คลัง เล็งชงขึ้นเงินเดือนขรก. 2 แนวทางปรับทั้งระบบ-เฉพาะชั้นผู้น้อย
เมื่อวันที่ 21 ส.ค. นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยความคืบหน้าการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ว่า ขณะนี้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (กพ.) และกรมบัญชีกลาง กำลังอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด แนวทางการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการ เพื่อเสนอให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา โดยหลักการเบื้องต้นจะเสนอเป็นทางเลือก คือ การปรับขึ้นเงินเดือนทั้งระบบ หรืออีกแนวทาง ปรับขึ้นเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อยที่มีเงินเดือนไม่เกิน 9,000 บาท
นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังได้มอบนโยบายให้ดูแลประชาชนที่มีรายได้น้อยควบคู่กันไปด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังได้มีการพิจารณาเรื่องภาษีคนจน โดยทั้งหมดจะต้องนำเสนอให้รัฐบาลใหม่พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้ง
มีรายงานเพิ่มเติม จากข้อมูลกรมบัญชีกลางพบว่า ปัจจุบันมีข้าราชการประมาณ 1.77 ล้านคน ลูกจ้างประจำ 1.5 แสนคน ซึ่งปีงบประมาณ 2557 มีค่าใช้จ่ายเงินเดือนค่าจ้างประมาณ 6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นเงินเดือนข้าราชการ 5.2 แสนล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 4.34 หมื่นล้านบาท, ค่าจ้างประจำ 3.24 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 2.7 พันล้านบาท, ค่าจ้างชั่วคราว 600 ล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 50 ล้านบาท และค่าตอบแทน (พนักงานราชการ) 2.76 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยเดือนละ 2.3 พันล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2558 มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 6.3 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ หากมีการปรับขึ้นเงินเดือนทั้งระบบในอัตรา 8% จะเป็นภาระงบประมาณเพิ่มอีกจำนวน 4 หมื่นล้านบาทต่อปี และมีภาระผูกพันกรณีข้าราชการเกษียณอายุ ซึ่งต้องจ่ายบำนาญตามอัตราเงินที่ปรับขึ้นอีกด้วย ดังนั้น จึงมีการพิจารณาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ในการปรับขึ้นเงินเดือนเฉพาะข้าราชการชั้นผู้น้อย พร้อมมีการกำหนดกลุ่มข้าราชการชั้นผู้น้อยว่ามีกลุ่มใดเข้าข่ายปรับขึ้นเงินเดือน ส่วนกรณีข้าราชการบำนาญนั้น ที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นให้ผู้ได้รับบำนาญต่ำกว่า 9 พันบาท มาเป็น 9 พันบาทแล้ว
ส่วนการจ่ายเงินภาษีให้คนจน ขณะนี้มีรายงานว่าทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลังอยู่ระหว่างการศึกษา โดยจะปรับแก้จากผู้มีรายได้เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ต้องยื่นแบบภาษี เป็นผู้มีรายได้ตั้งแต่ 1 บาทแรก ต้องยื่นแบบเสียภาษี เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยอายุตั้งแต่ 15 -60 ปี มีรายได้ไม่เกิน 3 หมื่นบาทต่อปี ได้ใช้สิทธิได้รับโอนเงินจากรัฐ 20% ของรายได้ที่ได้รับ อาทิ ผู้มีรายได้ 1 หมื่นบาทต่อปี ได้โอนเงินภาษี 2 พันบาท, รายได้ 2 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 4 พันบาท, รายได้ 3 หมื่นบาทต่อปีได้โอนเงินภาษี 6 พันบาท คาดมีผู้ได้รับสิทธิประมาณ 18 ล้านคน หรือ 27.5% ของประชากรทั้งหมด
(ไทยรัฐ, 21-8-2557)
ไทยไม่ส่งแรงงานไปซาอุฯ กว่า 20 ปี เผยไม่มีรายงานลดความสัมพันธ์ทางการทูต
