ถอดบทเรียนสันติภาพ งานวิจัยจากที่ประชุมนานาชาติ “CCPP” ที่ ม.อ.ปัตตานี หัวข้อ “สื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ” 4 ชิ้น ชี้ความสำคัญของ “สื่อ” ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้ง สื่อท้องถิ่นคือผู้เปิดพื้นที่ให้เหยื่อในขณะที่สื่อหลักเมินปัญหาความขัดแย้ง
ถอดบทเรียนสันติภาพจากทั่วโลก เวทีย่อยในการประชุมวิชาการนานาชาติ “การสื่อสาร ความขัดแย้งและกระบวนการสันติภาพ:ภูมิทัศน์ความรู้จากเอเชียและจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย” (Communication, Conflicts and Peace Processes :Landscape of Knowledge from Asia and the Deep South of Thailand) หรือ CCPP วันที่ 21 – 22 สิงหาคม 2557 ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
พบผลงานวิจัย 4 ชิ้น ในหัวข้อ “วารสารศาสตร์เพื่อสันติภาพ สื่อมวลชนและสันติภาพ” ณ ห้องบรรยาย B302 คณะวิทยาการสื่อสาร โดยมี รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ เป็นผู้วิจารณ์
งานวิจัยทั้ง 4 ชิ้น ได้แก่
1.นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพ: บทบาทที่หลากหลายของสื่อมวลชนในการสื่อสารความขัดแย้งของภาคใต้
2.การจัดการความขัดแย้งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จากวรรณกรรมเรื่อง พรหมแดน
3.การตรวจสอบอดีตในอินโดนีเซียยุคปัจจุบัน: บทวิเคราะห์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “The Act of Killing”
4.ผลกระทบของความเป็นเจ้าของสื่อ เปรียบเทียบสื่อไทยกับอินเดีย ในบริบทสถานการณ์ความขัดแย้ง
ทั้ง 4 ชิ้นมีใจความสำคัญที่แตกต่างหลากหลาย ทว่าในภาพรวมต่างตระหนักถึงความสำคัญของ “สื่อ” ในการเปลี่ยนผ่านความขัดแย้งสู่สันติภาพได้ ทั้งยังทำให้ย้อนคำนึงถึงมูลเหตุของความขัดแย้งและความรุนแรง ผ่านตัวแปรและความทรงจำที่หลากหลาย ย้ำต้องเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันและต้องหันหน้ามาคุยกัน
สื่อหลักเมิน-สื่อท้องถิ่นเปิดพื้นที่ให้เหยื่อ
อาจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาจารย์พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ประจำภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนองานวิจัยเรื่อง “นอกเหนือจากความเป็นมืออาชีพ: บทบาทที่หลากหลายของสื่อมวลชนในการสื่อสารความขัดแย้งของภาคใต้”
อาจารย์พรรษาสิริ นำเสนอว่า บทบาทของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ผ่านมา หากดูเฉพาะสื่อกระแสหลักพบว่า เริ่มตีตัวออกห่างจากสถานการณ์ความขัดแย้งและความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น แต่สิ่งใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาแทนที่อย่างน่าสนใจ คือ การตื่นตัวของสื่อทางเลือก หรือสื่อภายในท้องถิ่นของจังหวัดชายแดนภาคใต้
อาจารย์พรรษาสิริ นำเสนอต่อไปว่า สื่อทางเลือกหรือสื่อท้องถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้เข้ามาเล่นบทบาทที่ถูกมองว่า “ไม่ได้เป็นบทบาทแบบมืออาชีพ” แต่มันเป็นสิ่งที่น่าสนใจ อาทิเช่น
1.เล่นบทบาทเน้นนำเสนอความจริง โดยการรายงานข่าวมีรูปแบบของการสืบสวน สอบสวนข้อเท็จจริง เบื้องลึก เบื้องหลังของสถานการณ์ความขัดแย้ง
2.สื่อมวลชนหรือสื่อท้องถิ่น เป็นสื่อที่เปิดพื้นที่ข่าวให้ “คนตัวเล็ก ตัวน้อย” ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งและความรุนแรง ซึ่งที่ผ่านมา บทบาทเช่นนี้ถูกเมินจากสื่อกระแสหลัก เนื่องจากสื่อกระแสหลักมักมองว่า คนตัวเล็ก ตัวน้อยเป็นแค่ “เหยื่อ” ของความขัดแย้ง ในขณะที่สื่อทางเลือกและสื่อท้องถิ่นมองว่า คนตัวเล็ก ตัวน้อยมีความสำคัญทั้งในแง่ของ “เหยื่อ” และ “ผู้เกี่ยวข้องในการแก้ไขความขัดแย้ง”
สื่อไม่ควรเป็นแค่ผู้รายงานข่าว
อาจารย์พรรษาสิริ ตั้งข้อสังเกตว่า หากจะให้สื่อมวลชนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการความขัดแย้งด้วยแล้ว องค์กรสื่อไม่ควรที่จะสวมหมวกใบเดียว คือ หมวกของผู้รายงานข่าว และไม่ควรอยู่ห่างๆ จากสถานการณ์ความขัดแย้ง กล่าวคือ นอกจากเรื่องของการหาข่าว และการรายงานข่าวแล้ว สื่อจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ ที่หลายภาคส่วนจัดขึ้นในพื้นที่ความขัดแย้งและความรุนแรงด้วย
“สื่ออาจทำงานหลังไมค์ ด้วยการเข้าไปพูดคุย ประสานงานของชาวบ้าน เพื่อให้เกิดทัศนคติที่ดี และมีความเข้าใจประเด็นปัญหาความขัดแย้งได้กว้างมากขึ้น”
อาจารย์พรรษาสิริ ทิ้งท้ายว่า บทบาทของสื่อควรจะพัฒนาไปเรื่อยๆ และสื่อไม่ควรมีบทบาทเดียว ไม่ควรที่จะเล่นแค่บทบาทที่ถูกมองว่าเป็นมืออาชีพ เพราะหากจำกัดบทบาทของตนเองเพียงแค่นั้น สื่อก็ไม่สามารถมีส่วนช่วยในการจัดการความขัดแย้งได้
มองปัญหาไฟใต้ผ่านวรรณกรรม “พรหมแดน”
นางสาวอามินอห์ แจ๊ะแว จาก University Sains Malaysia, Malaysia
นางสาวอามินอห์ แจ๊ะแว จาก University Sains Malaysia, Malaysia นำเสนอประเด็นเรื่องการจัดการความขัดแย้งผ่านวรรณกรรมเรื่อง “พรหมแดน” ของวสิษฐ เดชกุญชร ที่ถูกเล่าผ่านในมุมมองความขัดแย้งและการจัดการความขัดแย้งในจังหวัดชายภาคใต้ของไทย
นางสาวอามินอห์ นำเสนอว่า วรรณกรรมดังกล่าวเป็นวรรณกรรมที่สะท้อนปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ในแบบที่สอดรับกับบรรยากาศที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ ตัวละครในวรรณกรรมเรื่อง “พรหมแดน” ต่างถกเถียงกันถึงปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่หลากหลาย บ้างก็พูดถึงว่า ความขัดแย้งที่ยืดเยื้อเพราะรัฐบาลไทยแก้ปัญหาไม่ตรงจุด
“ตัวละครบางตัวก็แย้งว่า ความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดจากการที่เหล่าชาวบ้านมลายูมุสลิมส่งลูกหลานไปเรียนต่อยังตะวันออกกลาง แล้วรับแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนกลับมา จึงเกิดการต่อสู้ขึ้น”
ขณะที่ตัวละครบางตัวที่มีอารมณ์คล้ายเหล่าประชาชนคนไทยส่วนใหญ่ กลับมองว่า ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นจากการสนับสนุนของมาเลเซีย เพราะมาเลเซียต้องการดินแดนเดิมของตนเองกลับคืน
“ตัวแปรที่หลากหลาย” ต้องหันหน้ามาคุยกัน
ไม่ว่าตัวละครรองในเรื่องจะมองปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่นี้อย่างไร ภาพก็จะออกมาในแง่พื้นที่นี้มีแต่ความรุนแรงรายล้อม ในขณะที่ตัวละครหลักในเรื่อง คือนายตำรวจที่ย้ายกลับมาอยู่ในอำเภอจะแนะ จงหวัดนราธิวาส กลับประหลาดใจว่า “พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้น่าหวาดกลัวเหมือนที่เคยเข้าใจ นายตำรวจผู้นี้ยิ่งประหลาดใจไปใหญ่เมื่อเห็นว่า ที่อำเภอจะแนะผู้คนที่หลากหลายวัฒนธรรมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปรองดอง”
นางสาวอามินอห์ แจ๊ะแว วิเคราะห์ว่า วรรณกรรมเรื่องนี้ให้มุมมองต่อเรื่องความขัดแย้งหลากหลายมิติ ซึ่งตรงกับสถานการณ์จริงที่ว่า “ความขัดแย้งเกิดขึ้นจากตัวแปรหลายตัวแปรซ้อนทับกัน”
สุดท้าย นางสาวอามินอห์ เสนอว่า การจัดการความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องเริ่มจากการที่คู่ตรงข้ามกันเปิดโอกาสให้ต่างฝ่ายต่างได้พูดคุยกัน ทำความเข้าใจระหว่างกัน รัฐไทยจำเป็นต้องเปิดใจทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของคนมลายูมุสลิม ขณะที่คนมลายูมุสลิมก็ควรหยุดยุทธวิธีการใช้ความรุนแรงและหันหน้ามาพูดคุยกันด้วย
วิเคราะห์หนัง “The Act of Killing”
อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
อาจารย์ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ นำเสนอเรื่อง การตรวจสอบอดีตในอินโดนีเซียยุคปัจจุบัน: บทวิเคราะห์ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “The Act of Killing”
อาจารย์ซากีย์ เริ่มต้นการนำเสนอว่า “ประวัติศาสตร์ชาติที่ถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์ เป็นการเล่าเรื่องที่ต่างจากประวัติศาสตร์ชาติในหน้าหนังสือ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์กลุ่มคอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนีเซียเมื่อยุคปี 1960 ที่ถูกนำมาเล่าใหม่อีกครั้งผ่านภาพยนตร์เรื่อง “The Act of Killing” เรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกสื่อสารผ่านภาพยนตร์นี้ ถือเป็นการเปิดพื้นที่ให้สาธารณชนได้กลับมาถกเถียงกันอีกครั้งในเรื่องราวความขัดแย้งของอดีตที่ผ่านมา”
The Act of Killing กำกับโดย Joseph Oppenheimer ชาวอเมริกัน เรื่องนี้ถูกสร้างขึ้นจากความทรงจำของอดีตนักฆ่าคนหนึ่ง นามว่า อันวาร์ คองโก โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 30 กันยายน 1965 เมื่อกลุ่มเกสตาปู (Gerakan September Tigga Puluh) หรือ กลุ่มก่อรัฐประหารซึ่งนำโดยทหารบกและทหารอากาศจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้บัญชาการกองพันจากหน่วยรักษาความปลอดภัยของซูการ์โนเป็นหัวหน้า ได้ลักพาตัวนายพลอาวุโสจำนวน 6 นาย ไปสังหารแล้วทิ้งศพลงน้ำ
จนกระทั่งซูฮาร์โตนายพลผู้ไม่ได้ถูกลักพาตัวไปในครั้งนั้น ได้เข้าปราบปราบพวกเกสตาปูภายใน 2 วัน พร้อมทั้งกล่าวหาว่าพรรคคอมมิวนิสต์ของซูการ์โนอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ครั้งนี้ด้วย ช่วงเวลาดังกล่าวจึงส่งผลให้ความเชื่อถือในตัวซูการ์โนลดลง และในปี 1967 ซูฮาร์โตจึงทำการรัฐประหารซ้อน และก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ของอินโดนีเซียแทนซูการ์โน
ในช่วงการปกครองของซูฮาร์โตนั้น อินโดนีเซียถูกเกลี้ยกล่อมกระแสความเกลียดชังคอมมิวนิสต์ที่ฝ่ายอเมริกานำมาให้ จนทำให้นายพลซูฮาร์โต ตัดสินใจประกาศออก “ใบอนุญาตฆ่า” ผ่านการจัดตั้งกลุ่ม ที่เรียกตัวเองว่ายุวชนปัญจศีล (Pemuda Pancasila, ตัวย่อ PP)
กลุ่ม PP ประกอบไปด้วยกองกำลังชาวบ้านชาตินิยมกึ่งทหาร ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้รับการรับรองจากนายพลซูฮาร์โตว่า สามารถฆ่ากลุ่มเกสตาปูและคนที่สนับสนุนคอมมิวนิสต์ได้ ช่วงสมัยซูฮาร์โต จึงมีกลุ่มคอมมิวนิสต์ต้องเสียชีวิตกว่าสามแสนคน
ความทรงจำที่แตกต่าง-ต้องเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกัน
อาจารย์ซากีย์ กล่าวถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ว่า สามารถถ่ายทอดเรื่องราวความทรงจำของอันวาร์ในอดีตได้เป็นอย่างดี ซึ่งการสื่อสารเรื่องราวความทรงจำในอดีตที่เป็นชุดความจริงของปัจเจกบุคคล ย่อมแตกต่างจากชุดความจริงที่ฝ่ายรัฐบาลทำขึ้นอย่างแน่นอน ฉะนั้นภาพยนตร์เรื่องนี้จึงเป็นการท้าทายชุดประวัติศาสตร์การสร้างชาติของอินโดนีเซียก็ว่าได้
ความเป็นมาของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มจากนายโจซัวผู้กำกับภาพยนตร์ต้องการถ่ายทำหนังเรื่องราวประวัติศาสตร์อินโดนีเซียในอดีต แต่โจซัวโชคดีที่มีโอกาสพบกับอันวาร์ คองโก (อดีตนักฆ่าผู้ที่ได้รับการรับรองว่าสามารถฆ่าคอมมิวนิสต์ได้) โจซัวจึงต้องการทำหนังที่สะท้อนมาจากเรื่องจริงในอดีตของอันวาร์ เพื่อเปิดโอกาสให้สังคมอินโดนีเซียและทั่วโลกได้กลับไปสัมผัสความเจ็บปวด ทรมานจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์ในประเทศอินโดนีเซียอีกครั้งหนึ่ง
อาจารย์ซากีย์ มองว่า ประวัติศาสตร์ชาติเรื่องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์ในอินโดนีเซียที่ถูกสะท้อนผ่านภาพยนตร์ เป็นการเล่าเรื่องที่ต่างจากประวัติศาสตร์ชาติในหน้าหนังสือประวัติศาสตร์อย่างสิ้นเชิง
ภาพยนตร์เรื่อง “The Act of Killing” เรื่องราวการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คอมมิวนิสต์ที่ถูกสื่อสารผ่านภาพยนตร์นี้ เป็นการเล่าผ่านความทรงจำของนักฆ่าโดยตรง ซึ่งก็จะให้ข้อมูล ให้อารมณ์ความรู้สึกอีกมิติหนึ่ง ที่นอกเหนือจากมิติของการปกป้องชาติ
ท้ายที่สุด ส่วนที่ดีของการสื่อสารเรื่องราวในอดีตผ่านภาพยนตร์จะเป็นการช่วยเปิดพื้นที่ให้สาธารณชนได้กลับมาถกเถียงกันอีกครั้งในเรื่องราวความขัดแย้งของอดีตที่ผ่านมา
สื่อต้องตัดอคติ-คนรับสารควรรับข่าวที่หลากหลาย
อาจารย์คนึงขวัญ นุ่นแก้ว อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
อาจารย์คนึงขวัญ นุ่นแก้ว อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี นำเสนอเรื่องผลกระทบของความเป็นเจ้าของสื่อ เปรียบเทียบสื่อไทยกับอินเดียในบริบทสถานการณ์ความขัดแย้ง
งานวิจัยชิ้นนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจ และตรวจสอบเกี่ยวกับเครือข่ายด้านสื่อในสองประเทศนี้ในบริบทสถานการณ์ความขัดแย้ง ซึ่งต้องการตรวจสอบดูปฏิกิริยาของผู้รับสาร โดยอาจารย์คนึงขวัญมีข้อเสนอแนะต่อประเด็นที่ศึกษาว่า ผู้สื่อข่าวที่ทำหน้าที่รายงานข่าวความขัดแย้ง ควรจะตัดอคติและความต้องการของตนเองออกจากเนื้อหาข่าว
“อย่างน้อยที่สุด ผู้สื่อข่าวควรต้องไหวรู้ต่ออารมณ์ความรู้สึกของตนเองว่า มีอคติต่อข่าวที่ทำมากน้อยเพียงใด เพื่อยับยั้งมิให้อารมณ์ความรู้สึกส่วนตัวตรงนั้นปะปนกับข้อเท็จจริงในข่าว”
อาจารย์คะนึงขวัญ เสนอต่อไปว่า ในการรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารด้านความขัดแย้งนั้น ผู้รับข่าวหรือผู้เสพข่าวควรเลือกรับข่าวที่หลากหลายด้วย ไม่ควรเลือกอ่านข่าวจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นการเฉพาะ
“การเลือกรับข่าวจากแหล่งข้อมูลที่หลากหลายจะช่วยในเรื่องของการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้รายละเอียดที่มากกว่านั่นเอง”