Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ยื่นศาลฎีกา ประกัน ‘สมยศ’ 3 องค์กรต่างประเทศแถลงไม่ให้ประกันขัดกติการะหว่างประเทศ

$
0
0

 

เมื่อวันที่ 7 พ.ค.56 ที่ผ่านมา  นายวสันต์ พานิช ทนายความของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ผู้ต้องขังคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามมาตรา 112 ได้ยื่นฎีกาเพื่อขอปล่อยชั่วคราวนายสมยศอีกครั้ง หลังถูกควบคุมตัวมาเป็นเวลา 2 ปี 1 เดือน นับแต่วันจับกุม และยื่นประกันตัวแล้ว 12 ครั้ง ล่าสุด ศาลอุทธรณ์ได้ปฏิเสธการปล่อยชั่วคราว เมื่อวันที่ 3 เม.ย.56 โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยถึง 10 ปี หากปล่อยชั่วคราวไป ไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง”

สำหรับคำร้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ระบุเหตุผลในการขอปล่อยชั่วคราวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 40 (2) รับรองสิทธิในการรับทราบเหตุผลประกอบคำสั่ง คำวินิจฉัย คำพิพากษาแต่คำสั่งของศาลอุทธรณ์ไม่ได้โต้แย้งเหตุผลที่จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคำพิพากษานั้นขัดรัฐธรรมนูญ จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี รวมทั้งมีโรคประจำตัว ย่อมถือได้ว่าศาลอุทธรณ์มิได้มีคำสั่งที่แสดงเหตุผลตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ แต่กลับอ้างเหตุผลอื่นๆ คำสั่งศาลอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

ในคำร้องยังระบุด้วยว่า นอกจากนี้คำสั่งศาลอุทธรณ์ยังไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (5) ซึ่งบัญญัติให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไปตามข้อเท็จจริงซึ่งพิจารณาได้ความ ซึ่งศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยอ้างเหตุผลว่า คดีนี้พฤติการณ์แห่งคดีกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งเหตุผลดังกล่าวมิได้มีการพิจารณาหรือว่ากล่าวกันในชั้นศาลอาญาหรือศาลอุทธรณ์แต่อย่างใด หากน่าเกิดขึ้นจากแนวคิดหรือการคาดการณ์ของศาลอุทธรณ์เอง ซึ่งไม่เป็นธรรมแก่จำเลยอย่างยิ่ง  เสมือนหนึ่งศาลอุทธรณ์เป็นผู้กำหนดเองว่า คดีใดมีผลกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากคดีจำนวนมากที่มีผลกระทบความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น คดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสังหารประชาชน แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประหารและจำคุกตลอดชีวิตบรรดาเจ้าหน้าที่ แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังให้ประกันตัว (คดีหมายเลขดำที่ อ.3252/2552 และหมายเลขแดงที่ อ.2600/2555)

“การกระทำของจำเลยหากศาลพิจารณาและพิพากษาแล้ว คดีของจำเลยย่อมต่างจากคดีอาญาโดยทั่วไป เพราะจำเลยมิได้มีเถยจิตเป็นโจรหรืออาชญากรทางอาญาแต่อย่างใด ในนานาอารยะประเทศย่อมถือได้ว่าจำเลยเป็นนักโทษทางความคิดเท่านั้น จำเลยจึงสมควรได้รับอิสรภาพโดยการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการพิจารณาของชั้นอุทธรณ์ต่อไป” คำร้องระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการยื่นคำร้องเพื่อขอประกันตัวต่อศาลฎีกาในครั้งนี้ ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงจากองค์กรระหว่างประเทศ 3 แห่งที่ร่วมกันนำเสนอข้อคิดเห็นในกรณีการยื่นประกันตัวของสมยศด้วย โดยองค์กรดังกล่าวได้แก่ สหพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน (FIDH)  เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม (MLDI) และเครือข่ายนักกฎมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (MD-SEA)

โดยสรุปคำแถลงดังกล่าวระบุถึง คำสั่งของศาลที่ไม่อนุญาตให้สมยศได้รับการประกันระหว่างต่อสู้คดี ซึ่งขัดต่อกติการะหว่างประเทศที่ไทยเข้าเป็นภาคี โดยเฉพาะที่เกี่ยวพันกับด้านสิทธิมนุษยชน โดยเหตุผลที่ศาลใช้อ้างเกี่ยวกับ “ความร้ายแรงของความผิด” และ “ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน” ไม่ควรถูกนำใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว และคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (กติการะหว่างประเทศ) ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ

“FIDH MLDI และ MD-SEA จึงขอแถลงว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อการขอประกันตัวของคุณสมยศนั้น เป็นคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวและการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งผูกพันประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลได้ละเลยที่จะทบทวนพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลเป็นสำคัญในอันที่จะพิจารณาถึงมาตรการอื่นแทนการควบคุมตัว อีกทั้งศาลยังอาศัยการคาดเดาและเหตุที่คลุมเครือมาใช้เป็นฐานแห่งการควบคุมตัว ท้ายสุดนี้ เมื่อได้พิจารณาจากความเห็นที่ให้ไว้โดยบรรดาหน่วยงานแห่งสหประชาชาติแล้ว องค์กรร่วมลงนามเชื่อว่าการควบคุมตัวคุณสมยศนั้นเป็นไปโดยอำเภอใจ จึงร้องขอให้ศาลฎีกาของประเทศไทยทบทวนคำสั่งการประกันตัวของศาลอุทธรณ์โดยอาศัยหลักการที่กล่าวไว้ในคำแถลงนี้มาพิจารณาประกอบด้วย” คำแถลงระบุ

ทั้งนี้ นายสมยศถูกจับกุมตัวเมื่อวันที่ 30 เม.ย.54 ที่ด่านอรัญประเทศขณะนำลูกทัวร์เดินทางไปประเทศกัมพูชา หลังถูกจับกุมตัวนายสมยศถูกนำไปฝากขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ  เขาถูกฟ้องในฐานะบรรณาธิการนิตยสารวอยซ์ออฟทักษิณ (Voice of Thaksin) ซึ่งตีพิมพ์บทความ 2 ชิ้น อันอาจมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112  ต่อมาวันที่ 23 มกราคม 2556 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเขา 10 ปี รวมกับคดีหมิ่นประมาทพล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตรอีก 1 ปี รวม 11 ปี  

(รายละเอียดคดีและบันทึกสังเกตการณ์คดี อ่านได้ที่

 

อ่านรายละเอียดด้านล่าง

==========================================

 

ยื่นต่อศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทย

สังเกตการณ์โดยสหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม

และเครือข่ายนักกฎหมายแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

3 พฤษภาคม 2556

ซูเฮร์ย เบลฮัซเซน

ประธาน สหพันธ์ระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

 

ปีเตอร์ นูแลนเดอร์

ผู้บริหารสูงสุด เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม

 

เอช. อาร์. ดิเพ็นดร้า

ผู้อานวยการ เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

1. บทนำ
สหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม และเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขอยื่นคำแถลงต่อศาลฎีกาแห่งราชอาณาจักรไทยเพื่อเน้นย้ำถึงพันธกรณีของประเทศไทยภายใต้กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวก่อนการพิจารณา ข้อสังเกตการณ์ที่ยื่นแถลงต่อศาลนี้เพื่อช่วยในการพิเคราะห์ฎีกาของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งถูกศาลปฏิเสธการขอประกันตัวและการลงโทษจาคุก 10 ปีสำหรับความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ของประเทศไทย อย่างไรก็ดี ก่อนที่จะบรรยายถึงมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ องค์กรร่วมลงนามขอกล่าวโดยสรุปเกี่ยวกับพันธกิจและความสนใจของแต่ละองค์กรในการเสนอความคิดเห็นนี้ต่อศาล

 

2. องค์กรร่วมลงนามและความสนใจ
สหพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อสิทธิมนุษยชน (FIDH) FIDH ก่อตั้งขึ้นเมือปี 1992 และเป็นหนึ่งในองค์กรสิทธิมนุษยชนที่เก่าแก่ที่สุดของโลก FIDH ได้ส่งเสริมการเคารพสิทธิตามที่ระบุในปฏิญญาสากลว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน (ปฏิญญาสากล) มานานกว่า 90 ปี และได้ชักนำองค์กรอื่นๆ อีก 164 องค์กรจาก 100 ประเทศเข้ามาร่วมด้วย FIDH ได้ดำรงตนในฐานะผู้ให้คำแนะนำต่อสหประชาชาติ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ สภายุโรป และยังให้คำแนะนำหรือให้การอย่างเป็นประจำต่อสภายุโรปและรัฐสภาแห่งสหรัฐอเมริกา FIDH มีสานักงานใหญ่อยู่ที่กรุงปารีส และมีสำนักงานภูมิภาคอีกหลายแห่ง FIDH ถือเป็นแนวหน้าด้านการว่าความทางด้านสิทธิมนุษยชน โดยที่ผ่านมาได้ว่าความหรือร้องเข้าไปในคดีต่อศาลในประเทศฝรั่งเศส ประเทศเยอรมัน ประเทศเบลเยียม สหรัฐอเมริกา ประเทศโคลัมเบีย และต่อศาลระดับภูมิภาค อาทิ ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งทวีปอเมริกา ศาลสิทธิมนุษยชนแห่งแอฟริกา และศาลอาญาระหว่างประเทศ

นอกจากนี้ FIDH ยังได้รวมสมาชิกไว้หลายท่านรวมถึง คุณชิริน อีบาดิ ผู้ได้รับรางวัลโนเบลด้านสันติภาพ คุณแอสมา จาฮานเกอร์ อดีตผู้เสนอรายงานพิเศษด้านเสรีภาพทางศาสนาแห่งสหประชาชาติ คุณอาร์โนลด์ ซุท์งก้า ผู้ได้รับรางวัลมาร์ติน เอนนาลส์ คุณดริส เอล ยาสะมิ ประธานสภาสิทธิมนุษยชนแห่งโมร็อกโก และคุณโอลิเวอร์ ดิ ชุทเตอร์ ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสิทธิในด้านอาหารแห่งสหประชาชาติ

เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนผู้ริเริ่ม (MLDI) MLDI ได้ทำงานทั่วโลกเพื่อปกป้องสิทธิทางกฎหมายของนักข่าวและสื่อมวลชน พันธกิจขององค์กรเป็นไปเพื่อรับรองให้บรรยากาศทางกฎหมายของสื่อมวลชนเป็นไปตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และเพื่อรับรองให้นักข่าวและสื่อมวลชนได้รับการปกป้องตามกฎหมายเมื่อใช้เสรีภาพในการแสดงออก MLDI มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงลอนดอน อีกทั้งมีเครือข่ายทางด้านสื่อมวลชนและนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนอยู่ทั่วโลก รวมทั้งในภูมิภาคอาเซียน MLDI ได้รวมบุคคลอย่าง คุณพาราม คัมมาราซวามมี่ ซึ่งเป็นอดีตผู้เสนอรายงานพิเศษด้านความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและนักกฎหมายแห่งสหประชาชาติ คุณฮินา จินาลิ ผู้แทนพิเศษด้านนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนแห่งเลขาธิการสหประชาชาติ คุณมากาเร็ต เซแก็กยา ผู้เสนอรายงานพิเศษด้านสถานการณ์ของนักต่อสู้สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ และคุณโซลี โซรับจี อดีตอัยการสูงสุดของประเทศอินเดีย ไว้ในเหล่าผู้ให้การอุปถัมภ์ นอกจากนี้ MLDI ยังได้รับคำแนะนาจากคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างประเทศอันประกอบไปด้วยนักข่าวที่โดดเด่นและนักกฎหมายจากทั่วโลก

เครือข่ายนักกฎหมายสื่อสารมวลชนแห่งเอเชียตะวันออกเฉียใต้ (MD-SEA) MD-SEA เป็นองค์กรเอกชนระดับภูมิภาค ประกอบไปด้วยนักกฎหมาย นักข่าว และนักกิจกรรมด้านสื่อจากทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้รวมถึงนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮ่อง มหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยมาลายา มหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงคโปร์ MD-SEA ให้ความสนใจต่อการปกป้องและส่งเสริมเสรีภาพในการแสดงออกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายแก่นักข่าวและองค์กรสื่อ ช่วยสนับสนุนในการจัดฝึกอบรมกฎหมายด้านสื่อ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิธีการว่าความ และยุทธศาสตร์แก่นักกฎหมายที่ทางานคดีด้านเสรีภาพของสื่อ บรรดาสมาชิกของ MD-SEA นั้นรวมถึง รองศาสตราจารย์ดอรีน เวย์เซ็นฮอส จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง ศาสตราจารย์แฮรี่ ร็อคเก้ จากมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ และศาสตราจารย์แจ็ค ลี จากมหาวิทยาลัยการจัดการแห่งสิงค์โปร์ ความสนในของ FIDH MLDI และ MD-SEA ในการยื่นคาแถลงครั้งนี้

องค์กรร่วมลงนามนั้นต้องการแน่ใจว่า การจำกัดเสรีภาพการแสดงออกนั้นเป็นไปโดยสอดคล้องกับกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กล่าวคือ การจำกัดเสรีภาพนั้นจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกฎหมายบัญญัติไว้ โดยกฎหมายนั้นจะต้องชัดเจน มีการบังคับใช้ที่สามารถคาดการณ์ได้ และเป็นไปเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ชอบด้วยกฎหมาย หากกล่าวโดยเจาะจงแล้ว กฎหมายควรกำหนดเฉพาะแต่ข้อจำกัดที่ได้สัดส่วนและเท่าที่จำเป็นอย่างเคร่งครัดต่อสังคมประชาธิปไตยเท่านั้น

ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น รัฐสามารถกำหนดข้อจำกัดต่อการปราศรัยทางการเมืองเป็นกฎหมายอาญาได้เฉพาะในกรณีที่ถึงขนาดเท่านั้น และเมื่อรัฐตัดสินใจที่จะทำเช่นว่านั้นแล้ว สารบัญญัติและวิธีสบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวต้องได้รับการตีความโดยเคร่งครัด หากมีข้อสงสัยประการใด ควรยกประโยชน์แห่งข้อสงสัยนั้นให้จำเลย ทั้งนี้เป็นไปตาม lenity doctrine (in dubio pro reo) ที่ว่าการตีความบทบัญญัติที่คลุมเครือของศาลควรเป็นไปเพื่อประโยชน์ของจำเลย บทบัญญัติหรือกฎหมายที่คลุมเครือดังกล่าวควรอนุมานไปในทางที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่จำเลย

เมื่อปรากฏว่าข้อจำกัดต่อเสรีภาพการแสดงออกภายใต้กฎหมายอาญาเป็นเหตุแห่งการลิดรอนสิทธิในเสรีภาพด้วยแล้ว องค์กรร่วมลงนามจึงต้องการที่จะมั่นใจว่าการจำกัดเสรีภาพดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ

องค์กรร่วมลงนามมีความกังวลว่า คำสั่งต่อการประกันตัวล่าสุดในคดีคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขนั้นเป็นไป

โดยไม่สอดคล้องกับกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่บังคับใช้กับประเทศไทย การยื่นคำแถลงครั้งนี้เป็นไปเพื่อแจ้งต่อศาลถึงมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ด้วยความหวังที่ว่าศาลจะนำมาตรฐานดังที่จะกล่าวมาพิเคราะห์สำหรับคดีนี้ในคราวต่อไป

 

3. ความเป็นมาและประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

คุณสมยศ พฤกษาเกษมสุขถูกควบคุมตัวมาเป็นระยะเวลากว่า 2 ปีแล้ว โดยเริ่มถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 และเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2556 คุณสมยศถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่ากระทาความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ สองกรรม โดยการตีพิมพ์บทความสองชิ้นลงในนิตยาสาร Voice of Taksin ในปี 2550 วันที่ 1 เมษายน 2556 คุณสมยศยื่นอุทธรณ์คาตัดสินของศาลชั้นต้นและในวันเดียวกัน คุณสมยศยังได้ยื่นคาขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 14 แต่ถูกศาลอุทธรณ์ปฏิเสธคาขอไปเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2556 ที่ผ่านมา

ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในคำสั่งไม่อนุญาตตามคำขอว่า

“พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อหาตามฟ้องเป็นความผิดอาญาร้ายแรง พฤติการณ์แห่งคดีกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน ทั้งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกถึง 10 ปี หากปล่อยชั่วคราวไปไม่น่าเชื่อว่าจะไม่หลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง แจ้งเหตุการไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวให้จำเลยทราบโดยเร็ว” (1)

FIDH MLDI และ MD-SEA ขอแถลงด้วยความเคารพว่า ศาลไทยยังมิได้พิเคราะห์คาร้องขอประกันโดยอาศัยกฎหมายภายในและกฎหมายระหว่างประเทศที่ใช้บังคับกับประเทศไทยอย่างเหมาะสม

องค์กรร่วมลงนามจึงขอเสนอต่อศาลประเด็นดังต่อไปนี้

ก. ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมดเป็นสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคาสั่งที่รับฟังได้ในการปล่อยตัวชั่วคราว

ข. การอ้างซ้ำถึง “ความร้ายแรงของความผิด” และ “ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน” ไม่ควรถูกนำใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว

ค. คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ ทั้งนี้สืบเนื่องจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (กติการะหว่างประเทศ) ว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ

 

4. คำอภิปราย

ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 (2) ด้วยเหตุนี้ เมื่อพิจารณาจากกฎหมายระหว่างประเทศ กติการะหว่างประเทศ(3)  และมาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว (4)ประเทศไทยย่อมต้องปฏิบัติตามข้อบทต่างๆ ภายใต้กติการะหว่างประเทศ อีกทั้งต้องประกันและคุ้มครองสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในนั้นด้วย

ในฐานะองค์กรของรัฐไทย การกระทำของตุลาการไทยย่อมถือว่าเป็นการกระทำของราชอาณาจักรไทยเช่นกัน ดังที่คณะกรรมการกฎหมายระหว่างประเทศได้เคยกล่าวไว้ และศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้อ้างถึงเช่นกันในความเห็นต่อกรณีข้อแตกต่างที่เกี่ยวเนื่องกับความคุ้มกันจากกระบวนการทางกฎหมายของผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนว่า:

ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ การดำเนินการขององค์กรของรัฐจะได้รับการพิจารณาเสมือนว่าเป็นการกระทำของรัฐนั้นเอง ไม่ว่าองค์กรดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ หรืออำนาจอื่นใด ไม่ว่าการปฏิบัติหน้าที่นั้นจะเป็นไปในทางระหว่างประเทศหรือในประเทศ และไม่ว่าผู้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจะดำรงอยู่ในตำแหน่งผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใต้บังคับบัญชาขององค์กรนั้น (หนังสือปีของคณะกรรมการกฎหมายระหว่างประเทศ, 2486, เล่ม 2, หน้า 193) (5)

ดังนี้ ศาลไทยจึงมีหน้าที่ผูกพันภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศในอันที่จะต้องรับรองว่า สิทธิต่างๆ ที่ระบุไว้ภายใต้กติการะหว่างประเทศจะได้รับประกันและคุ้มครองในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของตน

ข้อบทที่ 14 แห่งกติการะหว่างประเทศรับรองว่าบุคคลทุกคนที่ถูกตั้งข้อหาอาญา ย่อมได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ส่วนข้อบทที่ 9 แห่งกติการะหว่างประเทศระบุให้บุคคลทุกคน “มีสิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยของร่างกาย... บุคคลจะถูกลิดรอนเสรีภาพของตนไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามกระบวนการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”

ในส่วนของการเติมเต็มพันธกรณีภายใต้มาตรฐานระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศนั้น มาตรา 39 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ระบุให้บุคคลทุกคนซึ่งถูกตั้งข้อหาทางอาญาได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่า “มีคาพิพากษาอันถึงที่สุดว่าบุคคลใดได้กระทำความผิด” และยิ่งไปกว่านั้นก่อนที่จะมีคาพิพากษา “จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้”

นอกจากการรับรองสิทธิของผู้ต้องหาในอันที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามมาตรา 39 แล้ว มาตรา 40 แห่งรัฐธรรมนูญยังให้สิทธิผู้ต้องหาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างรอคำพิพากษาของคดี

ก.ศาลต้องพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีทั้งหมดเป็นสำคัญเพื่อให้ได้มาซึ่งคำสั่งที่รับฟังได้ในการปล่อยตัวชั่วคราว

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (คณะกรรมการ) ซึ่งมีพันธกิจในการตีความและตรวจดูกระบวนการอนุวัติการของกติการะหว่างประเทศ ได้กล่าวล่าสุดไว้ในความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 ว่า “การควบคุมตัวบุคคลใดไว้ในการคุมขังระหว่างรอการพิจารณาคดีนั้น ต้องเป็นเพียงข้อยกเว้นแทนที่จะเป็นหลัก”

เมื่อดูจากการที่คณะกรรมการอภิปรายถึงมาตรฐานของการควบคุมตัวก่อนการพิจารณา เช่น สำหรับผู้ต้องหาที่รอการพิสูจน์ความผิด เห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยก็ได้ระบุให้ความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหานั้นดำรงอยู่ตลอดกระบวนการตุลาการและกระบวนการในชั้นอุทธรณ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาอันถึงที่สุดเช่นกัน ดังนั้นสิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวและมาตรฐานต่างๆ ที่รัฐสามารถใช้ลิดรอนเสรีภาพของผู้ต้องหา (ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป) ย่อมมีอยู่ตลอดสายกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทย

ความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 ของคณะกรรมการได้วางกรอบของมาตรฐานไว้สาหรับการพิจารณาดังนี้ (6)

ในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณา [หรือก่อนมีคำพิพากษา] การทำคำสั่งต้องเกิดจากการตัดสินใจเป็นเฉพาะรายบุคคลไป ว่าการควบคุมตัวมีความพอสมควรแก่เหตุและจำเป็นแห่งพฤติการณ์หรือไม่ เช่น การควบคุมตัวเป็นไปเพื่อป้องกันการต่อสู้ ป้องกันการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือป้องกันการกระทำความผิดซ้ำอีก เหตุที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายและไม่ควรมีมาตรฐานที่คลุมเครือหรือกว้างเกินไปเช่นคำว่า “ความมั่นคงต่อสาธารณะ” การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างที่มีการพิสูจน์ความผิด] ไม่ควรเป็นบทบังคับสำหรับจำเลยที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์เป็นรายบุคคล อีกทั้งคำสั่งให้ควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างเป็นผู้บริสุทธิ์] สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้น ไม่ควรถูกกำหนดโดยอาศัยความเป็นไปได้ของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับสำหรับความผิดที่ถูกกล่าวหา หากแต่ควรคำนึงในเรื่องของความจำเป็นแทน

คณะกรรมการยังได้ชี้แจงต่อไปว่า ในคดีของบุคคลแต่ละรายนั้น ศาลควรตรวจดูว่ามีทางเลือกอื่นนอกเหนือไปจากการควบคุมตัวหรือไม่ เช่น การให้ประกันตัว การใส่ข้อมือไฟฟ้า หรือการกำหนดเงื่อนไขอย่างอื่นเพื่อให้หมดความจำเป็นที่จะควบคุมตัวสาหรับบางกรณี (7)

สุดท้ายนี้ คณะกรรมการได้กล่าวว่า จำเป็นที่จะต้องมีการทบทวนคำสั่งที่ให้ไว้เบื้องต้นเกี่ยวกับการควบคุมตัวระหว่างการพิสูจน์ความผิดอย่างสม่ำเสมอ(8)

หลังจากที่ได้มีการทำคำสั่งเบื้องต้นไปแล้วว่าการควบคุมตัวนั้นจำเป็น ควรที่จะมีการทบทวนคำสั่งเป็นช่วงๆ ว่ายังคงมีเหตุอันควรและความจำเป็นที่จะควบคุมตัวต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้เพื่อพิจารณาถึงมาตรการอื่นที่เป็นไปได้

คณะกรรมการได้รับรองไว้อีกหลายครั้งว่า การลิดรอนเสรีภาพนั้นควรเป็นเพียงข้อยกเว้นตามที่กำหนดภายใต้ข้อบทที่ 9(3) แห่งกติการะหว่างประเทศ และคณะกรรมการได้กล่าวไว้ในความเห็นทั่วไปข้อที่ 8 ว่า การควบคุมตัวผู้ต้องหานั้น “ควรเป็นเพียงข้อยกเว้นและสั้นที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”(9)นอกจากนี้ คณะกรรมการฯ ยังได้กล่าวย้ำจุดยืนดังกล่าวอย่างเป็นต่อเนื่องทั้งในความเห็น(10)และข้อสังเกตเชิงสรุป(11)

โดยในข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เจนตินา คณะกรรมการได้ย้ำว่าการควบคุมตัวนั้นควรเป็นเพียงข้อยกเว้น และได้เน้นกับศาลให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการใช้มาตรการอื่น: (12)

รัฐภาคีควรใช้มาตรการอื่นโดยไม่ชักช้าเพื่อลดจำนวนบุคคลที่ถูกควบคุมตัวก่อนการพิจารณา โดยเพิ่มการใช้มาตรการเชิงป้องกันอย่างอื่นแทน มีการให้ประกันตัวหรือการใช้ข้อมือไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น คณะกรรมการได้กล่าวย้ำว่า การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์] ไม่ควรนำมาใช้เป็นแนวปฏิบัติ หากแต่ควรใช้เป็นมาตรการยกเว้นอย่างจำเป็นเท่าที่สอดคล้องกับกระบวนการและวิถีทางตามกฎหมาย และสอดคล้องกับข้อบทที่ 9 ย่อหน้าที่ 3 แห่งกติการะหว่างประเทศ การควบคุมตัวก่อนการพิจารณาไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นบทบังคับไม่ว่าสำหรับฐานความผิดใดก็ตาม

คณะกรรมการยังได้กำหนดว่า เงื่อนไขอื่นๆ สำหรับการควบคุมตัวควรต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย (13) และแม้ว่าการจับกุมและการควบคุมตัวจะชอบด้วยกฎหมายก็ตาม การควบคุมตัวนั้นยังคงต้องมีเหตุอันควรและเป็นไปโดยเท่าที่จำเป็นต่อพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคล มิเช่นนั้นแล้ว การควบคุมตัวดังกล่าวอาจเข้าข่ายว่าเป็นการกระทำโดยอำเภอใจ คณะกรรมการได้กล่าวไว้ในคดีระหว่าง ฮิวโก้ แวน แอลเพ็น และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า: (14)

ที่มาของการร่างข้อบทที่ 9 ย่อหน้าที่ 1 รับรองว่า “การกระทาโดยอำเภอใจ” ไม่ถือว่า “ขัดต่อกฎหมาย” แต่ต้องตีความกว้างกว่านั้นเพื่อรวมองค์ประกอบแห่งความไม่เหมาะสม ความอยุติธรรม และการขาดซึ่งการคาดการณ์ได้ ทั้งนี้หมายความว่า การคุมขังระหว่างพิจารณาตามการจับกุมที่ชอบด้วยกฎหมายจะชอบด้วยกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องมีเหตุอันสมควรในทุกพฤติการณ์

กรณีจึงชัดแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มิได้นำพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลมาพิจารณาในการให้เหตุผล การที่ศาลกล่าวถึงแต่หลักทั่วไป เช่น ความร้ายแรงของความผิด โทษที่ได้รับ และ “ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน” (เหตุผลที่ไม่น่ามีบทบาทต่อการทำคำสั่งการควบคุมตัวผู้ต้องหาซึ่งจะได้กล่าวในส่วนถัดไป) และไม่พิจารณาถึงมาตรการอื่น ศาลได้ละเลยที่จะนำเอามาตรฐานที่เหมาะสมตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและกติการะหว่างประเทศมาปรับใช้

ดังนั้น ถือว่าศาลได้ทำคำสั่งออกมาโดยอำเภอใจและละเมิดพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ โดยเฉพาะในข้อบทที่ 9 และ 14 โดยการปฏิเสธคำขอประกันตัวของคุณสมยศตามเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

ข. การอ้างซ้ำถึง “ความร้ายแรงของความผิด” และ “ศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชน” ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นเหตุในการปฏิเสธการประกันตัว

องค์กรร่วมลงนามขอถือโอกาสกล่าวซ้ำคำพูดบางส่วนของคณะกรรมการว่า: (15)

เหตุที่เกี่ยวข้อง [สำหรับการควบคุมตัวผู้ต้องหา] ควรบัญญัติไว้ในกฎหมายและไม่ควรมีมาตรฐานที่คลุมเครือและกว้างเกินไปเช่นคำว่า “ความมั่นคงต่อสาธารณะ” การควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างที่มีการพิสูจน์ความผิด] ไม่ควรเป็นบทบังคับสำหรับจำเลยที่ถูกตั้งข้อหาในความผิดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์เป็นรายบุคคล อีกทั้งคำสั่งให้ควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวระหว่างเป็นผู้บริสุทธิ์] สำหรับช่วงระยะเวลาหนึ่งนั้นไม่ควรถูกกำหนดโดยอาศัยความเป็นไปได้ของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับสำหรับความผิดที่ถูกกล่าวหา หากแต่ควรคำนึงในเรื่องของความจำเป็นแทน

กล่าวโดยสั้นแล้ว ประโยคข้างต้นหมายถึง (1) ขอบเขตที่ใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาและเหตุในการปล่อยตัวโดยประกันระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาควรบัญญัติไว้ในกฎหมาย (2) ประเภทของความผิดที่จำเลยกำลังถูกดำเนินคดีไม่สามารถใช้เป็นเพียงเหตุปัจจัยเดียวในการทำคำสั่งการควบคุมตัว

ข้อพิจารณา (1): บัญญัติไว้ในกฎหมาย                        

คำกล่าวที่ว่า ขอบเขตของฐานในการทำคำสั่งเกี่ยวกับการควบคุมตัวระหว่ารอคำพิพากษาจนถึงที่สุดนั้นควรบัญญัติไว้ในกฎหมาย หมายถึง ศาลควรจำกัดการพิเคราะห์เหตุต่างๆ เท่าที่บัญญัติไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีเป็นที่ชัดแจ้งตามมาตรา 108/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของประเทศไทยว่า ศาลไทยจะปฏิเสธคาขอประกันตัวได้เมื่อมีเหตุตามที่กำหนดไว้ กล่าวคือ เสี่ยงว่าจำเลยจะหลบหนี จำเลยจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน จำเลยจะไปก่อเหตุอันตราย จำเลยมีหลักประกันไม่น่าเชื่อถือ หรือเหตุผลด้านความปลอดภัยหากการปล่อยชั่วคราวอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดี

คณะกรรมการได้แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่องไว้ในข้อสังเกตเชิงสรุป เมื่อปรากฏว่ารัฐภาคีแห่งกติการะหว่างประเทศทำการชี้แจงเกี่ยวกับการควบคุมตัวผู้ต้องหาโดยอาศัยเหตุอื่นนอกเหนือไปจากเหตุที่บัญญัติไว้อย่างมั่นคงเหมาะสมตามกฎหมาย(16)ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเห็นในข้อสังเกตเชิงสรุปที่คณะกรรมการให้ไว้ต่อประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา โดยก่อนหน้านี้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 132(d) ของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนานั้น อนุญาตให้รัฐควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยก่อนมีการพิจารณาได้ หากความผิดที่ผู้ต้องสงสัยถูกกล่าวหานั้นสามารถลงโทษได้มากกว่า 10 ปีขึ้นไป และตราบเท่าที่ศาลเห็นว่า “ลักษณะของการกระทำความผิดและผลกระทบของความผิดอาญานั้น จำเป็นต้องสั่งให้มีการควบคุมตัวเพื่อเหตุแห่งความมั่นคงต่อสาธารณะหรือทรัพย์สิน”

ถึงแม้ว่าในเมื่อเร็วๆ นี้ ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาเพิ่งประสบกับสงครามเชื้อชาติ วิกฤติทางสังคมและการเมือง เหตุการณ์ที่ว่าผู้กระทำความผิดกับเหยื่อในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ ความรุนแรงทางเพศ และอาชญากรรมสงครามอื่นๆ ต้องอยู่ร่วมในชุมชนเดียวกัน มีการข่มขู่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มีอาชญากรรมจากความเกลียดชัง และมีอาชญากรรมองค์การเกิดขึ้น แต่คณะกรรมการยังคงกล่าวว่า ศาลไม่ควรให้ความชอบธรรมต่อการใช้ความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงต่อสาธารณะมาเป็นเหตุในการปฏิเสธการให้ประกันตัวของผู้ต้องหาหรือผู้ที่กำลังถูกพิจารณาคดีสำหรับความผิดฐานอาชญากรรมสงคราม (17)คณะกรรมการแนะว่า ไม่มีสถานการณ์ใดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่จะไปถึงระดับที่เรียกว่าภัยอย่างแท้จริงต่อความสงบเรียบร้อย จนถึงขนาดจำเป็นต้องอนุญาตให้ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาปฏิเสธการปล่อยตัวชั่วคราวโดยอาศัยเหตุแห่งความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงต่อสาธารณะ อีกทั้งคณะกรรมการยังแนะว่า ประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาควรตัดเหตุแห่งความสงบเรียบร้อยออกจากฐานการพิจารณาการควบคุมตัว

ดังที่ได้กล่าวข้างต้น การอ้างถึงศีลธรรมอันดีและความรู้สึกของประชาชนมาเป็นเหตุในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวจึงเป็นปัญหาในสองแง่ ประการแรก กล่าวคือ เหตุดังกล่าวประเทศไทยไม่ได้บัญญัติไว้ภายใต้กฎหมาย ดังนั้นจึงไม่เข้าข่ายที่ว่า “ต้องบัญญัติไว้ในกฎหมาย” ประการที่สอง ถึงแม้ว่าจะมีการบัญญัติเหตุดังกล่าวไว้เป็นกฎหมายก็ตาม การใช้ถ้อยคำที่คลุมเครืออย่างเช่น “ศีลธรรมอันดี” หรือ “ความรู้สึกของประชาชน” ไม่ถือว่าเพียงพอที่จะเข้าขอบเขตตามที่คณะกรรมการได้กำหนดไว้สำหรับคำว่า “บัญญัติไว้ในกฎหมาย” เมื่อมีการลิดรอนเสรีภาพเกิดขึ้น เป็นเรื่องสำคัญมากที่หลักความมั่นคงแห่งนิติฐานะจะดำรงอยู่ และการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวต้องสามารถที่จะคาดการณ์ได้

ยิ่งไปกว่านี้ คาสั่งของศาลไม่ได้พูดถึงเหตุที่ให้ไว้ว่า การปล่อยตัวคุณสมยศจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงสาธารณะหรือทรัพย์สินอย่างไร ศาลเพียงแต่กล่าวลอยๆ ว่า การปล่อยตัวคุณสมยศอาจกระทบต่อ “ศีลธรรมอันดี” และ “ความรู้สึก” ของประชาชน อย่างไรก็ดี แม้ว่าการปล่อยตัวคุณสมยศจะก่อให้เกิดภัยอย่างแท้จริงต่อสาธารณะ การอ้างถึงความสงบเรียบร้อยก็ไม่อาจสร้างความชอบธรรมต่อการควบคุมตัวคุณสมยศได้ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาตามที่คณะกรรมได้กล่าวไว้ในช่วงภาวะสงครามของประเทศบอสเนียและเฮอร์เซโกวีนาว่า หลักดังกล่าวไม่สามารถใช้ได้ เมื่อพิเคราะห์ถึงความคลุมเครือของคำว่า “ศีลธรรมอันดี” และ“ความรู้สึก” หากมีการใช้ถ้อยคำเช่นว่า “ศีลธรรมอันดีของประชาชน” อย่างเป็นประจำแล้ว ย่อมมีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการควบคุมตัวโดยอำเภอใจได้มาก (18)

ข้อพิจารณา (2): การควบคุมตัวต้องไม่เป็นบทบังคับ

หากคำสั่งให้ควบคุมตัวผู้ต้องหาเกิดขึ้นโดยพิจารณาแต่เพียงประเภทของฐานความผิดที่จำเลยถูกตั้งข้อหาโดยไม่คำนึงถึงพฤติการณ์อย่างอื่นของแต่ละรายบุคคลด้วยแล้ว ย่อมถือว่ารัฐภาคีนั้นละเมิดพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ คณะกรรมการได้กล่าวถึงกรณีนี้ไว้อย่างชัดเจนในความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 (19)และในข้อสังเกตเชิงสรุปอีกหลายโอกาส

ยกตัวอย่างเช่น คณะกรรมการได้เคยแสดงความกังวลในข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศโบลิเวีย ด้วยเหตุว่า ไม่เคยมีการให้ประกันตัวแก่บุคคลซึ่งถูกตั้งข้อหาด้วยความผิดที่มีโทษจาคุกตั้งแต่ 2 ปีหรือมากกว่านั้น(20)และก่อนหน้านี้ คณะกรรมการยังกล่าวในข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เจนตินาว่า(21)

เมื่อการควบคุมตัวก่อนการพิจารณา [หรือการควบคุมตัวของผู้ต้องหา] ถูกกำหนดขึ้นโดยอ้างถึงระยะเวลาของโทษที่ผู้ต้องหาน่าจะได้รับหลังคำพิพากษาแทนที่จะพิจารณาถึงความจำเป็นในการนำผู้ถูกควบคุมมาปรากฏตัวต่อหน้าศาล คณะกรรมการได้เน้นย้ำว่า การกำหนดการควบคุมตัวกรณีดังกล่าวไม่ควรนามาใช้เป็นหลัก แต่ควรนำมาใช้เป็นเพียงข้อยกเว้นหากการควบคุมตัวนั้นเข้าข่ายกรณีจำเป็น เป็นไปโดยสอดคล้องกับกระบวนการและวิถีทางตามกฎหมาย และสอดคล้องกับข้อบทที่ 9(3) แห่งกติการะหว่างประเทศ

ในทำนองที่คล้ายกัน คณะกรรมการได้เคยแสดงความกังวลในข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศศรีลังกาเกี่ยวกับบทบัญญัติภายใต้พระราชบัญญัติการป้องกันการก่อการร้ายของประเทศที่ไม่อนุญาตให้ผู้ต้องหามีโอกาสโต้แย้งคำสั่งการควบคุมตัว (22)

กล่าวโดยสรุปแล้ว คณะกรรมการมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ลำพังลักษณะความผิดของข้อหาที่จำเลยถูกตั้งนั้น (หรือระยะเวลาของโทษที่จำเลยน่าจะได้รับเมื่อถูกพิพากษาว่ามีความผิด) ไม่สามารถนำมาใช้เป็นฐานของการพิจารณาการให้ประกันตัวได้ ดังนี้ คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่อ้างถึงความร้ายแรงของความผิดฐานดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ มาเป็นปัจจัยหลักในการไม่อนุญาตให้ประกันตัวจึงไม่สอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศ

ค. คำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคุณสมยศเป็นการลิดรอนเสรีภาพของบุคคลโดยอำเภอใจ อันเป็นผลมาจากการรับรองข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องการใช้สิทธิและเสรีภาพ

กระบวนการที่ได้ดำเนินต่อคุณสมยศนั้น ไม่เข้าหลักในอันที่จะกำหนดการใช้สิทธิโดยสันติวิธีให้เป็นความผิดอาญาตามที่กติการะหว่างประเทศรับรองไว้ สิทธิในอันที่จะแสดงความคิดเห็นทั่วไปได้รับการคุ้มครองภายใต้ข้อบทที่ 19 แห่งปฏิญญาสากล และข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศ คณะกรรมการได้เคยตั้งข้อสังเกตไว้ในความเห็นทั่วไปสำหรับข้อบทที่ 19 แห่งกติการะหว่างประเทศว่า “ภายใต้สถานการณ์ที่มีการปราศรัยในที่สาธารณะ เกี่ยวกับบุคคลสาธารณะในแวดวงการเมือและหน่วยงานสาธารณะ กติการะหว่างประเทศจะให้ความสำคัญเป็นอย่างมากหากการแสดงออกนั้นถูกปิดกั้น ลำพังข้อเท็จจริงที่ว่าลักษณะของการแสดงออกดังกล่าวเป็นไปในเชิงหมิ่นประมาทบุคลคลสาธารณะยังไม่เพียงพอที่จะให้ความชอบธรรมต่อการระวางโทษได้ แม้บุคคลสาธารณะที่ถูกกล่าวถึงอาจได้รับความคุ้มครองภายใต้ข้อบทแห่งกติการะหว่างประเทศเช่นกัน”(23)คณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยอำเภอใจแห่งสหประชาชาติ(24)สรุปในความเห็นต่อกรณีคุณสมยศว่า การควบคุมตัวคุณสมยศเป็นการควบคุมตัวที่เป็นไปโดยอำเภอใจและขัดต่อพันธกรณีภายใต้กติการะหว่างประเทศซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การควบคุมตัวของคุณสมยศระหว่างอุทธรณ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ว่าคุณสมยศจะต้องคาพิพากษาและลงโทษโดยศาลชั้นต้นแล้วหรือไม่ก็ตาม

 

5. บทสรุป

FIDH MLDI และ MD-SEA จึงขอแถลงว่า คำสั่งศาลอุทธรณ์ต่อการขอประกันตัวของคุณสมยศนั้น เป็นคำสั่งที่มิได้ปฏิบัติตามมาตรฐานที่จำเป็นสำหรับการควบคุมตัวและการปล่อยตัวชั่วคราวซึ่งผูกพันประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น ศาลได้ละเลยที่จะทบทวนพฤติการณ์ของแต่ละรายบุคคลเป็นสำคัญในอันที่จะพิจารณาถึงมาตรการอื่นแทนการควบคุมตัว อีกทั้งศาลยังอาศัยการคาดเดาและเหตุที่คลุมเครือมาใช้เป็นฐานแห่งการควบคุมตัว ท้ายสุดนี้ เมื่อได้พิจารณาจากความเห็นที่ให้ไว้โดยบรรดาหน่วยงานแห่งสหประชาชาติแล้ว องค์กรร่วมลงนามเชื่อว่าการควบคุมตัวคุณสมยศนั้นเป็นไปโดยอำเภอใจ ด้วยเหตุดังกล่าว FIDH MLDI และ MD-SEA จึงร้องขอให้ศาลฎีกาของประเทศไทยทบทวนคำสั่งการประกันตัวของศาลอุทธรณ์โดยอาศัยหลักการที่กล่าวไว้ในคำแถลงนี้มาพิจารณาประกอบด้วย

 

 

เชิงอรรถ

(1) ศาลอุทธรณ์แห่งราชอาณาจักรไทย, 1 เมษายน 2556, คดีแดงหมายเลขที่ อ.272/2556

(2) ประเทศไทยภาคยานุวัติกติกาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2539 ดู http://treaties.un.org/Pages/ViewDetails.aspx?src=TREATY&mtdsg_no=IV-4&chapter=4&lang=en.

(3) ข้อบทที่ 2 แห่งกติการะหว่างประเทศ: (1) รัฐภาคีแต่ละรัฐแห่งกติการะหว่างประเทศรับที่จะเคารพและประกันแก่ปัจเจกบุคคลทั้งปวงภายในดินแดนของตนและภายใต้เขตอำนาจของตนในสิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้ โดยปราศจากการแบ่งแยกใดๆ อาทิ เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมืองหรือความคิดเห็นอื่นใด เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคม ทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่นๆ (2) ในกรณีที่ยังไม่มีมาตรการทางนิติบัญญัติ หรือมาตรการอื่นใด รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะดำเนินการตามขั้นตอนที่จำเป็นตามกระบวนการทางรัฐธรรมนูญของตนและบทบัญญัติแห่งกติกานี้เพื่อให้มีมาตรการทางนิติบัญญัติหรือมาตรการอื่นใดที่อาจจำเป็นเพื่อให้สิทธิทั้งหลายที่รับรองไว้ในกติกานี้เป็นผล

(4) รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2549 (2006) [ประเทศไทย], พ.ศ. 2549 (2006), สามารถดูได้ที่: http://www.refworld.org/docid/46b326e42.html

(5) ข้อแตกต่างที่เกี่ยวเนื่องกับความคุ้มกันจากกระบวนการทางกฎหมายของผู้เสนอรายงานพิเศษแห่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน, ความเห็นทางกฎหมาย, รายงาน ICJ 2542, หน้า 87, ย่อหน้า

(6) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ร่างความเห็นทั่วไปข้อที่ 35, ข้อบทที่ 9: เสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายของบุคคล, 28 มกราคม 2556

(7) อ้างแล้ว

(8) อ้างแล้ว

(9) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 8, สิทธิในเสรีภาพและความปลอดภัยในร่างกายของบุคคล (ข้อบทที่ 9), 30 มิถุนายน 2525, ย่อหน้าที่ 3

(10) โปรดดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในคดีระหว่าง ฮิล และ ประเทศสเปน, Communication No. 526/1993, 2 เมษายน 2540, CCPR/C/59/D/526/1993, ย่อหน้าที่ 12.3; ในดคีระหว่าง W.B.E. และ ประเทศเนเธอร์แลนด์ Communication No. 432/1990, 23 ตุลาคม 2535, CCPR/C/46/432/1990, ย่อหน้าที่ 6.3

(11) ข้อสังเกตเชิงสรุปจากประเทศเอลซัลวาดอร์, 18 พฤศจิกายน 2553, CCPR/C/SLV/CO/6, ย่อหน้าที่ 15

(12) ข้อสังเกตเชิงสรุปจากประเทศอาร์เจนตินา, 31 มีนาคม 2553, CCPR/C/ARG/CP/4, ย่อหน้าที่ 16

(13) โปรดดู คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 35 , ย่อหน้าที่ 39, อ้างซ้ำ

(14) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ในคดีระหว่าง ฮิวโก้ แวน อัลเพ็น และ ประเทศเนเธอร์แลนด์, Communication No. 305/1988, 23 กรกฎาคม 2533, CCPR/C/39/D/305/1988

(15) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 35, ย่อหน้าที่ 39, อ้างซ้ำ

(16) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อเสังเกตเชิงสรุปสาหรับสาธารณรัฐเกาหลี, 27 สิงหาคม 2544, CCPR/CO/72/PRK, ย่อหน้าที่ 18; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศเซเนกัล, ๅต พฤศจิกายน 2540, CCPR/C/79/Add.82, ย่อหน้าที่ 14; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เมเนีย, 19 พฤศจิกายน 2541, CCPR/C/79/Add.100, ย่อหน้าที่ 11; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศคีร์กีซฐาน, 24 กรกฎาคม 2543, CCPR/CP/69/KGZ, ย่อหน้าที่ 9

(17) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับสาธารณรัฐเกาหลี, 27 สิงหาคม 2544, CCPR/CO/72/PRK, ย่อหน้าที่ 18; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศเซเนกัล, 19 พฤศจิกายน 2540, CCPR/C/79/Add.82, ย่อหน้าที่ 14; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศอาร์เมเนีย, 19 พฤศจิกายน 2541, CCPR/C/79/Add.100, ย่อหน้าที่ 11; ข้อสังเกตเชิงสรุปสาหรับประเทศคีร์กีซฐาน, 24 กรกฎาคม 2543, CCPR/CP/69/KGZ, ย่อหน้าที่ 9

(19) ดูอ้างอิงที่ 15 และคาบรรยายประกอบ

(20) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศโบลิเวีย, 1 พฤษภาคม 2550, CCPR/C/79/Add.74, ย่อหน้าที่ 18

(21) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศอาร์เจนตินา, 3 พฤศจิกายน 2543, CCPR/CO/70/ARG, ย่อหน้าที่ 10

(22) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ข้อสังเกตเชิงสรุปสำหรับประเทศศรีลังกา, 1 ธันวาคม 2546, CCPR/CO/79/LKA, ย่อหน้าที่ 13

(23) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ, ความเห็นทั่วไปข้อที่ 34 ‘ข้อบทที่ 19: เสรีภาพในความเห็นและการแสดงออก’, 12 กันยายน 2554, CCPR/C/GC/34, ย่อหน้าที่ 38

(24) คณะทางานด้านการควบคุมโดยอำเภอใจแห่งสหประชาชาติ, ยกความเห็นโดยคณะทางานด้านการควบคุมตัวโดยอำเภอใจในวาระที่ 64, 27-31 สิงหาคม 2555, No. 35/2012 (ประเทศไทย), 15 มิถุนายน 2555, A/HRC/WGAD/2012/35, ย่อหน้าที่ 25-28

 

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles