เมื่อวันที่ 7 ก.ย.57 ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านร่าง พรบ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ...โดยอ้างว่าเพื่อทำหลักเกณฑ์ศุลกากรการนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักรให้เป็นตามมาตรฐานสากลนั้น เอฟทีเอ ว็อทช์ ระบุว่า มีความพยายามสอดไส้ให้เกิดการจับยึดยาชื่อสามัญ โดยไม่ต้องมีหมายจับและไม่ต้องวางเงินประกันการขอตรวจจับ ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกาในการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ในด้านยามาโดยตลอด และถือเป็นช่องทางให้อุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้กลไกนี้ในการไล่จับและทำลายยาชื่อสามัญอย่างไม่ยุติธรรม
นางสาวกรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (เอฟทีเอ ว็อทช์) เปิดเผยว่า ทางกลุ่มฯมีความกังวลอย่างมากกับ ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ที่ผ่านการพิจารณาของ สนช.วาระแรกและหมดระยะเวลาการแปรญัตติไปแล้วนั้น เป็นการที่หน่วยราชการบางส่วนร่วมกับกลุ่มทุนอุตสาหกรรมยาข้ามชาติใช้ช่วงเวลาที่ผิดปกติในการสอดไส้แก้กฎหมายเพื่อผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม โดยอ้างกับ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่าการแก้กฎหมายดังกล่าวมีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจไทย ขณะที่ คสช.เองก็ไม่มีความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางมากพอ แต่กลับไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ
“ร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ฉบับนี้ มีการเพิ่มมาตรา 58/1 ให้พนักงานศุลกากรมีอำนาจตรวจสอบ ตรวจค้นของที่นำเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำที่อย่ในยานพาหนะ คอนเทนเนอร์ หรือหีบห่ออย่างอื่น ตามที่อธิบดีกำหนด โดยไม่ต้องมีหมายค้น หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ โดยมีวงเล็บ (3) กว้างๆไว้ว่า ของนั้นเป็นของที่ผิดกฎหมาย
คำว่า เป็นของผิดกฎหมาย กินความกว้างจนไร้ขอบเขตและไม่มีหลักประกันความเสียหายต่อการใช้สิทธิโดยมิชอบ เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรโดยไม่มีข้อยกเว้นประเภทสินค้า ซึ่งตรงกับข้อเรียกร้องของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ต้นที่ต้องการให้มาตรการผ่านแดนเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของงานศุลกากรทำให้ไม่มีการถ่วงดุลโดยศาล ซึ่งถือเป็นทริปส์พลัส (TRIPS+) เพราะเกินไปกว่าความตกลงใน WTO ที่ไทยเป็นสมาชิกอยู่เสียอีก”
ทั้งนี้ ทริปส์ หรือ TRIPS คือ ความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าที่ใช้เป็นมาตรในองค์การการค้าโลก ส่วน TRIPS+ หรือทริปส์พลัส คือข้อตกลงที่ให้ความคุ้มครองมากเกินไปกว่าทริปส์ปกติ มักเจอในข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ โดยเฉพาะกับประเทศมหาอำนาจ
ผู้ประสานงานเอฟทีเอ ว็อทช์ กล่าวว่า ในช่วงรัฐประหาร แทบไม่มีการพิจารณากฎหมายในกระบวนการปกติ จากเดิมที่ต้องส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นก็ไม่ได้ปฏิบัติ อาศัยการวิ่งเต้นต่อ คสช.เป็นหลัก ทำให้ร่างกฎหมายที่บกพร่องเช่นนี้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ในสัปดาห์นี้ ทางกลุ่มจะขอเข้าพบนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. และนายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายนี้
“ไม่มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เคยให้ความเห็นเลย ทั้งที่ในทางปฏิบัติทุกวันนี้ การตรวจค้นจับยึดจะต้องเป็นการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมทรัพย์สินทางปัญญา และจะต้องเป็นสินค้าที่สามารถแยกด้วยตาเปล่าได้ ไม่รวมถึงสินค้าที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิบัตรซึ่งต้องใช้ขั้นตอนที่ซับซ้อนในการแยกแยะ อีกทั้ง เมื่อเจ้าของสิทธิจะขอให้มีการตรวจค้น จับกุม ศาลจะสั่งให้มีการวางเงินประกันเพื่อไม่ให้เกิดการใช้สิทธิอย่างไม่เป็นธรรม แต่หากเขียนกว้างเช่นนี้ อุตสาหกรรมยายักษ์ใหญ่จะใช้กลไกนี้ในการกีดกันและรังแกอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญทันที ดังที่เกิดขึ้นแล้วในสหภาพยุโรป ที่มีการยึดจับยารักษาโรคช่วยชีวิตที่ส่งจากอินเดียมากถึง 18 ครั้ง ทั้งที่ไม่ได้ละเมิดกฎหมาย โดยไม่สนใจว่าผู้ป่วยที่รอคอยยารักษาโรคที่ปลายทางจะเป็นเช่นไร ดังนั้น สนช.ต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะหากออกไปเช่นนี้จะทำลายอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย แต่ทั่วโลก และทำร้ายผู้ป่วยในประเทศกำลังพัฒนาไปพร้อมๆกัน”กรรณิการ์กล่าว
ทั้งนี้ จากงานวิจัยเรื่องผลกระทบจากข้อเสนอในความตกลงการค้าเสรีระหว่างประเทศไทยและประเทศคู่ค้าต่อการสาธารณสุข: ประเด็นผลกระทบด้านมาตรการ ณ จุดผ่านแดน และการบังคับใช้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Health impact assessment of provisions in Thailand-Trade Partner Free Trade Agreements on health systems including access to medicines in Thailand: boarder measures and intellectual property law enforcement) โดย ดร.คมน์ธนงชัย ฉายไพโรจน์ และคณะ ระบุว่า สําหรับมาตรการ ณ จุดผ่านแดนเกี่ยวกับการยึดสินค้าละเมิดสิทธิบัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิบัตรยา หรือเวชภัณฑ์ด้านสาธารณสุขนั้น ปัจจุบันในกฎหมายศุลกากรยังไม่มีบทบัญญัติหรือข้อกําหนดใดๆ ที่ให้อํานาจเจ้าหน้าที่ศุลกากรทําการยึดจับกุมยาหรือเวชภัณฑ์ที่ละเมิดหรือสงสัยว่าจะละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาได้โดยตรงและเป็นเอกเทศ หากกรมศุลกากรต้องการเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่ออํานวยความสะดวกในการตรวจสอบสินค้าไม่ควรเกี่ยวโยงกับประเด็นสิทธิบัตร เนื่องจาก ในการที่จะพิจารณาว่าเป็นของปลอมหรือละเมิดสิทธิบัตรไม่นั้น ทําได้ยาก ไม่สามารถมองด้วยตาเปล่าได้ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญและกระบวนการพิสูจน์ที่ซับซ้อน จึงมีข้อเสนอในการปรับแก้กฎหมายศุลกากรควรยึดหลักการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยมิให้มีผลกระทบต่อสิทธิในการเข้าถึงยา และไม่เป็นการบั่นทอนโอกาสในการมีสุขภาพดี และผลประโยชน์ด้านสุขอนามัยด้านอื่นๆ ของคนในประเทศ
กรรณิการ์กล่าวว่า ดังนั้น การยอมรับวิธีดําเนินการที่จะทําให้ผู้ทรงสิทธิที่มีเหตุอันควรให้สงสัยว่าอาจเกิดการนําเข้า การส่งออก การนําเข้ามาแล้วส่งกลับออกไป การนําเข้าหรือนําออก จากพื้นที่ของศุลกากร การให้ผ่านวิธีดําเนินการพักไว้ก่อนหรือการกําหนดให้ผ่านเขตปลอดอากรหรือคลังสินค้าปลอดอากรของสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น ควรยกเว้นสิทธิบัตรโดยสามารถยื่นคําร้องเป็นลายลักษณ์อักษรต่อเจ้าพนักงานทั้งฝ่ายปกครองและตุลาการ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรสั่งพักการปล่อยสินค้าดังกล่าวออกสู่การจัดจําหน่ายโดยเสรีหรือการเก็บเอาไว้ก่อน และให้วางประกันความเสียหายและต้องนําคดีมาฟ้องศาลเพื่อพิสูจน์การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาภายใน 30 วัน แต่ในกรณีที่กล่าวหาว่าสินค้านั้นละเมิดสิทธิบัตรจะต้องมีกระบวนการพิสูจน์หลักฐานเบื้องต้นทางศาลและมีคําสั่งศาลมาแสดง นอกจากนี้ ควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหามาตรการที่จะดําเนินการร่วมกัน เนื่องจากศุลกากรจะเป็นผู้ตรวจก่อนแล้วส่งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(เช่น อย.) เพื่อตรวจสอบอีกทางหนึ่งไม่ว่าจะเป็นของละเมิดลิขสิทธิ์ อาหาร หรือยาปลอม อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่า กฎหมายปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนําเข้ายามาในประเทศ คณะกรรมการอาหารและยามีอํานาจอย่างเต็มที่ในจะควบคุมหรือกํากับ อาจจะมีการออกระเบียบและประสานความร่วมมือไปยังหน่วยงานศุลกากร เกี่ยวกับมาตรการ ณ จุดผ่านแดนที่เหมาะสม เพราะระเบียบเหล่านี้หน่วยงานด้านสาธารณสุขสามารถหารือกันมีอํานาจแก้ไขกฎระเบียบเมื่อใดก็ได้เพื่อประโยชน์สุงสุดของส่วนรวม