18 ส.ค.2557 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงผลการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักผลไม้ พบเกินครึ่งที่วางจำหน่ายมีสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ส่วนผักผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐาน Q มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากที่สุด และไม่ผ่านเกณฑ์ของคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร โดยการแถลงข่าวมีขึ้นที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร กล่าวว่า ไทยแพนและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้มีการสุ่มตรวจสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรตั้งแต่ปี 2555 ในปีนี้เป็นการสุ่มตรวจในผักผลไม้เพื่อเฝ้าระวัง 2 รอบ และมีการสุ่มตรวจหาสารตกค้างในเนื้อส้มโดยเฉพาะอีกหนึ่งรอบ สำหรับการเฝ้าระวังในรอบแรกเป็นการสุ่มตรวจผักผลไม้ที่จำหน่ายในกรุงเทพ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2557 จากแหล่งซื้อ 2 แหล่งหลัก คือ
1) ห้างค้าปลีก (บิ๊กซี เทสโก้โลตัส ท็อปส์ และโฮมเฟรชมาร์ท) แบ่งเป็นผักทั่วไปและผักที่ได้รับรองมาตรฐาน Q
2) ตลาด แบ่งเป็นตลาดสด (ตลาดห้วยขวาง) และตลาดค้าส่ง (ตลาดสี่มุมเมือง) รวมทั้งเพิ่มตลาดศรีเมืองทองในจังหวัดขอนแก่นเพื่อเป็นการขยายงานเฝ้าระวังไปยังภูมิภาคด้วย และได้มีการสุ่มตรวจรอบสองที่จังหวัดเชียงใหม่ ยโสธร และสงขลา สำหรับชนิดผักและผลไม้ที่สุ่มตรวจ ได้แก่ คะน้า ถั่วฝักยาว พริก ผักชี กะเพรา ส้ม สตรอว์เบอร์รี่ แอปเปิ้ล ฝรั่ง และแตงโม นำตัวอย่างส่งห้องปฏิบัติการ SGS ซึ่งได้รับ ISO 17025 เพื่อวิเคราะห์หาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มคาร์บาเมต ออร์แกโนฟอสเฟต ออร์แกโนคลอรีน และไพรีทรอยด์ และเพิ่มการวิเคราะห์สารกำจัดโรคพืชคาร์เบนดาซิมในส้ม แอปเปิ้ล และสตรอว์เบอร์รี่
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ กล่าวว่า ผลการวิเคราะห์ พบว่า โดยภาพรวมผักผลไม้เกินครึ่งที่มีจำหน่ายอยู่ทั่วไปมีการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือคิดเป็น 55.9 % แต่เฉพาะที่มีการตกค้างเกินค่ามาตรฐาน MRL ของไทย (Maximum Residue Limit) หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในสินค้าเกษตร กำหนดโดยคณะกรรมการมาตรฐานสินค้าเกษตร (มกษ. 9002-2556) มีมากถึง 46.6 % เมื่อจำแนกตามประเภทของแหล่งจำหน่าย จะเห็นได้ชัดเจนว่า ผักที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช มากที่สุด คือ ผักผลไม้ที่ได้รับตรารับรองมาตรฐาน Q โดยภาพรวมของผัก Q 87.5 % พบการตกค้างของสารเคมี และมีที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน MRL มากถึง 62.5 % และผักผลไม้ ที่จำหน่ายในห้างค้าปลีกตกเกณฑ์รองลงมาอยู่ที่ 53.3 % และแหล่งจำหน่ายที่ตกมาตรฐาน MRL น้อยที่สุดคือ ตลาด อยู่ที่ 40.0 % เมื่อจำแนกตามชนิดผักผลไม้ พบว่าชนิดผลผลิตที่พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเกินค่า MRL มากที่สุด คือ ส้มสายน้ำผึ้งตกเกณฑ์ 100 % รองลงมาได้แก่ ฝรั่ง 69.2% แอปเปิ้ล 58.3% คะน้า 53.8% กะเพรา สตรอว์เบอร์รี่และส้มจีนชนิดละ 50% ถั่วฝักยาว 42.9% ผักชี 36.4% แตงโม 15.4% และพริกแดง 8.3%
สำหรับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างที่พบตกค้างในตัวอย่างผักผลไม้ครั้งนี้ มีสารทั้ง 4 กลุ่ม และคาร์เบนดาซิม รวมทั้งสิ้น 20 ชนิด จำแนกชนิดตามกลุ่มสารได้ดังนี้ 1) กลุ่มคาร์บาเมต พบ 5 ชนิด คือ คาร์บาริล โพรพ็อกซัวร์ ฟีโนบูคาร์บ คาร์โบฟูราน และเมโทมิล 2) กลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต พบ 10 ชนิด คือ อะซีเฟต คลอร์ไพริฟอส อีไทออน ไดเมโทเอต ไตรอะโซฟอส ไดอะไซนอน มาลาไทออน พิริมิฟอส-เมทิล โพรฟีโนฟอส และโพรไทโอฟอส 3) กลุ่มออร์แกโนคลอรีน พบ 1 ชนิด คือ เอนโดซัลแฟน ซัลเฟต 4) กลุ่มไพรีทรอยด์ พบ 3 ชนิด คือ ไซเปอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน ไบเฟนทริน และ 5) สารป้องกันโรคพืช คาร์เบนดาซิม
โดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่พบตกค้างในผักผลไม้ทุกชนิด คือ คลอร์ไพริฟอส และไซเปอร์เมทริน ซึ่งเป็นสารที่อยู่ในไทยแพนแบนลิสต์ทั้ง 2 ชนิด รวมทั้งคาร์เบนดาซิมที่สุ่มตรวจเฉพาะในผลไม้ (ส้ม แอปเปิ้ล และสตรอว์เบอร์รี่) ก็พบการตกค้างในผลไม้ทั้ง 3 ชนิด ในปริมาณที่สูงกว่าค่า MRL หลายเท่าตัว ซึ่งคาร์เบนดาซิมเป็นสารเคมีกำจัดโรคพืชที่ไม่สามารถตรวจได้จากการสุ่มตรวจโดยทั่วไป จำเป็นต้องมีการระบุเฉพาะสารชนิดนี้โดยตรง ทำให้ที่ผ่านมาหน่วยงานภาครัฐเองก็อาจไม่ได้เฝ้าระวังสถานการณ์การตกค้างของสารชนิดนี้เท่าที่ควร และจากการสุ่มตรวจในครั้งนี้พบว่าสถานการณ์การตกค้างของคาร์เบนดาซิมค่อนข้างน่ากังวลจำเป็นต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบตกค้างในปริมาณสูงประกอบกับคาร์เบนดาซิมเป็นสารชนิดดูดซึม จึงตกค้างเข้าไปในเนื้อเยื่อของผักผลไม้และไม่สามารถขจัดออกด้วยการล้างได้
สำหรับลักษณะการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่ามักมีการตกค้างมากกว่า 1 ชนิดในตัวอย่างเดียว ซึ่งคิดเป็น 62% ของตัวอย่างที่มีการตกค้างจากการสุ่มตรวจครั้งนี้ พบการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ 2 -11 ชนิด ซึ่งการกำหนดค่า MRL ไม่ได้พิจารณากรณีที่มีสารตกค้างหลายชนิดรวมกันและตัวอย่างที่พบชนิดสารเคมีตกค้างมากที่สุดคือ ส้มสายน้ำผึ้ง พบชนิดสารที่ตกค้างรวมทั้งสิ้น 15 ชนิด ได้แก่ ฟีโนบูคาร์บ โพรพ็อกซัวร์ คาร์โบฟูราน เมโทมิล คลอร์ไพริฟอส ไดอะซีนอน อีไทออน มาลาไทออน พิริมิฟอส-เมทิล โพรฟีโนฟอส ไตรอะโซฟอส ไบเฟนทริน ไซเปอร์เมทริน แลมบ์ดา-ไซฮาโลทริน และคาร์เบนดาซิม ในจำนวนนี้มีสารประเภทดูดซึม 4 ชนิด จึงได้มีการสุ่มตรวจเพื่อให้ทราบว่าจะมีสารตกค้างในเนื้อส้มหรือไม่ ผลการทดสอบพบว่าสารดูดซึม เช่น คาร์เบนดาซิม สามารถตกค้างอยู่ในเนื้อส้มได้ในปริมาณความเข้มข้นเท่ากับที่พบตกค้างบนเปลือกส้ม ในกรณีนี้ชัดเจนว่าการล้างหรือปอกเปลือกอาจไม่ใช่ทางออกที่ปลอดภัยสำหรับผู้บริโภคอีกต่อไป และในตัวอย่างทั้งหมดที่มีการตกค้างเกินค่า MRL พบสารดูดซึมมากถึง 50.9%
เมื่อพิจารณาเฉพาะสาร 4 ชนิดที่ไทยแพนและเครือข่ายพันธมิตรร่วมกับขับเคลื่อนเพื่อให้มีการปรับระดับการควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ห้ามมีการนำเข้า ห้ามจำหน่าย และยกเลิกการใช้) ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น เมื่อเปรียบเทียบการพบสาร 4 ชนิดดังกล่าวตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรจากการสุ่มตรวจของไทยแพนระหว่าง พ.ศ. 2555 และ 2557 พบว่า คาร์โบฟูรานและเมโทมิล ที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายมีมติให้คงการควบคุมเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 แต่กรมวิชาการเกษตรยังไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียน มีการตกค้างในผักผลไม้ลดลงชัดเจน กล่าวคือ ในปี 2555 พบคาร์โบฟูรานและเมโทมิลในผัก 22.8% และ 17.2% ตามลำดับ ในขณะที่ปี 2557 พบตกค้างของคาร์โบฟูรานเพียง 8.5% และเมโทมิลเหลือ 7.6 % ในขณะที่สารอีก 2 ชนิด คือไดโครโตฟอส และอีพีเอ็นที่พบการตกค้างในปี 2555 ไม่พบการตกค้างเลยในปีนี้
จากข้อมูลข้างต้น กล่าวได้ว่าการควบคุมสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางการขึ้นทะเบียนมีความสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในผักผลไม้ โดยสามารถลดการตกค้างของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้จริง
ข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคและเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน)
1. ให้ มกอช. ร่วมกับ กรมวิชาการเกษตรและกรมส่งเสริมการเกษตร ยกเครื่องเครื่องหมาย Q ขจัดความสับสนต่าง ๆ ใน Q ที่แตกต่างกัน และควบคุมมาตรฐานของผลผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด
2. ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจัดการปัญหา ณ ต้นทาง โดยการยกเลิกการใช้สารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงโดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาร์โบฟูราน และเมโธมิล และให้กรมวิชาการเกษตรควบคุมการนำเข้าและการจำหน่ายสารเคมีทางการเกษตรกลุ่มที่มีอันตรายร้ายแรงและดูดซึมอย่างเข้มงวดโดยเปิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตรายทางการเกษตรและเพิ่มกลไกการตรวจสอบหลังการขึ้นทะเบียน (Tracking System)
3. ให้มกอช. อย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับภาคเอกชน และประชาสังคมเร่งรัดการพัฒนาระบบเตือนภัยความปลอดภัยด้านอาหาร (Rapid Alert System for Food) ภายในปี พ.ศ. 2558