ประมวลข่าวด้านลิขสิทธิ์รอบโลกประจำสัปดาห์กับ ‘อธิป จิตตฤกษ์’: ศาลสูงอเมริกาตัดสินให้ ‘มอนแซนโต้’ ชนะคดีผลิตซ้ำเมล็ดพืช, ตัวแทนพรรคไพเรตเบย์ฟินแลนด์เตรียมลงสมัครสภายุโรป, Yahoo ซื้อ Tumblr 1,100 ล้านดอลลาร์
ศาลสูงอเมริกาตัดสินให้ Monsanto ชนะคดี "ผลิตซ้ำเมล็ดพืช"แล้ว
หากจะกล่าวอย่างย่นย่อทีสุดถึงคดีนี้ ในตอนแรกมีชาวนารายหนึ่งนำเมล็ดพืชมีสิทธิบัตรของ Monsanto ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่ผลิตเมล็ดพืชพันธุ์ ไปปลูก แล้วเขาก็นำเมล็ดพันธุ์ที่เกิดจากพืชที่เกิดขึ้นไปปลูกต่อ
Monsanto เลยฟ้องชาวนาผู้นี้ฐานละเมิดสิทธิบัตรเพราะถือว่าชาวนาผู้นี้ผลิตซ้ำเมล็ดพืชอันมีสิทธิบัตรคุ้มครองอยู่
สุดท้ายศาลสูงชี้ขาดว่าภายใต้การคุ้มครองสิทธิบัตรของ Monsanto ชาวนามีสิทธิแค่นำเมล็ดพืชไปให้บริษัทของเขาบริโภค หรือบริโภคเองเท่านั้น ไม่มีสิทธินำไปปลูกซึ่งเป็นการผลิตซ้ำเมล็ดพืชและเป็นการละเมิดสิทธิบัตรของ Monsanto
News Source: http://www.ip-watch.org/2013/05/13/us-supreme-court-rules-in-favour-of-monsanto-in-patent-exhaustion-case/
15-05-2013
Peter Sunde หนึ่งในผู้ก่อตั้ง The Pirate Bay และโฆษกของทางเว็บประกาศจะสงสมัครเป็นผู้แทนในสภายุโรปในปีหน้า
อนึ่ง เขาเป็นตัวแทนจาก The Pirate Party ฟินแลนด์ ไม่ใช่สวีเดนที่เป็นบ้านเกิดของเขาซึ่งเขายังติดโทษจำคุกอยู่จากคดี The Pirate Bay
เขากล่าวว่า "การแชร์ไฟล์ที่ไม่ได้เป็นไปในเชิงพาณิชย์ ต้องเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายและได้รับการคุ้มครอง เราต้องคิดถึงลิขสิทธิ์กันใหม่ทั้งหมด ลิขสิทธิ์มันไม่ใช่สิ่งที่จะทำให้ศิลปินได้เงิน แต่มันเป็นสิ่งที่ทำให้พวกตัวแทนของพวกเขาและบรรดาผู้จัดจำหน่ายได้เงินต่างหาก ...ผมอยากเห็นเราสนับสนุนศิลปวัฒนธรรมผ่านการลงเงินมากขึ้นในการศึกษาทางดนตรี และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่จะช่วยให้คนทำดนตรีได้ สิ่งเหล่านี้ดูจะเป็นหนทางที่มีสติมากกว่าการขยายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ หากเราต้องการความก้าวหน้าทางศิลปวัฒนธรรม"
News Source: http://torrentfreak.com/pirate-bay-cofounder-to-run-for-european-parliament-130514/
16-05-2013
เว็บระดมทุนจากฝูงชน Kickstarter ออกมาโต้กรณีข้อถกเถียงว่า "คนดัง"ไม่ควรใช้ "การระดมทุนจากฝูงชน" (crowd funding)
หลังจากที่มีการระดมทุนเพื่อสร้างภาพยนตร์ Veronica Mars จาก Kickstarter แล้วดาราและผู้กำกับอย่าง Zach Braff ก็เดินหน้าระดมทุนสร้างภาพยนตร์ใหม่ผ่าน Kickstarter เช่นกัน
นี่ทำให้เกิดข้อโต้แย้งว่าบรรดาคนดังๆ เหล่านี้ควรจะระดมทุนผ่าน Kickstarter หรือไม่ เพราะคนจำนวนมากก็มอง Kickstarter เป็นพื้นที่ระดับทุนของผู้สร้างสรรค์อิสระรายเล็กๆ ที่ไม่สามารถระดมทุนอย่างอื่นๆ ได้ บรรดาคนดังๆ สามารถระดมทุนทางอื่นๆ ได้อีกถมเถ
ล่าสุด Kickstarter แถลงมาเองว่าทาง Kickstarter เป็นที่ๆ จะทำให้โครงการสร้างสรรค์นั้นมีชีวิตขึ้นมาไม่ว่ามันจะมาจากใคร ดังนั้นจะเป็นคนไม่ดังหรือคนดังนั้นไม่ใช่ปัญหา
นอกจากนี้ Kickstarter ยังกล่าวอีกว่าการที่บรรดาคนดังๆ เหล่านี้มาระดมทุนผ่าน Kickstarter ก็ทำให้มีผู้สนับสนุนหน้าใหม่เข้ามาในสารบบของ Kickstarter อีกหลักหมื่นคน และคนเหล่านี้หลักพันก็ไปสนับสนุนโครงการอื่นๆ ของบรรดาคนไม่ดังทั้งหลายต่อ
กล่าวโดยสรุปคือ การที่คนดังๆ มาระดมทุนกับ Kickstarter นั้นไม่น่าจะทำให้คนไม่ดังเจ้าของโครการเล็กๆ เสียหายแต่อย่างใด
News Source: http://www.kickstarter.com/blog/who-is-kickstarter-for , http://www.techdirt.com/articles/20130511/02114423045/some-data-big-kickstarter-projects-famous-people-actually-helps-other-projects.shtml
18-05-2013
ภาควิชาปรัชญามหาวิทยาลัย San Jose State ปฏิเสธที่จะใช้การบรรยายออนไลน์จาก Harvard
ภายหลังจากที่ทาง Harvard และ MIT ร่วมกันสร้างคอร์สออนไลน์ให้นักศึกษาเรียนฟรีๆ ก็มีการวิจารณ์กันมาอย่างต่อเนื่องและในตอนนี้ก็มีการถกเถียงกันอย่างแพร่หลายว่าการเรียนคอร์สออนไลนแบบนี้จะสามารถเทียบเท่าหรือทดแทนการเรียนแบบต่อหน้าตามขนบปฏิบัติของอุตสาหกรรมอุดมศึกษาได้หรือไม่
มหาวิทยาลัยจำนวนมากสนับสนุนการเรียนในแนวทางนี้เพราะจะช่วยลดต้นทุนการศึกษาไปมาก คณาจารย์บางส่วนก็นำมาใช้เสริมการศึกษา อย่างไรก็ดีคณาจารย์อีกหลายๆ ส่วนก็แสดงตนเป็นศัตรูกับแนวทางการศึกษาแบบนี้มาก ซึ่งจะเป็นไปด้วยเหตุผลทางวิชาการและการศึกษาเพียวๆ หรือมีความกังวลส่วนตัวถึงอนาคตทางหน้าที่การงานของตนหรือไม่ก็ไม่ทราบได้
Clayton M. Christensen นักวิชาการด้านธุรกิจชื่อดังจาก Harvard เจ้าของทฤษฎี Disruptive Innovation ทำนายว่าภายใน 15 ปี มหาวิทยาลัยจะล้มละลายไปกว่าครึ่งเพราะต้นทุนการศึกษาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และเทคโนโลยีจะสามารถแทนที่การศึกษาแบบเดิมที่ต้องใช้ต้นทุนสูงได้
ทั้งนี้ทางภาควิชาปรัชญามหาวิทยาลัย San Jose ก็ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกไปให้ Michael Sandel นักปรัชญาจาก Harvard ที่ได้บรรยายออนไลน์เรื่องความยุติธรรมไว้อย่างโด่งดังมากมายว่า
"คณาจารย์ที่ยังใส่ใจที่จะให้การศึกษาสาธารณะอยู่ไม่ควรจะผลิตอะไรก็ตามที่จะมาแทนที่คณาจารย์ สร้างความระส่ำระสายให้คณะต่างๆ และทำให้การเรียนรู้ของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยรัฐตั้งต้องลดทอนลง"
News Source: http://www.bloomberg.com/news/2013-05-15/harvard-for-free-meets-resistance-as-u-s-professors-see-threat.html
ศาลเนธอร์แลนด์ชี้ว่าความเป็นส่วนตัวของลูกค้าธนาคารสำคัญกว่าการไล่ปราบการละเมิดลิขสิทธิ์ของกลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์
"กระดานข่าว" FTD ชื่อดังของเนเธอร์แลนด์นั้นถูกตัดสินว่ากิจกรรมของ"กระดานข่าว"เอื้อให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ในปี 2011 จนสุดท้ายต้องปิดตัวไป อย่างไรก็ดีไม่นานนักก็มี "กระดานข่าว"ใหม่นามว่า FTD World เกิดขึ้นและให้บริการคล้ายกับ FTD เก่า
หลังจากกลุ่มต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ชื่อดังของเนเธอร์แลนด์นามว่า BREIN ค้นพบเลขบัญชีที่เชื่อมโยงกับกลุ่ม FTD World เป็นเลขบัญชีของธนาคาร ING ที่เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ ทาง BREIN ก็เลยร้องขอให้ทางธนาคาร ING เปิดเผยข้อมูลเจ้าของบัญชีดังกล่าว ทางธนาคารไม่ยอมร่วมมือและอ้างกฏหมายคุ้มครองข้อมูล และเรื่องก็ขึ้นไปถึงชั้นศาล
สุดท้ายศาลตัดสินว่าการปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้บริการธนาคารนั้นมีน้ำหนักมากกว่า การพยายามจะหาตัวตนของเจ้าของเว็บไซต์ที่ละเมิดลิขสิทธิ์
ศาลชี้ว่าธนาคารนั้นต่างจาก ISP เพราะในทางกฎหมายไม่สามารถถือว่าธนาคารเกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ของลูกค้าได้เลยทั้งทางตรงและทางอ้อม นอกจากนีทาง BREIN ก็ยังไม่ได้ฟ้องร้องคดีอาญากับ FTD World ก่อนที่จะมาขอข้อมูลกับธนาคารอีกด้วย
ด้วยเหตุผลทั้งหมด ศาลจึงตัดสินให้ข้อเรียกร้องของ BREIN มีน้ำหนักน้อยกว่าหน้าที่ของธนาคารในการปกป้องความเป็นส่วนตัวของลูกค้า
News Source: http://torrentfreak.com/banking-privacy-more-important-than-copyright-enforcement-court-rules-130517/
19-05-2013
Yahoo ซื้อ Tumblr ไปแล้วที่ราคา 1,100 ล้านดอลลาร์
ในที่สุดบล็อกโพสต์รูปทันสมัยอย่าง Tumblr ก็ถูก Yahoo ซื้อไปแล้วหลังจากเป็นข่าวมาพักใหญ่
การซื้อครั้งนี้ก็ทำให้เกิดความเห็นที่หลากหลาย บ้างก็ห่วงใยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับบรรดารูปโป๊บน Tumblr บ้างก็วิจารณ์ว่าการซื้อ Tumblr ของ Yahoo ดูจะเป็นการกระทำที่สิ้นหวังในการพยายามอยู่ในธุรกิจอินเทอร์เน็ตที่ต้องฟาดฟันกับบริษัทอื่นๆ ที่มีเว็บไซต์ที่มีลักษณะเป็นเครือข่ายสังคมของตัวเองทั้งนั้น
นอกจากนี้ก็มีผู้วิจารณ์กว่าการซื้อครั้งนี้เป็นการกระทำไม่คุ้มค่า เพราะรายได้ของ Tumblr ในปี 2012 นั้นน้อยกว่า 15 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำ (แม้จะมีผู้ประเมินว่ารายได้ในปีนี้จะเกิน 100 ล้านดอลลาร์ก็ตาม)
News Source: http://gigaom.com/2013/05/19/report-yahoos-board-agrees-to-pay-1-1-billion-for-tumblr/
ถึงขาลงของ RapidShare เมื่อทางเว็บตกอันดับเว็บยอดนิยมที่สุดในโลกอันดับ 150 เมื่อปลายปีที่แล้วลงไปที่อันดับ 860 และต้องไล่พนักงานออกถึง 75%
เว็บฝากไฟล์ Rapidshare เคยติดอันดับเว็บยอดนิยมที่สุดในโลกอันดับ 50 ในปี 2010 และถึงแม้ความนิยมในเว็บจะน้อยลงจากการแข่งขันที่หนักขึ้น ในตอนต้นปี 2012 ความนิยมในเว็บก็พุ่งพรวดขึ้นมาหลังจากการปิดตัวของ Megaupload
อย่างไรก็ดีทางเว็บก็ต้องการรักษาภาพของเว็บที่เคารพระบอบลิขสิทธิ์โดยการทั้งไล่ลบไฟล์ละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากเว็บ ไปจนถึงการลดความเร็วในการดาวน์โหลดของนักดาวน์โหลดขาจรที่ไม่ใช่สมาชิกของทางเว็บด้วย
ทั้งหมดก็เพื่อจะให้ทางเว็บหลุดจาก "บัญชีดำ"ของอุตสาหกรรมลิขสิทธิ์ และเพื่อจะทำให้กิจกรรมละเมิดลิขสิทธิ์ทั้งอัปโหลดและดาวน์โหลดลงลงจากเว็บให้ได้มากที่สุด
ผลก็คือกิจกรรมเหล่านี้ลดลงจริงๆ พร้อมกับปริมาณของคนที่เข้ามาใช้บริการเว็บโดยรวมที่ลดฮวบฮาบ
อนึ่ง ทาง RapidShare ไล่พนักงานออกไป 45 คนคิดเป็น 75% ดังนั้นตอนนี้เว็บฝากไฟล์ชื่อดังนี้เหลือพนักงานเพียง 15 คนเท่านั้น
News Source: http://torrentfreak.com/rapidshare-fires-75-of-its-staff-after-rogue-site-revamp-bites-130519/