ที่มาภาพ : PITV แฟนเพจ
3 พ.ค.56 ที่ห้อง F332 ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 2 ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ แถลงเตรียมจัดกิจกรรมรำลึก 40 ปี 14 ตุลา 16 โดยใช้ชื่องานว่า “40 ปี 14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์” ซึ่งจะมีกิจกรรมเริ่มต้นตั้งแต่ มิ.ย.- ต.ค.56 โดยแบ่งกิจกรรมเป็นการบอกเล่าเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา 16 การปราศรัยทางการเมืองเพื่อรำลึกเหตุการณ์นี้ การจัดแสดงศิลปะและวัฒนธรรม บทเพลง บทกวี รวมไปถึงการรณรงค์ทางการเมือง ด้วยคำขวัญของงานว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลา” ซึ่งเป็นคำขวัญที่นายปรีดี พนมยงค์ ได้ให้ไว้หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค.16
จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวว่า กิจกรรมรำลึก 14 ตุลา 16 นั้นทุกๆ ปีก็จะมีการจัด โดยเมื่อก่อนที่จัดงานจะเป็นองค์การนักศึกษาและคนรุ่น 14 ตุลา ซึ่งต่อมาก็มีการตั้งเป็นคณะกรรมการ และสุดท้ายก็เป็นมูลนิธิ 14 ตุลา ซึ่งก็จะจัดกิจกรรมทุกปี
สำหรับสาเหตุการแยกจากมูลนิธิ 14 ตุลา ในการจัดกิจกรรมรำลึกนั้น ประธานคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ กล่าวว่า ในช่วง 7 ปีมานี้มีความเปลี่ยนแปลงภายในคนรุ่น 14 ตุลา คนส่วนหนึ่งที่มีไม่น้อยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมืองไปสนับสนุนรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ หลังรัฐประหาร 19 ก.ย.49 และเป็นไปในทางต่อต้านการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ในนั้นก็มีมูลนิธิ 14 ตุลา มีคนที่เป็นคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 14 ตุลา ในส่วนที่มีมูลนิธิ 14 ตุลา เป็นแกนหลักในการจัด ตนเองและอีกหลายคนไม่อยากร่วมงานกับคนที่ต่อต้านประชาธิปไตย คนที่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร สนับสนุนรัฐบาลเผด็จการ เขามีสิทธิในการจัดงานของเขา และพวกเราก็มีสิทธิจะจัด ซึ่งไม่ใช่การแข่งกัน แต่ต่างคนต่างจัด เป็นเรื่องธรรมดาที่อยู่ภายในสถานการณ์ที่มีความแตกต่างกันทางความคิด
คณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ ประกอบด้วยกลุ่มองค์กรประชาธิปไตยหลายองค์กร เช่น สมาคมญาติ14 ตุลา 2516, เครือข่ายเดือนตุลา, ชมรมโดมรวมใจ, กลุ่มสภาหน้าโดม, กลุ่มละครมะขามป้อม, กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ, กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย, สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.), อดีตนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ และคณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยาน เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519 โดยนอกจากมีจรัล ดิษฐาอภิชัย เป็นประธานแล้ว ยังมี วิสา คัญทัพ, วุฒิพงษ์ เลาหไพโรจน์ และ ละเมียด บุญมาก เป็นรองประธาน และมีกรรมการอีก 20 กว่าคน
โดยมีวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการฯ ประกอบด้วย
1. เพื่อรื้อค้น บันทึก และศึกษาประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
2. เพื่อร่วมสืบสานเจตนารมณ์วีรชนประชาธิปไตย ผ่านกิจกรรมวิชาการ ศิลปวัฒนธรรมและสื่อทุกแขนง
3. เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในหมู่นักกิจกรรม นักวิชาการและผู้รักประชาธิปไตย บนสายธารประวัติศาสตร์ ที่สัมพันธ์ต่อเนื่องกัน
4. เพื่อเป็นเวทีที่ให้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างแท้จริง แก่นักประชาธิปไตยหลากรุ่น
ซึ่งมีกรรมการที่ปรึกษาประกอบด้วย ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, จาตุรนต์ ฉายแสง, วีรกานต์ มุกสิกพงษ์, สุธรรม แสงประทุม, สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี, คำสิงห์ ศรีนอก, อดิศร เพียงเกษ, ธิดา ถาวรเศรษฐ, วีรประวัติ วงศ์พัวพัน, ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ, สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, วิจิตร ศรีสังข์, สุรชาติ บำรุงสุข, ธเนศวร์ เจริญเมือ’
คำแถลงคณะกรรมการ 14 ตุลาเพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์ :
ปีนี้ ครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 สี่สิบปีผ่านไป สำหรับคนรุ่นใหม่ย่อมเกิดไม่ทัน และอาจเกิดความสับสน เรียกเป็น เหตุการณ์ 16 ตุลา หรือสับสันระหว่าง 14 ตุลาคม 2516 กับ 6 ตุลาคม 2519 อันที่จริง ได้มีการรำลึกเหตุการณ์ 14 ตุลาคม กันเรื่อยมา นับตั้งแต่ปีแรกๆ จนถึงวาระ 20 ปี 30 ปี และ 40 ปี ในปีนี้ รำลึกอะไร.. ก็คือรำลึกวีรกรรมและจิตใจบริสุทธิ์ของพลังนิสิตนักศึกษาประชาชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกัน สละเลือดเนื้อและชีวิต เพื่อให้ได้มาซึ่งระบอบประชาธิปไตย รำลึกเจตนารมณ์ 14 ตุลา ประเทศต้องมีเอกราช ประชาชนต้องมีประชาธิปไตย สังคมต้องมีความเป็นธรรมนั่นคือจุดหลักในการรำลึกเรื่อยมา ถึงแม้ว่า ในบางช่วงบางปีการรำลึกเช่นนี้ อาจถูกค่อนขอดว่าเป็น “งานเช็งเม้ง” เพราะเคลื่อนไหวกันในกลุ่มเล็กๆเดิมๆ แต่มีการรำลึก ย่อมดีกว่าไม่มีอะไรเลย เพื่อแย่งยึดพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไปแล้วถึง 40 ปี คนหนุ่มสาวรุ่น 14 ตุลา มาถึงวันนี้อยู่ในวัยกำลังสุกงอมด้วยประสบการณ์ชีวิต ประสบการณ์ทางการเมือง และอยู่ในสถานการณ์ขัดแย้งทางการเมือง คนที่เคยร่วมเรียกร้องรัฐธรรมนูญ เคยต่อต้านรัฐประหาร 30 - 40 ปี ผ่านไป บางคนกลับกลายเป็นพวกสนับสนุนการฉีกรัฐธรรมนูญ สนับสนุนการรัฐประหาร นี่คือความเป็นจริงชัดเจน มิใช่ใส่ร้ายป้ายสี และคนรุ่น 14 ตุลา ที่ยังยืนหยัด พิทักษ์รัฐธรรมนูญ เคารพอำนาจของปวงชนชาวไทย ต่อต้านรัฐประหาร ต่อต้านอำนาจนอกระบบ ก็ยังมีพลังอยู่ด้วยเช่นกัน 40 ปี ผ่านไป เอาเข้าจริงเรายังไม่สามารถเขียนประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ขึ้นมาได้ ประวัติศาสตร์ อาจมีได้หลายด้าน หลายมุมมองของผู้ร่วมประวัติศาสตร์ ไม่ควรให้ฝ่ายหนึ่งผูกขาด เพียงแต่ว่า ประวัติศาสตร์หลายมุม หลายด้านนั้น ผู้บันทึกประวัติศาสตร์ ต้องสามารถนำเสนอความเป็นจริงได้อย่างตรงไปตรงมา เอาเข้าจริง ประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม 2516 ยังเป็นประวัติศาสตร์อ้ำอึ้ง พูดความจริงไม่ได้ หรือบางประเด็น อาจถึงขั้น ตายแล้วก็พูดไม่ได้ เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์อื่นๆ ในรอบแปดสิบปีประชาธิปไตยไทย เพราะบ้านเมืองเรายังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง ยังไม่มีสิทธิเสรีภาพที่แท้จริง ตัวละครสำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองยังทรงอิทธิพลอำนาจ จนทำให้การบันทึกประวัติศาสตร์เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การรำลึก 40 ปี ของเหตการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปีนี้ จึงมิใช่แค่การรำลึกแบบเช็งเม้ง หรือมองด้านเดียว จำเพาะเหตุการณ์เดียวอย่างที่เคยเป็นมา หากแต่จะต้องมีการ “ตอบโจทย์ 14 ตุลา” อย่างมีเหตุมีผล มีหลักการ โดยวิธีการ หรือโดยตัวบุคคลที่เคยมีประสบการณ์โดยตรง และตัวบุคคล ที่มีมาตรฐานทางวิชาประวัติศาสตร์ และเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ทางการเมืองไทยที่สำคัญอันมีความต่อเนื่อง และส่งผลกระทบถึงกัน นอกจากนั้น ความงดงามของ 14 ตุลาคม 2516 ได้แก่ ผลพวงที่เกิดติดตามมา จากปี 2516 ถึง 2519 คือการเจริญเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ของแนวรบศิลปวัฒนธรรม เช่นเกิด เพลงเพื่อชีวิต วรรณกรรมเพื่อชีวิต กวีการเมือง จิตรกรรมการเมือง ละครสะท้อนสังคม อันเป็นพลังทางศิลปะที่หลอมรวมเข้ากับความคิดการเมืองเพื่อประชาธิปไตย อย่างมีพลัง ดังนั้นในวาระ รำลึก 40 ปี 14 ตุลาคม ในปีนี้ ย่อมต้องรำลึก ทบทวน และสร้างใหม่ ให้กับงานแนวรบวัฒนธรรมเหล่านี้ ในแบบ ให้อดีตรับใช้ปัจจุบัน รำลึกเพื่อเดินต่อไป จากคนรุ่นก่อน สืบต่อถึงคนรุ่นใหม่ ด้วยกิจกรรมต่างๆในงานครั้งนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดขึ้นจากการรวมพลังของมวลมหาประชาชน ดังนั้น จึงไม่ควรที่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะคิดผูกขาดการเป็นเจ้าของแต่กลุ่มเดียว อันที่จริง ประเด็นนี้ ก็สำแดงมาตั้งเหตุการณ์ 14 ตุลา ผ่านไปหมาดๆ เช่น ฝ่ายหนึ่งบอกว่า “14 ตุลา วันมหาวิปโยค” อีกฝ่ายว่า “ 14 ตุลา วันมหาปิติ” ไม่แปลกที่แต่ละบุคคลจะมีทรรศนะท่าทีทางการเมืองแตกต่างกันไป การรำลึก 40 ปี 14 ตุลา ย่อมต้องมีขึ้นได้อย่างหลากหลาย ตามเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย ไม่ควรที่ใครจะคิดมาครอบครองผูกขาดประวัติศาสตร์ 14 ตุลาคม คณะกรรมการ14 ตุลา เพื่อประชาธิปไตยสมบูรณ์เกิดขึ้นในสภาพการณ์เช่นว่ามา และมีจุดมุ่งหมายตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น เราขอยืนยันว่า เราจะจัดกิจกรรมร่วมรำลึก 14 ตุลาคม 2516 ครบรอบ 40 ปี และปีถัดๆไป เพื่อพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตย ภายใต้คำขวัญอันทรงคุณค่า ของปรีดี พนมยงค์ ท่านผู้อภิวัฒน์ว่า “จงพิทักษ์เจตนารมณ์ประชาธิปไตยสมบูรณ์ของวีรชน 14 ตุลาคม ” ประเทศต้องมีเอกราช ประชาชนต้องมีประชาธิปไตย สังคมต้องมีความเป็นธรรม |