หลังจากเริ่มมีกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ได้เกิดกระแสการตอบรับอย่างต่อเนื่องหลากหลาย ด้วยความหวังที่จะให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ หนึ่งในนั้นคือกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่ แต่ก็มีทั้งที่เชื่อมั่นและไม่มั่นใจว่าจะเกิดสันติภาพได้จริง แต่ไม่อยากให้ใครตกเป็นเหยื่ออีกแล้ว
หลังจากกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพในชายแดนใต้เริ่มขึ้นระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยและตัวแทนขบวนการบีอาร์เอ็น (BRN) ตั้งแต่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2556 ได้เกิดกระแสการตอบรับอย่างต่อเนื่องหลากหลาย ด้วยความหวังที่จะให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือกลุ่มผู้หญิงในพื้นที่
ต่อไปนี้เป็นความคิดความเห็นจากกลุ่มผู้หญิงหลากหลายอาชีพ ซึ่งมีทั้งที่เชื่อมั่นและยังไม่ค่อยเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติภาพดังกล่าวมากนัก
เสียงจากครูสตรีชายแดนใต้ :สันติภาพต้องไม่มีการสูญเสีย
ครูสาวคนหนึ่งจากโรงเรียนเทศบาล 5 ต.สะบารัง อ.เมือง จ.ปัตตานี ซึ่งไม่ประสงค์ออกนามคนหนึ่ง กล่าวว่า การเจรจาสันติภาพดังกล่าว อาจจะช่วยแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ไม่มาก เพราะปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เท่านั้น น่าจะมีกลุ่มอื่นอีกที่ยังต้องมีการเจรจาด้วย ทั้งยังไม่มีความมั่นใจสักเท่าไรกับการเจรจาครั้งนี้ว่าจะดูแลชายแดนใต้ได้มากน้อยแค่ไหนหรือจะนำซึ่งความปลอดภัยให้กับคนในพื้นที่ได้แค่ไหน
เมื่อถามถึงสันติภาพเป็นอย่างไร ครูโรงเรียนเทศบาล 5 กล่าวว่า อยากให้ช่วยเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกวันนี้เศรษฐกิจซบเซาถ้าไม่มีเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนน่าจะดีกว่านี้ อีกอย่างคนตกงานก็น่าจะน้อยลงเพราะคนต่างพื้นที่ไม่กล้าที่จะเข้ามาในพื้นที่ ทำให้สินค้าบางอย่างต้องมีการยกเลิกจากร้านค้า ทำให้ต้องขาดทุน อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าทั้งหลายก็ไม่กล้าเสี่ยงเข้ามาในพื้นที่เพราะไม่มีความมั่นใจด้านชีวิตและทรัพย์สิน
“ไม่อยากให้มีการสร้างสงครามเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการใช้อาวุธหรืออะไรก็ตาม เพราะสิ่งเหล่านี้จะนำความสูญเสียให้แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ และอยากให้ลดความรุนแรงในด้านต่างๆ แล้วหันหน้ามาพูดคุยกัน การเจรจาครั้งนี้นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ต่างฝ่ายต่างเรียนรู้ความต้องการของกันและกันที่จะนำไปสู่การยุติเหตุการณ์ได้”
น.ส.สุไรดา เจ๊ะหะ ชาวจังหวัดนราธิวาส แต่เป็นครูสอนอยู่ที่โรงเรียนบ้านตะโล๊ะใส จังหวัดสตูล เห็นว่า การเจรจาครั้งนี้ถ้ามันก่อให้เกิดสันติภาพจริงมันจะเกิดผลดีแก่คนในพื้นที่ทุกคน ความหวาดระแวงจะลดลง ถึงแม้ตนเองไม่ได้สอนอยู่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ แต่ก็รู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดที่ครูในพื้นที่ต้องประสบกับความสูญเสีย
