กลุ่มติดอาวุธที่เคยเป็นส่วนหนึ่งในการปฏิวัติโค่นล้มกัดดาฟีได้เข้าล้อมสำนักงานกระทรวงต่างๆ ในลิเบียมาตั้งแต่เดือน เม.ย. ได้สลายตัวไปในที่สุดเมื่อช่วงวันเสาร์ที่ผ่านมา หลังจากกระทรวงยอมทำตามข้อเรียกร้อง และมีประชาชนส่วนหนึ่งออกมาแสดงความไม่พอใจการที่กลุ่มดังกล่าวใช้กำลังอาวุธเข้าล้อมกดดันรัฐบาล
12 พ.ค. 2013 - รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของลิเบียเปิดเผยว่า กลุ่มติดอาวุธในลิเบียยกเลิกการปิดล้อมกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม หลังจากที่รัฐบาลยอมทำตามข้อเรียกร้อง
โดยก่อนหน้านี้กลุ่มติดอาวุธได้เข้าปิดล้อมอาคารกระทรวงต่างๆ ของลิเบียเพื่อกดดันให้มีการออกกฏหมายสั่งห้ามไม่ให้มีผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในสมัยอดีตผู้นำเผด็จการมุมมาร์ กัดดาฟี ยังคงอยู่ในตำแหน่งภายใต้การปกครองของรัฐบาลใหม่หลังจากการปฏิวัติ
ซาลาห์ อัล-มาร์กานี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของลิเบียเปิดเผยว่า ได้มีการปรับเปลี่ยนตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ในกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงยุติธรรม โดยให้เจ้าหน้าที่เดิมออกไป และให้คณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยรัฐบาลปัจจุบันและจากสภาสูงสุดแห่งชาติ (GNC) ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน
ผู้บัญชาการของกลุ่มติดอาวุธที่ปักหลักอยู่หน้าประตูทางเข้ากระทรวงต่างประเทศกล่าวว่า อาคารของกระทรวงการต่างประเทศมีคณะกรรมการที่แต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฏรและจากผู้นำที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มติดอาวุธเข้ามาดำรงตำแหน่งแทนเจ้าหน้าที่เก่า ทำให้กลุ่มติดอาวุธที่มาล้อมอาคารสลายตัวไปเนื่องจากข้อเรียกร้องได้รับการตอบสนอง
ผู้บัญชาการคนดังกล่าวเป็นคนของกลุ่มสภาความมั่นคงสูงสุดของลิเบีย (Supreme Security Council - SSC) ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วยอดีตนักรบฝ่ายกบฏภายใต้การสั่งการของรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของลิเบีย ซึ่งเป็นกลุ่มที่นำนักรบติดอาวุธเข้าล้อมกระทรวงต่างๆ โดยกลุ่ม SSC มีอาวุธที่ดีกว่าและมีอำนาจมากกว่าตำรวจ
อย่างไรก็ตามกลุ่มนักกิจกรรมด้านสิทธิ์ฯ และกลุ่มนักการทูตได้วิพากษ์วิจารณ์การขับไล่เจ้าหน้าที่ในสมัยอดีตผู้นำกัดดาฟีว่าเป็นการกระทำที่ตีขลุมมากเกินไปและอาจทำให้รัฐบาลลิเบียอยู่ในสภาพย่ำแย่ นอกจากนี้ยังวิจารณ์อีกว่าการไล่ออกทั้งหมดไม่เป็นธรรมกับคนที่เคยอยู่ในรัฐบาลกัดดาฟีแต่อยู่ในสภาพถูกเนรเทศและถูกใช้เป็นเครื่องมือในการโค่นล้มกัดดาฟีเมื่อราวสองปีที่ผ่านมา
โดยเมื่อวันศุกร์ (10 พ.ค.) ที่ผ่านมา มีประชาชนหลายร้อยคนออกมาเรียกร้องให้กลุ่มติดอาวุธหยุดใช้วิธีการรุนแรง นักกิจกรรมกล่าวหาว่ากลุ่มภราดรภาพมุสลิมพยายามใช้กำลังในการยึดครองอำนาจ
อย่างไรก็ตามการที่สภาผู้แทนฯ ลิเบียยอมจำนนทำให้กลุ่มติดอาวุธที่เรียกตัวเองว่าเป็นคณะปฏิวัติเสนอข้อเรียกร้องเพิ่มเติม รวมถึงการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอาลี ซีดาน ออกจากตำแหน่ง
กลุ่มเรียกร้องปกครองตนเองฝั่งตะวันออกเตรียมรับมือการถูกล้อม
จากเหตุความตึงเครียดระหว่างกลุ่มต่างๆ กับรัฐบาล เป็นการส่งสัญญาณเตือนถึงกลุ่มผู้นิยมสหพันธรัฐและฝ่ายอื่นๆ ทางภาคตะวันออกของลิเบีย ทำให้กลุ่มผู้นำในพื้นที่ดังกล่าวเตรียมรวมตัวกันเพื่อปกป้องพื้นที่อาณาเขตจากการจู่โจมที่คล้ายกัน
ตัวแทนของกลุ่มผู้นำดังกล่าวได้ออกประกาศแถลงการณ์เมื่อวันเสาร์ (11 พ.ค.) ที่ผ่านมา เปิดเผยว่า พวกเขาต้องการพลิกฟื้นสภาซิเรไนกา ซึ่งเป็นขบวนการเรียกร้องอิสระในการปกครองตนเองของฝั่งตะวันออกเพิ่มมากขึ้น
อาห์เหม็ด ซูบาอีร์ อัล-เซนุสซี ผู้นำเชิงสัญลักษณ์ของสภาซีเรไนก้ากล่าวว่าพวกเขาจะไม่ยอมให้ซีเรไนกาถูกปกครองโดยอำนาจจากกำลังอาวุธ โดยเซนุสซีเป็นญาติห่างๆ ของพระราชาอิดริสที่ถูกกัดดาฟีทำรัฐประหารโค่นล้มไปเมื่อปี 1969
ประเทศลิเบียได้รับเอกราชเมื่อปี 1951 หลังจากนั้นประมาณ 10 ปีก็ปกครองโดยระบอบสหพันธรัฐโดยแบ่งออกเป็นสามภูมิภาค แต่ในเวลาต่อมาภูมิภาคทางเหนือคือไซเรนิกา ถูกควบรวมกับกับเขตปกครองเฟซซานทางตอนใต้และทรีโปลิทันเนียทางภาคตะวันตก
ทางด้านปฏิกิริยาจากต่างชาติ สถานทูตอังกฤษประจำกรุงทรีโปลีกล่าวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. ว่าพวกเขาได้ลดจำนวนเจ้าหน้าที่สถานทูตลงครึ่งหนึ่งเนื่องจากเกรงว่าอาจเกิดการปะทะจากเหตุปิดล้อม
เรียบเรียงจาก
Deal with former rebels ends Libya siege, Aljazeera, 12-05-2013