เครือข่ายภาคประชาสังคมปาตานี ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีหนุนสร้างสันติภาพแท้จริง และเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยอมรับว่า BRN คือคู่เจรจาไกล่เกลี่ย ที่ต้องมีคนกลาง ไม่ใช่คู่สนทนาคลี่คลายความขัดแย้งระหว่างพลเมืองไทยกับเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้รัฐธรรมนูญ และอย่านำข้อเรียกร้องที่เป็นของภาคประชาชนไปเป็นข้อต่อรองกับทาง BRN
หลังมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลไทยผ่านสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN (Barisan Revolusi Nasional) เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา ที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซียนั้น ล่าสุดวันนี้ (26 มี.ค.) "เครือข่ายภาคประชาสังคมปาตานี"ได้มอบหมายให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ เดินทางมายื่นจดหมายเปิดผนึก "วาระประชาชนแสดงเจตจำนงสนับสนุนการสร้างสันติภาพปาตานีที่แท้จริง"ถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รองนายกรัฐมนตรี โดยยื่นผ่าน พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
ส่วนการเจรจาระหว่าง สมช. และ BRN รอบล่าสุดนั้น ไทยรัฐออนไลน์รายงานคำกล่าวของ พล.ท.ภราดร ที่ระบุว่า ขณะนี้ได้รายชื่อคณะทำงานที่จะเดินทางไปพูดคุยเรื่องสันติภาพกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบที่ประเทศมาเลเซียในวันที่ 28 มี.ค. ครบทั้ง 15 คนแล้ว และไม่ต้องเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรีอีก เนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการไว้แล้ว โดยในทางปฏิบัตินั้นตัวเขาจะรายงานต่อนายกรัฐมนตรีเป็นระยะๆ
โดยรายละเอียดของจดหมายเปิดผนึก ซึ่งจะมีการยื่นถึงรัฐบาลมาเลเซีย ผ่านสถานทูตมาเลเซีย ประจำกรุงเทพฯ ด้วยนั้น มีรายละเอียดดังนี้
000
จดหมายเปิดผนึก
เรื่อง วาระประชาชนแสดงเจตจำนงสนับสนุนการสร้างสันติภาพปาตานีที่แท้จริง
เรียน นายกรัฐมนตรีประเทศไทย
สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ณ เมืองหลวงกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย ได้มีการพูดคุยลงนามตกลงเพื่อแสดงเจตนารมณ์เพื่อสันติภาพระหว่างรัฐไทยโดยผ่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กับ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติปาตานี หรือ BRN ซึ่งมีรัฐมาเลเซียโดยผ่านเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้อำนวยการพูดคุย (Facilitator)
โดยทางรัฐไทยมีเงื่อนไขว่าต้องพูดคุยภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทย และทางรัฐมาเลเซียมีเงื่อนไข 3 ข้อด้วยกันคือ
1. ไม่สนับสนุนเอกราชของชาวปาตานี
2. ไม่สนับสนุนวิธีการต่อสู้ด้วยการจับอาวุธ
3. ไม่สนับสนุนแหล่งพักพิงหรือที่หลบภัย
อย่างไรก็ตามถือได้ว่าการพูดคุยลงนามเพื่อสร้างสันติภาพในครั้งนี้ เป็นแรงเหวี่ยงต่อทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาครัฐ และภาคประชาชน ทั้งในและต่างประเทศ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสันติภาพ โดยเฉพาะการสร้างสันติภาพที่มาจากคู่ขัดแย้งหลัก แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายที่เป็นคู่ขัดแย้งหลัก นั่นคือรัฐไทยกับ BRN
ปฏิเสธไม่ได้ว่าตามเนื้อหาข้อตกลงเพื่อพูดคุยสันติภาพนั้น ได้สร้างข้อกังขาใจต่อสาธารณชนพอสมควร โดยเฉพาะสังคมสาธารณะในพื้นที่เกิดข้อสงสัยในเรื่องของความบริสุทธิ์ใจต่อสันติภาพที่แท้จริง ซึ่งคาบเกี่ยวกับบทบาทและท่าทีของทั้งสามฝ่ายคือประเทศมาเลเซีย ประเทศไทย และ BRN
ซึ่งโดยภาพรวมแล้วนั้น ผลลัพธ์ของการลงนามครั้งนี้ ได้เกิดภาพอนาคตสันติภาพปาตานีว่า BRN นั้นต้องยอมจำนนสู้ภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญไทยเท่านั้น ถึงจะได้สันติภาพในความหมายที่แปลว่า ยุติสงคราม ซึ่งภาพอนาคตสันติภาพแบบนี้กับความเป็น BRN ที่โดยทั่วไปแล้วรับทราบเป็นอย่างดีว่า BRN เป็นองค์กรปฏิวัติที่มีมวลชนให้การสนับสนุน คงไม่ยอมจำนนง่ายๆแน่นอน แต่ภาพที่เห็นเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 นั้น นายฮาชัน ตอยิบ เป็นที่ยอมรับและการันตีร่วมกันระหว่างรัฐไทยกับรัฐมาเลเซียว่า เป็นตัวจริงที่ได้รับฉันทานุมัติจากองค์กรนำแล้ว
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เป็นการบั่นทอนบรรยากาศของการเกิดพื้นที่ทางการเมืองอย่างมีสถานะที่ได้ยกระดับจากการพูดลับๆ มาพูดกันอย่างเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วโลกและนำไปสู่การลดเงื่อนไขการสู้รบสู่การเพิ่มเงื่อนไขการเจรจาได้ในที่สุดนั้น ทางเครือข่ายภาคประชาชนปาตานี ซึ่งมาจากหลากหลายองค์กรภาคประชาชนได้มีฉันทามติร่วมกันโดยผ่านงาน BICARA PATANI (เสวนาปาตานี) ครั้งที่ 2ในหัวข้อ “28 กุมภา : สัญญาณบวกหรือลบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพที่ปาตานี” จัดขึ้นโดยสหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) และสำนักสื่อ WARTANI เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2556 ณ หอประชุมอาคารสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมที่หลากหลายกลุ่มเป้าหมายของภาคประชาชนในจำนวน 7,000 กว่าคน
มีฉันทามติว่าจะนำเสนอความเห็นด้วยวาระภาคประชาชนปาตานีไปยังรัฐบาลของทั้งสองประเทศคือประเทศไทยและประเทศมาเลเซียผ่านหนังสือเปิดผนึกฉบับนี้ โดยได้มอบฉันทานุมัติให้สหพันธ์นิสิตนักศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PERMAS) และองค์กรภาคประชาสังคมต่างๆ ที่ซื่อสัตย์ต่อประชาชน เพื่อให้การพูดคุยเพื่อสันติภาพที่ได้ริเริ่มขึ้นแล้วนั้น จะสามารถดำเนินการต่ออย่างมีพัฒนาการแบบเข้าร่องเข้ารอยสอดคล้องตามมาตรฐานของกระบวนการสันติภาพตามหลักสากลและไม่เป็นการเพิ่มเงื่อนไขของสงครามยืดเยื้อ อันเนื่องมาจากความผิดพลาดทางกระบวนการ
เครือข่ายภาคประชาชนปาตานีจึงมีข้อเรียกร้องเพื่อให้กระบวนการสร้างสันติภาพได้พัฒนาไปอย่างต่อเนื่องจนถึงขั้นสามารถเกิดการเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้จริงๆระหว่างคู่ขัดแย้งหลักนั่นคือ รัฐไทย กับ BRN แล้วจากนั้นก็มารับฟังเสียงประชาชนปาตานีว่าต้องการกำหนดอนาคตตนเองอย่างไรดังนี้
1. รัฐไทยต้องยอมรับว่า BRN นั้น คือคู่เจรจาไกล่เกลี่ยที่จำเป็นต้องมีคนกลาง (Mediator) ไม่ใช่คู่สนทนาคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งระหว่างพลเมืองไทยกับเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
2. รัฐไทยต้องอย่าเอาข้อเรียกร้องที่เป็นของภาคประชาชนไปเป็นข้อต่อรองกับทาง BRN เช่น ขอให้ยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ ขอให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เป็นต้น เพราะเมื่อเป็นข้อเรียกร้องของภาคประชาชน รัฐก็ควรที่จะต้องมาพูดคุยต่อรองกับภาคประชาชน
เครือข่ายภาคประชาชนปาตานี
26 มีนาคม 2556