“ไม่มีความยุติธรรม ก็ไม่มีสันติภาพ”
นั่นเป็นข้อความที่มักได้ยินหรือเห็นบ่อยในชายแดนภาคใต้ ท่ามกลางความเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพในพื้นที่ ในขณะที่ยังเกิดเหตุรุนแรงอยู่ทุกวัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีคดีความมั่นคงเกิดขึ้นมากมาย มีคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาจำนวนมาก และมักมีข้อกล่าวหาถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม และคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมทำอะไรบ้าง
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานอัยการพิเศษ ฝ่ายคดีอาญา 2 สำนักงานอัยการภาค 9 และสำนักงานอัยการสูงสุด จัดงานแถลงเปิดผลงานวิจัยเรื่อง "การประเมินประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคง และวิเคราะห์คำพิพากษาคดีความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้"ที่โรงแรมราชมังคลา พาวิลเลียน บีช รีสอร์ท จ.สงขลา เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2557 มีนายมนัส สุขสวัสดิ์ รองอัยการสูงสุด เป็นประธาน
การศึกษาวิจัยนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงายอัยการภาค 9 กับมูลนิธิเอเชีย โดยศึกษาคดีความมั่นคงทั้งหมดในจังหวัดชายแดนภาคใต้ระหว่างเดือนสิงหาคม 2555 ถึงเดือนกรกฎาคม 2556 ต่อเนื่องจากการศึกษาในเฟสแรก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 ถึงเดือนกรกฎาคม 2555
นอกจากนี้ยังได้ศึกษาวิเคราะห์ คำพิพากษาคดีความมั่นคงกว่าร้อยละ 80 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยมุ่งเรื่องปริมาณคดี ประสิทธิภาพและความสำเร็จของคดีความมั่นคงที่ใช้พยานหลักฐานทางนิติเวชศาสตร์และนิติวิทยาศาสตร์ ร่วมกับพยานหลักฐานอื่น ทั้งในชั้นก่อนฟ้องและในชั้นพิพากษา
สำหรับผลการศึกษาวิจัยพบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 มีคดีความมั่นคงที่สำนักงานอัยการจังหวัดชายแดนภาคใต้รับไว้ 466 คดี แยกเป็นคดีที่ไม่ปรากฏตัวผู้กระทำผิดมากที่สุด ร้อยละ 51.03
รองลงมาเป็นคดีที่รู้ตัวผู้กระทำผิด ร้อยละ 27.90 โดยในจำนวนนี้อัยการมีคำสั่งฟ้องทุกข้อหาและบางข้อหาร้อยละ 61.64 หรือ 98 คดี และสั่งไม่ฟ้องร้อยละ 38.36 หรือ 61 คดี ซึ่งเมื่อนำผลศึกษาไปเปรียบเทียบกับเฟสแรก พบว่าจำนวนคดีที่พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง มีมากขึ้นร้อยละ 4.45
จาก 210 วัน ลดเหลือ 20 กว่าวันในการพิจาณาสำนวน
ประเด็นน่าสนใจ คือ จากการศึกษาพบว่า ระยะเวลาในการสั่งคดีความมั่นคงของพนักงานอัยการที่ใช้เวลาลดลงถึงร้อยละ 90.38
นั่นคือในช่วงวันที่ 1 สิงหาคม 2555 ถึง 31 กรกฎาคม 2556 ระยะเวลาในการสั่งคดีความมั่นคงของพนักงานอัยการตั้งแต่วันรับคดีถึงวันสั่งคดี ใช้เวลาเฉลี่ยเพียง 20.24 วันเท่านั้น ในขณะที่ระยะเวลาการสั่งคดีในช่วงเดือนมกราคม 2547 ถึงกรกฎาคม 255ใช้เวลาเฉลี่ย 210.36 วัน
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากพนักงานอัยการมีประสบการณ์ในการดำเนินคดีความมั่นคงในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงมีการฝึกอบรมพนักงานอัยการที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่มากขึ้นและได้รับหนังสือแนวทางการดำเนินคดีความมั่นคงไว้ใช้ในการปฏิบัติ
ชั้นศาลยังนานเหมือนเดิม-เน้นหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้การพิจารณาคดีในชั้นพนักงานสอบสวนจะใช้เวลาน้อยลง แต่การพิจารณาคดีในชั้นศาล ยังใช้ระยะเวลาค่อนข้างนาน ด้วยเหตุปัจจัยหลายประการ เช่น ไม่มีกฎหมายกำหนดกรอบเวลาบังคับให้ศาลพิจารณาคดีหรือพิพากษาให้แล้วเสร็จตามกำหนด รวมทั้งการขอเลื่อนคดีของคู่ความ ปัญหาการติดตามตัวพยาน หรือบางคดีมีความซ้ำซ้อนและมีพยานเกี่ยวข้องจำนวนมาก
ส่วนผลคำพิพากษา จากการรวบรวมคำพิพากษาในช่วงเวลาที่ศึกษา จำนวน 157 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีที่มีการฟ้องคดีก่อนช่วงที่ทำการศึกษา พบว่า คดีถึงที่สุดในศาลชั้นต้น ยกฟ้องร้อยละ 83.63 คดีถึงที่สุดในศาลชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องร้อยละ 57.89 และคดีถึงที่สุดในศาลฎีกา ยกฟ้องร้อยละ 21.42
เมื่อเปรียบเทียบเฉพาะคำพิพากษาศาลฎีการะหว่างช่วงปีที่ทำวิจัยกับช่วงปี 2547 – 2555 พบว่า ศาลฎีการับฟังพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.53 แสดงให้เห็นว่าศาลฎีกาให้ความสำคัญกับพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์และพยานหลักฐานอื่นๆ ที่พนักงานอัยการนำเสนอในสำนวนมากขึ้น
ส่วนคดีที่ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานแวดล้อม ศาลอาจนำหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์มาพิจารณาลงโทษจำเลยเพียงอย่างเดียว หากขั้นตอนการจับเก็บ การตรวจพิสูจน์ การรับ-ส่งพยานหลักฐาน และการครอบครองห่วงโซ่ของพยานหลักฐานเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการครบถ้วน
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงการดำเนินคดีความมั่นคง
งานวิจัยชิ้นนี้ ยังมีข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงการดำเนินคดีความมั่นคงของรัฐด้วย เช่น -กำหนดให้การดำเนินคดีความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ มีนโยบายระยะยาวชัดเจน มีงบประมาณและบุคลากรเพียงพอ และมีโครงสร้างหน่วยงานที่รับผิดชอบชัดเจน
รวมทั้งต้องเพิ่มองค์ความรู้ทางวิชาการในการดำเนินคดีความมั่นคง รวมถึงการใช้และการชั่งนำหนักพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ และการซักถามพยาน การถ่ายทอดองค์ความรู้และต้องประชาสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ต้องติดตามและประเมินผลอย่างชัดเจน
ขณะเดียวกันสำนักงานอัยการควรเพิ่มความเข้มข้นของการดำเนินคดีในชั้นศาลสูง เพื่อกระตุ้นเตือนให้ผู้รับผิดชอบสำนวนคดีในชั้นต้น และชี้แนะข้อบกพร่องในการดำเนินคดี เพื่อช่วยปรับปรุงการดำเนินคดีในอนาคต
ปัญหาการดำเนินคดีความมั่นคง – การยกฟ้องคดี 112
ทั้งนี้ งานแถลงเปิดผลงานวิจัยดังกล่าว มีขึ้นหลังจากการนำเสนอผลงานวิจัยเรื่องเดียวกันต่อเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทางด้านความมั่นคงในพื้นที่กว่า 100 คน พร้อมกันนั้นยังได้แจกหนังสือ “การวิจัยประเมินประสิทธิภาพของรัฐในการดำเนินคดีความมั่นคง โดยการใช้พยานหลักฐานด้านนิติเวชศาสตร์ และนิติวิทยาศาสตร์ และพยานหลักฐานอื่นๆ : กรณีศึกษาสี่จังหวัดชายแดนใต้ (สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส)” และหนังสือ “ประมวลคำพิพากษา วิเคราะห์การใช้และการรับฟังพยานหลักฐานนิติวิทยาศาสตร์ และพยานหลักฐานอื่นในคดีความมั่นคง พ.ศ.2554-2556 เล่มที่ 1 และเล่มที่ 2
ในเวทีเดียวกันนี้ นายโสภณ ทิพย์บำรุง อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 2 ภาค 9 สำนักงานอัยการภาค 9 ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยดังกล่าว ยังได้กล่าวสรุปการดำเนินโครงการด้วย โดยกล่าวถึงปัญหาและข้อค้นพบหลายอย่างจนทำให้ให้มีการร้องเรียนเกี่ยวกับการดำเนินคดีจำนวนมา ไม่ว่าจะเป็น การอายัดซ้ำ การฟ้องคดีซ้ำซ้อน รวมทั้งความไม่เข้าใจของบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมต่อการใช้พยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์
โดยตัวอย่างหนึ่งที่นายโสภณ กล่าวถึงคือกรณีศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยในคดีหมิ่นพระบรมเดชนุภาพ ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาที่จังหวัดปัตตานี เมื่อไม่นานมานี้ โดยคดีนี้จำเลยอ้างว่า มีอาชีพทำประมง โดยคนร้ายได้นำเชือกอวนไปในการก่อเหตุ ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษ โดยผลการตรวจสารพันธุกรรม หรือ ดีเอ็นเอ (DNA) ตรงกับของจำเลย แต่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าห่วงโซ่ในการครอบครองพยานหลักฐานไม่ถูกต้องหรือมีข้อบกพร่อง
โดยนายโสภณเห็นว่า การยกฟ้องดังกล่าวเป็นเพราะอัยการไม่มีความรู้เรื่องการตรวจดีเอ็นเอ ทั้งที่การตรวจดีเอ็นเอนั้น มีโอกาสผิดพลาดเพียง 99.99988% หรือ 2 ใน 200,000 ล้านคนเท่านั้น เพราะฉะนั้นบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมยังไม่มีความรู้เรื่องนิติวิทยาศาสตร์อย่างมาก