18 ก.ย. 2557 - 30 นาทีกับ ปาฐกถานิธิ เอียวศรีวงศ์ ในงานเสวนา 'ห้องเรียนประชาธิปไตย ตอนที่ 2''การล่มสลายของเผด็จการในต่างประเทศ'ที่ใต้ถุนอาคารเรียน บร.2 ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จัดโดย LLTD ทั้งนี้นิธิได้ปาฐกถาเป็นเวลา 30 นาที ก่อนที่ผู้จัดงานและวิทยากรได้ถูกเชิญตัวไปสถานีตำรวจ
นิธิเริ่มการเสวนาว่า แม้ว่าจุดมุ่งหมายของการพูดในวันนี้จะอยู่ที่อนาคตของเผด็จการ แต่เป็นไปไม่ได้เลยหากไม่มีนิยามให้ชัดเสียก่อนว่าเผด็จการหมายถึงอะไร ประเด็นแรกที่ผมฟันธงคือ เผด็จการนั้นเป็นผลผลิตจากรัฐสมัยใหม่ เพราะในรัฐโบราณมีเพียงแต่ทรราช (tyrant) เท่านั้น ซึ่งหมายถึงผู้ปกครองที่มักจะทำอะไรตามอำเภอใจ โหดร้าย โหดเหี้ยม รังแกคนมาก ทรราชนี่สามารถที่จะเป็นราชาหรือไม่ใช่ราชาก็ได้ คนเหล่านี้ผมมองว่าไม่ใช่เผด็จการด้วยเหตุผล 3 ประการ หนึ่ง ในโลกสมัยโบราณ ทรราชมีอำนาจจำกัด คือขาดระบบราชการ เครื่องมือในการสื่อสารคมนาคม ขาดกองทัพประจำการ หมายความว่า อาจจะมีกองทัพอยู่แต่เป็นเพียงกองทัพเล็กๆ ซึ่งใหญ่กว่าคนอื่น แต่คนอื่นๆ เขาก็มีกองทัพด้วย ทำให้ทรราชไม่สามารถจะผูกขาดความรุนแรงได้ ถ้าเป็นเผด็จการแล้วไม่ผูกขาดความรุนแรงเป็นไปไม่ได้ นอกจากนี้ยังขาดกลไกอีกหลายอย่าง ที่ไม่สามารถเข้าสู่รายละเอียดในการควบคุมประชาชนได้ ฉะนั้นทรราชก็ได้แต่แสดงอำนาจ "มันๆ ไป"อยู่กับคนใกล้ตัวเท่านั้น ไม่สามารถที่จะแผลงฤทธิ์ หรือแสดงความไม่ฉลาดของตนให้ปรากฏแก่สาธารณชนได้เท่าเผด็จการ
โดยสรุปก็คือการที่ขาดระบบราชการรวมศูนย์ ขาดกองทัพ ขาดอะไรก็แล้วแต่ คุณไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขวางได้ เพราะความสะพรึงกลัวนั้นเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดของเผด็จการ ทรราชนั้นไม่ว่ามันจะเลวร้ายแค่ไหนก็แล้วแต่มันไม่สามารถสร้างความสะพรึงกลัวในระดับที่กว้างขวางได้
สอง ในระบอบปกครองของทรราช ยังมีอำนาจอื่นเหลืออยู่อีกมาก เช่น อำนาจท้องถิ่น ศาสนา ขุนนาง ประเพณี และอื่นๆ อีกหลายประการ ซึ่งทรราชไม่มีกำลังพอที่จะไปปราบอำนาจเหล่านั้นได้ วิธีเดียวที่ทรราชจะอยู่ได้คือต้องมีการประนีประนอมกับอำนาจอื่นๆ เหล่านั้น เพราะฉะนั้นโดยปกติราชาธิราชทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าท่านอยากจะมีอำนาจมากแค่ไหน จะเหี้ยมโหดแค่ไหนก็ตาม มันจะมีอำนาจอื่นคอยขวางอยู่ตลอดเวลาทำให้ทรราชนั้นต้องประนีประนอมด้วย เพราะฉะนั้นเผด็จการจึงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ เพราะมันไม่มีเครื่องมือต่างๆ ที่ทำให้เกิดความสะพรึงกลัว
สาม อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ทรราชแตกต่างจากเผด็จการก็คือ ในรัฐโบราณไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาติ หรือรัฐชาติ ซึ่งนี้คือสิ่งที่สำคัญมากๆ ฉะนั้นถ้าไม่มีรัฐสมัยใหม่ ซึ่งเป็นรัฐชาติด้วย โอกาสจะเกิดเผด็จการนั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะชาติไม่ได้มีความหมายเพียงแค่ดินแดนและกลไกของรัฐเท่านั้น แม้จะยึดดินแดน ยึดกลไกของรัฐได้ นั่นไม่ได้หมายความว่าจะยึดชาติได้ เพราะชาติมีมากกว่าดินแดน และกลไกของรัฐ คือชาติมีสำนึกร่วมกันถึงอัตลักษณ์ของคนด้วย มีสำนึกของความคิดถึงอนาคตร่วมกันบางอย่าง ซึ่งรัฐเฉยๆ ไม่มี เพราะฉะนั้นเผด็จการที่แท้จริงจะต้องมีชาติอยู่ด้วย
ถ้าคุณยึดกุมได้แต่รัฐ คุณเป็นได้เพียงทรราช แต่ถ้าคุณยึดกุมชาติได้ด้วย เมื่อนั้นคุณจึงสามารถเป็นเผด็จการได้ ในขณะที่เราปฏิเสธไม่ได้ว่าความเป็นชาติของรัฐสมัยใหม่ทั้งหลายมันไม่เท่ากัน
การจะมีสำนึกความเป็นชาติร่วมกันได้ จะต้องยอมรับเสียก่อนว่า พลเมืองทุกคนเป็นเจ้าของรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ถ้ายอมรับข้อนี้ไม่ได้ นั่นหมายความว่า มีเพียงแค่รัฐที่ไร้ชาติ
สำหรับชาติไทยนั้นมีพัฒนาการความเป็นชาติที่ช้ากว่าชาติอเมริกัน ชาติฝรั่งเศส แต่เรากำลังก้าวเดินสู่ความเป็นชาติเข้าไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มมีสำนึกในความเป็นเจ้าของประเทศมากขึ้น จากแต่เดิมที่มีเพียงศูนย์กลางที่กรุงเทพ ข้าราชการ และชนชั้นนำของประเทศ ชาวนาเกษตรกรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
และด้วยเหตุนี้ ผมมองว่าการรัฐประหารที่ผ่านมาในหลายๆ ครั้งของประเทศไทย จึงเป็นเพียงแค่การยึดรัฐ ไม่สามารถยึดชาติได้ จะมีก็เพียงสองครั้งคือ รัฐประหารปี 2549 และรัฐประหารครั้งล่าสุดปี 2557 ที่มีความพยายามจะยึดชาติด้วย และเมื่อใดก็ตามที่มีความพยายามจะยึดชาติ มันไม่ง่ายเหมือนการยึดดินแดนและกลไกของรัฐ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเล็กๆ เพียงแค่มีปืน มีอำนาจ จะยึดเมื่อไรก็สามารถยึดได้ แต่กับการยึดชาตินั้นเท่ากับว่าเป็นการยึดสำนึกของคน ต้องยึดความหวัง ยึดความฝันของคนด้วย ซึ่งมันไม่ง่าย และที่ผ่านมาในปี 2549 นั้นล้มเหลว "ล้มเหลวไม่ใช่เสียของนะครับ ล้มเหลวเพราะไม่สามารถยึดชาติได้ แต่สำหรับครั้งนี้ เขาไม่ให้พูด ผมก็ไม่พูด"
อ่านบทรายงานปาฐกถาของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่นี่