นายสิงหเดช ชูอำนาจ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายหลังมีกระแสข่าวการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับประเทศไทย ว่า ยังไม่ได้รับรายงานในเรื่องดังกล่าว ส่วนสถานการณ์ของแรงงานไทยนั้น ข้อมูลของสำนักงานแรงงานในประเทศซาอุดีอาระเบีย (กรุงริยาด) ระบุว่า ซาอุดีอาระเบียไม่เปิดให้นำเข้าแรงงานจากประเทศไทยมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งข้อมูลในปี 2554 นั้น มีแรงงานไทยและคนไทยอยู่ในซาอุดิอาระเบียจำนวน 9,114 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานที่ทำงานมานานกว่า 20 ปี มีอายุการทำงานนานและมีทักษะฝีมือสูงเป็นที่ต้องการของนายจ้าง โดยจะทำงานในภาคการผลิตในสาขาช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างไฟฟ้า ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างจักรกลหนัก พนักงานขับรถจักรกลหนัก และพนักงานขับรถบรรทุก เป็นต้น ซึ่งแรงงานไทยส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม และมองว่าหากในอนาคตทางการซาอุดีอาระเบียเปิดให้นำเข้าแรงงานไทย ก็ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะเป็นประเทศที่ศักยภาพในการจ้างแรงงานสูง
นายสิงหเดช กล่าวอีกว่า ส่วนทิศทางตลาดแรงงานไทยในต่างประเทศนั้น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) เป็นประเทศที่เหมาะสำหรับการเดินทางไปทำงานของแรงงานไทย เพราะมีระบบการดูแลแรงงานต่างชาติที่ดี และในปีหน้ารัฐบาลจะมีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเดือนละประมาณ 45,000 บาท ไทย พร้อมแสดงความเป็นห่วงว่าในกลางเดือนกันยายนถึงต้นเดือนตุลาคม จะมีการจัดมหกรรมกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ที่เกาหลีใต้ ทำให้เป็นช่องทางของนายหน้าที่จะพาแรงงานแฝงตัวเข้าไปทำงาน เพราะคนไทยสามารถพำนักในเกาหลีใต้ได้โดยไม่ต้องขอวีซ่าเป็นเวลา 90 วัน จึงขอเตือนคนที่ต้องการเดินทางไปทำงานที่เกาหลีใต้ว่าปัจจุบันการส่งแรงงานไปทำงานที่เกาหลีใต้มีเพียงระบบจัดส่งแบบรัฐต่อรัฐเท่านั้น ไม่มีการจัดส่งแบบบริษัทจัดหางาน โดยที่ผ่านมามีแรงงานไทยแฝงตัวเป็นนักท่องเที่ยว เพื่อลักลอบเข้าเกาหลีใต้และถูกจับกุมดำเนินคดีมาหลายรายแล้ว
(ASTVผู้จัดการออนไลน์, 21-8-2557)
กกจ.ยันไม่มีเรียกเก็บเงินค่าจดทะเบียนต่างด้าว
กรุงเทพฯ 22 ส.ค.-อธิบดีกรมการจัดหางาน ยืนยันไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) ฝั่งธนบุรี ย้ำเกิดจากความสับสนของเจ้าหน้าที่
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีนายจ้างที่นำแรงงานต่างด้าวไปขึ้นทะเบียนที่ศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (วันสต็อปเซอร์วิส) ที่ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ (บางมด) ฝั่งธนบุรี ร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่เรียกเก็บค่าบริการเกินกว่าที่คณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและค้ามนุษย์ (กนร.) กำหนดไว้ที่ 3,080 บาท ว่าเกิดจากความสับสนของเจ้าหน้าที่ เนื่องจากคนที่ทำหน้าที่เก็บเงินกับคนที่ออกใบเสร็จเป็นคนละคนกัน ทำให้มีการเก็บเงินซ้ำซ้อน ขณะนี้ได้ทำความเข้าใจกับนายจ้างเรียบร้อยแล้ว
นายสุเมธยืนยันว่า ไม่ได้มีการเก็บเงินเกิน แต่หากพบจะดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนกรณีที่แรงงานสับสนเพราะอ่านป้ายไม่ออกนั้น ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จัดทำป้าย 3 ภาษาแล้ว
(สำนักข่าวไทย, 22-8-2557)
คืนความสุขบุคลากร สธ. อัดฉีด-ปรับค่าตอบแทน
น.พ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เพื่อเพิ่มขวัญและกำลังใจแก่ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ ให้สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะปรับขึ้นเงินเดือนให้ข้าราชการในวันที่ 1 เมษายน 2558 ทางกระทรวงเตรียมการที่จะปรับค่าตอบแทนแก่บุคลากรรวม 3 แสนกว่าคน โดยใช้เงินค่าจ้างทั้งจากงบประมาณและเงินบำรุงของสถานพยาบาลทั่วประเทศ และทางกระทรวงได้บรรจุลูกจ้างชั่วคราวอีก 126,899 อัตรา และจะบรรจุเพิ่มอีก 12,427 อัตราในเขตสุขภาพ 10 เขตที่ขอจ้างเพิ่มเข้ามายังกระทรวงสาธารณสุข ให้เสร็จสิ้นภายในเดือนสิงหาคม 2557