“ในเมื่อมีการเจรจากันแล้วก็อยากให้จริงจังและนึกถึงประชาชนให้มากๆ เพราะถ้าเกิดอะไรขึ้นประชาชนจะรับไปเต็มๆ อีกทั้งเราไม่สามารถรู้ว่าใครจะได้ใครจะเสียกับผลประโยชน์ฉะนั้นควรที่จะไตร่ตรองกับการเจรจาในครั้งนี้ด้วย”
เมื่อถามถึงสันติภาพ สุไรดากล่าวว่า สิ่งที่อยากให้เกิดสันติภาพก็คือ ทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนไม่เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน เพราะที่ผ่านมาประชาชนเกิดการสูญเสียมามากพอแล้ว หยุดได้แล้วกับการกระทำที่ก่อความไม่สงบและวุ่นวายต่างๆ
“อยากเสนอให้การเจรจาครั้งนี้เป็นตัวชี้วัดว่าเหตุการณ์ก่อความไม่สงบจะยุติหรือไม่ การเจรจาครั้งนี้ใครได้ประโยชน์มากที่สุด ประชาชนที่สูญเสียจะได้รับการเยียวยาหรือไม่และใครจะรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่ผ่านๆ มาเมื่อกระบวนการสันติภาพเจรจาสำเร็จ”
เสียงของผู้หญิงภาคประชาสังคม : ขอให้ทุกคนมีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ
ดวงสุดา สร้างอำไพ เครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ เสนอให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมในการเจรจาให้มากกว่านี้ ผู้หญิงจะมีน้ำหนักการพูด จะมีคำพูดที่นุ่มนวล ฟังแล้ว รู้สึกว่าอาจจะเปลี่ยนความคิดจากการแข็งกระด้าง ถ้าเป็นผู้หญิงมีส่วนในการเจรจา อาจจะทำให้ความคิดซ๊อฟลง การตอบโต้จะอ่อนลงเพราะกระบวนการสันติภาพ ผู้หญิงก็เป็นหนึ่งที่จำเป็นในกระบวนการสันติภาพ
เมื่อถามถึงสันติภาพแบบไหนที่อยากให้เห็นและต้องการ ดวงสุดากล่าวว่า ที่อยากเห็นคือ ความเท่าเทียมกันในทุกๆ เรื่องของคนในพื้นที่ การดำรงชีวิต การประกอบทำอาชีพ เพราะ เพราะมีทุกคนต้องการความเทียมกัน ไม่ว่าจะทุกเชื่อชาติ ศาสนา อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ สันติภาพก็น่าเกิดได้ เพราะความยุติธรรมเท่านั้นที่จะสร้างสันติภาพได้ โดยเฉพาะในเรื่องของกฎหมาย การให้ความยุติธรรมในการใช้ชีวิตอยู่ อย่างมีอิสรภาพ
“ถ้าเราอยากจะได้ในเรื่องของสันติภาพในบ้านเมือง เราจะต้องเริ่มจากตัวเราก่อน เพราะเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนความของคนอื่นได้ ถ้าเราอยากได้สันติภาพ เราต้องสร้าง ถ้าเราไม่สร้างสันติภาพก็จะไม่เกิด”
ดวงสุดากล่าวว่า การเกิดสันติภาพได้นั้นเริ่มจากตัวเราก่อน แล้วจากกลุ่มแล้วเข้าสู่สังคม ถ้าเราอย่างไมเริ่มพัฒนาจากตัวเรา หรือคนรอบข้าง มันก็จะยังไม่เกิดสันติภาพ เพราะสันติภาพมันเริ่มเกิดขึ้นในครอบครัวก่อน แล้วไปสู่สังคมใหญ่
การสร้างสันติภาพมันก็เหมือนการการสอนหลักจริยธรรมในครอบครัว ว่าเราจะอยู่กันอย่างไรที่จะให้เกิดสันติภาพ ถ้าหากบางครอบครัวที่ไม่ได้สอนหลักจริยธรรม ก็เหมือนกับว่าครอบครัวนั้น อาจจะมีความรุนแรง เพราะสิ่งเหล่านี้มันจะติดตัวไปตลอด และการที่เรามองโลกในแง่ดี มันก็จะส่งผลให้กับสังคม
ฐิตารีย์ ศรีสุรัตน์ บรรณาธิการจัดการวารสารรูสมิแล ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิทยาเขตปัตตานี กล่าวว่ารัฐบาลและนักวิชาการมีความคิดเห็นที่ดี ที่มีการเจรจาเกิดขึ้นระหว่างรัฐไทยกับ BRN เพื่อระดมหาทางช่วยเหลือผู้ที่สูญเสียจากเหตุการณ์ก่อความไม่สงบ ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งผู้ที่เป็นเหยื่อไม่ว่าจะเป็น ทหาร ครู เด็ก ผู้หญิง รวมทั้งรัฐยังต้องหางบประมาณมาเยียวยาส่วนนี้อีก
ฐิตารีย์สะท้อนว่า เด็กที่เรียนอยู่ มอ. ปัตตานี ที่อยู่ต่างพื้นที่รู้สึกว่าตัวเองไม่ปลอดภัยไม่เหมือนในอดีต เมื่อก่อนตั้งแต่ตี 5 จะมีประชาชนมาออกกำลังกายใน ม.อ. แต่เดี่ยวนี้แม้แต่จะออกกำลังกายช่วงประมาณตี 5 ประชาชนก็ไม่กล้าแล้ว กลัวจะตกเป็นเหยื่อ
“ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าคนที่ลอบยิงผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เขาเอาวัตถุประสงค์หลักอะไรมายิงมนุษย์ด้วยกัน ยิงแม้กระทั้งเด็ก จนมีความรู้สึกว่าเขาไม่มีจุดยืนเป็นของตัวเอง”
จะสังเกตว่าการศึกษาในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่มีเลยที่มันจะบั่นทอนให้คนที่จะมาเรียนน้อยลง เพราะดูจากสถิติของนักศึกษาที่ต้องการมาเรียน มอ. ปัตตานียังสูงอยู่และจะมีโครงการให้เด็กต่างพื้นที่มาเรียนกัน เป็นวิธีการที่จะให้คนข้างบนทราบว่าเหตุการณ์สามจังหวัดชายแดนใต้มันไม่ได้รุนแรงอย่างที่คิดเพราะข่าวนำเสนอในรูปแบบที่รุนแรงเกินไป
บรรณาธิการจัดการวารสารรูสมิแล กล่าวอีกว่า วารสารพยายามนำเสนองานเขียนด้านบวกเกี่ยวกับบริบทวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะรู้ว่าเนื้อแท้ของสามจังหวัดชายแดนใต้เป็นอย่างไร ข่าวลือที่ออกไปมันไม่มีที่มา มันผ่านมาแล้ว มันก็ผ่านไปเลยไม่รู้สึกกลัว
ในส่วนการเจรจาเพื่อสันติภาพนั้นยังไม่รู้ว่าคนที่ไปเจราคือตัวจริงหรือเปล่า แต่ทุกท่านที่ไปเจรจาเชื่อว่าต้องมีการเตรียมตัวหรือเตรียมข้อมูลก่อนหน้านี้แล้ว อยู่ๆ จะไปเจรจามันจะเสียทั้งงบและเวลาแสดงว่าต้องมีข้อมูลไปไม่อย่างนั้นคงไม่เสียเวลาเดินทางไปมาเลเซีย ดังนั้นต้องมีการรวบรวมข้อมูลใช้เวลาพอสมควร
“เราไม่รู้ว่าที่เป็นหนังสือลายลักษณ์อักษรใครจะเป็นคนลงนามให้ยุติ แค่บอกว่าสิ้นสุดการเจรจาแต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นสุดการยิง พันธะสัญญานั้นเชื่อได้หรือเปล่าก็ไม่รู้ ถ้าการเจรจาสิ้นสุดลงก็ยังไม่เชื่อมั่นว่าเหตุการณ์เหล่านี้จะยุติลงเพราะไม่รู้ว่าใครจะเป็นผู้ลงนามยุติเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น”
ผู้หญิงในวงการสื่อชายแดนใต้ :ต้องให้สังคมรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างเท่าทัน
นวลน้อย ธรรมเสถียร จากกลุ่ม Ft Media ซึ่งเป็นกลุ่มสื่อทางเลือกในพื้นที่ กล่าวว่า สันติภาพไม่ได้หมายความว่าไม่มีความขัดแย้ง แต่เป็นความขัดแย้งที่มีกลไกลในการหาทางออกที่ไม่จำเป็นจะต้องใช้ความรุนแรงซึ่งคนจำนวนมากไม่อยากใช้ความรุนแรง มันจะต้องมีอะไรสักอย่างหนึ่งที่ทำให้คนหันไปใช้ความรุนแรง การใช้ความรุนแรงกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องทีจะทำกันง่ายๆ เพราะว่าถ้าเรารักตัวเราเท่าไรเราก็ไม่อยากทำร้ายคนอื่นเท่านั้น
นวลน้อยกล่าวต่ออีกว่า เราไม่มีทางที่จะขจัดความขัดแย้งให้หมดไป แต่เราต้องสรรหากลไกในการที่จะทำให้ผู้คนสามารถที่จะต่อสู้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการได้โดยที่ไม่ต้องใช้ความรุนแรง มันจะเป็นไปได้หรือไม่ อาจไม่รู้แต่ว่าในสังคมหลายๆ สังคมเขาก็พยายามกันเพราะฉะนั้นสังคมเราก็จะต้องพยายามด้วย
ในฐานะสื่อที่ทำงานในพื้นที่ นวลน้อยกล่าวว่า ตนได้พยายามทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการหนุนเสริมสันติภาพ หนึ่งในฐานะประชาชนธรรมดาโดยทั่วไป และเป็นคนไทยที่อยู่นอกพื้นที่ทั้งยังเป็นสื่อซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก็คือติดตามข่าวสารในเรื่องของกระบวนการสันติภาพ การติดตามก็จะทำให้ได้ข้อมูลว่ากำลังทำอะไรไปถึงไหน และสังคมที่มีข้อมูลคือสังคมที่จะส่วนร่วมในการแก้ปัญหานั้น
สองในฐานะสื่อได้พยายามเผยแพร่ข้อมูลในแวดวงเท่าที่จะทำได้ ซึ่งไม่ได้ทำสื่อในกลุ่มใหญ่หรือสังกัดในช่องทางที่สามารถเผยแพร่ได้ทุกๆ วัน สิ่งที่จะทำได้ก็คือ สื่อสารกับคนใกล้ตัว สื่อสารกับคนที่รู้จักหรือสื่อสารกับคนที่ทำสื่อด้วยกันเองเพื่อให้เขารู้สึกว่าพวกเขาควรทำบทบาทอะไรอย่างไร เสนอแนะพวกเขาได้
หากต้องการที่จะเสนอเกี่ยวกับสันติภาพคิดว่าในช่วงเวลานี้สื่อเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะว่าในกระบวนการสันติภาพนี้เราไม่อยากให้การขับเคลื่อนจะต้องไปอยู่ที่คู่ความขัดแย้ง เราอยากจะให้ทุกคนที่อยู่ในสังคมเข้ามามีส่วนร่วม เพราะว่าทุกๆ คนก็ถือว่าเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียในสังคมนี้ทั้งสิ้น
“ถ้าหากว่าเราอยากจะเห็นคนจำนวนมากมีส่วนร่วม แน่นอนการสื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญมากเพราะว่าจะทำให้คนส่วนมากมีส่วนร่วมได้อย่างไร อย่างแรกพวกเขาต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารพอๆ กันและพวกเขาต้องรู้ว่ากระบวนการต้องเดินหน้าไปถึงไหน”
นวลน้อยกล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนทั่วไปต้องรู้ทันสถานการณ์ ต้องรู้ทั้งสองฝั่ง สามารถที่จะแสดงความเห็นกับสิ่งที่กำลังดำเนินไป ขณะเดียวกันก็สามารถที่จะให้ความเห็นของตัวเองส่งไปถึงคู่ขัดแย้งได้ แล้วทำให้มีกระบวนการที่ประชาชนจำนวนมากสามารถเข้าร่วมได้ซึ่งต้องเป็นเวทีที่สื่อเป็นคนเปิดพื้นที่ให้ เพราะว่าไม่มีทางที่ให้จะประชาชนจำนวนมากมานั่งประชุมด้วยกันได้ในทุกๆ วันและก็นั่งพูดนั่งฟังด้วยกันในทุกๆ เรื่องได้
ผู้หญิงเครือข่ายชาวพุทธ :ยืนยันสนับสนุนกระบวนการสันติภาพ ขอที่ยืนให้คนส่วนน้อย
ลม้าย มานะการ ตัวแทนเครือข่ายชาวพุทธจังหวัดปัตตานี เป็นองค์กรประชาชนที่ได้ออกแถลงการณ์ประณามการกระทำที่โหดเหี้ยมของผู้ก่อเหตุ และยืนยันสนับสนุนการเจรจาสันติภาพที่กำลังดำเนินการอยู่ การออกแถลงการณ์เพราะคิดว่าชาวพุทธในพื้นที่เป็นเป้าหมายหลักของการก่อเหตุมานานแล้ว แต่ช่วงก่อนหน้านี้ไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน
เหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นที่มีผู้เสียชีวิต 6 คนส่งผลสะเทือนโดยเฉพาะกับคนพุทธในพื้นที่ แต่ไม่มีความปรารถนาที่จะย้ายออกนอกพื้นที่ ซึ่งทุกวันนี้ทางเครือข่ายได้ออกเยี่ยมเยียนคนพุทธที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ โดยสะท้อนว่าบ่อยครั้งที่คนพุทธจะวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและเหมารวมว่าคนมุสลิมเป็นผู้ก่อเหตุ
ลม้าย กล่าวว่า คนพุทธรู้สึกดีต่อการเจรจาสันติภาพ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2556 จากที่มีการเจรจาสันติภาพที่ ฮาซัน ตอยยิบ ได้ออกมากล่าวถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อ และมีการพูดถึงชาวสยาม และชาวจีน รู้สึกดีที่เขาพูดอย่างนั้น เป็นการให้ความสำคัญกับชาวพุทธ ชาวจีนและยอมรับในการเป็นพลเมืองของที่นี่