Quantcast
Channel: พันศักดิ์ วิญญรัตน์
Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 27 ส.ค. - 2 ก.ย. 2557

$
0
0

ธุรกิจประมงกันตัง จ.ตรัง ทรุดหนัก เหตุต้นทุนน้ำมันสูง-ต่างด้าวมีปัญหา
 
(27 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเรืองแสน กลิ่นประทุม ผู้จัดการแพปลาปรีชาสุมทร อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้การประกอบธุรกิจประมงมีความเปลี่ยนแปลงไปจากเมื่อครั้งอดีต โดยเฉพาะต้นทุนต่างๆ ที่พุ่งสูงมากขึ้น แต่กำไรที่ได้รับกลับลดน้อยลง นับตั้งแต่ปัญหาราคาน้ำมันที่ขยับตัวมาอย่างต่อเนื่อง ตามด้วยปัญหาทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดลงเยอะจนทำให้ต้องออกไปจับปลาไกลขึ้น ส่วนเรือ และเครื่องมือก็ต้องทันสมัยมากขึ้น หรือมีการเปลี่ยนใบจักร เปลี่ยนเกียร์ เปลี่ยนเพลาให้มีขนาดใหญ่ขึ้น เพื่อจะได้เกิดความคุ้มค่าสำหรับออกไปทะเลนานๆ รวมทั้งประหยัดทุกวิถีทาง เช่น ลดการใช้น้ำมัน จากวันละ 600 ลิตร เหลือแค่ 480 ลิตร
       
สำหรับแรงงานต่างด้าวก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แก้ไม่ตก โดยเรือลำหนึ่งๆ จะต้องจ่ายเงินเดือนให้แก่ลูกน้อง ที่มีอยู่ลำละ 8-10 คน ครั้งละประมาณ 1.5 แสนบาท แต่เมื่อกลับเข้าฝั่งแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ก็จะหายไปถึง 50% เพื่อไปทำงานอื่นแทน เช่น ก่อสร้าง สวนยางพารา ทำให้แพปลาต้องไปหาลูกน้องใหม่มาทำงานอีก ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจประมงจึงเห็นดีด้วยต่อการจัดระเบียบแรงงานต่างด้าว เพราะต้องยอมรับว่า มีบางคนที่ทำตัวไม่ดี และยังเป็นการเข้ามาแพร่เชื้อโรค และปัญหาอื่นๆ อีกด้วย พร้อมเสนอให้แรงงานต่างด้าวที่ตั้งท้องกลับไปคลอดลูกยังประเทศของตัวเอง เพื่อมิให้เด็กเหล่านี้ต้องมาเป็นภาระต่อระบบสาธารณสุขของไทย
       
นายสมพล จิโรจน์มนตรี นายกสมาคมประมงกันตัง เปิดเผยว่า ขณะนี้การทำประมงในพื้นที่มีความย่ำแย่มาโดยตลอด และหนทางภายภาคหน้าก็ยิ่งมืดมน เพราะในช่วงเวลา 1 ปี จะสามารถออกเรือได้แค่ 5-6 เดือนเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องเจอกับมรสุมจนออกทะเลไปไม่ได้ ประกอบกับมาเจอกับปัญหาน้ำมันแพง วัตถุดิบหายาก และแรงงานขาดแคลนด้วย ทำให้เรือประมงของอำเภอกันตัง จากเดิมที่เคยมีมากถึง 300 ลำ กลับเหลือเพียงแค่ 180 ลำ หรือหายไป 30-40% เนื่องจากผู้ประกอบการหลายรายยอมจอดเรือ ขายเรือ หรือถึงขั้นทิ้งเรือไปเลย อีกทั้งขณะนี้ก็ยังมีกำไรเหลือไม่ถึง 20% โดยส่วนใหญ่พอจะคุ้มทุน หรือพออยู่ได้เท่านั้น
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 27-8-2557)
 
ขสมก.ปรับราคา-โละพนักงาน 8 พัน
 
พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กล่าวหลังการประชุมบอร์ด ขสมก.ว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาปรับปรุงแผนฟื้นฟู ขสมก. เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน ซึ่งจะสรุปรายละเอียดเสนอมายังกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะเสนอไปยังคณะอนุกรรมการกลั่นกรองของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแล รัฐวิสาหกิจ (คนร.) ภายใน 15 วัน
 
ด้านนางปราณี ศุกระศร กรรมการ ในฐานะโฆษกคณะกรรมการ ขสมก. กล่าวว่า แผนฟื้นฟู ขสมก.เป็นแผนระยะ 10 ปี รวม 13 โครงการ ซึ่งเป็นการปรับการบริหารจัดการทั้งระบบ ทั้งการจัดหารถเมล์ใหม่ การปรับลดเส้นทางรถเมล์ ปรับลดจำนวนบุคลากร
 
"ส่วน หนี้สินสะสมที่มีอยู่ 9 หมื่นล้านบาท จะเสนอให้รัฐบาลพิจารณาหาทางช่วยเหลือเพราะมีผลต่อภาระดอกเบี้ยที่ขสม ก.แบกรับปีละกว่า 240 ล้านบาท ส่วนแผนดำเนินการนั้นเบื้องต้น ขสมก.มีการเสนอขอปรับค่าโดยสารในปี 2561 สำหรับรถธรรมดา (รถร้อน) และรถปรับอากาศ ปรับเพิ่มขึ้นอีก 1 บาท เพื่อให้ ขสมก.สามารถที่จะเลี้ยงตัวเองได้"
 
สำหรับแผนดำเนินการทั้ง 13 โครงการ อาทิ การจัดหารถเมล์ใหม่ ลดต้นทุนดำเนินการได้มากถึง 2 ใน 3 โดยเฉพาะต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ภาระการซ่อมบำรุงรถ ส่วนการ ปรับโครงสร้างองค์กรและปรับลดพนักงานเพราะนำระบบการจัดเก็บค่าโดยสาร อัตโนมัติ (อีทิกเก็ต) เข้ามาใช้ จะลดพนักงานเก็บค่าโดยสารได้ประมาณ 6 พันคน
 
นอกจากนี้จะยกเลิกเช่าอู่จอดรถเปลี่ยนเป็นมาขอใช้ พื้นที่ส่วนราชการ รวมทั้งการปรับลดเส้นทางรถเมล์ใหม่เพื่อให้วิ่งในช่วงที่สั้นลง ลดความซ้ำซ้อน แผนทั้งหมดนี้จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายลดลงได้มากกว่า 50%
 
"ตาม แผนฟื้นฟู ขสมก. เป็นแผนระยะ 10 ปี จะเริ่มเห็นความชัดเจนได้หลังจากมีการเปลี่ยนรถเมล์ใหม่ทั้งหมด ปรับปรุงเส้นทางรถเมล์และใช้ระบบอีทิกเก็ต จะทำให้ภาระค่า ใช้จ่ายลดลงได้มาก ซึ่งเมื่อครบ 10 ปี ก็อาจจะเห็นขสมก. มีรายได้และรายจ่ายที่ใกล้เคียงกันเท่านั้น"นางปราณีกล่าว
 
ส่วนการปรับลดพนักงานนั้น นางปราณีกล่าวว่า มี 2 ส่วน ส่วนที่เป็นพนักงานที่เกษียณในแต่ละปีประมาณ 200-300 คน หากเป็นพนักงานประจำสำนักงานจะไม่รับเพิ่ม ส่วนพนักงานเก็บค่าโดยสารหากใช้ระบบการจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติ จะให้ไปทำหน้าที่อื่นแทน คาดว่าจะลดพนักงานได้ 6-8 พันคนจากปัจจุบันมีพนักงานทั้งสิ้น 1.3 หมื่นคน 
 
(ข่าวสด, 28-8-2557)
 
ก.แรงงาน เตือนระวังถูกหลอกทำงานก่อสร้างที่ญี่ปุ่น
 
กรุงเทพฯ 1 ก.ย.-กระทรวงแรงงาน เตือนคนไทยระวังถูกหลอกไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัด Fukushima ประเทศญี่ปุ่น ย้ำรัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีนโยบายรับแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือและไม่มีรับตรง ผู้จะทำงานก่อสร้างได้ต้องเป็นผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิค ผ่านองค์กรผู้รับ–ผู้ส่ง เท่านั้น
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน  เปิดเผยถึงกรณีมีข่าวการชักชวนคนไทยไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัด Fukushima ในประเทศญี่ปุ่น ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นพบว่า ได้รับโทรศัพท์จากคนไทยที่มีถิ่นพำนักอาศัยอยู่ในญี่ปุ่น ว่า เพื่อนหรือญาติที่ประเทศไทยแจ้งว่า มีผู้ชักชวนไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัด Fukushima ซึ่งตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิ และแผ่นดินไหว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งฟื้นฟูความเสียหาย โดยแจ้งว่าจะมีการรับคนงานก่อสร้างเป็นจำนวนมากไปฟื้นฟูพื้นที่และสร้างเมือง โดยสามารถเข้าไปทำงานได้เลย แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000 บาท และขณะนี้สำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่นได้รับโทรศัพท์สอบถามทำนองนี้  3  ครั้ง จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่า กำลังเกิดการหลอกลวงที่ประเทศไทย โดยประชาสัมพันธ์ว่าได้รับโควตาจัดส่งแรงงานก่อสร้างจำนวนมากไปทำงานที่ประเทศญี่ปุ่น
 
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวย้ำว่า จากข้อมูลของสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น แจ้งว่า รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีนโยบายรับแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ หรือให้มีการรับตรงแต่อย่างใด โดยผู้จะมาทำงานก่อสร้างจะต้องมาในลักษณะผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคผ่านองค์กรผู้รับผู้ส่งเท่านั้น
 
(สำนักข่าวไทย, 1-9-2557)
 
สปส.เสนอ สนช.แก้ กม.ประกันสังคม เปิดทางเลือกรับเงินบำเหน็จ-บำนาญ
 
นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายน 2557 สปส.จ่ายเงินสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพให้แก่ผู้ประกันตนที่มีอายุ 55 ปีขึ้นไป ซึ่งเกษียณอายุจากการทำงานและพ้นจากความเป็นผู้ประกันตนทั้งหมด 83,341 คน แยกเป็นเงินบำนาญชราภาพ 11,936 ราย เป็นเงินกว่า 113 ล้านบาท และเงินบำเหน็จชราภาพ 71,405 ราย เป็นเงินกว่า 2,796 ล้านบาท ทั้งนี้ ในแต่ละเดือนมีผู้ประกันตนได้รับเงินบำนาญชราภาพเดือนละกว่า 4,000 ราย แบ่งเป็นผู้ประกันตนรายเก่าที่ได้รับเงินนี้อยู่แล้วกว่า 3,000 ราย และผู้ประกันตนรายใหม่ที่เพิ่งได้รับเงินนี้กว่า 1,000 คน ส่วนเงินบำเหน็จชราภาพเฉลี่ยเดือนละกว่า 10,000 ราย 
 
นพ.สุรเดชกล่าว อีกว่า ส่วนที่ผู้ประกันตนเรียกร้องให้ สปส.เปิดทางให้ผู้ประกันตนสามารถเลือกได้ว่าเมื่อส่งเงินสมทบมาครบ 15 ปีหรือ 180 เดือนแล้ว จะเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพ ได้นั้น เรื่องนี้เป็นข้อหนึ่งในร่างแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกันสังคม พ.ศ.2533 ที่ สปส.เสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว ซึ่งจากการประเมินนั้นหากผู้ประกันตนเลือกรับเป็นเงินบำเหน็จจะส่งผลกระทบ ต่อความมั่นคงด้านการเงินในระยะยาวของกองทุนประกันสังคมน้อยกว่าการรับเงิน บำนาญ เนื่องจากเงินบำเหน็จนั้นเป็นเงินสมทบของผู้ประกันตนและนายจ้างบวกกับผลตอบ แทนจากการที่ สปส.นำเงินไปลงทุนและจ่ายเพียงครั้งเดียว แต่เงินบำนาญต้องจ่ายไปตลอดชีวิต ทำให้ต้องนำเงินกองทุนประกันสังคมที่สะสมไว้มาจ่าย
 
ด้านนายสมพร ขวัญเนตร ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกันตน เห็นด้วยกับร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ในการให้ผู้ประกันตนเลือกรับเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญชราภาพได้ เนื่องจากถือเป็นสิทธิของผู้ประกันตน บางคนอาจมีความจำเป็นที่ต้องการเป็นเงินบำเหน็จ เพื่อนำไปลงทุนหลังเกษียณอายุจากการทำงาน หรือนำไปดำเนินการในเรื่องที่มีความจำเป็น อย่างไรก็ตาม การเลือกรับเงินไม่ว่าจะเป็นเงินบำเหน็จหรือเงินบำนาญก็ไม่ส่งผลกระทบต่อกอง ทุนประกันสังคม เนื่องจากเงินไม่ได้ไหลออกจากกองทุนอย่างเดียว เงินก็ยังไหลเข้ากองทุนเช่นกัน เพราะมีการสะสมจากผู้ประกันตน และจากการลงทุนต่างๆ ทั้งหมดอยู่ที่การบริหารจัดการ
 
(ประชาชาติธุรกิจ, 1-9-2557)
 
สคร.เร่งรื้อเกณฑ์ประเมินโบนัส-เงินเดือนพนักงานรสก. ผงะการบินไทยขาดทุนบักโกรก แต่ยังอยู่กลุ่ม A
 
นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สคร.กำลังพิจารณาเกี่ยวกับการปรับสิทธิ์ประโยชน์พนักงานรัฐวิสาหกิจใหม่ โดยกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเกณฑ์การประเมินคุณภาพรัฐวิสาหกิจ(SEPA) ซึ่งจะพยายามทำให้แล้วเสร็จในปีงบ 2558 เพื่อให้มีผลต่อการพิจารณาในเรื่องโบนัส และเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจในช่วงปี 2559 ที่จะต้องนำผลการดำเนินการงานปี 2558 มาพิจารณา ซึ่งการปรับเกณฑ์ครั้งใหม่นี้จะมีการพิจารณาสำหรับรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน ที่ควรจะได้รับโบนัสบ้าง เพื่อเป็นขวัญและกำลังใจต่อพนักงานและผู้บริหาร ที่จะดำเนินการตามแผนฟื้นฟู จากเดิมนั้นหากเป็นรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะหมดสิทธิ์ได้รับโบนัส
 
“คงต้องไปดูว่าเกณฑ์การประเมินที่มีอยู่นั้นเหมาะสมหรือไม่ควรปรับเปลี่ยนอะไรและการให้คะแนนง่ายไปหรือไม่ พร้อมทั้งต้องให้ความเป็นธรรมกับรัฐวิสาหกิจที่ไม่เคยมีกำไร อาจจะต้องจ่ายโบนัสให้บ้าง เพื่อให้พนักงานมีกำลังใจในการทำงานเพื่อองค์กรต่อไป ตรงนี้จะต่างจากของเดิมที่หากขาดทุนจะไม่มีโอกาสได้รับโบนัสเลย”นายกุลิศ กล่าว
 
ทั้งนี้เดิมทีการประเมินนั้น สคร.จะให้น้ำหนักใน 3 ส่วนคือ 1.การดำเนินงานตามนโยบาย น้ำหนัก 20-30% 2. ผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ น้ำหนัก40-50% และ 3. การบริหารจัดการองค์กร น้ำหนัก 30% หากหน่วยงานใดได้ 5 คะแนนเต็ม สามารถจ่ายโบนัสได้ 11% ของกำไรสุทธิ หรือคิดเป็น 8 เท่าของเงินเดือน ไล่ลงมาหากได้ 4.5 คะแนนจ่ายโบนัสได้ 10.5% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 7 เท่าของเงินเดือน ได้ 4 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 10% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 6 เท่าของเงินเดือน  ไล่ลงมาหากได้ หากได้ 2.5 คะแนน จ่ายโบนัสได้ 8.5% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 4.5 เท่าของเงินเดือนได้ 2 คะแนน ได้ 1 คะแนนถือว่าต่ำมาก จ่ายโบนัสได้ 7% ของกำไรสุทธิ หรือไม่เกิน 2 เท่าของเงินเดือน แต่ถ้าขาดทุนไม่มีสิทธิ์จ่ายโบนัส
 
นอกจากนี้กำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจ A B C ใหม่ให้เหมาะสม เพราะของเดิมนั้นใช้มานานหลายปี บางรัฐวิสาหกิจมีผลการดำเนินการที่ดีขึ้นควรจะได้รับการปรับจากกกลุ่ม B หรือ C ให้มาอยู่กลุ่ม A และบางรัฐวิสาหกิจอาจจะต้องตกชั้นจากกลุ่ม A เพราะมีผลประกอบการที่แย่ลง โดยขณะนี้กลุ่ม A มี 7 แห่ง อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธกส.) ธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด( บวท.) บริษัท การบินไทย จำกัด(มหาชน) กลุ่ม B มี 26 แห่ง อาทิ ธนาคารออมสิน การประปานครหลวง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สถาบันวิจัย โรงงานยาสูบ การท่าเรือแห่งประเทศไทย การเคหะแห่งชาติ บริษัท ขนส่ง จำกัด กลุ่ม C มี 22 แห่ง อาทิองค์การสุรา โรงงานไพ่ การกีฬาแห่งประเทศไทย โรงพิมพ์ตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ องค์การคลังสินค้า องค์การสะพานปลา องค์การตลาดเพื่อเกษตรกร องค์การตลาด องค์การจัดการน้ำเสีย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 
 
(มติชนออนไลน์, 1-9-2557)
 
สธ.เตรียมปรับฐานเงินเดือน พกส. เพิ่มทั้งสายวิชาชีพ สายสนับสนุน 6% 
 
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวภายหลังการประชุม เรื่องการปรับฐานเงินเดือนให้กับพนักงานกระทรวงสาธารณสุขว่า ที่ประชุมได้มีข้อสรุปให้ปรับฐานเงินเดือนพนักงานกระทรวงสาธารณสุข (พกส.) ทุกคน ทั้งในสายวิชาชีพ และสายสนับสนุนเพิ่มขึ้น 6% และจะพิจารณาเพิ่มเงินเดือนอีกไม่เกิน 4% ขึ้นอยู่กับการประเมินผลงาน รวมเป็น 10% ของเงิน พกส. จำนวนลูกจ้างชั่วคราและพกส.ทั้งกสธ.มีประมาณ 160,000 คน ใช้เงินนอกงปม. (เงินบำรุง) จ้างประมาณ 14,000 ล้านบาทต่อปี ในส่วนสป.สธ. มีประมาณ 140,000 คน ใช้เงินประมาณ 13,000 ล้าน/ปี ถ้าปรับ 6% เลื่อนค่าจ้างตามผลงาน 4% จะใช้เงินไม่เกิน 1,300 ล้าน/ปี ภายใน 6 เดือนข้างหน้า สป.สธ. จะสามารถประหยัดเงินบำรุงได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี คาดว่าน่าจะเพียงพอเพราะลูกจ้างชั่วคราวสายวิชาชีพเหลือน้อยลงแล้ว ตอนนี้ประมาณ 9 พันคนเท่านั้น
 
ข้อเรียกร้องให้ลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกจ้างประจำทุกคน เหนืออำนาจ กสธ. เพราะ กพ.และคปร. ออกนโยบายเปลี่ยนลูกจ้างประจำเป็นพนักงานราชการ
 
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงสาธารณสุข จะพยายามทำความเข้าใจกับกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจไปเรื่อยๆ ไม่เลิกที่จะทำความเข้าใจ โดยใช้วิธีให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผอ.โรงพยาบาล อธิบายเพิ่มเติมว่า อะไรที่สามารถทำได้ อะไรที่ไม่สามารถทำได้ เพราะจะให้ได้ดั่งใจทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องเข้าใจ เพราะว่าการปรับฐานเงิน ปรับวิธีการจ้างงานจากลูกจ้างชั่วคราวมาเป็น พกส.นั้น ส่วนตัวคิดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี โดยการปรับไปเรื่อยๆ สุดท้ายจะเป็นการจ้างงานที่มั่นคง
 
ด้าน นางกนกพร สุขสนิท ประธานภาคีลูกจ้างชั่วคราวของรัฐแห่งประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ข้อสรุปที่ออกมาดี ทางผู้บริหารกล้าที่จะต่อสู้เพื่อให้มีการปรับฐานเงินเดือน พกส.เพิ่มเป็น 6% จากเดิมเตรียมปรับเพิ่มเพียงแค่ 3% เท่านั้น
 
อย่างไรก็ตาม สำหรับกรณีที่ สมาพันธ์สมาคมลูกจ้างรัฐแห่งประเทศไทย (สสลท.) ที่ไปร้องคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นั้น ทราบว่ามีการเรียกร้องให้บรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็นลูกจ้างประจำทั้งหมดนั้น ถือว่าเป็นข้อเรียกร้องที่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงสาธารณสุขที่จะทำได้ แต่หากข้อเรียกร้องนี้เป็นจริงได้ก็เป็นเรื่องที่ดี แต่ตรงนี้ก็ต้องทำให้เหมือนกันหมดทุกกระทรวง ทั่วประเทศ อาจจะเริ่มที่กระทรวงสาธารณสุขก่อน ทั้งนี้ การเรียกร้องด้วยความสันติ เพราะเรื่องนี้เราเรียกร้องกันมานานแต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นเพิ่มเติมเลย ยิ่งตอนนี้ พกส.เพิ่มขึ้นเยอะมาก จาก 1.2 แสน เป็น 1.4 แสนคน ตรงนี้เหมาะสมกับงานหรือไม่
 
(ไทยรัฐ, 1-9-2557)
 
สมาคมลูกจ้างของรัฐร้องคสช.ปรับโครงสร้าง
 
กลุ่มสมาพันธ์สมาคมลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย จำนวนหนึ่ง เดินทางมาที่หน้ากองบัญชาการกองทัพบก เพื่อยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานของกระทรวงสาธารณสุข ในการปรับโครงสร้างของลูกจ้างชั่วคราว และพนักงานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด และให้ปรับเงินเดือนขั้นต่ำ 9,000 บาท ปริญญาตรีและสายวิชาชีพ 15,000 บาท และยังมีการขอให้ปรับลูกจ้างชั่วคราวเป็นพนักงานของกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประสานงานดูแลความสงบ ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างเรียบร้อย
 
(ไอเอ็นเอ็น, 1-9-2557)
 
กสร. เผย พนักงานตรวจแรงงานไม่เพียงพอแบกภาระ 1 คนต่อ 1.3 พันสถานประกอบการ 
 
(1 ก.ย.) ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน จัดงานประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล โดยมี นายสุวิทย์ สุมาลา รองอธิบดี กสร. เป็นประธานเปิดงาน พร้อมกล่าวบรรยายพิเศษถึงนโยบายการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงทะเล ว่า กิจการประมงเป็นกิจการที่สร้างรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมาก และถูกกล่าวหาว่ามีการบังคับใช้แรงงานอันเป็นส่วนหนึ่งของการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยถูกระบุว่ามีการบังคับใช้แรงงาน สภาพการทำงานที่อันตราย ได้รับค่าจ้างน้อย เป็นต้น จากปัญหาที่ยืดเยื้อ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงได้กำหนดนโยบายเร่งด่วนเพื่อป้องกันและแก้ปัญหาค้ามนุษย์ โดยให้ทุกภาคส่วนบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ขณะเดียวกัน กสร. ได้กำหนดนโยบายในการป้องกันและแก้ปัญหา โดยการกำหนดแนวทางการตรวจคุ้มครองแรงงานและสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจัง ส่วนการบังคับใช้กฎหมายด้านการคุ้มครองแรงงานนั้นจะเริ่มต้นเมื่อตรวจพบสถานประกอบกิจการที่ดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย พนักงานตรวจแรงงานจะมีคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติตาม จากนั้นนำเรื่องส่งให้พนักงานสอบสวนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงในความผิดฐานที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
       
รองอธิบดี กสร. กล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ การตรวจแรงงานมีความเข้มข้นมาก แต่ปัจจุบันต้องมองว่ามีการตรวจแรงงานได้เข้มข้นเพียงพอหรือไม่ มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจแรงงาน อย่างจริงจังหรือไม่ ปัจจุบันโดยส่วนมากเป็นแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีใครรู้ว่ามาจากไหน จึงมีการลือกันว่าเมื่อมีการทำร้ายร่างกาย และหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งไม่เป็นความจริงเพราะแรงงานในเรือมีเยอะมาก ไม่มีใครเป็นใหญ่ ใช้การปกครองแบบถ้อยที่ถ้อยอาศัยกันเพราะต้องออกไปทำงานบนเรือร่วมกันกว่า 2 ปี
       
นายสุวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะที่งบประมาณการดูแลที่ไม่เพิ่มขึ้นและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีอย่างจำกัด ในการตรวจและคุ้มครองแรงงาน ทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาในไทยอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการมีการต่อว่า กสร. ทำงานล่าช้า จากแรงงานไทยและภาคส่วนต่างๆ เมื่อไทยถูกกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์ ในขณะที่แรงงานที่ต้องดูแลเพิ่มขึ้นจากแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานตรวจแรงงาน 1 คน ต่อการตรวจสถานประกอบการจำนวนถึง 1,300 แห่ง แต่ตามมาตรฐานสากล และจากการวิจัยของมหาวิทยาลัยรามคำแหงพบว่าพนักงานตรวจแรงงาน 1 คน จะต้องตรวจสถานประกอบการไม่เกิน 200 แห่ง ซึ่งสวนทางกับความเป็นจริงในปัจจุบัน ทั้งนี้เมื่อหน้าที่เพิ่มขึ้น เจ้าหน้าที่ กสร. และพนักงานตรวจแรงงาน ควรปฏิบัติหน้าที่อย่างเคร่งครัด โดยการร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ โดยกำหนดแผนการทำงานที่ชัดเจนและปฏิบัติตามแผนอย่างเข้มงวด พร้อมเน้นการตรวจคุ้มครองแรงงานต่างด้าว เพื่อแก้ปัญหาการค้ามนุษย์เป็นการเฉพาะ
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 1-9-2557)
 
ผู้เชี่ยวชาญแรงงานย้ายถิ่นเตรียมขึ้นศาลอาญาไทยเพื่อไต่สวนความผิดฐานหมิ่นประมาทโรงงานผลไม้
 
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงาน แอนดี้ ฮอลล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานย้ายถิ่น สถาบันวิจัยประชากรและสังคม ชาวอังกฤษ เตรียมขึ้นศาลเพื่อไต่สวนความผิดทางอาญาในข้อหาหมิ่นประมาท โดยโรงงานผลิตภัณฑ์ผลไม้ชื่อดังของเมืองไทยเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง หลังชื่อบริษัทถูกกล่าวหาในบทวิจารณ์เกี่ยวกับใช้แรงงานผิดกฎหมาย ที่เขาเขียนขึ้น เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากการพิจารณาคดีชี้ว่าเขามีความผิดจริง อาจต้องโทษถูกจำคุกนานถึง 7 ปี
 
ทั้งนี้ โจนาธาน เฮด ผู้สื่อข่าวบีบีซีภาคพื้นเอเชีย เรียกร้องให้บริษัทค้าปลีกและองค์กรแรงงาน เรียกร้องให้บริษัทผลไม้ไทย ถอนฟ้องและเปลี่ยนเป็นสอบสวนความผิดแทน โดยเขากล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีการเติบโตด้านการผลิตอาหารใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก แต่มีปัญหาภาพลักษ์ด้านการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และในปีนี้ ไทยยังถูกลดอันดับการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ลงอยู่ระดับต่ำสุดด้วย
 
(ไอเอ็นเอ็น, 2-9-2557)
 
เตือนคนไทยระวัง!ถูกหลอกทำงานในญี่ปุ่น
 
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่มีข่าวการชักชวนคนไทยไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัด Fukushima ในประเทศญี่ปุ่น ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นของสำนักงานแรงงานในประเทศญี่ปุ่น พบว่าได้รับโทรศัพท์จากคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศญี่ปุ่นว่า เพื่อนหรือญาติที่ประเทศไทย แจ้งว่ามีผู้ชักชวนไปทำงานก่อสร้างที่จังหวัด Fukushima ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากสึนามิและแผ่นดินไหว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเร่งฟื้นฟูความเสียหาย โดยแจ้งว่าจะมีการรับคนงานก่อสร้างเป็นจำนวนมากไปฟื้นฟูพื้นที่และสร้างเมือง โดยสามารถเข้าไปทำงานได้เลย ทั้งนี้ต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 400,000 บาท
 
ทั้งนี้รัฐบาลญี่ปุ่นไม่มีนโยบายรับแรงงานต่างชาติไร้ฝีมือ หรือให้มีการรับตรงแต่อย่างใด โดยผู้ที่จะมาทำงานก่อสร้างจะต้องมาในลักษณะผู้ฝึกปฏิบัติงานเทคนิคผ่านองค์กรผู้รับผู้ส่งเท่านั้น
 
(บ้านเมือง, 2-9-2557)
 
เล็งเสนอร่าง กม.2 ฉบับ สกัดใช้แรงงานเด็ก-ค้ามนุษย์
 
ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน (รง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประชุมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในเรื่องการทบทวนกฎหมายที่เป็นอุปสรรคการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ โดยในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) แจ้งว่า ได้จัดทำร่างกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและค้ามนุษย์จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานภาคเกษตรโดยกำหนดให้ลูกจ้างที่ทำงานด้านเกษตรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี จากเดิมกำหนดให้ลูกจ้างมีอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไป รวมทั้งยังมีข้อกำหนดอื่นๆ เช่น วันหยุดประจำปี การลาป่วย การจัดสวัสดิการ เช่น น้ำดื่ม ที่พัก
       
รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน กสร. ยังได้จัดทำร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล ซึ่งมีการกำหนดห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานประมงจากเดิมห้ามจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี มีสัญญาจ้าง ที่พัก การจัดให้มีที่พัก สิทธิการลาป่วย วันหยุดประจำปี หากไปตกค้างในต่างประเทศจะต้องได้รับเงินชดเชยร้อยละ 50 ของค่าจ้างขั้นต่ำตามระยะเวลาที่ตกค้าง ทั้งนี้ คาดว่า กสร. จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือนกันยายนนี้ 
       
นอกจากนี้ กรมการจัดหางาน (กกจ.) แจ้งว่ากำลังจัดทำร่างกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2537 ซึ่งได้กำหนดให้นายหน้าที่จัดหาแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ จะต้องมาจดทะเบียนกับ กกจ. เพื่อป้องกันการหลอกลวง เมื่อจัดทำร่างกฎหมายเสร็จแล้ว จะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณากฎหมายของกระทรวงแรงงานต่อไป
 
(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-9-2557)
 
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai

Viewing all articles
Browse latest Browse all 14385

Trending Articles