8 ก.ย.2557 รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทวีตข่าวระบุว่า ทีมทนาย บ.บางกอกเอนเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด หรือช่อง 3 เข้ายื่นหนังสือแจ้งการยื่นฟ้องคดี กสท. 3 คน ประกอบด้วย สุภิญญา กลางณรงค์ 3 ข้อหาคือ ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หมิ่นประมาท และ กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ส่วนนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ และ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ฟ้องในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ
โดยนายสมบัติ ลีลาพตะ รองเลขาฯ กสทช. เป็นผู้รับหนังสือ และกล่าวว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่การประชุมบอร์ด กสท. ในเช้าวันนี้ เพื่อประกอบการพิจารณากรณีของช่อง 3 อะนาล็อก
ทวิตเตอร์ของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ ระบุด้วยว่า ทีมทนายของช่อง 3 ยืนยันว่า การฟ้องร้องไม่ได้มีมูลเหตุจากความขัดแย้งระหว่าง กสท.และช่อง 3 แต่เป็นการยื่นฟ้องเพื่อรักษาสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น
วันเดียวกัน ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายสื่อครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ ร่วมมอบดอกไม้และให้กำลังใจ แก่ 3 กสท. ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี โดย สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวสั้นๆ ว่า การยื่นดอกไม้วันนี้เพื่อต้องการให้กำลังใจกับการทำหน้าที่ขององค์กรกำกับดูแลที่ปกป้องผลประโยชน์ผู้บริโภค ซึ่งเราในฐานะลูกค้าช่อง 3 ไม่อยากให้ช่อง 3 ฟ้อง กสท.ทั้ง 3 คน และอยากให้ช่อง 3 ทำเหมือนช่อง 7 น่าจะทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์ด้วย
วิจัยพบ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ถูกใช้ผิดเจตนารมณ์
ก่อนหน้านี้ ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ออกรายงาน"พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(1) ยาแรงผิดขนานสำหรับการหมิ่นประมาทออนไลน์"โดยระบุว่า จุดประสงค์แรกเริ่มของการออกกฎหมายมาตรานี้ เพื่อป้องกันและปราบปรามการปลอมแปลงข้อมูลคอมพิวเตอร์ เช่น การปลอมหน้าเว็บไซต์ให้ผู้ใช้เข้าใจผิดเพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้ หรือที่เรียกว่า Phishing แต่จากสถิติกลับพบว่ามาตรา 14(1) ถูกนำมาใช้ดำเนินคดีกับเรื่องการหมิ่นประมาทเป็นส่วนมาก ทำให้เกิดคำถามว่า การบังคับใช้มาตรา 14(1) กับการหมิ่นประมาทในโลกออนไลน์ เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ถูกต้องตามเจตนารมณ์แล้วหรือไม่
โดยศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ ระบุว่า ผลกระทบของการใช้มาตรา 14(1) ในฐานความผิดหมิ่นประมาท ประกอบด้วย
1. เป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน เนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว แม้จะเป็นการกระทำบนอินเทอร์เน็ต ก็มีความผิดหมิ่นฐานประมาทโดยการโฆษณาอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสับสนในการตีความการบังคับใช้กฎหมาย และทำให้คดีความรกโรงรกศาล
2. อัตราโทษที่สูง ความผิดตามมาตรา 14(1) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท ขณะที่ความผิดฐานหมิ่นประมาทมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณามีอัตราโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อนำพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) มาใช้ฟ้องร้องในประเด็นการหมิ่นประมาทจึงทำให้จำเลยต้องแบกรับอัตราโทษที่หนักขึ้น
3. ยอมความไม่ได้ คดีหมิ่นประมาทเป็นความผิดต่อส่วนตัว คดีจำนวนไม่น้อยเมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลแล้วสามารถตกลงชดใช้ค่าเสียหาย หรือกล่าวขอโทษกัน ก็ทำให้คดีความจบกันไปได้ แต่ความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความได้ แม้ผู้เสียหายกับจำเลยตกลงกันได้จนคดีหมิ่นประมาทจบลงแล้ว ความผิดตามมาตรา 14(1) ก็ยังต้องดำเนินคดีต่อไป ส่งผลกระทบต่อตัวจำเลยและทำให้คดีรกโรงรกศาลโดยไม่จำเป็น
4. ไม่มีหลักเรื่องความสุจริตหรือประโยชน์สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329-330 การหมิ่นประมาทที่กระทำไปโดยการติชมด้วยความสุจริต หรือการวิพากษ์วิจารณ์ที่เป็นประโยชน์สาธารณะ เป็นเหตุยกเว้นความผิดและยกเว้นโทษได้ แต่ความผิดตามมาตรา 14(1) แม้เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะก็ตาม ก็ไม่สามารถอ้างเหตุเหล่านี้ขึ้นต่อสู้คดีได้
5. คุกคามเสรีภาพสื่อ เนื่องจากปัจจุบันมีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นมาก แม้แต่สื่อกระแสหลักก็พัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสื่อสาร เมื่อมีคดีความหมิ่นประมาทเกิดขึ้น มาตรา 14(1) ก็มักถูกฟ้องพ่วงเข้าไปด้วย ซึ่งเพิ่มภาระของสื่อหรือผู้ถูกกล่าวหาในการสู้คดี และปัจจุบันแนวโน้มการฟ้องร้องสื่อ ด้วยมาตรา 14(1) ก็มีสูงขึ้น กระทบต่อการบรรยากาศการใช้เสรีภาพในสังคม
ที่มา:ทวิตเตอร์ @MorningNewsTV31, 2, 3, 4, 5, 6, ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw