ASEAN Weekly โดยสุลักษณ์ หลำอุบล และดุลยภาค ปรีชารัชช์ สัปดาห์นี้ฟังการวิเคราะห์กรณี "กองทัพสุลต่านซูลู"ที่นั่งเรือยนต์มาจากหมู่เกาะเล็กๆ ใกล้กับเกาะมินดาเนา ชายแดนทางตอนใต้ของฟิลิปปินส์ เข้ามายังเมืองลาฮัด ดาตู เมืองชายแดนตะวันออกสุดของรัฐซาบาห์ มาเลเซีย เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่ออ้างกรรมสิทธิเหนือรัฐซาบาห์ว่าเป็นดินแดนของสุลต่านซูลูที่เคยยกให้อังกฤษเช่า ก่อนที่จะถูกทางการมาเลเซียปราบในเดือนมีนาคม
ซึ่งปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งระหว่างรัฐสมัยใหม่กับตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ ที่เป็นชนชั้นนำจารีตเดิมยุคก่อนรัฐชาติ แต่ไม่ได้รับการรับรองในมุมมองของตัวแสดงที่เป็นรัฐสมัยใหม่ ทั้งกรณีกรณีที่เกิดขึ้นในบริเวณทะเลซูลูดังกล่าว คล้ายกบฎผู้มีบุญในอดีต ที่ชนชั้นนำจารีตต้องการย้อนกลับไปหาโครงสร้างสังคมเก่า คิดอยากจะมีสังคมใหม่แต่อยู่ในกรอบสังคมเก่าในอนาคต
โดยที่กรณีของสุลต่านซูลู ไม่ได้เป็นกรณีเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่มีกรณีที่ใกล้เคียงกันอย่างกรณีอินโดนีเซียที่เกาะปาปัว ซึ่งเกาะปาปัวด้านตะวันตกเป็นของเนเธอร์แลนด์ ต่อมาถูกอินโดนีเซียผนวกเป็นจังหวัดปาปัว และปาปัวตะวันตก ขณะที่เกาะปาปัวด้านตะวันออกได้รับเอกราชจากอังกฤษ เป็นปาปัวนิวกินี เป็นประเทศในเครือจักรภพ ทั้งนี้โครงสร้างประชากรของเกาะเป็นเมลานีเซียน ซึ่งไม่ใช่ชาวชวา หรือโมลุกกะ หรืออาเจะห์ แบบหมู่เกาะอื่นในอินโดนีเซีย ด้วยเหตุนี้ ทำให้ชาวปาปัวที่อยู่ฝั่งอินโดนีเซียเคลื่อนไหวตั้งกองกำลังติดอาวุธอยากแยกออกจากอินโดนีเซีย ทั้งนี้กองทัพอินโดนีเซียก็ไม่สามารถปราบได้เบ็ดเสร็จ เพราะขบวนการได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนบ้าน แต่ขบวนการเองก็ไม่แข็งแกร่งพอที่จะชนะรัฐบาลจาร์กาต้าได้ สุดท้ายทำให้ปัญหายืดเยื้อ
ทั้งนี้ปัญหาของเกาะปาปัว ถูกทำให้เหมือนเป็นความขัดแย้งภายในอยู่ในรัฐอินโดนีเซีย ซึ่งผิดกับกรณีสุลต่านซูลู ที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ แต่ต้องการแยกดินแดนและทำให้เป็นเรื่องระหว่างประเทศ ทั้งนี้ความสามารถในการกระพือข่าว สมรรถนะทางการทูตของรัฐคู่ปรปักษ์อย่างมาเลเซีย หรือฟิลิปปินส์ ได้เกิดความอิหลักอิเหลื่อในการจัดการ เพราะตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐมีกำลังพอ ที่จะเขย่าให้เกิดกระแสข่าว แต่เป็นกำลังระยะสั้น อย่างไรก็ตามระยะยาวอาจจะแผ่วบ้าง แต่ก็จะยังอยู่รอด โดยกรณีแบบนี้มีอยู่ทั่วไปในตะวันออกเฉียงใต้ แต่ในกรณีของสุลต่านซูลูมีความพิเศษตรงที่เป็นตัวแสดงที่ไม่ใช่รัฐ แต่เข้าไปแย่งดินแดนของรัฐต่างประเทศ ต่างจากกรณีปาปัว หรืออาเจะห์ ในอินโดนีเซีย ที่คู่ตรงข้ามยังเป็นรัฐบาลประเทศนั้นๆ อยู่