(10 พ.ค.56) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ 11 องค์กรพันธมิตร จัดเวทีสาธารณะเรื่อง บทเรียน 20 ปี โศกนาฎกรรมเคเดอร์: กับคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ภายในงาน มีการยืนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ จังหวัดนครปฐม และตึกถล่ม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 188 ศพ บาดเจ็บ 469 ราย เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536
รัศมี ศุภเอม อดีตคนงานเคเดอร์ ซึ่งปัจจุบันรับราชการนิติกรเทศบาล เล่าว่า ขณะเกิดเหตุ ยังเรียนอยู่นิติศาสตร์ ม.รามคำแหง ปี 2 ตอนนั้นหนีด้วยการกระโดดลงมา ส่งผลให้กระดูกสันหลังหัก ขาทั้งสองข้างขยับไม่ได้ หลังกายภาพบำบัดประมาณ 1 ปี จึงเริ่มเดินได้บ้าง ช่วงนั้นก็หยุดเรียนไปหลายปี เพราะต้องทำงานหาเลี้ยงครอบครัว ก่อนจะกลับไปเรียนอีกครั้งในปี 43
รัศมี เล่าว่า ในช่วงสิบปีแรก มีการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล แต่ค่ารถต้องหาเอง ส่วนประกันสังคม มีการจ่ายให้ปีเดียว ทั้งนี้ เธอถูกวินิจฉัยว่าพิการระดับ 4 ไม่ได้ทุพพลภาพ จึงไม่มีเงินช่วยเหลือ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เธอรับราชการ จึงมีสิทธิเบิกค่ารักษาได้ แต่ถามว่า ในรายที่ไม่ได้ทำงาน จะมีประกันสังคมหรือค่ารักษาพยาบาลจากไหน จึงอยากให้มีการดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ได้รับผลกระทบที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องด้วย
ด้านวรวิทย์ เจริญเลิศ ที่ปรึกษาสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ กล่าวว่า แม้หลังเกิดโศกนาฏกรรมเคเดอร์ จะมีการต่อสู้จนเกิดเครือข่ายในระดับภูมิภาคและสากลเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม ซึ่งได้มาบางส่วน เช่น ค่าชดเชยนอกเหนือกฎหมาย และค่าเลี้ยงดูบุตรระหว่างศึกษา เช่น กรณีเคเดอร์ โรงงานลำไยระเบิด แต่สิ่งที่ยังขาดไปคือ กฎหมายอาชญากรทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ที่จะสามารถนำตัวนายทุนที่กระทำผิดมารับโทษในประเทศ การแก้กฎหมายกองทุนเงินทดแทนโดยเฉพาะบทลงโทษผู้กระทำการละเมิดที่มีโทษหนักขึ้นเพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง การชดเชยการสูญเสียรายได้ตลอดชีวิตเพื่อความมั่นคงของครอบครัวคนงานที่เสียชีวิต ให้กองทุนเงินทดแทนมีบทบาทมากขึ้นในการทำงานเชิงป้องกัน รวมทั้งรัฐบาลต้องมีนโยบายระยะยาวในการจัดสวัสดิการเพื่อฟื้นฟูคนงานและครอบครัวผู้ถูกกระทบให้มีความมั่นคงในชีวิต
นอกจากนี้ วรวิทย์ตั้งข้อสังเกตด้วยว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้จะมีการออกกฎหมายต่างๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงาน แต่ยังมีช่องว่างระหว่างกฎหมายกับความเป็นจริงในสังคม เช่น ในสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานภายใต้กองทุนเงินทดแทน สิ่งที่ไม่ปรากฏคือ จำนวนคนที่ป่วยด้วยโรคจากการทำงานโดยเฉพาะการทำงานที่สัมผัสสารเคมี ฝุ่นฝ้าย ฝุ่นหิน ฯลฯ ปีหนึ่งๆ ไม่ถึง 50 คน บางปีไม่มีเลย ทั้งที่ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมเคมีมา 30 ปีแล้ว น่าสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่มีคนป่วยปรากฏ ซึ่งอาจเป็นเพราะคนงานไม่ทราบว่าตัวเองป่วย คนงานมีอาการเจ็บป่วยแต่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน และถูกส่งไปใช้สิทธิประกันสังคม หรือหากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจากการทำงาน แต่กลับไม่ได้รับการรับรองการเจ็บป่วยจากคณะกรรมการแพทย์ของกองทุนเงินทดแทน เป็นต้น
และแม้จะมีความพยายามในส่วนของภาคราชการเพื่อให้เกิดโครงสร้างของการทำงานเชิงป้องกัน เช่น มีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน (จป.) และคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ในโรงงาน แต่ก็ไม่ให้อำนาจที่จะเข้าไปจัดการกับความปลอดภัยในโรงงานอย่างแท้จริง โดยในส่วนของ คปอ. ยังเปิดโอกาสให้นายจ้างเข้าไปมีบทบาทและอิทธิพลสูงในการกำหนดการทำงานของคณะกรรมการฯ โดยเฉพาะโรงงานที่ไม่มีสหภาพแรงงานด้วย
วรวิทย์ กล่าวถึงการจัดตั้งสถาบันความปลอดภัย ซึ่งจะเกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.ความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานด้วยว่า ผู้ใช้แรงงานยังตั้งคำถามถึงความเป็นอิสระในการทำงานของสถาบันดังกล่าว โดยเฉพาะโครงสร้างของคณะกรรมการบริหารที่ไม่ได้มาจากการสรรหา การไม่ให้อำนาจสถาบันฯ ในการเข้าไปทำการศึกษา หาข้อมูลความไม่ปลอดภัยในการทำงานในโรงงาน ไม่มีการรับเรื่องร้องทุกข์ ซึ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ผู้ใช้แรงงาน องค์กรผู้ป่วยและผู้ได้รับผลกระทบ ควรรวมตัวกันเพื่อผลักดันให้เกิดการมีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น