22 ส.ค. 2557 สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย จัดประชุมวิชาการประจำปี 2557 เรื่อง “งานวิจัยทางสังคมศาสตร์กับความเป็นธรรมทางสังคม” โดยมีการเสนองานวิจัยปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในหลายกรณีที่เกิดขึ้นในสังคมไทย พร้อมกับจัดทำข้อเสนอคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีนโยบายการปฏิรูปประเทศเป็นหนึ่งในนโยบายหลัก
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ประเวศ วะสี กล่าวว่าสังคมไทยมีปัญหาความไม่เป็นธรรมในทุกด้าน ทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงทรัพยากร ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและความเหลื่อมล้ำทางอำนาจ
“ถ้าเอาความเป็นธรรมไปจับจะเจอทุกเรื่อง แม้แต่ความตายก็ไม่เป็นธรรม คนจนยังตายด้วยเรื่องที่ไม่ควรตายมากกว่าคนรวย”
นายแพทย์ประเวศได้ยกตัวอย่างการศึกษาในสังคมตะวันตกเรื่องความเหลื่อมล้ำ พบว่าสังคมที่ขึ้นชื่อว่าเจริญแล้วและมีประชาธิปไตยที่มีวุฒิภาวะแล้ว ยังมีปัญหาความเป็นธรรมอย่างมาก ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกา ตามการศึกษาของโจเซฟ สติคลิทส์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลชาวอเมริกัน เรียกความเหลื่อมล้ำแบบสุดขั้วในสังคมอเมริกาว่าเป็นปรากฏการณ์ 99 ต่อ 1 คือการพัฒนาเป็นประโยชน์ต่อคนเพียงเปอร์เซ็นต์เดียวเท่านั้น คนจนไม่ได้ประโยชน์จากการพัฒนา มิหนำซ้ำกลับเลวลงไปอีก
นอกจากนี้ยังมีการศึกษาความเหลื่อมล้ำทั่วโลกว่าเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “10: 90” และ “90: 10” กล่าวคือ คนเพียง 10% เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 90% ขณะที่คน 90% เป็นเจ้าของทรัพย์สินเพียง 10%
นายแพทย์ประเวศ กล่าวว่าเรามีความรู้สึกว่าการกระจายทรัพยากรในสังคมไทยไม่เป็นธรรมอย่างมาก และปรากฏการณ์ “10: 90” และ “90: 10” อาจเป็นจริงสำหรับสังคมไทยด้วย ซึ่งเมื่อทรัพยากรเหลือน้อยเกินไปสำหรับคนทั้งประเทศได้ก่อให้เกิดความรุนแรงในหลายด้าน ทำให้คนจนมีคุณภาพชีวิตเลวร้ายลง เกิดการแย่งชิงฉ้อโกงกันไปทั่ว ข้าราชการเงินเดือนต่ำ ไม่พอกินไม่พอใช้ ไม่ตั้งใจทำงาน แสวงหารายได้นอกหน้าที่
“ประชาชนที่จนเกินก็ตกอยู่ในระบบอุปถมภ์ ทำให้เกิดการเมืองแบบธนาธิปไตย ที่มีคุณภาพต่ำ คอร์รัปชันสูง ทำให้ประเทศไทยติดอยู่ในวังวนความขัดแย้งและความรุนแรง ได้ตัวแทนได้คนที่ไม่เหมาะสมกับการทำหน้าที่นิติบัญญัติ ก็เกิดปัญหาไปทั่ว”
นายแพทย์ประเวศกล่าวว่าแม้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องที่แก้ไขยาก แต่ต้องทำหากต้องการให้สังคมเกิดความเป็นธรรมและอยู่อย่างสันติ เพราะความเหลื่อมล้ำยิ่งมากเท่าไร ปัญหาสังคมก็ยิ่งรุนแรง นำไปสู่การจลาจลและใช้ความรุนแรงได้ง่าย เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
สำหรับผลการวิจัยที่นำไปสู่การจัดทำข้อเสนอต่อ คสช.เพื่อการปฏิรูปนั้นมี 2 เรื่องคือ กรณีการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากการทำเหมืองทองคำจังหวัดเลย และเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร
นางสาวสมพร เพ็งคำ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่ากรณีของเหมืองทองคำจังหวัดแลย สะท้อนให้เห็นว่าความเห็นชาวบ้านต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นไม่ได้รับความสนใจ จนกระทั่งเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงระหว่างชาวบ้านกับผู้ได้รับสัมปทาน โดยเฉพาะความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2557 ที่มีกลุ่มชายฉกรรณ์ราว 300 คน พร้อมอาวุธครบมือข่มขู่และทำร้ายชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่
ขณะนี้มีข้อมูลชัดเจนว่าใน 6 หมู่บ้าน พบสารปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว แมงกานิส และแคดเมียม รวมถึงไซยาไนต์ ในตัวชาวบ้าน โดยมีชาวบ้านที่ป่วยด้วยโรคที่สงสัยว่าจะมาจากการรับสารพิษสะสมในร่างกาย เช่น แขนขาอ่อนแรงและเป็นอัมพาต จึงกังวลว่าจะไม่สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขได้
ทั้งนี้ สถาบันวิจัย ได้เสนอให้ คสช.เข้ามาแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยในระยะสั้นขอให้ส่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคัดกรองผู่ป่วยและกลุ่มเสี่ยง จากนั้นขอให้เร่งบำบัดและฟื้นฟูแหล่งน้ำและดินที่มีการปนเปื้อนสารพิษ เพื่อให้ชาวบ้านกลับมาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย
จากกรณีนี้ สถาบันวิจัยยังเสนอให้มีการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนกลไกจัดการทรัพยากรแร่ เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นการปฏิรูปประเทศ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน บนหลักความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและธรรมาภิบาลในการบริหารประเทศ
ด้าน ดร.จำเนียร วรรัตน์ชัยพันธ์ องค์กรระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) กล่าวว่าเครื่องมือในการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอนั้นต้องยึดเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ที่ผ่านมา มีปัญหามุ่งเน้นไปที่ผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่าระยะยาว ซึ่งคณะกรรมการต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อพิจารณาโครงการนั้น เป็นเพียงไม้ประดับเท่านั้น แต่ผู้ที่มีอำนาจตัดสินที่แท้จริงคือนักการเมือง โดยผ่านการอนุมัติของคณะรัฐมนตรี (ครม.)
ส่วนข้อเสนอเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงบุตร นางสาวราณี หัสสรังสี นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม กล่าวว่าสังคมไทยมีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูง จึงควรให้ความสนใจจัดสรรทรัพยากรในระหว่างคนรวยกับคนจนให้เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งการอุดหนุนเงินเพื่อการเลี้ยงดูบุตรถือเป็นนโยบายที่ควรผลักดัน
ทั้งนี้ เด็กปฐมวัยถือว่ามีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการดูแลเด็กกลุ่มนี้ในครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานการเลี้ยงดูขั้นต่ำ นอกจากนี้ในหลายประเทศได้มีการออกกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการด้านสวัสดิการเด็กและครอบครัว
สำหรับข้อเสนอต่อ คสช.นั้น เห็นว่ารัฐบาลควรจัดให้มีนโยบายเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร ซึ่งเด็กเล็กที่จะได้รับการสนับสนุน ควรได้รับตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนถึง 6 ขวบ จำนวนเงินที่จะนำมาอุดหนุนควรอยู่ที่ 600 บาท ต่อเดือน โดยอาจเป็นแบบถ้วนหน้า คือเด็กทุกคนในประเทศไทยจะต้องได้รับเงินอุดหนุน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นปัญหาของสังคมไทยต้องรีบแก้ไข โดย ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล นักวิจัย ประจำสถาบันวิจัยสังคม ยังเสนอหัวข้อ “หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคม” ซึ่งเป็นผลการศึกษาจากการสำรวจลูกหนี้ 4,709 รายจาก 12 จังหวัด
ดร.สุรางค์รัตน์ กล่าวว่าหนี้นอกระบบเป็นตัวอย่างของความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจ โดยพบว่ายิ่งลูกหนี้มีรายได้น้อย ก็ยิ่งมีสัดส่วนหนี้มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และเมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าเผชิญกับแรงกดดันทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าการสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ ปี 2554 พบว่ามีหนี้นอกระบบ 6.1% ซึ่งถือเป็นเพียงส่วนน้อยเมื่อเทียบกับหนี้ในระบบ แต่การสำรวจครั้งนี้พบว่า ลูกหนี้นอกระบบ สัดส่วน 48.4% เป็นหนี้ในระบบด้วย แสดงให้เห็นว่าหนี้นอกระบบเชื่อมโยงกับปัญหานี้ในระบบ
ดร.สุรางค์รัตน์ กล่าวว่ารัฐบาลที่ผ่านมามักแก้ปัญหาแบบเหมารวมในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าลูกหนี้นอกระบบมีหลากหลายมาก ดังนั้นการดำเนินนโยบายจึงต้องแยกแยะลูกหนี้ออกมาให้ชัดเจนและออกนโยบายแก้ปัญหาให้แต่ละกลุ่มเป็นการเฉพาะ
สำหรับรายงานวิจัยอีกชิ้น ของ น.ส.วิชยา โกมินทร์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคมเช่นเดียวกัน ในหัวข้อ “การสร้างความเป็นธรรมสังคมเรื่องที่อยู่อาศัยในกลุ่มคนจนเมือง “ ซึ่งเป็นอีกปัญหาที่รัฐบาลต้องเข้ามาแก้ไข
จากการสำรวจพบว่าชุมนุมแออัดทั่วประเทศมีถึง 6,334 แห่ง และคิดเป็น 1.63 ล้านครัวเรือน ในจำนวนนี้เป็นผู้เดือดร้อนเรื่องที่อยู่อาศัยมากถึง 44.69% หรือ 7.28 ครัวเรือน
แต่ปรากฏว่าในช่วงเกือบ 10 ปี ที่รัฐบาลดำเนินโครงการบ้านมั่นคง สามารถทำได้เพียง 1,548 โครงการ รองรับได้เพียง 90,876 ครอบครัว หรือ 12.47% และส่วนใหญ่เป็นโครงการในกรุงเทพฯ
ดังนั้น การแก้ปัญหาคนจนเมือง จึงต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดใหม่ โดยต้องยึดหลักสิทธิในที่อยู่อาศัยของคนจนเมือง ซึ่งนอกจากจะเป็นพลเมืองของประเทศแล้ว ยังควรต้องรับสิทธิได้รับที่อยู่อาศัยที่มีความปลอดภัยตามอัตภาพด้วย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai