8 พ.ค.56 ที่ อิมพีเรียลเวิลด์ ลาดพร้าว มีการจัดงานรำลึกครบรอบ 1 ปี การจากไปของอากง หรือนายอำพล ตั้งนพกุล ผู้ต้องขังคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 ซึ่งเสียชีวิตในเรือนจำเมื่อปีที่แล้ว โดยภายในงานมีการร่วมสนทนากับรสมาลิน ตั้งนพกุล หรือป้าอุ๊ ภรรยาของอากง และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย จ.เจตน์
รสมาลิน กล่าวถึงเหตุการณ์ความสูญเสียดังกล่าว และเรียกร้องให้มีการปล่อยนักโทษการเมือง รวมไปถึงการยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่ และการรักษาพยาบาลในเรือนจำ
“เสียงเล็กๆ ของเราอยากสะท้อนว่า ไม่อยากให้มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีก ถ้ามีการเจ็บป่วย อยากให้ดูแลนักโทษ นี่พูดถึงทั่วประเทศเลย อยากให้พาเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็ว” รสมาลินกล่าว
สมศักดิ์ กล่าวว่า การเสียชีวิตของอากงในเรือนจำเป็นเรื่องที่สะเทือนใจเขาอย่างมาก เพราะคาดหวังว่าจะได้รับการประกันตัวแต่กลับได้ข่าวการเสียชีวิต กรณีของกางเป็นกรณีที่คนไม่ว่าฝ่ายไหน มีอคติอย่างไรก็สามารถรับรู้ได้ว่าอากงถูกลากเข้ามาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่
“ผมเคยพูดเรื่องควากล้าหาญทางจริยธรรม หรือ Moral Courage ไปแล้ว ความไม่ถูกต้อง ไม่ว่าเกิดกับใครก็ตาม หรือเกิดกับฝ่ายตรงข้ามก็ตาม เราต้องมีความกล้าหาญในฐานะมนุษย์ที่จะออกมาบอกว่ามันไม่ถูก แต่คนใหญ่คนโต นักวิชาการ ผู้มีชื่อเสียงต่างๆ พากันเงียบหมด เป็นความเงียบที่เหมือนกันเลยกับกรณีการประหารจำเลยคดีสวรรคต” สมศักดิ์กล่าว
“มันเป็นความเสื่อมทางศีลธรรม แต่มันก็ตลกที่ยุคนี้เป็นยุคที่มีเสียงเรียกร้องเรื่องศีลธรรมเต็มไปหมด” เขากล่าวและอธิบายถึงนิยามคำว่าศีลธรรม คุณธรรมว่า หมายถึงบรรทัดฐานพื้นฐานที่สังคมทั้งสังคมยอมรับร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันนี้ “บางอย่าง” ที่สังคมยอมรับร่วมกันนั้นไม่มีแล้ว ไม่มีอะไรที่คนในสังคมจะแชร์ร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นหลักการหรือสถาบันใด ลักษณะเช่นนี้เป็นสังคมที่เสี่ยงต่อการนองเลือดเ
“สมัย 6 ตุลา นักศึกษาถูกฆ่า คนไม่แคร์ หรือคนสะใจก็มี แต่มันสั้นมาก แม้พวกเราอยู่ในคุกก็รับรู้อารมณ์ของสังคมได้ ผ่านไปไม่นาน คนธรรมดาก็เริ่ม guilty (รู้สึกผิด) ภายใน 2 ปี มีการนิรโทษกรรมคนก็โล่งอกกันว่าไอ้พวกนี้ได้ออกจากคุก แต่มาดูปัจจุบัน มีคนตายเป็นร้อยคน คนยังด่าเผาบ้านเผาเมือง ต่อให้คุณไม่ชอบแดงยังไง แต่ไม่สลดใจกับการที่มีคนตายมากขนาดนี้ คุณต้องถามตัวเองแล้ว” สมศักดิ์กล่าว
เขายังพูดถึงผลคำพิพากษาในคดีนี้ว่า คดีมาตรา 112 ไม่ได้ร้ายแรงเท่าฆ่าคนตาย ซึ่งเพื่อนอาจารย์ของเขาฆ่าภรรยายังได้รอลงอาญา คดีอากงมีเหตุผลมากมายที่ศาลจะสามารถใช้ดุลยพินิจหรือสามัญสำนึกลงโทษเพียงเล็กน้อย เช่น การลงโทษจำคุก 3 ปี ให้รอลงอาญา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อากงอายุมากแล้ว, พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ, ข้อความที่ส่งไปนั้นมีคนอ่านแค่คนเดียว เป็นต้น
นอกจากนี้สมศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีชัย ราชวัตร ที่คนเสื้อแดงจำนวนมากเห็นด้วยที่นายกฯ ฟ้องการ์ตูนนิสต์รายนี้ โดยกล่าวว่า เข้าใจความโกรธของคนเสื้อแดง และเป็นสิทธิของนายกฯ เต็มที่ที่จะฟ้องร้อง การเตือนหรือท้วงติงเพื่อนนั้นยากกว่าการวิพากษ์คนอื่นหรือฝ่ายตรงข้าม แต่อยากจะเตือนว่าคนเสื้อแดงไม่ควรสร้างบรรทัดฐานลักษณะนี้ เพราะไม่เช่นนั้นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามก็จะไล่ฟ้องคนเสื้อแดงได้เช่นกัน โดยส่วนตัวแล้วเห็นว่านักการเมืองควรมีความอดทนอดกลั้นต่อสิ่งเหล่านี้สูงกว่าคนอื่น
“เสื้อแดงต้องไม่ใช่สู้เพื่อคนเสื้อแดงอย่างเดียว แต่สู้เพื่อคนทุกคน” สมศักดิ์กล่าว
นอกจากนี้เขายังพูดเชื่อมโยงถึงกลุ่มสื่อวิทยุประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กวป.) ที่ปักหลักชุมนุมขับไล่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาหลายสัปดาห์และอยู่วันนี้ (8 พ.ค.) เป็นวันสุดท้ายว่า เขาติดตามฟังถ่ายทอดสดและคลิปของคนเหล่านี้มาโดยตลอดหลายวัน แม้โดยส่วนตัวจะไม่เห็นด้วยกับการใช้ถ้อยคำหยาบคาย หรือถูกใจนักเมื่อมีการเชียร์ผู้นำ แต่เมื่อฟังไปโดยตลอดก็จะเข้าใจว่าทำพวกเขาถึงคับแค้น ทนไม่ได้ และความทนไม่ได้ของเขาก็มีความชอบธรรม
สมศักดิ์ยังตอบคำถามเรื่องสถานะของศาลว่าควรมาจากการเลือกตั้งด้วยหรือไม่ ว่า ในทางเทคนิคอย่างละเอียดแล้ว ศาลต้องห่างกับประชาชนระดับหนึ่ง ไม่ใช่มาจากเลือกตั้งทั้งหมด ทุกประเทศก็ต้องแยกแบบนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายตุลาการตัดสินเอียงข้างทางการเมือง อย่างไรก็ตาม เขายังเรียกร้องให้ศาลพยายามทำความเข้าใจกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเรียกร้องในครั้งนี้ด้วย
“ผมพูดจริงๆ ว่าอยากให้บรรดาคนชั้นสูง ศาล ลองฟังคลิปทั้งหมดของ กวป. มันอาจมีถ้อยคำหยาบคายแบบบ้านๆ เยอะไปหมด แต่ถ้าผ่านตรงนั้นไป จะเห็นเนื้อหาว่าทำไมเขาคับแค้นใจ แล้วไม่มีทางออกจนต้องออกมาด่าพวกคุณ พวกคุณจะเข้าใจชาวบ้านตัวจริงๆ มากขึ้น”สมศักดิ์กล่าว