จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย และอดีตประธานสหภาพฯ ดังกล่าว โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีที่ จิตรา น.ส.บุญรอด สายวงศ์ อดีตเลขาธิการสหภาพฯ และนายสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหา "ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อการวุ่นวานขึ้นในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้าหรือผู้มีหน้าที่สังการในการกระทำความผิดนั้น เมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้ผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดนั้นให้เลิกแล้วไม่เลิก"ในคดีหมายเลขดำที่ อ.620/2554 ซึ่งมีพนักงานอัยการ สนง.อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สนง.อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ โดยจะมีการพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณาคดี 809 ศาลอาญารัชดา
เมื่อปลาย ส.ค. 55 มีการเบิกความพยานฝ่ายโจทก์ไปแล้ว ซึ่งนำโดย พล.ต.ต. วิชัย สังข์ประไพ อดีตผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งได้ลาออกจากตำรวจ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีมติเอกฉันท์ ชี้มูลความผิดทางวินัย รวมทั้งมีมูลความผิดทางอาญา(คลิกอ่านรายละเอียด)
กรณีที่เป็นคดีความของคนงานไทรอัมพ์ฯ นั้นมาจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 ซึ่งเป็นการชุมนุมของคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และ แม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและประชาชนกว่า 1,000 คน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก่อนหน้านั้น
โดยในวันดังกล่าว มีการใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD กับผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งหลังจากนั้น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งได้ทำหนังสือประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกร้องให้ถอนการออกหมายจับโดยทันที รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
ชี้กระทบต่อสิทธิการชุมนุม
จิตรา กล่าวด้วยว่า อยากให้ผู้ที่สนใจเรื่องสิทธิในการชุมนุมเข้าร่วมสังเกตการณ์คดีนี้ เพราะหากมีคำตัดสินออกมาในทางลบย่อมส่งผลต่อสิทธิในการชุมนุมโดยสงบของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในวันเกิดเหตุคนงานเพียงมาชุมนุมเพื่อสอบถามความคืบหน้าในการแก้ปัญหาต่อนายกรัฐมนตรี คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เคยรับปากว่าจะแก้ปัญหา แต่กลับถูกออกหมายจับและดำเนินคดี ทั้งๆที่เป็นการชุมนุมโดยสงบผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง และเจ้าหน้าที่ตำรวจอำนวยความสะดวกด้านการจราจรเป็นอย่างดี ส่วนการที่คนงานล้นลงมาที่ผิวถนนก็เป็นเพราะสภาพที่มีคนจำนวนมากเนื่องจากไม่ได้มาชุมนุมเพียงโรงงานเดียว แต่มาอย่างน้อย 3 โรงงานที่ประสบปัญหาในขณะนั้น แต่กลับเป็นเครื่อง LRAD เพื่อสลายการชุมนุม พร้อมด้วยการออกหมายจับตนเองและพวก
เผยถูกคุกคาม แต่ยังไม่ปักใจเชื่อ 100%
นอกจากนี้ จิตรา ยังเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่ถูกข่มขู่คุกคามด้วยว่า ในวันนี้พี่สาวตนที่อยู่ต่างจังหวัดแจ้งมาว่า มีชายแปลกหน้า 2 คน มาถามหาตนกับผู้ใหญ่บ้าน โดยอ้างตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน รวมทั้งถามกับผู้ใหญ่บ้านด้วยว่าหมู่บ้านนี้มีเสื้อแดงมากหรือไม่ พร้อมบอกด้วยว่าให้ จิตราระวังตัวระวังตัวเพราะเล่นของสูง โดยจิตรามองว่าแม้ตนเองจะไม่ปักใจเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์เกี่ยวข้องกับคดีนี้หรือไม่ แต่ตนเองก็ไม่ได้มีเรื่องขัดแย้งส่วนตัวกับใครมาก่อน จึงมองว่าเป็นการขุมขู่คุกคาม
สำหรับประสบการณ์การถูกข่มขู่คุกคามนั้น จิตรา ในฐานะที่ทำกิจกรรมด้านการเมืองและแรงงานมานาน กล่าวด้วยว่า ตนเองถูกข่มขู่และคุกคามมาโดยตลอด โดยเฉพาะตั้งแต่ออกมาต่อต้านการรัฐประหาร ปี 49 มีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงมาตั้งจุดตรวจบริเวณหน้าโรงงาน(คลิกอ่านเพิ่มเติม) หลักออกไปคัดค้านการรับร่างรัฐธรรมนูญ 50 ก็ถูกทำร้ายร่างกาย หลังใส่เสื้อ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ออกโทรทัศน์ เพื่อสนับสนุนสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ก็ถูกข่มขู่ทั้งในออนไลน์และภายนอก รวมถึงถูกให้ออกจากงาน แม้กระทั้งที่สำนักงานสหภาพแรงงาน หน่วยงานความมั่นคงก็ให้บ้านข้างๆ ไปอบรมพร้อมสอดส่องความเคลื่อนไหวของสหภาพ หรือที่อยู่ปัจจุบันก็เคยมีกลุ่มชายแปลกหน้าแต่ตัวคลายเจ้าหน้าที่มาถ่ายรูป เป็นต้น