ทั้งนี้จะเร่งเดินหน้าการปฏิรูประบบบริการสุขภาพเป็นเขตสุขภาพ 12 เขต และ 1 เขต กทม. โดยจะจัดตั้งสำนักงานสาธารณสุขเขต (สสข.) ทั้ง 13 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557 เป็นต้นไป ซึ่งจะทำให้ระบบการบริหารจัดการมีความชัดเจน พร้อมที่จะนำไปสู่การแบ่งอำนาจ มอบอำนาจ และกระจายอำนาจไปสู่เขตสุขภาพ ทั้งเรื่องการบริหารงบประมาณ ทรัพยากรทางการแพทย์ และบุคลากรอย่างสอดคล้องกับความจำเป็นของพื้นที่
น.พ.วชิระ กล่าวว่า กระทรวงเตรียมจัดประชุมผู้รับผิดชอบด้านการบริหารการเงินการคลัง และผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการบริหารงานบุคคลจากเขตสุขภาพทุกเขต ร่วมกันวิเคราะห์ปรับฐานค่าจ้างให้เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ตามนโยบาย คสช. และบริบทของแต่ละพื้นที่ ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้ เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพนักงานกระทรวงสาธารณสุขครั้งต่อไปใน ก.ย.57 และเตรียมตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ในการเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้แก่พนักงานสาธารณสุขเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ เช่นเดียวกับข้าราชการอื่นๆ สิทธิค่ารักษาพยาบาลสำหรับทายาทสายตรง คือลูก พ่อ แม่ และคู่สมรส โดยได้รับสิทธิมากกว่าสิทธิพื้นฐานโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า พร้อมเร่งติดตามความคืบหน้าการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานกระทรวงสาธารณสุข
(บ้านเมือง, 23-8-2557)
ผลการศึกษาห่วงคุณภาพชีวิตแรงงานเหมาช่วง
กรุงเทพฯ 25 ส.ค.-ในงานสัมมนาเรื่อง “การจ้างงานระยะสั้น-ความท้าทายของไทยและอาเซียน” ที่จัดโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท สถาบันปรีดี พนมยงค์ และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และรองประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันปรีดี พนมยงค์ กล่าวว่า แรงงานที่มีสัญญาจ้างงานระยะสั้นยังเป็นปัญหาร้ายแรงอีกด้านหนึ่งของแรงงาน เนื่องจากการจ้างงานระยะสั้นมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการต้องการต้นทุนต่ำ ทำให้สถานประกอบการบางแห่งมีสัดส่วนลูกจ้างระยะสั้นสูงถึงครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งหมด ส่งผลให้เเรงงานระยะสั้นถูกเอาเปรียบไม่มีสวัสดิการเท่าที่ควร ดังนั้น จึงต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อหาทางออกร่วมกัน เพราะมองว่าการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ที่จะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือ สินค้า บริการ และการลงทุนได้อย่างเสรีนั้น แสดงให้เห็นว่าแรงงานราคาถูกไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปสำหรับการแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนแรงงานที่ถูกกว่าไทย ขณะเดียวกันประเทศไทยต้องเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรมเพื่อยกระดับการผลิตและคุณภาพสินค้าในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่งมากกกว่าการใช้ค่าแรงงานถูก
ขณะที่นางมาลิสา เซอร์ราโน (Melisa Serrano) มหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ได้นำเสนอรายงานการศึกษา เรื่องการจ้างงานระยะสั้นในอาเซียนบางประเทศ ว่าจากการศึกษาการจ้างงานนอกมาตรฐานใน 6 ประเทศอาเซียน คือ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม มีการจ้างงานระยะสั้น และการจ้างงานเหมาช่วงเพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ช่วยลดต้นทุนการผลิต ซึ่งสอดคล้องกับการสำรวจความเห็นของบริษัท 99 แห่งในอาเซียน พบว่าร้อยละ 40 ตอบว่าต้นทุนในการจ้างเหมาช่วงของฝ่ายทรัพยากรบุลลคลเพิ่มขึ้น ร้อยละ 24 ตอบต้นทุนเท่าเดิม และร้อยละ 36 ตอบว่าช่วงก่อนการจ้างเหมาช่วงมีต้นทุนที่ต่ำกว่า
