เสนอทิศทางต่อกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 190 ตั้งกรรมการอิสระตัดช่องศาลรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายลูกให้ชัด รวมการเจรจาพหุภาคีให้อยู่ใต้ 190 ด้วย
วันที่ 13 พ.ค. 2556 โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw จัดการเสวนาสาธารณะ 'การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 อย่างไรเพื่อสร้างสังคมประชาธิปไตยอย่างแท้จริง'ร่วมเสวนาโดย ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก กรรมาธิการวิสามัญ สังกัดพรรคเพื่อไทย ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กรรมาธิการวิสามัญ สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และนายจักรชัย โฉมทองดีรองประธานกลุ่มเอฟทีเอ ว็อทช์ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการเว็บไซต์ประชาไท
จักรชัย โฉมทองดี กล่าวถึงที่มาและปัญหาว่า การทำหนังสือสัญญาเป็นเรื่องที่มีผลกระทบวงกว้าง แต่กระบวนการทำไม่มีพื้นที่ให้ฝ่ายอื่นนอกจากฝ่ายบริหาร ตั้งแต่ริเริ่มจนถึงดำเนินการตามข้อผูกพัน การทำสนธิสัญญาการค้าเช่นเอฟทีเอ ไม่เคยเข้าสู่สภา และสาธารณชนไม่เคยรับรู้ เช่น กรณี ที่ทำเอฟทีเอกับออสเตรเลียเมื่อปี 2547 ซึ่งลงนามและผูกพันไปโดยที่ประชาชนไม่เคยรับรู้ จึงมีความคิดว่าควรมีกฎหมายกำหนดว่ารัฐต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม มาตรา190 จึงกำหนดให้รัฐสภาเข้ามามีส่วนร่วมในสนธิสัญญที่สำคัญ และให้ประชาชนมีส่วนได้รู้เห็นและแสดงความคิดเห็น พอเริ่มใช้จริงก็ติดขัด กฎหมายลูกที่กำหนดรายละเอียดก็ยังไม่เกิด
นอกจากนี้จักรชัย กล่าวว่า มาตรา 190 ทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น แต่ปัญหาก็มีคือ 1. เมื่อมีความคลุมเครือ ทำให้เป็นภาระกับฝ่ายสภามากเกินไป เพราะต้องส่งทุกเรื่องที่ไม่แน่ใจเข้าสภาหมด 2.ประสิทธิภาพและความไม่สะดวกของการเจรจา เพราะแทนที่จะได้เจรจาก็ต้องรอผ่านสภาก่อน เรื่องนี้ก็ต้องแก้ ส่วนตัวเห็นว่าเป็นความไม่สะดวกของฝ่ายรัฐที่ไม่คุ้นชิน เป็นวิธีคิดแบบบนลงล่าง ว่าเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่ฝ่ายอื่นไม่ควรเข้ามายุ่งเกี่ยว
ร่างฉบับของกรรมาธิการในวันนี้ กำหนดว่าการเจรจาพหุภาคีไม่ต้องผ่านสภา เพราะการเจรจาแบบพหุภาคีบางครั้งถ้าเราเข้าไปร่วมทีหลังจะไปแก้ไขสิ่งที่เจรจาไปแล้วไม่ได้ แต่ถ้าเสนอว่าไม่ให้นำการเจรจาแบบพหุภาคีเข้าสภาเลย คิดว่าอันตรายมากๆ การเจจาการค้าแบบทวิภาคีตอนนี้เราเจรจาไปหมดแล้วแทบไม่เหลือ ที่เหลืออยู่เช่น การเปิดเสรีอาเซียน เป็นพหุภาคีทั้งนั้น ถ้าการเจรจาแบบพหุภาคีไม่เข้า 190 มาตรานี้ก็ไม่มีความหมายอะไร
จักรชัยยังกล่าวว่า ในวรรคสามซึ่งกำหนดหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีก่อนการลงนามในหนังสือสัญญา มีคำที่สำคัญมากหายไปหนึ่งคำ คือ คำว่า “ให้ข้อมูล” ซึ่งในรัฐธรรมนูญปัจจุบันมีคำนี้อยู่ แต่ในร่างของกรรมาธิการคำนี้หายไป หากมีการรับฟังความคิดเห็นแต่ไม่มีการ “ให้ข้อมูล” จะมีปัญหาและเป็นการรับฟังความเห็นที่เสียเวลามาก และในกฎหมายลูกจะไปเขียนว่าข้อมูลอะไรบ้างที่ต้องให้ เช่น อะไรคือการศึกษาผลกระทบ อะไรคือกรอบการเจรจา
ความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้ประโยชน์กับเสียประโยชน์ ผมว่าไม่ควรลงรายละเอียดว่าเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่หรือรายย่อย ไม่จำเป็นต้องปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญ แค่เขียนว่าผู้ได้รับผลกระทบก็เพียงพอ แล้วรายละเอียดค่อยไปกำหนดในกฎหมายลูก
การมีตัวคณะกรรมการวินิจฉัยว่าเรื่องใดต้องให้ผ่านสภาก่อน มีข้อดีคือ อาจทำให้ความเป็นการเมืองลดลง ไม่ต้องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญทัน เพราะถ้าไปศาล ศาลมีหน้าที่ต้องวินิจฉัยว่าผิดหรือถูก ซึ่งทำให้ต้องมีคนผิด แต่คณะกรรมการวินิจฉัยอาจชี้ได้ว่าต้องไปอย่างไร เพราะมิติของสนธิสัญญามีมากกว่าเรื่องกฎหมายอย่างเดียว แต่ไม่ใช่ผิดหรือถูกเสียทีเดียว แต่อย่างไรก็ตามก็ยังต้องมีกฎหมายลูกมากำหนดกระบวนการและองค์ประกอบของกรรมการให้ชัดเจน ให้พื้นที่ใช้ดุลพินิจน้อยลง
ผศ.ดร.รัชดา ธนาดิเรก กล่าวว่า คนที่เสนอให้แก้มาตรา 190 มักมีให้เหตุผลว่าเพราะมาตราทำให้ฝ่ายบริหารดำเนินงานไม่สะดวก กลัวความลับถูกเปิดเผย ซึ่งโดยส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะก็สามารถหลีกเลี่ยงปัญหาเหล่านั้นได้โดยที่ไม่ต้องแก้ไขมาตรา 190 ในประเด็นนี้ควรดูรัฐธรรมนูญมาตรา 303(3) ด้วย ซึ่งเป็นมาตราที่กำหนดรายละเอียดที่ควรเขียนไว้ในกฎหมายลูก
ผศ.ดร.รัชดากล่าวถึงการพูดคุยในกรรมาธิการว่า ต้องเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างจริงจัง นอกจากนี้ มีการเสนอในกรรมาธิการว่า วรรคสองควรใส้คำว่า อย่างชัดแจ้ง เข้าไปหรือไม่ เพราะมีปัญหาในการตีความต้องไปตีความว่ามันต้องแค่ไหน แล้วใครต้องมาตีความ
ผศ.ดร.จารุพรรณ กุลดิลก กล่าวว่า มาตรา 190 มีปัญหาทำให้กระทรวงต่างประเทศไม่กล้าส่งนักเจรจาไปเจรจา เพราะกลัวว่าสิ่งที่เจรจาอาจไม่มีอำนาจ และเป็นการเจรจาที่ขัดรัฐธรรมนูญ ซึ่งทำให้เสียประโยชน์ เนื่องจากต้องนำทุกเรื่องที่ไม่แน่ใจว่าเข้ามาตรา 190 หรือไม่เข้าสภาหมด และฝ่ายสนธิสัญญากระทรวงต่างประเทศก็ไม่กล้าออกกฎหมายลูก เพราะกลัวกฎหมายลูกจะขัดรัฐธรรมนูญอีก
ผศ.ดร.จารุพรรณยังได้กล่าวถึงการมีคณะกรรมการวินิจฉัยกรณีที่เข้ามาตรา 190 หรือไม่ว่า กรรมาธิการกำลังคุยกันว่า ส่วนของผู้ที่จะวินิจฉัยก่อนไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ให้มีคณะกรรมการขึ้นมาวินิจฉัยชี้ขาดว่ากรณีใดถึงจะเข้ามาตรา190 บ้าง ซึ่งอาจจะซับซ้อนมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นกลไกการตรวจสอบการทำงานร่วมกันของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร รวมทั้งกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อให้การเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศเป็นไปเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างแท้จริง
มาตรา 190 ปัจจุบัน ระบุไว้ว่าการทำหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศ ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ทั้งนี้ก่อนทำหนังสือสัญญานั้น คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 190 กำลังพิจารณาเพื่อแก้ไขเนื้อหาว่าด้วยการจัดทำข้อตกลงระหว่างประเทศ การพิจารณาอยู่ในขั้นตอนสำคัญที่ต้องเร่งพิจารณาหาข้อสรุปให้เสร็จในเวลาอันใกล้