ชาวมาเลเซียใน กทม. แต่งดำ-นัดประท้วงเงียบผลการเลือกตั้ง และเพื่อสนับสนุนการชุมนุมหลังการเลือกตั้ง ที่จัดโดยพรรคฝ่ายค้านซึ่งเสาร์นี้เตรียมปราศรัยใหญ่ถึงเกาะปีนัง ด้าน "หลิม กิต เสียง"ปฏิเสธพาดหัวข่าว นสพ.จีนในมาเลเซีย "Sin Chew Daily"ที่ระบุว่าจะสนับสนุนพรรค DAP เข้าร่วมรัฐบาล แนะสื่อมวลชนพาดหัวข่าวไม่ระวังจะสร้างความเข้าใจผิด
"แต่งดำ-ประท้วงเงียบ"ที่กรุงเทพมหานคร
เมื่อค่ำวานนี้ (10 พ.ค.) ชาวมาเลเซียในกรุงเทพมหานคร ได้รวมตัวที่หน้าห้าง Asiatique The Riverfront ถ.เจริญกรุง เพื่อร่วมกิจกรรม"Blackout Day"เรียกร้องให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรมในมาเลเซีย และปฏิเสธการเลือกตั้งทั่วไป 5 พ.ค. 56 ที่พวกเขาเห็นว่ามีการทุจริตและไม่มีความยุติธรรม ซึ่งในรอบสัปดาห์นี้ กิจกรรมรวมตัวเช่นนี้เกิดขึ้นหลายเมืองทั่วโลกที่ชาวมาเลเซียพำนักอาศัย เช่น ที่ออสเตรเลีย ไต้หวัน และสิงคโปร์ ฯลฯ เพื่อแสดงการสนับสนุนการชุมนุมในมาเลเซีย
ทั้งนี้ระหว่างที่จัดกิจกรรม มีชาวมาเลเซียกลุ่มอื่นๆ รวมทั้งชาวไต้หวัน ได้เข้ามาทักทายผู้จัดกิจกรรมประท้วงเงียบดังกล่าว รวมทั้งขอถ่ายรูปด้วย โดยในระหว่างที่มีการจัดกิจกรรม ได้มีการเดินไปรอบๆ พื้นที่ห้าง ซึ่งภายในห้าง ยังมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวประเทศมาเลเซีย โดยการท่องเที่ยวมาเลเซียด้วย โดยกลุ่มผู้จัดกิจกรรมประท้วงเงียบได้เดินไปอยู่ด้านหลังของบริเวณจัดงาน และยืนชูป้ายด้วยอาการสงบ อย่างไรก็ตามมีชาวมาเลเซียซึ่งเป็นผู้จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มาขอร้องให้ไปจัดกิจกรรมในพื้นที่อื่น ทำให้ผู้จัดกิจกรรมประท้วงเงียบคนหนึ่งกล่าวว่า ที่มาชุมนุมก็เพื่อเชิญชวนคนให้ไปเที่ยวประเทศมาเลเซียที่มีความยุติธรรม และมีการเลือกตั้งที่สะอาดเช่นกัน
โดยกิจกรรมประท้วงเงียบ "Blackout Day"นี้ดำเนินไปเป็นเวลาประมาณ 40 นาที ผู้เข้าร่วมกิจกรรมก็แยกย้ายกลับโดยไม่มีเหตุการณ์กระทบกระทั่งใดๆ
'นาตาชา ลี'ชาวมาเลเซียซึ่งพำนักอยู่ใน กทม. หนึ่งในผู้ร่วมการประท้วงเงียบครั้งนี้ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่า ที่มาเข้าร่วมก็เพื่อสนับสนุนการเลือกตั้งที่เสรีและยุติธรรม และเพื่อประท้วงการเลือกตั้งที่เพิ่งจัดขึ้น ซึ่งพวกเรารู้สึกว่าไม่ได้เป็นไปอย่างเสรีและยุติธรรม ส่วนที่จัดกิจกรรมที่นี่เนื่องจากเป็นแหล่งที่ท่องเที่ยวยอดนิยม หวังว่าจะมีคนจำนวนมากได้เห็นกิจกรรมนี้ และกิจกรรมนี้ก็เป็นไปเพื่อสนับสนุนการชุมนุมที่เพิ่งจัดขึ้นที่สนามกีฬา Kelena Jaya ที่รัฐสลังงอร์ ในมาเลเซีย
โดยพรรคฝ่ายค้านในมาเลเซียได้จัดชุมนุมหลังการเลือกตั้งเมื่อ 8 พ.ค. ที่สนามกีฬา Kelana Jaya รัฐสลังงอร์ ชานกรุงกัวลาลัมเปอร์ (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)โดยมาเลเซียกินี รายงานว่ามีผู้เข้าร่วมเรือนแสน และในวันพรุ่งนี้ 11 พ.ค. จะมีการชุมนุมที่สนามกีฬา Bukit Kawan รัฐปีนัง
ทั้งนี้ มาเลเซียจัดการเลือกตั้งทั่วไปครั้งที่ 13 เมื่อ 5 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยผลการเลือกตั้ง "แนวร่วมแห่งชาติ" (Barisan Nasional/BN) ยังคงชนะการเลือกตั้งโดยได้ที่นั่ง ส.ส. 133 ที่นั่ง ขณะที่พรรคฝ่ายค้าน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat/PR) ได้ที่นั่งเพิ่มขึ้นอีก 7 ที่นั่ง เป็น 89 ที่นั่ง ท่ามกลางรายงานข่าวความไม่ชอบมาพากลของพรรครัฐบาลในช่วงจัดการเลือกตั้ง เช่น การซื้อเสียง การให้แรงงานต่างชาติสวมสิทธิเลือกตั้ง คะแนนผีจากการขนคนมาลงคะแนน ไฟดับระหว่างที่มีการนับคะแนนในบางหน่วยเลือกตั้ง
ขณะที่เมื่อพิจารณาคะแนนรวมแบบไม่เป็นทางการ พบว่ามีผู้ลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านรวม 5.62 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 50.87 และผู้ลงคะแนนให้พรรครัฐบาล 5.23 ล้านคะแนน หรือร้อยละ 47.38 ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ตั้งประเทศมาเลเซียในปี พ.ศ. 2510 ที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้พรรคฝ่ายค้านมากกว่าลงคะแนนให้กับพรรครัฐบาล อย่างไรก็ตามแม้ฝ่ายค้านจะได้คะแนนรวมมากกว่า แต่จะไม่มีผลอะไรสำหรับการตั้งรัฐบาล เพราะระบบการเลือกตั้งมาเลเซียเป็นแบบแบ่งเขต
หลิม กิต เสียง ชี้แจง หลังมีข่าวว่าเสนอให้ "DAP"ร่วมรัฐบาล ชี้มาจากพาดหัวข่าวที่สรุปข่าวผิด
นอกจากนี้ วันนี้ หลิม กิต เสียง ผู้นำอาวุโส และที่ปรึกษาพรรคกิจประชาธิปไตย (Democratic Action Party - DAP) หนึ่งในพรรคฝ่ายค้านใน "ภาคีประชาชน" (Pakatan Rakyat - PR) ได้โพสต์แสดงความเห็นในบล็อกของเขาด้วย โดยเป็นการปฏิเสธพาดหัวข่าวในหนังสือพิมพ์จีนในมาเลเซีย "Sin Chew Jit Poh" (星洲日報) หรือ "Sin Chew Daily"ที่พาดหัวข่าวว่า "หลิม กิต เสียง: สามารถร่วมรัฐบาลกับแนวร่วมแห่งชาติ"และตามมาด้วยพาดหัวข่าวรองซึ่งใช้ขนาดตัวหนังสือเล็กกว่ามาก เขียนกว่า "เงื่อนไขก็คือ ต้องยอมรับคำประกาศในการเลือกตั้งของพรรคฝ่ายค้าน 'ภาคีประชาชน'"
โดยเขาชี้แจงว่าการนำเสนอข่าวเช่นนี้ของ "Sin Chew Jit Poh"จะทำให้คนที่อ่านที่อ่านแต่พาดหัวแรก และไม่ได้อ่านแม้แต่พาดหัวที่สองเข้าใจไปว่าตัวเขาสนับสนุนแนวคิดที่จะให้พรรคกิจประชาธิปไตย "DAP"เข้าร่วมกับพรรครัฐบาล "BN"แทนที่พรรคสมาคมชาวจีนมาเลเซีย "MCA"
ซึ่งพาดหัวนี้ "หลิม กิต เสียง"ได้ชี้แจงว่า สิ่งนี้ควรจะเป็นบทเรียนอันล้ำค่าให้กับ Sin Chew Jit Poh และผู้ช่วยบรรณาธิการที่ดูเรื่องพาดหัวข่าว ให้มีการระมัดระวัง และแน่ใจว่าพาดหัวแรกจะไม่นำไปสู่การสรุปเนื้อหาข่าวที่ผิดและสร้างความเข้าใจผิด ทั้งนี้เพราะพวกเขาก็ไม่แน่ใจหรอกว่าคนอ่านจะอ่านเนื้อข่าวทั้งหมด หรือแม้แต่จะอ่านพาดหัวรอง โดยหลิม กิต เสียงแนะนำด้วยว่า เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการเข้าใจผิด พาดหัวข่าวดังกล่าวควรจะเป็นพาดหัวแถวที่หนึ่งทั้งหมด และไม่ควรแยกเป็นพาดหัวแถวหนึ่ง และพาดหัวแถวสอง อย่างที่นำเสนอในข่าว
ทั้งนี้ KiniTV ได้รายงานการชี้แจงของหลิม กิต เสียงด้วย (ข่าวที่เกี่ยวข้อง)