โดยลักษณะของการจ้างงานนอกมาตรฐานที่พบทั่วไปใน 6 ประเทศคือ สัญญาจ้างมีกำหนดเวลาสั้น รายได้ต่ำและไม่แน่นอน มีสิทธิประโยชน์ประกันสังคมจำกัด หรือไม่มีเลย ทำงานในสถานประกอบกิจการหลายๆ ที่ เป็นงานทักษะต่ำ ไม่มีโอกาสก้าวหน้า มีผู้หญิงและแรงงานผู้เยาว์เป็นจำนวนมาก และส่วนมากไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน
นอกจากนี้ยังพบว่าการจ้างงานนอกมาตรฐานสัมพันธ์กับการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในปีที่เศรษฐกิจมีการเติบโต จะมีความต้องการใช้แรงงานเพิ่มขึ้น แต่ในปีที่เศรษฐกิจชะลอลงความต้องการใช้แรงงานก็จะลดลงตาม และจากการจัดกลุ่มประเทศในอาเซียน ตามกรอบการควบคุมแรงงาน พบว่าประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์อยู่ในกลุ่มประเทศที่ผ่อนปรน ส่วนอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นประเทศที่ควบคุมแรงงานอย่างเข้มงวด ส่วนไทยอยู่ในกรณีพิเศษ อยู่กึ่งกลางระหว่างสองแบบ เพราะกฎหมายแรงงานไทยไม่ได้มีการกำหนดเรื่องแรงงานนอกมาตรฐาน แม้ว่าในปี 2555 ไทยจะมีการจ้างงานอยู่นอกระบบถึงร้อยละ 63 ของการจ้างงานทั้งหมด
ส่วนแนวทางการดูแลแรงงานนอกมาตรฐาน ต้องมีการใช้โครงสร้างไตรภาคี ทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ ในการกำหนดค่าจ้างมาตรฐาน บังคับใช้นโยบายค้าจ้างขั้นต่ำ เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางประกันสังคม คุ้มครองสุขภาพ และมีความเท่าเทียมกันในการปฏิบัติกับลูกจ้าง
(สำนักข่าวไทย, 25-8-2557)
สศช.เผยไตรมาส 2 หนี้บุคคลเพิ่ม 8.8% การจ้างงานลด
เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม นางชุตินาฎ วงศ์สุบรรณ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยถึงภาวะสังคมไทยในไตรมาส 2 ปี 2557 ว่า การก่อหนี้ของครัวเรือนชะลอลง โดยยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ 3.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.8% เป็นการชะลอตัวลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 6 ส่วนหนึ่งมาจากการสิ้นสุดของโครงการรถยนต์คันแรก และความกังวลเกี่ยวกับรายได้และการมีงานทำในอนาคต ทำให้ครัวเรือนชะลอการใช้จ่าย
"การก่อหนี้ในปัจจุบันยังไม่ส่งสัญญาณความเสี่ยงต่อภาพรวม แต่ก็ต้องเฝ้าระวังเรื่องการผิดนัดชำระหนี้อย่างใกล้ชิด โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลต่อสินเชื่อรวมยังเพิ่มขึ้นไม่มากเพียง 2.5% ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยที่เข้ามาสนับสนุนได้เป็นอย่างดี"นางชุตินาฎกล่าว
รองเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2557 สินเชื่อภายใต้การกำกับผิดนัดชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไป เพิ่มขึ้นเป็น 50.5% หรือคิดเป็น 1.28 หมื่นล้านบาท ส่วนเอ็นพีแอลของสินเชื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเป็น 29.4% ยอดค้างชำระบัตรเครดิตเกิน 3 เดือนขึ้นไป มีมูลค่า 7.49 พัน ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 28.4% สะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนที่ลดลง
นอกจากนี้ แนวโน้มการจ้างงานลดลงอยู่ที่ 2.8% หรือคิดเป็นผู้มีงานทำ 37.8 ล้านคน ขณะที่อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1% หรือ 4 แสนคน เนื่องจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอการจ้างงาน ทำให้การบรรจุงานลดลงอยู่ที่ 18.4% และตำแหน่งงานว่างลดลงอยู่ที่ 40.1% และภาวะภัยแล้งทำให้การจ้างงานภาคเกษตรลดลง โดยมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 3.85 แสนคน เพิ่มขึ้น 32%
ทั้งนี้ การว่างงานที่เพิ่มขึ้นมากในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 1.95 แสนคน เพิ่มขึ้น 33.2% ส่วนการว่างงานของกลุ่มที่เคยทำงานมาก่อนอยู่ที่ 1.9 แสนคน เพิ่มขึ้น 30.8% โดยผู้ว่างงานภาคเกษตรลดลง 5.7% และผู้ว่างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 41.3% สอดคล้องกับการเอาประโยชน์ทดแทนกรณีการว่างงานเพิ่มขึ้น 14.3% หรือคิดเป็น 1.65 แสนคน โดยเป็นการเลิกจ้างงาน 1.73 หมื่นคน และลาออกอีก 1.48 แสนคน ส่วนรายได้แท้จริงของแรงงานยังคงเพิ่มขึ้นราว 12.5%
สำหรับผลิตภาพแรงงานต่อคนในไตรมาส 2 ปี 2557 เพิ่มขึ้น 3.3% โดยในช่วงปี 2555-2556 ผลิตภาพแรงงานของประเทศเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.1% สูงกว่าที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 แต่เมื่อพิจารณาในรายสาขาพบว่า เป็นการเพิ่มของผลิตภาพแรงงานสาขาการผลิตเพียง 2.2% และสาขาบริการ 6.6% ส่วนสาขาเกษตรเพิ่มเพียง 0.8% แต่สัดส่วนแรงงานภาคเกษตรมีมากถึง 39.6% ดังนั้น จึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องการยกระดับผลิตภาพแรงงานในส่วนนี้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ โดยเฉพาะการเจ็บป่วยด้วยโรคเฝ้าระวัง ที่แม้จะมีแนวโน้มลดลง แต่ก็ต้องจับตาเป็นพิเศษ ได้แก่ การระบาดของโรคฉี่หนู, การระบาดของโรคสุกใส, การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ส่วนโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ได้แก่ ความดันโลหิตสูง, หัวใจขาดเลือด, หลอดเลือดสมองใหญ่, เบาหวาน, มะเร็ง และเนื้องอกทุกชนิดนั้น คาดการณ์ว่าในปี 2558 ปัจจัยเสี่ยงจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังดังกล่าว จะทำให้ไทยสูญเสียรายได้สูงถึง 5.21 หมื่นล้านบาท แต่หากคนไทยช่วยกันป้องกันตนเองจะช่วยลดการสูญเสียได้ถึง 10-20%
สำหรับแนวโน้มคดีอุกฉกรรจ์และสะเทือนขวัญ โดยเฉพาะคดีชีวิตร่างกายและเพศมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น โดยคดีอาญาในไตรมาสที่ 2 มีการรับแจ้งอยู่ที่ 1.12 แสนคดี ลดลงจากไตรมาสก่อน โดยคดียาเสพติดมีสัดส่วนมากที่สุดที่ 84.4% รองลงมาคือคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ ส่วนคดีชีวิตร่างกายและเพศ มีจำนวน 5.9 พันคดี ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า 1.7% ส่วนการรับแจ้งอุบัติเหตุการจราจรอยู่ที่ 1.42 หมื่นราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุจากรถตู้สาธารณะ ที่พบว่าในช่วงปี 2554-2556 มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถตู้สาธารณะเฉลี่ย 6 คนต่อเดือน และในครึ่งแรกของปีนี้ พบว่ารถตู้สาธารณะเกิดอุบัติเหตุไปแล้ว 377 ครั้ง
"คดีอุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญโดยเฉพาะคดีชีวิตร่างกายและเพศ มีแนวโน้มของความรุนแรงและซับซ้อนมากขึ้นตามความเจริญของเทคโนโลยี โดยในช่วงปี 2550-2555 เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด โดยเด็กหญิงถูกทำร้ายประมาณ 8 เท่าของเด็กชาย ส่วนใหญ่เป็นช่วงวัยรุ่น 10-15 ปี ถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด 74.1% สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสภาพแวดล้อม เช่น สื่อลามกต่างๆ, ความใกล้ชิด, โอกาส และการใช้สารกระตุ้น"นางชุตินาฎกล่าว
นอกจากนี้ พบว่าค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลงอยู่ที่ 3.4 หมื่นล้านบาท หรือลดลง 6.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริโภคบุหรี่เพิ่มขึ้นเป็น 5.4 พันล้านบาท หรือ 1.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นเป็น 17.4 ล้านคนในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้น 32.2% โดยกลุ่มวัยแรงงาน 25-29 ปีมีอัตราการดื่มสูงที่สุดที่ 38.1% ส่วนกลุ่มวัยรุ่น 15-24 ปี มีอัตราการดื่มเพิ่มขึ้นเป็น 26.2% รวมทั้งยังพบว่าเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนันฟุตบอลมากขึ้น
(ไทยโพสต์, 25-8-2557)
ก.แรงงานพัฒนาระบบกลไกรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานข้ามชาติ
กรุงเทพฯ 26 ส.ค.-ปลัด ก.แรงงาน เตรียมหารือไอแอลโอ พัฒนาล่ามให้มีความรู้ด้านกฎหมายเพื่อพัฒนาระบบกลไกการรับเรื่องร้องทุกข์แรงงานข้ามชาติ ด้านองค์กรเอกชนแนะประชาสัมพันธ์เรื่องการรับร้องทุกข์ให้มากขึ้น พร้อมให้เจ้าหน้าที่รัฐปรับทัศนคติ สร้างความมั่นใจให้แรงงานข้ามชาติเข้ามาใช้กลไกรับร้องทุกข์เพิ่ม
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมระดับผู้บริหารเพื่อพัฒนากลไกการร้องทุกข์และส่งเสริมการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยมีการนำเสนอประเด็นปัญหากลไกการเข้าถึงการร้องทุกข์ของแรงงานข้ามชาติ พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จ ตัวอย่างในการพัฒนาการเข้าถึงกลไกร้องทุกข์แรงงานข้ามชาติ จากตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ)
นายจีรศักดิ์กล่าวหลังการเปิดงานว่า ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินการรับเรื่องราวร้องทุกข์จากแรงงาน ทั้งกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กรมการจัดหางาน (กกจ.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นการแยกกันดำเนินการ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร หากมีการบูรณาการร่วมกันน่าจะทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนกลไกการรับเรื่องร้องเรียนนั้นยังมีปัญหาว่าล่ามไม่มีความรู้ในเรื่องกฎหมายเท่าที่ควร จึงได้หารือกับไอแอลโอ เพื่อการอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายและสิทธิการคุ้มครองแรงงาน
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแรงงานข้ามชาติมีการร้องเรียนเป็นจำนวนน้อย โดยตนมองว่าขาดความไว้วางใจในระบบการร้องเรียน ซึ่งการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอย่างถูกกฎหมายจะทำให้แรงงานเหล่านี้เห็นถึงความจริงใจในการแก้ปัญหาและกล้าเข้ามาร้องเรียนมากขึ้น
ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ทุกวันนี้กลไกการร้องทุกข์ของแรงงานข้ามชาติยังเข้าถึงยาก ซึ่งอาจมาจากหลายสาเหตุ ทั้งแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่ามีระบบการร้องทุกข์ ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องเร่งเผยแพร่ รวมถึงทำเอกสารเป็นภาษาต่างๆ ให้แรงงานสามารถเข้าใจมากขึ้น ขณะเดียวกันแม้แรงงานข้ามชาติจะรู้ว่ามีกลไกรับเรื่องร้องทุกข์แต่ก็ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เนื่องจากล่ามยังมีจำนวนไม่มากพอ
นอกจากนี้ในเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์ถือเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากบางคนยังมีอคติ ทำให้แรงงานข้ามชาติไม่กล้าเข้ามาร้องเรียน อีกทั้งควรมีการอธิบายขั้นตอนการดำเนินการตามเรื่องราวร้องทุกข์ เช่น การใช้ระยะเวลาในการสอบสวนให้แรงงานข้ามชาติเข้าใจ เนื่องจากปัจจุบันแรงงานข้ามชาติยังไม่เข้าใจว่าเหตุใดกระบวนการจึงมีระยะเวลานาน นอกจากนี้เรื่องสิทธิการรวมตัวและเจรจาต่อรองของแรงงานข้ามชาติยังถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่จะเป็นช่องทางทำให้เข้าถึงสิทธิในกลไกการร้องทุกข์ได้มากขึ้น แต่ปัจจุบันกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ยังติดเรื่องของสัญชาติ
(สำนักข่าวไทย, 26-5-2557)
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai