Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

ผลวิจัยชี้ชิมแปนซีฆ่าพวกเดียวกัน ไม่ได้เป็นเพราะมนุษย์เข้าไปรบกวน

$
0
0

นักวิทยาศาสตร์ถกเถียงกันมาเป็นเวลานานแล้วในเรื่องที่ว่าลิงชิมแปนซีมีพฤติกรรมสังหารเพื่อนร่วมสายพันธุ์เดียวกันเองเนื่องจากมนุษย์เข้าไปรบกวน แต่ล่าสุดมีผลวิจัยจากการสำรวจนานหลายปีระบุว่า ลิงชิมแปนซีใช้ความรุนแรงต่อลิงกลุ่มอื่นโดยธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์มีอิทธิพลกับพวกมันน้อยมาก


19 ก.ย. 2557 นักวิทยาศาสตร์ 30 คน ใช้เวลาสังเกตการณ์และรวบรวมข้อมูลเป็นเวลานานหลายปี เพื่อศึกษาสังคมลิงชิมแปนซีจำนวน 18 กลุ่ม แล้วนำมาพิจารณาปรับใช้เปรียบเทียบกับมนุษย์ว่ากลุ่มสังคมแบบใดที่มีโอกาสทำให้เกิดอัตราการใช้ความรุนแรงเช่นการฆาตกรรมที่สูง และพฤติกรรมรุนแรงของกลุ่มลิงเหล่านี้ เป็นเพราะมีมนุษย์เข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือไม่

จากผลการวิจัยล่าสุดจากนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศร่วมกันศึกษาระบุว่า พฤติกรรมการสังหารเผ่าพันธุ์เดียวกันของลิงชิมแปนซีเกิดขึ้น "โดยธรรมชาติ"ไม่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปยุ่งเกี่ยวของมนุษย์

โดยก่อนหน้านี้มีการตั้งข้อสังเกตว่านอกจากมนุษย์แล้ว ลิงชิมแปนซีเป็นสัตว์จำพวกไพรเมทชนิดเดียวที่มีการยกพวกทำร้ายกันจนเกิดการสูญเสียชีวิต แต่ผู้ศึกษาด้านไพรเมทก็ตั้งข้อสันนิษฐานว่าการกระทำของมนุษย์ เช่น การเข้าไปทำลายที่อยู่อาศัย หรือการให้อาหาร ทำให้ลิงชิมแปนซีมีความก้าวร้าวรุนแรงมากขึ้น

แต่เมื่อมีการศึกษาเปรียบเทียมกลุ่มลิงชิมแปนซีหลายกลุ่ม ทั้งจากกลุ่มตัวอย่างที่ไม่มีคนเข้าไปยุ่งเกี่ยว กลุ่มตัวอย่างมีคนเข้าไปให้อาหาร กลุ่มตัวอย่างที่มีคนเข้าไปจำกัดอาณาเขตที่อยู่มัน ต่างก็พบว่ามนุษย์ส่งผลน้อยมากต่อพฤติกรรมการสังหารเผ่าพันธุ์เดียวกันของชิมแปนซี

สิ่งที่เป็นปัจจัยให้เกิดการสังหารขึ้นอยู่กับลักษณะของกลุ่มชุมชนลิงเป็นสำคัญ เช่น จำนวนของตัวผู้ที่อยู่ในกลุ่ม และความหนาแน่นของประชากรเทียบกับพื้นที่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้มีผลต่อความรุนแรงในลิงเชื่อมโยงกับแนวคิดการคัดสรรของธรรมชาติ เช่นการสังหารคู่แข่งทำให้ลิงตัวผู้สามารถเข้าถึงทรัพยากรอย่างอาหารและขยายเขตแดน การใช้ความรุนแรงจะมีความถี่มากขึ้นเมื่อมีการแข่งขันสูงกับกลุ่มที่อยู่ใกล้เคียงและเมื่อลิงตัวผู้สามารถรวมฝูงได้จำนวนมากทำให้เสี่ยงต่อความอยู่รอดของตัวเองน้อยลง

ซูซานน์ ชูลท์ซ นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์กล่าวถึงงานวิจัยนี้ว่าเป็นงานวิจัยที่เก็บข้อมูลได้กว้างขวางมีจำนวนกลุ่มประชากรหลากหลายทำให้ได้ผลลัพธ์ที่น่าสนใจ ชูลท์ซยังได้กล่าวสนับสนุนผลการวิจัยว่าความรุนแรงในขิมแปนซีเป็นนิสัยตามธรรมชาติไม่ใช่สิ่งที่มาจากการก่อกวนของมนุษย์

ในบทวิจารณ์ประกอบบทความงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งเผยแพร่ในนิตยสารเนเจอร์ โจอัน ซิลค์ ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยรัฐแอริโซนากล่าวว่าผลการวิจัยฉบับนี้ควรจะทำให้คนเราเลิกคิดว่าความโหดร้ายของชิมแปนซีมาจากการเข้าไปก่อกวนของมนุษย์

ทางด้าน ฟรานส์ เดอ วาลล์ ศาตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเอมอรีกล่าวว่าบางทีก็มีการบิดเบือนมุมองเกี่ยวกับลิงซึ่งเป็นสิ่งที่มีวิวัฒนาการใกล้เคียงมนุษย์เพราะมนุษย์ต้องการจะเชื่อว่าพวกลิงมีพฤติกรรมที่น่ารักไม่ใช่สิ่งที่โหดร้าย ซึ่งเป็นเรื่องในเชิงวิวัฒนาการอย่างลึกซึ้ง แต่ซิลก์ก็โต้แย้งว่าแม้ชิมแปนซีจะฆ่าพวกเดียวกันก็ไม่จำเป็นว่ามนุษย์จะเป็นสัตว์ที่บ้าสงครามโดยธรรมชาติไปด้วย

ในกรณีนี้ จอห์น มิทานิ นักนิเวศวิทยาเชิงพฤติกรรมจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนเสนอว่าแม้ชิมแปนซีในทุกกลุ่มประชากรจะมีการสังหารกันแต่ชิมแปนซีก็ไม่ใช่มนุษย์ เขาเชื่อว่ามนุษย์เรามีความสามารถในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมขณะที่ชิมแปนซีไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเองได้

ก่อนหน้านี้ ประเด็นเรื่องความรุนแรงในชิมแปนซีมาจากการรบกวนของมนุษย์จริงหรือไม่นั้นมีการถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อนมาก คนในวงการวิทยาศาสตร์หลายคนจึงรู้สึกขอบคุณงานวิจัยชิ้นนี้ซึ่งเน้นย้ำการเก็บข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นกลาง

อย่างไรก็ตาม ในด้านการเปรียบเทียบกับการนิสัยการใช้ความรุนแรงของมนุษย์แล้ว ผู้เขียนรายงานการวิจัยระบุว่า การฆาตกรรมสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันของชิมแปนซีจะเปลี่ยนแปลงขึ้นลงไปตามปัจจัยเรียบง่ายอย่างการแข่งขันแย่งชิงทรัพยากร หลังจากที่ก่อนหน้านี้เคยมีงานวิจัยเสนอว่าอัตราการสังหารของชิมแปนซีมีความใกล้เคียงกับมนุษย์ในกลุ่มสังคมผู้ล่าสัตว์และเก็บสะสมอาหาร (hunter-gatherer)


เรียบเรียงจาก

Murder 'comes naturally' to chimpanzees, BBC, 18-09-2014
http://www.bbc.com/news/science-environment-29237276

ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles