18 ส.ค.2557 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.-พีมูฟ) แถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทบทวนการดำเนินการ โดยระบุว่า คำสั่งของ คสช.บางฉบับส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนจน
แถลงการณ์ระบุว่าคำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 ว่าด้วยเรื่อง การปราบปรามและการหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ และคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 เรื่อง เพิ่มเติมหน่วยงานสำหรับการปราบปราม หยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และนโยบายการปฏิบัติงานเป็นการชั่วคราวในสภาวการณ์ปัจจุบัน ส่งผลให้ชาวบ้านในหลายพื้นที่ถูกข้าราชการซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งคุกคาม ไล่รื้อทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้าง โดยที่ปัญหาต่างๆ มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ไขและคลี่คลายในอีกไม่นาน
และเรียกร้องให้ คสช.ทบทวนนโยบาย เช่น การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่ง , การให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียมและแร่ธาตุ , โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา , โครงการบริหารจัดการน้ำ และเรียกร้องให้ คสช.ทบทวนคำสั่ง คสช.ที่ 64 และ คำสั่ง คสช.ที่ 66 รวมถึงกำกับหน่วยงานที่ดำเนินการตามคำสั่งให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของ คสช.อย่างเคร่งครัด หากมีการฝ่าฝืนต้องมีการสอบสวนเพื่อดำเนินการลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา
นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้ คสช.สานต่อแนวทางการแก้ปัญหาและข้อตกลงที่เคยมีอยู่แล้ว เช่น การเดินหน้าโฉนดชุมชน , ธนาคารที่ดิน , โครงการชุมชนใหม่คนไร้บ้าน , โครงการบ้านมั่งคง , การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และรวมถึงกรณีปัญหาอื่นๆ
รายละเอียดของแถลงการณ์ มีดังนี้
........................................
แถลงการณ์ฉบับที่ 1
เรื่อง : นโยบายและคำสั่งของ คสช. ที่ส่งผลกระทบต่อคนจน
สืบเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในสังคมไทยที่ยืดเยื้อเรื้อรังต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 10 ปี จนนำไปสู่การรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองและการบริหารประเทศโดยคณะทหารและตำรวจ พร้อมกับตั้ง “คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ” (คสช.) เข้ามาทำหน้าที่บริหารประเทศไทย อันเป็นช่วงสุญญากาศทางอำนาจเพื่อการเปลี่ยนผ่านการเมืองประเทศไทย
ช่องว่างทางอำนาจดังกล่าว คสช. ในฐานะผู้ได้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ จึงได้มีนโยบาย และคำสั่งในการบริหารประเทศจำนวนมาก ซึ่งนโยบายและคำสั่งของ คสช. บางฉบับ เช่น นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง , การให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม และแร่ธาตุ , โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา , โครงการบริหารจัดการน้ำ และยังมีคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66 รวมทั้ง แผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ที่ได้ส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคนจน และที่สำคัญนโยบายและคำสั่งดังกล่าว ได้ถูกหยิบฉวยจากข้าราชการในท้องที่ ซึ่งเป็นคู่ขัดแย้งกับชาวบ้าน ได้อาศัยโอกาสนี้ในการคุกคามไล่รื้อ ทรัพย์สินสิ่งปลูกสร้างของชาวบ้านในหลายพื้นที่ ทั้งๆ ที่พื้นที่เหล่านี้ได้อยู่ในกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินการต่อเนื่องกับฝ่ายบริหาร (รัฐบาล) มาหลายชุด ซึ่งมีแนวโน้มว่าปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขและคลี่คลายในอีกไม่นาน
จากนโยบายและคำสั่งของ คสช. ที่ส่งผลกระทบ ดังกล่าว พวกเราขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) มีความเห็น ดังนี้
(1) นโยบายดังกล่าว ดำเนินไปโดยขาดการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย และที่สำคัญยังดำเนินไปโดยขาดการพิจารณาอย่างรอบด้าน และขาดการตรวจสอบอย่างโปร่งใส พวกเราจึงไม่อาจวางใจได้
(2) คำสั่ง คสช.ที่ 64 คำสั่งที่ 66 และแผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ซึ่งถูกผลักดันโดยกระทรวงทรัพย์ยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่อ้างคำสั่งของ คสช. โดยเฉพาะคำสั่งที่ 66 ข้อ 2.1 ที่ระบุว่า การดำเนินการใด ใด ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้น ๆ ก่อนคำสั่งนี่มีผลบังคับใช้ อันเป็นเจตนารมณ์ที่เป็นไปเพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติของส่วนรวม ซึ่งเป็นประโยชน์โดยรวมต่อสังคมไทย และคุ้มครองคนจน แต่กลับถูกนำไปใช้อย่างไม่ยุติธรรม และเลือกปฏิบัติ ซึ่งคนจนเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกกระทำ
ด้วยความตระหนัก ว่า สังคมไทยประกอบไปด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างหลากหลาย ทั้งทางเศรษฐกิจ ทางสังคม ทางวัฒนธรรม และยังมีความหลากหลายทางชาติพันธ์ ซึ่งทุกคนล้วนเป็นคนไทย ซึ่งเรียกได้ว่า เป็น “หุ้นส่วน” ของสังคมไทย ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายจะต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม และเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว พวกเราขอเรียกร้อง ให้ คสช. เร่งดำเนินการ ดังนี้
(1) ให้ คสช. ทบทวน นโยบาย เช่น นโยบายการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง , การให้สัมปทานสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม และแร่ธาตุ , โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา , โครงการบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งให้ คสช. ทบทวนคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ คำสั่ง คสช. ที่ 66 รวมทั้ง แผนแม่บทการพิทักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชาติ ที่ส่งผลกระทบต่อคนจน ให้ยุติการดำเนินการ และจัดกระบวนการให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงมีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทาง มาตรการและแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาในแต่ละท้องถิ่น
(2) ให้ คสช. กำกับหน่วยงานที่ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ให้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ อย่างเคร่งครัด รวมทั้งต้องควบคุม หากมีการฝ่าฝืนต้องมีการสอบสวนเพื่อดำเนินการลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญา และต้องสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยุติ การกระทำ ใด ใด ที่เป็นการฉกฉวยโอกาสบิดเบือนเจตนารมณ์ด้วยการใช้คำสั่งของ คสช. ที่นำไปสู่การเผชิญหน้า และสร้างปัญหาความขัดแย้งมากกว่านี้ โดยให้มีกลไกร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับผู้ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้นโยบายและคำสั่ง คสช. ดังกล่าว เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา
(3) ให้ คสช. ดำเนินการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ด้วยการสานต่อแนวทาง และข้อตกลงที่เคยมีอยู่แล้ว เช่น การเดินหน้านโยบายโฉนดชุมชน, การเดินหน้านโยบายธนาคารที่ดิน , โครงการชุมชนใหม่คนไร้บ้าน, โครงการบ้านมั่งคง, การแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูล และรวมถึงกรณีปัญหาอื่น ๆ ด้วย
อย่างไรก็ตามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ยืนยันว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีผลมาจากการประกาศยกเลิกการใช้รัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ หมวดที่ 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย และ หมวดที่ 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ จากสภาพดังกล่าวจึงนำไปสู่ปัญหาการละเมิดสิทธิ์และนโยบายที่ไม่เป็นธรรม พวกเราจึงขอประกาศว่า ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนและประชาสังคม จะดำเนินการตั้งสภาประชาชน (สภาเงา) ในการจัดทำ และติดตามการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ โดยดำเนินการคู่ขนานเพื่อเป็นการทวงคืนสิทธิขั้นพื้นฐาน และเป็นหลักประกันว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ฉบับถาวร จะไม่เลวร้าย หรือถดถอยไปกว่ารัฐธรรมนูญที่เคยมีมาในอดีต
ด้วยความเชื่อมั่นในพลังประชาชน
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.)
18 สิงหาคม 2557
ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา