คปก.ร่อนหนังสือถึงนายกฯ ชะลอร่างกฎกระทรวงฯคุ้มครองแรงงานประมง ชี้เพิ่มโทษ-ใช้แรงงานเด็ก เสี่ยงขัดกม. - อนุสัญญาสิทธิเด็ก
นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง ขอให้ชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. ....เสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยคปก.เห็นควรให้มีการชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกไปก่อน เพื่อให้ คปก.ได้ศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ รวมทั้งการประสานกับกระทรวงแรงงาน เพื่อจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล
ภายหลังจากกระทรวงแรงงานได้ยกร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานใน งานประมงทะเล พ.ศ. .... ซึ่งออกตามความในมาตรา 6 และมาตรา 22 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานออกกฎกระทรวงกำหนดการคุ้มครองแรงงาน กรณีต่างๆ แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ได้ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงดังกล่าวตามที่กระทรวง แรงงานเสนอ และส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ซึ่งขณะนี้ได้ตรวจพิจารณาแล้วเสร็จและอยู่ในระหว่างการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณา
คปก.ได้พิจารณาร่างกฎกระทรวงที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานใน การออกกฎกระทรวงกำหนดการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเลกรณีต่าง ๆ แตกต่างไปจากพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประกอบกับการเชิญผู้แทนกระทรวงแรงงานมาชี้แจงและให้ข้อคิดเห็นแล้ว มีความเห็นว่า สาระสำคัญบางส่วนของร่างกฎกระทรวงฯ อาจขัดกับหลักการของพระราชบัญญัติดังกล่าว จากการศึกษาในเบื้องต้นพบว่าในร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีบทบัญญัติที่แตกต่าง ในทางที่เป็นโทษ เช่น กรณีที่นายจ้างจงใจผิดนัดในการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุดโดยปราศจาก เหตุผลอันสมควร นายจ้างจะต้องจ่ายเงินเพิ่มให้แก่ลูกจ้างร้อยละ 5 ของเงินที่ค้างชำระทุกระยะเวลา 7 วัน ในขณะที่พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541มาตรา 9 กำหนดเงินเพิ่มไว้ร้อยละ 15 เป็นต้น
นอกจากนี้ บทบัญญัติในร่างกฎกระทรวงฯ บางประเด็น เช่น การอนุญาตให้ใช้แรงงานเด็กอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีในกิจการประมงทะเล โดยบิดาหรือมารดาหรือผู้ปกครองของเด็กนั้นทำงานอยู่ในเรือประมงนั้นด้วย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 138 ค.ศ. 1973 ว่าด้วยอายุขั้นต่ำที่อนุญาตให้จ้างงานได้ และไม่สอดคล้องกับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188ค.ศ. 2007 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงเนื่องจากงานประมงทะเลเป็นงานที่เสี่ยงอันตรายและ ไม่เหมาะสม ที่จะใช้แรงงานเด็ก เป็นต้น
ทั้งนี้ยังพบว่า ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมายแรงงานอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518พระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 เป็นต้น และยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นอีกหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติว่าด้วยการปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ.2490 พระราชบัญญัติการเดินเรือนอกน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเห็นว่าจะต้องพิจารณาร่างกฎกระทรวงฉบับนี้อย่าง รอบคอบ
นอกจากนี้กระบวนการจัดทำร่างกฎกระทรวง ยังไม่ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากแรงงานในกิจการประมงทะเล รวมทั้งแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นแรงงานประมงทะเลส่วนใหญ่ และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างทั่วถึง ตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองสิทธิไว้ คปก.จึงเห็นควรให้มีการชะลอการประกาศใช้ร่างกฎกระทรวงดังกล่าวออกไปก่อน
(ThaiPR.net, 21-5-2556)
ลูกจ้างเหมาค่าแรง สะท้อนคุณภาพชีวิตแรงงานไทย
ทีดีอาร์ไอเปิดงานวิจัยผลสำรวจลูกจ้างเหมาค่าแรงหรือลูกจ้าง subcontract พบกฎหมายขยายความคุ้มครองแต่ในทางปฎิบัติยังเหลื่อมล้ำทั้งรายได้และ สวัสดิการ เสนอจัดระบบเก็บข้อมูลให้ชัดเจน
การจ้างลูกจ้างเหมาค่าแรงหรือลูกจ้าง subcontract ผ่านบริษัทตัวแทนรับเหมาค่าแรง เป็นการจ้างงานรูปแบบหนึ่งที่มีแพร่หลายในประเทศไทย โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงาน(ฝ่ายผลิต)จำนวนมาก การจ้างงานรูปแบบนี้มีมาก่อนมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานปี 2541 เสียอีกและในปัจจุบันมีการปรับปรุงกฎหมายให้ความคุ้มครองแก่แรงงานชั่วคราว เหล่านี้ด้วยเช่นกัน กฎหมายนี้สะท้อนความยืดหยุ่นของตลาดแรงงานไทย ที่ยอมรับให้มีการจ้างงานเหมาค่าแรงได้ แต่กำหนดให้นายจ้างในสถานประกอบการต้องรับผิดชอบในเรื่องสิทธิประโยชน์และ สวัสดิการในฐานะนายจ้างของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงด้วย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2555) ได้ทำการศึกษาเพื่อประเมินผลในทางปฏิบัติของการปรับพระราชบัญญัติคุ้มครอง แรงงาน พ.ศ.2541 ฉบับแก้ไข พ.ศ.2551 มาตรา 11/1 ว่าเมื่อเปรียบเทียบแรงงานกลุ่มรับจ้างเหมาค่าแรงกับแรงงานที่เป็นลูกจ้าง ประจำ ซึ่งตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้นายจ้างต้องดูแลให้ ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่มีการ เลือกปฏิบัติ ซึ่งข้อมูลที่ใช้ในการประเมินผลของกฎหมายดังกล่าวได้จากการสอบถามแรงงาน เกี่ยวกับลักษณะการจ้างแรงงาน ลักษณะของงาน ตลอดจน ค่าจ้าง/รายได้ และสวัสดิการที่ได้รับ เปรียบเทียบระหว่างลูกจ้างประจำกับลูกจ้างรับเหมาค่าแรง (sub-contract worker) ที่ทำงานในโรงงานสาขาการผลิต (Manufacturing) รวม 831 ราย ในจังหวัด ปทุมธานี สมุทรปราการ อยุธยา ชลบุรี และนครราชสีมา
นางสาวสุวรรณา ตุลยวศินพงศ์ นักวิจัยผู้ทำการศึกษา ระบุว่าผลการศึกษามีข้อค้นพบว่า ปัจจุบันยังมีการจ้างงานลูกจ้างเหมาค่าแรงกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในย่านนิคมอุตสาหกรรม โดยลูกจ้างเหมาค่าแรงจะสมัครงานผ่านบริษัทผู้รับเหมาค่าแรง ซึ่งมักจะมีการตั้งโต๊ะหรือสำนักงานเล็กๆ เพื่อรับสมัครอยู่บริเวณใกล้แหล่งงานหรือหน้านิคมอุตสาหกรรม หรือแม้กระทั่งหน้าโรงงานที่บริษัทผู้รับเหมาค่าแรงนั้นรับผิดชอบหาคนป้อน โรงงานอยู่ โดยเหตุผลแรงงานที่เข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างรับเหมาค่าแรง เนื่องจากโรงงานไม่เปิดรับคนงานโดยตรง แต่รับผ่านบริษัทตัวแทนผู้รับเหมาค่าแรง นอกจากนี้ยังมีแรงงานจำนวนหนึ่งที่มาสมัครงานผ่านบริษัทตัวแทนเพราะต้องการ ลดขั้นตอนในการสมัครงานเนื่องจากเห็นว่าการสมัครงานผ่านบริษัทผู้รับเหมาค่า แรงช่วยให้มีโอกาสในการได้งานมากขึ้น เข้างานได้ง่าย ไม่ต้องสอบข้อเขียน มีโอกาสได้เลือกงาน/โรงงานได้หลากหลาย และกรณีมีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โรงงานกำหนด การรับสมัครคนงานของบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงซึ่งมีข้อตกลงที่จะต้องส่งคนงาน ป้อนโรงงาน มักจะไม่เคร่งครัดในเรื่องคุณสมบัติมากนัก ยิ่งในภาวะขาดแคลนแรงงาน แค่เห็นคนวัยหนุ่มสาวเดินผ่านก็แทบจะถูกเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้รับเหมาค่า แรงอุ้มเข้าไปเขียนใบสมัครงาน
บทบาทของบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงมีประโยชน์ในแง่ของการอำนวยความสะดวก ด้านข้อมูลสารสนเทศในการหางาน และช่วยให้ผู้ที่มีคุณสมบัติไม่ตรงกับที่โรงงานกำหนดสามารถมีส่วนร่วมในตลาด แรงงานในระบบได้ ดังนั้นเมื่อสอบถามลูกจ้างเหมาค่าแรงถึงข้อดีของการเป็นลูกจ้างผ่านบริษัท ผู้รับเหมาค่าแรง ส่วนใหญ่จึงตอบว่าบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงช่วยให้ได้งานเร็ว แต่ในทางกลับกัน ข้อเสียของการเป็นลูกจ้างผ่านบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงที่ลูกจ้างส่วนใหญ่ตอบ ก็คือ การได้รับค่าจ้างและสวัสดิการน้อยกว่าลูกจ้างประจำ โดยมีความแตกต่างในการได้รับ-ไม่ได้รับสวัสดิการในแง่รายได้อื่นๆ เช่น ค่าทำงานล่วงเวลา (OT) ค่าทำงานกะ (กะเช้า กะบ่าย กะดึก) เบี้ยขยัน (ได้รับเมื่อไม่ขาด-ลา-มาสาย) ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน และสวัสดิการที่ไม่ใช่ตัวเงิน เช่น บริการรถรับ-ส่งพนักงาน การเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การได้รับเงินชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง ซึ่งสะท้อนว่าลูกจ้างทั้งสองกลุ่มยังได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่แตก ต่างกัน ต่างกับเจตนารมย์ของกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบให้นายจ้างต้องดูแลให้ลูกจ้างทั้งสองกลุ่มได้ รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการที่เป็นธรรมโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ
งานศึกษายังใช้เทคนิคสมการถดถอยเชิงเส้นคำนวณหาค่าตอบแทนเปรียบเทียบ กลุ่มตัวอย่างลูกจ้างประจำและลูกจ้างเหมาค่าแรงพบว่า ค่าตอบแทนที่เป็นแรงจูงใจและผลประโยชน์สวัสดิการอื่น ๆ ที่เป็นตัวเงิน ได้แก่ ค่าทำงานล่วงเวลา (OT) ค่าทำงานกะ เบี้ยขยัน ค่าครองชีพ ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน (ไม่รวมโบนัส) ของลูกจ้างประจำจะสูงกว่าลูกจ้างเหมาค่าแรงประมาณ 1,624 บาทต่อเดือน ความแตกต่างของผลตอบแทนนี้อาจนับได้ว่าเป็นต้นทุนจากการใช้บริการสมัครงาน ผ่านบริษัทผู้รับเหมาค่าแรง เพราะจากการพูดคุยกับพนักงานของบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงทราบว่าทางสถานประกอบ การจะจ่ายเงินเหมาค่าแรงให้ลูกจ้างเป็นรายหัว แล้วบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงก็มาจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่สมัครงานผ่านบริษัท ผู้รับเหมาค่าแรงอีกที โดยหักส่วนต่างไว้เป็นค่าบริหารจัดการและกำไรของกิจการ แม้ในการศึกษานี้จะไม่ทราบอัตราค่าบริการที่แน่ชัด แต่จากตัวเลขความแตกต่างของค่าจ้างรวมค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เป็นตัวเงิน จากการคำนวณในตัวอย่างข้างต้นราว 1,624 บาทต่อเดือนนั้น และจากการสัมภาษณ์เชิงลึกกับลูกจ้างที่สมัครงานผ่านบริษัทผู้รับเหมาค่าแรง รู้ดีว่าค่าจ้างและรายได้ตัวเงินอื่นๆ ที่ตนได้รับในฐานะเป็นลูกจ้างของบริษัทผู้รับเหมาค่าแรงจะต่ำกว่าลูกจ้าง ประจำที่เป็นลูกจ้างโดยตรงของโรงงาน และคิดว่าเป็นต้นทุนของการซื้อความสะดวกในการได้งานง่าย ไม่ต้องสอบข้อเขียน รวมถึงจากกรณีที่คุณสมบัติของตนเองไม่ตรงตามที่โรงงานกำหนด
ประเด็นที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การได้รับเงินชดเชยกรณีที่นายจ้างต้องการเลิกจ้าง พบว่าสัดส่วนของลูกจ้างรับเหมาค่าแรงที่เข้ามาทำงานในสถานประกอบการ ผ่านบริษัทตัวแทนรับเหมาค่าแรงนั้น มีราวกึ่งหนึ่งที่จะไม่ได้รับค่าชดเชยเมื่อถูกเลิกจ้าง เพราะลูกจ้างรับเหมาค่าแรงผ่านบริษัทตัวแทนจัดหาคนงานเหล่านี้มีสภาพเป็น ลูกจ้างในทางพฤตินัยของสถานประกอบการเท่านั้น ไม่ได้มีสถานภาพเป็นลูกจ้างโดยตรงของโรงงานตามนิตินัย นายจ้างจึงไม่ต้องกังวลเรื่องการต้องจ่ายค่าชดเชยเป็นการตัดต้นทุนในการปลด คนงาน (firing cost) อีกด้วย
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับแรงงานรับเหมาค่าแรง เริ่มต้นที่การจัดเก็บข้อมูลสถิติอย่างมีระบบเพื่อให้ทราบจำนวนลูกจ้าง ประเภทต่างๆ ตามรูปแบบการจ้างงานที่มีอยู่ หากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างเป็นลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว หรือลูกจ้างผ่านบริษัทรับจัดหาคนงาน มีสัดส่วนที่มาก และต้องการให้มีการรายงานการจ้างงานรูปแบบดังกล่าว เพื่อการเฝ้าระวังการละเมิดกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ก็ปรับใช้มาตรา 112-115 ของพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ในการเพิ่มรายละเอียดของข้อมูลลักษณะการจ้างงานที่สถานประกอบการต้องบันทึก และยื่นต่อเจ้าหน้าที่แรงงาน ในขั้นสุดท้าย หากพบว่าปัญหาสภาพการจ้างแรงงานเหมาค่าแรงมีความรุนแรง จำเป็นต้องมีมาตรการที่รัดกุมขึ้น ก็อาจจะพิจารณากำหนดให้มีการขึ้นทะเบียนเพื่อออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบ กิจการรับเหมาค่าแรง ประโยชน์เพื่อส่งเสริมพัฒนาการบริหารระบบแรงงาน การกำกับ และการออกมาตรการเพื่อให้เกิดการจ้างงานที่มีการคุ้มครองลูกจ้างตาม เจตนารมณ์ของกฎหมาย
(ประชาชาติธุรกิจ, 22-5-2556)
รวบผู้ต้องหาหลอกลวงคนงานไปต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 21 พ.ค. พ.ต.ต.กิตติชัย โถวิเชียร สว.สส.สภ.เมือง จ.หนองบัวลำภู พร้อมกำลังฝ่ายสืบสวน บุกเข้าจับกุม นายอิทธิพล ศรีภูธร อายุ 63 ปี อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 87 หมู่ที่ 3 บ้านป่าแฝก ต.ป่าแฝก อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ ตามหมายจับของศาลจังหวัดหนองบัวลำภูเลขที่ จ.322 / 2547 ในข้อหาร่วมกันหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถจัดหางานหรือส่งไปทำงานในต่างประเทศ ได้และโดยการหลอกลวงดังกล่าวนั้นได้ไปซึ่งเงินจากผู้ถูกหลอกลวงและจัดหางาน ให้คนหางานไปทำงานยังต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนจัดหา งานกลาง เหตุเกิดที่ตำบลบ้านขาม อ.เมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2547 สามารถจับกุมผู้ต้องหาได้ที่ บ้านพักในเขต อ.พรเจริญ จ.บึงกาฬ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ชุดสืบสวนทราบว่า นายอิทธิพล ศรีภูธร ผู้ต้องหาคนดังกล่าวหลังจากก่อเหตุแล้ว ได้หลบหนีลงไปทำงานที่กรุงเทพฯ พอเรื่องเงียบจึงย้อนกลับไปที่บ้าน
จากการสอบสวน นายอิทธิพล ผู้ต้องหา ให้การรับสารภาพ ตลอดข้อกล่าวหา อ้างว่าไม่ได้มีเจตนาล่อลวงแต่อย่างใด คนงานที่ส่งไป ได้ไปทำงานที่ต่างประเทศทุกคน แต่ประเภทงานไม่เป็นไปตามสัญญา และมีคนงานบางคนถูกส่งตัวกลับมายังประเทศไทย ทำให้คนงานบางส่วนไม่พอใจ และเดินทางเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับตน ส่วนตนได้ค่านายหน้า คนละ 5,000 บาท และระหว่างหลบหนีได้ไปทำงานให้กับนักการเมืองระดับชาติคนหนึ่งของจ.บึงกาฬ จึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สภ เมืองหนองบัวลำภู ดำเนินคดีต่อไป.
(เดลินิวส์, 21-5-2556)
อธิบดีจัดหางาน เผย แรงงานไทยขาดแคลน1.6 ล้านคน หวั่น 2 โปรเจกยักษ์รบ.ชะงัก
นายประวิทย์ เคียงผล อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงการแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ว่า จากการประเมินปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานโดยภาพรวมอยู่ที่ประ มาน 1.6 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานในโครงการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทั่วประเทศงบประมาณ 2 ล้านล้านบาท 4.5 แสนคนและโครงการบริหารจัดการน้ำ งบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท 8 หมื่นคน ซึ่งหากประเมินเฉพาะโครงการขนาดใหญ่จะมีความต้องการกำลังคนใน 5 ด้านได้แก่ ด้านบริหาร คิดเป็นร้อยละ 2 ด้านวิศวะ คิดเป็นร้อยละ 5 โฟร์แมนและช่างฝีมือสาขาต่างๆ ร้อยละ 20 แรงงานกึ่งฝีมือร้อยละ 36 และแรงงานไร้ฝีมือร้อยละ 37 ขณะที่ในปัจจุบันไทยมีแรงงานว่างงานอยู่ประมาณ 2-3 แสนคนซึ่งกกจ.จะดึงผู้ว่างงานกลุ่มนี้ รวมทั้งนักเรียน นักศึกษาจบใหม่ซึ่งปีละกว่า 1 แสนคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน
อธิบดีกกจ. กล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน กระทรวงแรงงานจะใช้วิธีการนำเข้าแรงงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 สัญชาติทั้งพม่า กัมพูชาและลาว โดยเป็นไปตามความต้องการของผู้ประกอบการซึ่งมายื่นขอโควตาแรงงานกับกกจ. นอกจากนี้ กกจ.ยังเตรียมนำเข้าแรงงานจากประเทศอื่นๆ โดย ผ่านข้อตกลงความร่วมมือระหว่างประเทศ(เอ็มโอยู) จำนวน 5 หมื่นคน เช่น บังคลาเทศ เวียดนาม เป็นต้น เพื่อนำมาเป็นแรงงานไร้ฝีมือด้านก่อสร้างและการประมง ซึ่งในส่วนของการเตรียมนำเข้าแรงงานบังคลาเทศอยู่ระหว่างการจัดทำร่างเอ็มโอ ยูร่วมกัน หากแล้วเสร็จก็จะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) ต่อไป
“กรณี ของแรงงานบังคลาเทศ ซึ่งหลายฝ่ายเป็นห่วงเรื่องผลกระทบต่อความมั่นคงนั้น กกจ.จะขอให้รัฐบาลบังคลาเทศช่วยคัดกรองแรงงานก่อนจะส่งมายังประเทศไทย อีกทั้งกกจ.จะจัดอบรมแรงงานเหล่านี้ให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงาน สวัสดิการต่างๆ รวมทั้งการอยู่ในประเทศไทยก่อนเริ่มทำงาน เชื่อว่าไม่น่าจะเกิดผลกระทบด้านความมั่นคง และคนเหล่านี้ก็คงตั้งใจมาทำงานในไทยเพื่อให้มีรายได้เลี้ยงดูครอบครัว คงไม่กระทำในสิ่งที่ไม่เหมาะสม” นายประวิทย์กล่าว.
(เดลินิวส์, 22-5-2556)
เตรียมดึงทหารเกณฑ์ใกล้ปลดประจำการแก้ปัญหาขาดแรงงานภาคขนส่ง
กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เผยภาคการขนส่งขาดคนขับรถขนส่งสินค้าในประเทศกว่า 100,000 คน จึงเตรียมดึงทหารเกณฑ์ใกล้ปลดประจำการแก้ปัญหาขาดแรงงานภาคขนส่ง
นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เปิดเผยว่า ผู้บริหารสมาคมขนส่งทางบก หารือกับตนและแจ้งว่าขณะนี้ภาคการขนส่งขาดคนขับรถขนส่งสินค้าในประเทศกว่า 100,000 คน ส่งผลให้รถขนส่งสินค้าต้องจอดโดยไม่ได้ใช้งานกว่าร้อยละ 30 จากจำนวน 180,000 คัน จึงขอให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เร่งพัฒนาคนป้อนภาคการขนส่ง โดยมีค่าจ้างการันตีไม่ต่ำกว่า 20,000 บาทต่อเดือน จึงประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่างๆ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนเรศวร สมาคมขนส่งทางบก กรมขนส่งทางบก และกองทัพภาคที่ 3 ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช จ.พิษณุโลก ในการฝึกอบรมให้กับทหารเกณฑ์ที่ใกล้ปลดประจำการ หลักสูตร 3 เดือน ในการสอนหลักสูตรการขับรถขนส่งสินค้า และผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรม เมื่อปลดประจำการสามารถทำงานกับนายจ้างที่แจ้งความต้องการกับกรมพัฒนาฝีมือ แรงงานได้ทันที เนื่องจากจะมีการทำสัญญาการจ้างงานให้กับผู้ที่สมัครใจทำงานภาคขนส่ง
สำหรับประชาชนที่สนใจเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อทำงานเป็นพนักงานขับรถขนส่ง สินค้าต้องมีสุขภาพร่างการแข็งแรง ตาไม่บอดสี และเป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว ขอเข้ารับการอบรมได้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน หรือโทร.0 2245 3731
(สำนักข่าวไทย, 23-5-2556)
ก.แรงงาน จับมือ 5 องค์กรหลักร่วมหาทางสกัดค้ามนุษย์ในเรือประมง
25 พ.ค. 56 - นายอนุสรณ์ ไกรวัตนุสสรณ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า กระทรวงแรงงาน โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการซักซ้อมการบูรณาการความร่วมมือในการตรวจสภาพการ จ้างและสภาพการทำงานในเรือประมงทะเลเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ด้านแรงงาน ในวันที่ 27-28 พฤษภาคมนี้ โดยมีผู้แทนจากกรมเจ้าท่า กรมประมง กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กองทัพเรือ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เข้าร่วมประชุม เพื่อร่วมกันหาแนวางป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ในเรือประมง พื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา นครศรีธรรมราช ตรัง ชลบุรี และระยอง
ทั้งนี้ ประเทศไทยที่มีสถานะเป็นทั้งประเทศต้นทาง ประเทศทางผ่าน และประเทศปลายทางของการค้ามนุษย์ ถูกจัดลำดับจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ 2 กลุ่มประเทศบัญชีรายชื่อจับตามองติดต่อกันเป็นปีที่ 3 ซึ่งส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศเป็นอย่างยิ่ง ความร่วมมือดังกล่าวจะทำให้การตรวจสอบสภาพการจ้างและสภาพการทำงานในเรือ ประมงมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งเป็นการแสดงถึงจุดยืนของไทยในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างจริงจัง เพื่อให้ไทยพ้นจากบัญชีประเทศจับตามอง
(สำนักข่าวไทย, 25-5-2556)
ปลัดแรงงานฝาก คกก.สภาที่ปรึกษาฯ ติดตามนโยบายกระทรวง 6 ข้อ
27 พ.ค. 56 - นพ.สมเกียรติ ฉายะวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงาน แห่งชาติว่า เป็นการประชุมครั้งแรกของคณะกรรมการชุดที่ 16 ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในด้านแรงงานเข้ามาเป็นคณะ กรรมการหลายคน โดยได้ชี้แจงและฝากให้ติดตามนโยบายที่สำคัญของกระทรวงแรงงาน ในปี 2556 จำนวน 6 ข้อ ได้แก่
1.ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศ 2.การเตรียมความพร้อมด้านการบริการจัดการแรงงานเพื่อรองรับการเข้าสู่ ประชาคมอาเซียน ซึ่งกระทรวงแรงงานได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์รองรับ เน้น 3 ด้าน คือ ภาษาต่างประเทศ เทคโนโลยี (ไอที) ทัศนคติในการทำงาน 3.การสร้างเครือข่ายป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะประมง ซึ่งถูกจับตาเป็นอย่างมากจากประเทศสหรัฐอเมริกา 4.การแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานประกอบการ ซึ่งจะขยายผลไปสู่นิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ และสถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 20 คนขึ้นไปให้มากขึ้น 5.การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการประกันสังคม เพื่อส่งเสริมให้แรงงานนอกระบบเข้าสู่ประกันสังคมเพิ่มขึ้น และ 6.การพัฒนาศักยภาพศูนย์บริการเบ็ดเสร็จเพื่อรองรับแรงงานเดินทางไปทำงานต่าง ประเทศ โดยขณะนี้จัดตั้งไปแล้วประมาณ 3-4 แห่ง จากเป้าหมาย 10 แห่ง
โดยที่ประชุมรับจะช่วยติดตามนโยบายสำคัญทั้ง 6 เรื่อง รวมทั้งไปศึกษารายละเอียดเพื่อให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติมในการดำเนินการ นอกจากนี้ ยังแสดงความเป็นห่วงปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ขอให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันแก้ปัญหานี้
(สำนักข่าวไทย, 27-5-2556)
พนง.องค์การค้าฯเฮ!หลังบอร์ดสกสค.ไฟเขียวปรับเงินเดือนหลังไม่ขึ้นมา 18 ปี
นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการ ศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด สกสค.เมื่อเร็ว ๆ นี้มีมติอนุมัติเพิ่มเงินเดือนให้กับพนักงานขององค์การค้า ของ สกสค. ทั้งหมดประมาณ 1,600 กว่าคน ซึ่งการขึ้นเงินเดือนครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปีนับตั้งแต่พ.ศ. 2537 เป็นต้นมา รวมถึงเป็นการดำเนินการตามข้อตกลงที่ องค์การค้า ฯมีต่อสหภาพแรงงานองค์การค้าฯ ว่าหากรัฐวิสาหกิจมีการปรับเพิ่มเงินเดือน องค์การค้าฯก็จะต้องปรับเพิ่มให้กับพนักงานด้วยและที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจมี การปรับเพิ่มเงินเดือนไปแล้วถึง 3 รอบ แต่องค์การค้าฯ ก็ยังไม่เคยปรับเงินเดือนเลย เพราะที่ผ่านมาองค์การค้าฯ ประสบปัญหาขาดทุนอย่างต่อเนื่องจนทำให้มีภาระหนี้สินประมาณ 3,000 กว่าล้านบาท ทำให้ไม่มีเงินไปเพิ่มเงินให้พนักงานได้
อย่างไรก็ตาม ช่วงระยะเวลาหลังองค์การค้าฯ ปรับรูปแบบการบริหารจัดการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งยังวางนโยบายประหยัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น โดยเฉพาะการพิมพ์หนังสือเรียน ปีการศึกษา 2556 นี้ก็ปรับรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการเช่าแท่นพิมพ์ มาจัดพิมพ์หนังสือเรียน เองโดยไม่จ้างโรงพิมพ์เอกชนพิมพ์เหมือนที่ผ่านมา ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายไปถึง 100 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยังทำให้พิมพ์หนังสือเรียนได้เร็ว จนทำให้เป็นปีแรกที่สามารถพิมพ์และจัดส่งหนังสือได้ครบและทันเปิดภาคเรียน โดยไม่มีหนังสือเหลือค้างทำให้ไม่เป็นหนี้เหมือนที่ผ่านมา รวมถึงลดเปอร์เซ็นต์ส่วนลดค่าหนังสือที่ให้กับร้านค้าลง จากเดิม 31% เหลือ 25% ตามที่บอร์ดกำหนดแต่แรกทำให้มีเงินเพิ่มขึ้นจากส่วนต่างอีก 6% เท่ากับว่าถ้าขายหนังสือ 1,000 ล้านบาท องค์การค้าฯ จะมีเงินเหลืออีก 60 ล้านบาท
“ตรงนี้ถือเป็นเทคนิคในการบริหารจัดการ ที่ทำให้องค์การค้าฯ มีกำไรจากขายหนังสือเรียนเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 300-400 ล้านบาท เพราะฉะนั้นเมื่อมีกำไรเพิ่มขึ้นก็เห็นว่าถึงเวลาที่จะต้องปรับเพิ่มเงิน เดือนให้พนักงานทุกคนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจ”นางพนิตา กล่าวและว่า ส่วนเรื่องปัญหาหนี้สินเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาการแก้ไข โดยในเดือนมิถุนายน องค์การค้าฯ จะสรุปภาพรวมผลกำไรทั้งหมดเสนอต่อที่ประชุม สกสค.เพื่อจะดูว่ามีเงินเหลือสำหรับผ่อนชำระหนี้ได้จำนวนเท่าไร
ด้าน นายสมมาตร มีศิลป์ ผู้อำนวยการองค์การค้าฯ กล่าวว่า การปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนพนักงานเจ้าหน้าที่องค์การค้าฯครั้งนี้ใช้ ตารางเปรียบเทียบเดียวกับเงินเดือนของรัฐวิสาหกิจ เท่ากับว่าพนักงานขององค์การค้าฯทุกคน จะได้เงินเดือนเพิ่มขึ้นประมาณ 21% เท่ากับว่าองค์การค้าจะต้องเพิ่มเงินเพื่อจ่ายเป็นเงินเดือนให้กับพนักงาน ทั้งหมดอีก ประมาณเดือนละ 8 ล้านบาท โดยอัตราเงินเดือนใหม่ได้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-5-2556)