สารีโต้เอไอเอส กรณีเผยข้อมูลที่เอไอเอสขอ กทค.เก็บค่าบริหารเลขหมายวันละบาท ยืนยันเงื่อนไขการให้บริการเป็นสิ่งที่บริษัทต้องเปิดเผยต่อสาธารณะ และควรรับฟังความเห็นจากผู้บริโภค ไม่ใช่คิดปิดบังงุบงิบ ระบุระเบียบโทรคมนาคมที่บริษัทอ้างนั้นถูกยกเลิกไปแล้ว
จากกรณีที่ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ได้มีหนังสือถึง กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เรื่องขอความอนุเคราะห์กำกับดูแลการเปิดเผยข้อมูลความลับทางการค้า ในกรณีที่คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมได้เปิดเผยข้อมูลต่อสื่อมวลชน เรื่อง (ร่าง) หลักเกณฑ์การกระทำที่เป็นการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม โดยระบุว่า กรณีที่บริษัทฯได้ขอให้ กทค.อนุมัติให้สามารถเรียกเก็บค่าบริหารเลขหมายวันละ 1 บาทกับผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้าว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายเอาเปรียบผู้ใช้บริการนั้น
สารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมกล่าวว่า กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากคณะอนุกรรมการฯได้รับหนังสือจาก กสทช. เพื่อขอให้คณะอนุกรรมการฯให้ความเห็นต่อเรื่องนี้เพื่อประกอบในการพิจารณาข้อเสนอของบริษัทฯ
นอกจากนี้การแต่งตั้งจาก กสทช. ตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯปี 2553 โดยมีอำนาจหน้าที่ 9 ประการ และหนึ่งในนั้นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการให้ความเห็นและคำปรึกษา รวมถึงเสนอแนะแนวทางเกี่ยวกับการกำหนดมาตรการนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม คณะอนุกรรมการฯจึงได้ทำหน้าที่ตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายและแต่งตั้งไว้เท่านั้น
ส่วนกรณีที่ บริษัทฯอ้างว่า ภารกิจจากการที่คณะอนุกรรมการฯ เปิดเผยข้อมูลดังกล่าวนั้น ขัดต่อระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550 รวมถึงระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยมาตรการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ พ.ศ. 2548 นั้น จึงขอเรียนให้ทราบว่า ระเบียบดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไปแล้วตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม 2556 ลงนามโดย พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมาย ภายใต้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นฯ 2553
“บริษัทชำระค่ารักษาเลขหมายให้กับ กสทช.เพียง 2 บาทต่อเดือน แต่กลับคิดเรียกเก็บจากผู้บริโภคถึง 30 บาทต่อเดือน คณะอนุกรรมการฯ จึงพิจารณากันแล้วว่า การกระทำดังกล่าวจึงอาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค และอนุกรรมการฯ ก็มีหน้าที่ในการให้ความเห็น และเปิดเผยข้อมูลเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค อีกทั้งตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญา 2549 ข้อ 11 ก็ระบุไว้ชัดเจนว่า การให้บริการโทรคมนาคมแบบชำระค่าบริการล่วงหน้านั้น การกำหนดเงื่อนไขการให้บริการได้นั้น ควรจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภคด้วย แต่บริษัทกลับคิดปิดบังเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง” สารีกล่าว