22 พ.ค.56 สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกแถลงการณ์ระบุให้รมว.พลังงาน และผู้ว่าการกฟผ.ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้ ระบุไม่เป็นไปตามคำมั่นว่าจะไม่มีเหตุไฟดับ หรือ Backout อธิบายประชาชนไม่ได้ สร้างความสับสน และฉวยอ้างเหตุสร้างโรงไฟฟ้า
รายละเอียดแถลงการณ์มีดังนี้
แถลงการณ์
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน
เรื่อง
รมต.พลังงาน-ผู้ว่า กฟผ.ต้องลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบกรณีไฟฟ้าดับ 14 จังหวัดภาคใต้
จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ และอีกบางส่วนของจังหวัดเพชรบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นเวลานานหลายชั่วโมง ในระหว่างเวลา 18.55 น-23.45 น. ของวันที่ 21 พ.ค.56 ที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมและบริการเป็นจำนวนมากได้รับความเดือดร้อนและเสียหายไปนับหมื่นล้านบาทนั้น
เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการโฆษณาชวนเชื่อมาจากกระทรวงพลังงานและ กฟผ. มาโดยตลอดว่าประเทศไทยจะไม่มีเหตุการณ์ไฟฟ้าดับหรือ BLACKOUT อย่างแน่นอนและหากจะมีก็สามารถใช้เวลาในการ BLACKSTART ได้ใหม่ไม่เกิน 10 นาที แต่พอเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบกลับให้ข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ไม่ตรงกัน เช่น บางหน่วยงานก็ว่าเกิดจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่ลำภูรา จ.ตรัง บางหน่วยก็ว่าเกิดจากระบบท่อส่งไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช บางหน่วยก็ว่าเกิดฟ้าผ่าสายส่งที่เพชรบุรี และล่าสุดแจ้งว่าเกิดจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงเชื่อมโยงจากภาคกลางไปสู่ภาคใต้ช่วงจอมบึง-บางสะพาน 2 ขัดข้อง ทำให้ กฟผ. ไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าจากภาคกลางสู่ภาคใต้ได้ บางหน่วยก็ว่าเพราะภาคใต้มีปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากเกินกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่เพียง 1,600 เมกกะวัตต์ และพยายามเชื่อมโยงเพื่อสร้างความชอบธรรมในการผลักดันการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ จงกระบี่ หรือ อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ให้จงได้ทั้ง ๆ ที่ในภาคใต้มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่อยู่แล้วหลายโรงทั้งโรงไฟฟ้าจะ นะ จ.สงขลา โรงไฟฟ้าขนอม จ.นครศรีธรรมราช โรงไฟฟ้าลำภูรา จ.ตรัง โรงไฟฟ้าที่ยะลา เป็นต้น แต่พอสายส่งเกิดปัญหาขึ้นที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ แต่กลับทำให้ภาคใต้ทั้งหมดไฟฟ้าดับไปพร้อมกันหมด เหตุการณ์ครั้งนี้อาจส่อไปในทางมิชอบ เพื่อหวังผลสิ่งใดหรือไม่ ทั้ง ๆ ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานใดกล้าประกาศความรับผิดชอบที่เกิดขึ้น แต่กลับมีการความพยายามบ่ายเบี่ยงความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน บนความสับสนของประชาชน
เหตุการณ์ดังกล่าว หากผู้บริหารของกระทรวงพลังงานและ กฟผ. ถ้ายังจะพอมีมาตรฐานทางจริยธรรมอยู่บ้าง ควรที่จะถือสปิริต “ลาออก”จากจากตำแหน่งไปเสีย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีศักยภาพที่เพียงพอได้ขึ้นมาบริหารแทน เพื่อสร้างบรรทัดฐานทางจริยธรรมใหม่ในแวดวงข้าราชการและนักการเมือง เหมือนดั่งประเทศอื่นที่เจริญแล้วเขารับผิดชอบกัน และเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมไทย ในความผิดพลาดและล้มเหลวในการบริหารจัดการระบบสายส่ง และการบริหารจัดการภาวะฉุกเฉินที่ล้มเหลวในครั้งนี้
22 พฤษภาคม 2556
นายศรีสุวรรณ จรรยา
นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน