หลังจากที่มีใบปลิวในเชิงปรามไม่ให้ผู้หญิงไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทั่วไปของปากีสถาน รวมถึงมีเหตุรุนแรงและการข่มขู่ แต่ทางกลุ่มเยาวชนสตรี Aware Girls ก็พยายามสนับสนุนให้ผู้หญิงออกมาเลือกตั้งด้วยการจัดอาสาสมัครคุ้มครองตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ
สำนักข่าวเดอะ การ์เดียนรายงานว่ากลุ่มนักกิจกรรมสตรีในปากีสถานวางแผนจัดทีมคุ้มกันผู้หญิงตามหน่วยเลือกตั้งในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 11 พ.ค. ที่จะถึงนี้หลังจากที่มีใบปลิวเวียนไปตามพื้นที่เตือนไม่ให้ผู้หญิงเข้าไปตามคูหาเลือกตั้ง
ท่ามกลางเหตุรุนแรงและปัญหาในช่วงก่อนการเลือกตั้งทั้วไปของปากีสถาน มีใบปลิวเตือนว่าการที่ผู้หญิงมีส่วนร่วมในประชาธิปไตยเป็นเรื่อง 'ขัดต่อศาสนาอิสลาม'แต่ในกลุ่มคนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งก็มีกลุ่มเยาวชนสตรีที่ต้องการฝ่าฟันอุปสรรคทางการเมืองและวัฒนธรรมเพื่อเรียกร้องการมีสิทธิมีเสียงของตนเอง
กลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนสตรีรุ่นใหม่ในนาม Aware Girls วางแผนท้าทายในเรื่องที่พวกเขาเรียกว่าเป็นความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการปกป้องการลงคะแนนเสียงของสตรี โดยการที่พวกเขาจะจัดให้มีทีมคุ้มกันผู้หญิงตามหน่วยเลือกตั้งต่างๆ ในจังหวัดไคเบอร์-ปัคตุนควา หนึ่งในสี่จังหวัดที่เคยรู้จักในนามจังหวัดชายแดนตะวันตกเฉียงเหนือ
กลุ่ม Aware Girls เป็นกลุ่มสันติภาพนำโดยเหล่าเยาวชนสตรีผู้มีการฝึกฝนทักษะการเป็นผู้นำ ซาบา อิสมาอิล อายุ 23 ปี ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการของกลุ่มกล่าวว่า พวกเขามีอาสาสมัครคอยสังเกตการณ์อยู่ตามหน่วยเลือกตั้ง 30 หน่วย เพื่อคอยช่วยเหลือผู้หญิงที่ออกมาลงคะแนน และหวังว่าจะสามารถเข้าถึงหน่วยเลือกตั้งได้มากกว่านี้
มาลาลา ยูซาฟไซ เด็กหญิงนักกิจกรรมอายุ 15 ปีผู้กลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลกหลังถูกกลุ่มตาลีบันพยายามลอบสังหารเมื่อเดือน ต.ค. 2012 ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ถูกฝึกฝนมาจากกลุ่ม Aware Girls
"มาลาลาไม่ใช่คนเดียวที่กล้าหาญ แต่เธอก็กลายเป็นวีรสตรีของพวกเราไปแล้ว"อิสมาอิลกล่าว "เธอเป็นผู้หญิงที่เข้มแข็งและเป็นแบบอย่าง ฉันรู้สึกประทับใจเธอมาก ผู้หญิงหลายคนจะรู้สึกว่าตนมีพลังจากมาลาลาหากพวกเธอออกมาเลือกตั้ง เป็นที่แน่ชัดว่าผู้หญิงในปากีสถานถูกห้ามไม่ให้ลงคะแนน และในเขตพื้นที่ชนบทก็มีความเสี่ยง ดังนั้นพวกเราจึงนำอาสาสมัครออกมาช่วยให้ผู้หญิงรู้สึกว่าพวกเธอสามารถออกมาได้ในวันสำคัญเช่นนี้"
อิสมาอิลเล่าว่าในช่วงการเลือกตั้งปี 2008 มีหน่วยเลือกตั้งจำนวนมากถูกเผาและและผู้หญิงก็ถูกบอกว่าการที่พวกเธอไปลงคะแนนเสียงถือเป็นเรื่อง 'กักขฬะ'อิสมาอิลบอกว่าเธอต้องการให้ประเทศปากีสถานมีการเลือกตั้งที่ยุติธรรมและเป็นอิสระ ซึ่งผู้หญิงจะสามารถลงคะแนนได้อย่างเป็นความลับและไม่ถูกครอบครัวสั่งให้ลงคะแนน
อิสมาอิลบอกอีกว่าแม้แต่นักการเมืองหญิงอยู่ไม่กี่คนในระบบการเมืองของปากีสถานก็มักจะถูกครอบครัวคอยบงการเนื่องจากนักการเมืองเหล่านี้เป็นภรรยาและลูกสาวของคนที่ต้องการบงการพวกเธอ และนักการเมืองเหล่านี้ก็มีจำนวนเพียงแค่ให้พอกับโควต้าที่กำหนดไว้เท่านั้น
"ในรายการโทรทัศน์ที่ให้นักการเมืองหญิง 3 คน มาอภิปรายผ่านห้องส่งรายการก็มีคำถามอย่าง 'ผู้หญิงควรจะอนุญาตให้ทำงานหรือไม่เนื่องจากพวกเธอใช้เวลาแต่งหน้านานกว่าปกติ'"อิสมาอิลกล่าว
การกลับมาของกลุ่มสุดโต่งที่พยายามไม่ให้ผู้หญิงออกไปเลือกตั้งทำให้อิสมาอิลรู้สึกผิดหวัง กลุ่มของอิสมาอิลต้องย้ายที่ทำการถึงสองครั้งเนื่องจากมีคนข่มขู่
กองทัพปากีสถานประกาศว่าจะมีการวางกำลังทหาร 70,000 นาย ในเขตสี่จังหวัดในช่วงเลือกตั้ง ร่วมกับกำลังเสริมของตำรวจและเจ้าหน้าที่รักษาความสงบหลายพันนาย ขณะเดียวกันประชาชนก็กลัวว่าคูหาเลือกตั้งในบางพื้นที่จะไม่เปิดทำการเนื่องจากคณะทำงานในจังหวัดบาลูจิสถานปฏิเสธที่จะประจำการในหน่วยเลือกตั้งโดยเกรงเรื่องความปลอดภัย อย่างไรก็ตามผลสำรวจโพลล์เปิดเผยว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้อาจมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าช่วงปี 2008 ที่มีผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 44
การเลือกตั้งปี 2013 นี้มีขึ้นหลังการหมดวาระเป็นครั้งแรกของผู้นำปากีสถานที่ได้รับเลือกมาตามกระบวนการประชาธิปไตย โดยที่ผ่านมาการเมืองของปากีสถานมักถูกขัดขวางด้วยการทำรัฐประหารและการปกครองแบบเผด็จการ
"สงครามหมายถึงการที่ผู้ชายรู้สึกโกรธ แล้วเอาพฤติกรรมรุนแรงมาระบายลงกับครอบครัว"อิสมาอิลกล่าว "สำหรับผู้หญิงแล้ว พวกเธอถูกใช้ไม่ใช่เพื่อสันติภาพ แต่ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลยุทธ เป็นผู้ผลิตทหารและผลิตสงคราม ในปากีสถาน ผู้หญิงถูกทำให้เชื่อแบบฝังใจว่าพวกเธอเป็นคนที่ต้อยต่ำกว่า แต่ฉันเชื่อว่าความเปลี่ยนแปลงจะมาถึง"
สำนักข่าว The Guardian ระบุว่า สถานการณ์ในช่วงก่อนวันที่ 11 พ.ค. ดูเหมือนจะมีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้าของกลุ่มที่ช่วงชิงอำนาจกันระหว่างกลุ่มตาลีบันหรือกลุ่มอื่นๆ กับความพยายามผลักดันประเทศไปสู่ประชาธิปไตยของชาวปากีสถาน โดยเม่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นักการเมืองทั้งสามพรรคถูกข่มขู่จากกลุ่มตาลีบันแต่พวกเขาก็ออกแถลงการณ์ร่วมกันว่าพวกเขาจะไม่กลัว
สถานการณ์อีกด้านหนึ่งก็มีการลอบสังหารผู้ลงสมัครเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้สมัครพรรคอวามีถูกสังหารพร้อมกับลูกชายอายุสามขวบในเมืองการาจี และในวันเดียวกันที่กรุงอิสลามาบัด เชาธรี ซุลฟิการ์ ก็ถูกลอบสังหารหลังเข้ารับฟังการพิจารณาคดีลอบสังหารเบนาซี บุตโต อดีตนายกรัฐมนตรีปากีสถานผู้ถูกลอบสังหารในปี 2007 โดยเชาธรีเป็นเจ้าหน้าที่อัยการของรัฐของรัฐผู้ดูแลดังกล่าวอยู่
เรียบเรียงจาก
Pakistan's women face battle for the right to vote, The Guardian, 04-05-2013