กระทรวงสาธารณสุขเตรียมวางมาตรการให้ผู้หญิงเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ย 2.1 คน แก้ปัญหาระยะยาวคนแก่ล้นเมือง สร้างสมดุลโครงสร้างประชากร พร้อมดึงชุมชนร่วมดูแลผู้สูงอายุ
15 พ.ค.56 ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลา 09.00 น. ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ กทม. นพ.ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวระหว่างการเปิดประชุมระดับชาติ โครงการพัฒนารูปแบบบริการระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงรวมทั้งกลุ่มอายุอื่นที่ต้องการความช่วยเหลือในชีวิตประจำวัน ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลประเทศญี่ปุ่นและไทย ว่า ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงอายุเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน จากรายงานการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ล่าสุดในปี 2554 พบว่ามีประชากรสูงอายุประมาณร้อยละ 12 ของประชากรทั้งหมด หรือประมาณ 9 ล้านคน และพบว่าผู้ที่มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เพิ่มจากร้อยละ 10 ของประชากรสูงอายุทั้งหมดในปี 2543 เป็นร้อยละ 13 ในปี 2553 โดยอัตราเกิดของไทยลดลง หญิงวัยเจริญพันธุ์ไทยอายุ 15-49 ปี 1 คนมีบุตรเฉลี่ย 1.5 คน ทำให้โครงสร้างประชากรไทยอยู่ในสภาวะไม่สมดุลสัดส่วนระหว่างผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกับเด็กอายุ 0-14 ปี ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 1: 2.56 ในปี 2543 เป็น 1 : 1.49 ในปี 2553
นพ.ประดิษฐ กล่าวอีกว่า ในการรับมือกับปัญหาสังคมผู้สูงอายุของไทย ได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยบูรณาการร่วมกันทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและชุมชน มี 2 มาตรการ โดยมาตรการระยะสั้นเน้นการจัดบริการการดูแลระยะยาวโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน ส่วนในระยะยาวได้มียุทธศาสตร์ระดับชาติ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ โดยการเพิ่มจำนวนบุตรเฉลี่ยของหญิงไทยให้สูงขึ้นจาก 1.5 เป็น 2.1 เพื่อให้โครงสร้างประชากรมีความสมดุล ลดภาระครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุ และเน้นการส่งเสริม สุขภาพกายและจิตใจของผู้สูงอายุ ให้ผู้สูงอายุมีศักยภาพในการเพิ่มผลผลิต (Productivity) ยาวนานมากขึ้น มอบหมายให้ นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้อำนวยการโครงการ (Project Director) และนายแพทย์ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดการโครงการ (Project Manager)
นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. กล่าวว่า การดูแลผู้สูงอายุเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน นักวิชาการ และอาสาสมัคร โดยเฉพาะผู้สูงอายุกลุ่มที่ต้องพึ่งพิง ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้มีประมาณ 1 ล้านคน มี 2 ประเภท ได้แก่ ประเภทที่ต้องพึ่งพาคนอื่นเมื่อออกนอกบ้าน มีประมาณร้อยละ 10 หรือประมาณ 900,000 คน และประเภทนอนติดเตียง ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ มีประมาณร้อยละ 1 หรือประมาณ 90,000 คน ซึ่งคนกลุ่มนี้มักจะไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ แต่ต้องการการดูแลที่ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานหรือตลอดอายุขัยจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งปัจจุบันพบว่าเป็นภาระที่หนักของสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจึงต้องเตรียมความพร้อมด้านระบบบริการผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง 2 กลุ่มนี้ โดยร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่น รวมทั้งภาครัฐ เอกชน จัดระบบดูแลหลายด้านไปพร้อมๆ กัน ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมมีระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2556-2560
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า โครงการดังกล่าวนำร่องดำเนินการ 6 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น เชียงราย สุราษฎร์ธานี นนทบุรี นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร โดยเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการพัฒนารูปแบบบริหารจัดการระบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคมเชิงบูรณาการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศไทย ได้ร่วมมือกับรัฐบาลญี่ปุ่นระยะเวลาดำเนินการระหว่าง พ.ศ.2550-2553ในพื้นที่เดิม เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีอยู่กับครอบครัว ชุมชน อย่างอบอุ่นตลอดไป หากสำเร็จ ไทยจะเป็นศูนย์การเรียนรู้เรื่องการจัดระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง ให้แก่ประเทศอาเซียนด้วย