดีชี้กระบวนการผ่าน EIA ผิดพลาดได้ -ชาวบ้านใช้สิทธิฟ้องแทนรัฐ
ด้านนายภานุพันธ์ ชัยรัตน์ ตุลาการผู้แถลงคดี เสนอความเห็นต่อองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวน สรุปความได้ว่า รายงาน EIA จัดทำขึ้นตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535 เป็นเอกสารสำคัญในการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมตามหลักการป้องกันไว้ก่อน เพื่อป้องกันภาวะมลพิษที่มีผลกระทบต่อสุขอนามัย สวัสดิภาพ และคุณภาพชีวิตของประชาชน และการรักษาดุลยภาพของธรรมชาติ
หากจะนำไปใช้ประกอบการขออนุญาตโครงการหรือกิจการใด ต้องได้รับความเห็นจาก คชก.โดยหากผ่านการเห็นชอบแล้ว รายงาน EIA ดังกล่าวจะถือเป็นเอกสารมหาชนที่ประชาชนสามารถตรวจดูได้ ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสารราชการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ส่วนรวม เนื่องจากรายงาน EIA และมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นเอกสารที่ต้องตรวจสอบความถูกต้องจากสังคมโดยทั่วไป เพื่อให้เกิดผลตามเจตนารมณ์ของหลักการป้องกันไว้ก่อน
นายภานุพันธ์กล่าวด้วยว่า รายงาน EIA ที่ผ่านความเห็นชอบจาก คชก.แล้วอาจเป็นรายงานที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงซึ่งหากนำไปอ้างอิงหรือนำไปประกอบการพิจารณาอนุญาตประกอบกิจการโครงการใดๆ จะส่งผลเสียหายต่อประโยชน์ส่วนรวมได้
ยกตัวอย่าง กรณีรายงาน EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าที่ขออนุญาตก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่ง EIA ฉบับดังกล่าวที่ผ่านการเห็นชอบของ คชก.ได้ระบุข้อมูลบริเวณอ่าวที่ทำการศึกษาว่าไม่มีแนวปะการัง และในท้องทะเลแถบนั้นไม่มีสัตว์ทะเลหายาก ไม่มีสัตว์เศรษฐกิจ และมีความสมบูรณ์ไม่มากนัก ถูกโต้แย้งข้อเท็จจริงโดยผู้เชียวชาญด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลและชาวชุมชนที่ตั้งถิ่นฐานบริเวณอ่าวดังกล่าว จึงนำมาสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี โดยตั้งคณะทำงานศึกษาและรวบรวมข้อมูลใหม่ ผลคือรายงาน EIA ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ทำให้มีคำสั่งยกเลิกรายงาน EIA ของโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว และเพิกถอนใบอนุญาตผู้ได้รับใบอนุญาตทำการศึกษารายงาน EIA ที่จัดทำรายงานฉบับดังกล่าว
ชี้ มติ คชก.เห็นชอบ EIA – ใบอนุญาตก่อสร้างฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่แก้ไขได้
นายภานุพันธ์กล่าวต่อมาว่า การที่ คชก.มีมติเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ ที่จะดำเนินโครงการในพื้นที่ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 17 คนตั้งถิ่นฐานและประกอบอาชีพ ดังนั้นผู้ฟ้องคดีจึงเป็นผู้ที่อาจได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องมาจากการมีมติเห็นชอบต่อรายงาน EIA ดังกล่าว และมีสิทธิฟ้องคดีต่อ คชก.นอกจากนี้ยังเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ที่มีการจัดทำรายงาน EIA ถือเป็นผู้เสียหายที่ฟ้องคดีทางปกครองเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแทนรัฐเพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของส่วนร่วม
ส่วนประเด็นที่ คชก.ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ เฉพาะในประเด็นเทคนิควิชาการแต่ยกเว้นด้านสังคมนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า ถือเป็นการให้ความเห็นชอบต่อเนื้อหาในรายงาน EIA ดังกล่าว โดยครบถ้วนตามที่กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดไว้ ดังนั้น มติ คชก.ในการประชุมพิจารณาให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ เมื่อวันที่ 14 พ.ย.44 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม การเพิกถอนมติ คชก.นั้น ในสำนวนคดียังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการกระทำของ คชก.ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายนี้เกิดจากการบิดเบือนข้อเท็จจริงในการปฏิบัติราชการหรือโดยทุจริต แต่เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่โดยไม่พิจารณารายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ ในประเด็นด้านสังคม ถือเป็นการใช้ดุลพินิจที่ผิดพลาด ทำให้รายงาน EIA ดังกล่าวมีข้อบกพร่องเนื้อหาไม่ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่กรณีดังกล่าวสามารถแก้ไขข้อบกพร่องให้ครบถ้วนได้
สำหรับประเด็น ที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี นำ รายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งเนื้อหาไม่ครบถ้วนไปพิจารณาออกใบอนุญาตเลขที่ 09/2546 ลงวันที่ 13 มี.ค.46 ให้บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียฯ ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำประเภทวางท่อส่งก๊าซธรรมชาตินั้น ถือเป็นการออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเกิดจากข้อเท็จจริงที่ใช้ประกอบการตัดสินใจมีข้อบกพร่อง และข้อเท็จจริงดังกล่าวดำเนินการโดย คชก.ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเห็นชอบตามกฎหมาย และกฎหมายกำหนดให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีนำไปประกอบการออกคำสั่ง ไม่ได้อยู่ในอำนาจของผู้มีอำนาจออกคำสั่งโดยตรง
ดังนั้น ศาลจึงไม่จำเป็นต้องมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าวที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีออกให้บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียฯ ในทันที
อีกทั้ง ท่อก๊าซธรรมชาติในโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซียแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ ท่อส่งก๊าซส่วนที่อยู่ในทะเล และท่อส่งก๊าซส่วนที่อยู่บนบก ซึ่งการออกใบอนุญาตฯ ให้บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียฯ ครอบคลุมเฉพาะโครงการท่อส่งก๊าซฯ ส่วนที่อยู่ในทะเลและบริเวณชายหาด ซึ่งตามข้อเท็จจริงผู้ฟ้องคดีไม่ได้โต้แย้งเกี่ยวกับการฝังท่อก๊าซในทะเลและบริเวณชายหาดจะทำให้เกิดผลกระทบด้านสังคมที่ไม่อาจแก้ไขได้ ประกอบกับการพิเคราะห์ถึงหลักการคุ้มครองความเชื่อมั่นต่อคำสั่งทางปกครองภายใต้ระบบนิติรัฐ และการที่กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีได้ออกใบอนุญาตล่วงเลยมาเป็นเวลานานแล้ว
หากศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตในทันที ย่อมก่อให้เกิดความเสียหาย ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกจำนวนมาก ที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้านการเงิน การพาณิชยกรรม การอุตสาหกรรม และการลงทุนระหว่างประเทศอย่างกว่างขวาง
นายภานุพันธ์ กล่าวแสดงความเห็นว่า ศาลปกครองควรมีคำพิพากษา ให้ คชก.พิจารณาประเด็นด้านสังคมและให้ความเห็นต่อเนื้อหาประเด็นด้านสังคมในรายงาน EIA รวมทั้งเสนอผลการพิจารณาผลกระทบประเด็นด้านสังคม มาตรการการป้องกันและแก้ไขผลกระทบ และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบด้านสังคม โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของรายงาน EIA ฉบับสมบูรณ์ (รายงานหลัก เดือน ม.ค.45) เพื่อให้รายงานดังกล่าวมีเนื้อหาถูกต้องครบถ้วน
จากนั้นให้ สผ.แจ้งความเห็นชอบดังกล่าวต่อกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีเพื่อเพิ่มเติมเนื้อหาดังกล่าวลงในใบอนุญาตเลขที่ 09/2546 ลงวันที่ 13 มี.ค.46 จากนั้นให้กรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี แจ้งให้บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียฯ รับทราบและปฏิบัติตาม
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 180 วันนับตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา หากดำเนินการไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ให้เพิกถอนใบอนุญาตเลขที่ 09/2546 ลงวันที่ 13 มี.ค.46 ตั้งแต่วันพ้นกำหนด 180 วัน
ทนายชี้ภารกิจชาวบ้านเดินหน้าต่อ ติดตามผลคดี –ชาวบ้านพร้อมสู้
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม กล่าวว่า หากศาลพิพากษาตามแนวทางของตุลาการผู้แถลงคดี นั่นคือศาลเห็นว่ารายงาน EIA นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สามารถซ่อมได้โดยพิจารณาเพิ่มเติมในส่วนผลกระทบด้านสังคม เท่ากับว่าชาวบ้านในพื้นที่สามารถเข้าร่วมในการเสนอความเห็นว่ากระทบด้านสิ่งแวดลอมที่เกิดขึ้นมาแล้วบ้าง ถือเป็นอีกวาระหนึ่งในการมีส่วนร่วมเสนอความเห็นเข้าสู่การพิจารณาและนำไปสู่การแก้ไขได้
อย่างไรก็ตาม ทนายความย้ำว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีไม่ใช้การตัดสินคดี ชาวบ้านจะต้องรอผลคำพิพากษาที่จะมีการส่งไปอ่านที่ศาลปกครองสงขลาต่อไป
ส่วน น.ส. ส รัตนมณี พลกล้า กล่าวว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีวันนี้ได้ชี้ว่า EIA เป็นเอกสารมหาชน สามารถแก้ไขได้ และการให้พิจารณาเพิ่มเติมในเรื่องผลกระทบด้านสังคมนี้ เป็นแนวทางเดียวกับ SIA หรือ การประเมินผลกระทบทางสังคมใหม่ ซึ่งหากศาลมีคำพิพากษาตามแนวทางดังกล่าวก็ถือเป็นภารกิจของชาวบ้านในพื้นที่ที่ต้องติดตามต่อไปว่าใครจะมาเป็น คชก.ที่พิจารณาในเรื่องนี้
นอกจากนี้ ยังมีภาระในการติดตามความคืบหน้าของคดีต่อไป เพราะขณะนี้ผลกระทบที่จะนะจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลเซีย ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะไม่มี EIA ทางด้านสังคม ทั้งความขัดแย้ง และผลกระทบที่ชาวบ้านไม่สามารถทำกินได้จริง ซึ่งหากรวมแล้วผลกระทบที่ผ่านมานับ 10 ปี กับผลกระทบระยะยาวที่จะเกิดขึ้นอาจทำให้โครงการฯ ล้มเลิกไปได้ ต้องติดตามต่อว่าศาลจะพิพากษาเพื่อเยียวยา หรือจะมีคำสั่งเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อไป
ขณะที่นางจันทิมา ชัยบุตรดี หนึ่งในแกนนำชาวบ้านระบุว่า ขณะนี้คดียังไม่ตัดสิน ต้องดูต่อไปว่าท้ายที่สุดทางตุลาการจะตัดสินคดีออกมาอย่างไร และสำหรับคำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีวันนี้ รู้สึกดีใจที่คนในกระบวนการยุติธรรมมองเห็นชาวบ้านว่าเป็นผู้รักษา ปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรของประเทศแทนรัฐ
“เราต่อสู้มานานแล้ว ก็ต้องสู้กันต่อไป” นางจันทิมากล่าว
นางจันทิมากล่าวว่า หลังรู้ว่ามีใบอนุญาตออกมาชาวบ้านก็ยืนฟ้องคดี ตั้งแต่เมื่อปี 2547 จนโรงแยกก๊าซเปิดทำงาน และมีโรงไฟฟ้าเกิดขึ้นมาในชุมชนอีก 2 แห่ง ซึ่งก็ทำให้เกิดผลกระทบมากมาย ทั้งเกิดความขัดแย่งในชุมชน ส่งผลกระทบต่อการประกอบอาชีพประมง รวมทั้งด้านการเกษตรด้วย และตอนนี้กำลังจะมีท่าเรือเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งเท่ากับเป็นการเปิดให้อุตสาหกรรมทะลักเข้ามาในชุมชนอย่างไม่อาจต้านทานไว้ได้
“จะเกิดอะไรขึ้น มันก็คือมาบตาพุดดีๆ นี่เอง แผนพัฒนาของรัฐ เขาวางเอาไว้แล้ว อนาคตจะนะคือพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม” นางจันทิมากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่าหลังฟังการพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลปกครองสูงสุดกลุ่มชาวบ้านเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ที่เดินทางมาจาก ต.ตลิ่งชันและ ต.สะกอม อ.จะนะ จ.สงขลา ได้จัดแถลงข่าว “อีไอเอ เป็นพาหะนำสู่สิ่ง ฮารอม (เป็นบาปใหญ่)” โดยมี ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการ อดีต คชก.ด้านสังคม ที่ไม่ร่วมลงนามเห็นชอบรายงาน EIA โครงการท่อส่งก๊าซฯ และนางสุนี ไชยรส รองประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) เดินทางมาร่วมพูดคุยให้กำลังใจในการต่อสู้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่
นางสุนี กล่าวว่า โครงการที่ดำเนินการไปแล้วนั้น สามารถแก้ไขได้เพียงเล็กน้อยก็ต้อง แต่ก็น่าเศร้าว่าจะนำไปสู้อะไรได้บ้าง เพราะถึงขณะนี้แล้วคงไม่สามารถยอนคืนไปสู่จุดเริ่มต้นเมื่อต่อคัดค้านโครงการได้ อย่างไรก็ตามต้องชื่นชมชาวบ้านที่ต่อสู่กันมาอย่างยาวนาน และเข้มแข็ง อีกทั้งปัจจุบันโครงการระหว่างประเทศเกิดขึ้นมากมาย เป็นทิศทางการพัฒนาที่เราจะก้าวต่อไป ซึ่งการที่สังคมยังจับตาคดีท่อก๊าซฯ ไทย-มาเลเซีย จะนำไปสู่การพูดคุยกันถึงโครงการพัฒนาภาคใต้ และโครงการพัฒนาที่เป็นความร่วมมือระหว่างประเทศอาเซียนต่อไป
ทั้งนี้ ในคดีดังกล่าว ศาลปกครองสงขลาได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 3 เม.ย.51 ให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่ากระบวนการออกใบอนุญาตเลขที่ 09/2546 ลงวันที่ 13 มี.ค.46 ของกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี ที่อนุญาตให้บริษัท ทรานส์ไทย-มาเลเซียฯ และเอกสารประกอบการอนุญาตถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ไม่ได้ออกใบอนุญาตโดยสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการพิจารณารายงาน EIA ของ คชก.ต่อมากลุ่มชาวบ้านผู้ฟ้องคดีจึงมีการยื่นอุทธรณ์
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai