เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ที่ผ่านมา นสพ.ออนไลน์ประชาไทจัดเสวนา "เรียนเล่นเล่น"ครั้งที่ 2 หัวข้อ "รูปแบบการผลิต ภาคเกษตรสมัยใหม่ กับการปฏิรูปและภาษีที่ดิน"โดยได้รายงานการนำเสนอของ วิทยากร ได้แก่ วิโรจน์ ณ ระนอง จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ ดวงมณี เลาวกุล รองศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปแล้วนั้น (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)
ในส่วนของวิดีโอการนำเสนอของ ดวงมณี เลาวกุล ซึ่งนำเสนอถัดจากวิโรจน์ ณ ระนอง ดวงมณีกล่าวถึงภาพรวมของการถือครองที่ดินในประเทศไทยว่า โดยภาพรวมประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ โดยเป็นป่าสงวนประมาณ 145 ล้านไร่ หรือร้อยละ 45 ที่ดินที่สามารถถือครองได้ประมาณ 131 ล้านไร่ หรือร้อยละ 41 ที่ดิน สปก.ประมาณ 35 ล้านไร่ หรือร้อยละ 11 ที่ดินราชพัสดุประมาณ 10 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 3
เมื่อใช้วิธีการคำนวณค่าความไม่เสมอภาคโดยใช้ค่า Gini coefficient ที่เอาไว้ดูการกระจายรายได้ของประเทศ แล้วนำค่านี้มาคำนวณกับการถือครองที่ดิน ซึ่งจะใช้ที่ดินที่สามารถถือครองได้ประมาณ 95 ล้านไร่จากทั้งหมด 131 ล้านไร่ที่อยู่ภายใต้การดูแลของกรมที่ดิน โดย 95 ล้านไร่นั้นมีผู้ถือครองอยู่ประมาณ 16 ล้านราย รวมทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เมื่อคำนวณการกระจายการถือครองที่ดินได้ผลลัพธ์เป็น 0.89 ขณะที่ค่านี้สำหรับการกระจายรายได้อยู่ที่ 0.5 แสดงว่าการถือครองที่ดินค่อนข้างกระจุกตัวเสียยิ่งกว่าการกระจายรายได้
เมื่อแบ่งกลุ่มของคนถือครองที่ดินตามขนาดการถือครองออกเป็น 5 กลุ่ม เราจะพบว่า กลุ่มที่มีที่ดินถือครองสูงสุดร้อยละ 20 กลุ่มแรกนั้นถือครองที่ดินมากกว่ากลุ่มที่ถือครองที่ดินต่ำสุด ร้อยละ 20 กลุ่มล่างสุด ถึง 325 เท่า ขณะที่การกระจายรายได้นั้นห่างกันแค่ 11 เท่า นอกจากนี้กลุ่มที่ถือครองที่ดินสูงสุด ร้อยละ 20 ยังถือครองที่ดินคิดเป็น ร้อยละ 80 ของที่ดินทั้งหมด
ในส่วนของมาตรการปฏิรูปที่ดินนั้น ดวงมณี กล่าวว่า เมื่อพิจารณาประวัติศาสตร์การปฏิรูปที่ดินในต่างประเทศ จะพบมาตรการหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการถือครอง การเวนคืนที่ดิน แต่หากจะนำมาใช้ในยุคปัจจุบันคงเป็นไปไม่ได้ ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงจำต้องอาศัยกลไกอื่นที่อาจต้องอาศัยกลไกตลาดเข้ามาด้วย เช่น รายรับจากภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้าส่วนหนึ่งจะสบทบที่ธนาคารที่ดิน โดยธนาคารที่ดินจะเป็นตัวกลาง คนที่มีที่ดินแล้วไม่ได้ทำประโยชน์อาจจะมาฝากไว้ที่ธนาคารที่ดินแล้วคนที่ไม่มีที่ดินทำกินก็สามารถเข้ามาตรงนี้ได้ รวมทั้งทำหน้าที่ซื้อที่ดินเอกชนแล้วให้ผู้ด้อยโอกาสหรือผู้ต้องการที่ดินทำกินเข้ามาเช่าหรือเช่าซื้อ ทำให้เกษตรกรมีโอกาสมีที่ดินทำกิน เป็นการแก้ปัญหาในลักษณะที่เป็นที่เอกชน
แต่ร่าง พ.ร.บ.สิทธิชุมชนจะจัดการที่ดินที่เป็นของรัฐที่มีคนอาศัยอยู่ในเขตเหล่านั้นอยู่แล้วเป็นจำนวนมาก เป็นการรับรองสิทธิชุมชน ทำอย่างไรให้ชุมชนมีสิทธิในการจัดการ ปกป้องทรัพยากร และป้องกันการบุกรุกป่าเพิ่มขึ้น อีกร่างคือ พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม ทำให้คนจนเข้าถึงกองทุนยุติธรรม เวลาที่ถูกดำเนินคดี เงินประกันตัว หรือเงินช่วยเหลือเยียวยากรณีที่ไม่ผิด จึงมีการเสนอเป็นชุดร่าง พ.ร.บ.ที่น่าจะสามารถแก้ปัญหาที่ดินที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้ (อ่านการอภิปรายของดวงมณีที่นี่)
ติดตามวิดีโอเสวนาและมัลติมีเดียได้ที่ http://prachatai.org/multimedia หรือลงทะเบียนที่ https://www.youtube.com/user/prachatai