8 ส.ค. 2557 องค์การอนามัยโลกออกประกาศสาธารณสุขฉุกเฉินทั่วโลก เตือนภัยไวรัสอีโบลาระบาดในแถบแอฟริกาตะวันตก ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 1,000 คนแล้ว และขอให้นานาประเทศช่วยเหลือประเทศที่เผชิญการระบาด
แถลงการณ์ขององค์การอนามัยโลกระบุว่า คณะกรรมาธิการฉุกเฉินซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายทั่วโลก ประกาศว่า ไวรัสอีโบลาซึ่งอันตรายมากที่สุดสายพันธุ์หนึ่ง มีการระบาดอย่างรุนแรงในแอฟริกาตะวันตก และขอให้ทั่วโลกร่วมช่วยเหลือประเทศที่ได้รับผลกระทบ ถ้อยแถลงดังกล่าวมีขึ้นหลังการประชุมฉุกเฉินแบบปิดเป็นเวลา 2 วันในนครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งอาจทำให้ต้องจำกัดการเดินทางทั่วโลกเพื่อยับยั้งการระบาดของไวรัสอีโบลา
ซีดีซีระบุเลี่ยงไม่ได้ที่อีโบลาจะแพร่มายังสหรัฐ
หัวหน้าศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ หรือซีดีซี ระบุว่า ขณะที่แอฟริกามีการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ เป็นที่คาดว่าจะมีเชื้อดังกล่าวระบาดข้ามพรมแดนผ่านการเดินทางโดยทางเครื่องบิน โดยนับตั้งแต่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 932 คน และติดเชื้ออีกกว่า 1,700 คน ในเซียร์ราลีโอน กินี ไนจีเรีย และไลบีเรีย และว่า เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีนักเดินทาง พลเมืองชาวอเมริกัน และคนอื่นๆที่เดินทางมาจากประเทศเหล่านั้น นำเชื้อเข้ามายังสหรัฐ แต่ก็เชื่อว่า ไม่น่าจะมีการระบาดครั้งใหญ่ แม้ยังไม่มีการรักษาหรือมีวัคซีน แต่ก็สามารถควบคุมได้ โดยให้ผู้ป่วยแยกตัวในทันทีและดำเนินมาตรการป้องกัน ทั้งนี้ ซีดีซีมีคำแนะนำสำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดูแลผู้ป่วยไวรัสอีโบลาให้สวมอุปกรณ์ป้องกัน ทั้ง แว่นตา หน้ากากอนามัย ถุงมือ และเสื้อคลุม
สหรัฐสั่งครอบครัว จนท.สถานทูตในไลบีเรียกลับประเทศ
สหรัฐออกคำสั่งให้บรรดาครอบครัวของเจ้าหน้าที่สถานทูตในไลบีเรียเดินทางกลับประเทศ ขณะที่แอฟริกาตะวันตกกำลังพยายามหาทางควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลาครั้งใหญ่ที่สุด
กระทรวงต่างประเทศสหรัฐยังได้ออกคำเตือนไม่ให้พลเมืองชาวอเมริกันเดินทางไปยังไลบีเรีย แถลงการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐจะยังอยู่ปฏิบัติหน้าที่ที่สถานทูตและจะส่งเจ้าหน้าที่ไปช่วยเหลือในการควบคุมการระบาดของเชื้อไวรัสมรณะดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ที่จะส่งไปยังกรุงมันโรเวีย มีทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการป้องกันโรคจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคหรือซีดีซี และเจ้าหน้าที่จากองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐ หรือยูเอสเอด
ยูกันดาแยกตัวผู้ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลาไว้แล้ว
โฆษกกระทรวงสาธารณสุขยูกันดาแถลงว่า พบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ 1 ราย และได้นำตัวอย่างเพื่อตรวจวิเคราะห์ต่อไปแล้ว ผู้โดยสารคนดังกล่าวนับเป็นรายแรกที่เป็นผู้ต้องสงสัยติดเชื้อในแอฟริกาตะวันออกจากการระบาดของไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกขณะนี้ แม้ยูกันดาเองเคยเผชิญกับไวรัสอีโบลาระบาดมาก่อน โดยล่าสุดเมื่อปี 2555 หนังสือพิมพ์ในยูกันดารายงานว่า ผู้ป่วยคนดังกล่าวถูกแยกตัวไปทันทีที่เดินทางถึงท่าอากาศยานเอ็นเทบเบของยูกันดา โดยมีอาการไข้สูง
รายงานระบุว่า เขาทำงานอยู่ที่ประเทศเซาท์ซูดาน และยังไม่มีรายงานไวรัสอีโบลาระบาด องค์การอนามัยโลกระบุว่า ขณะนี้มีผู้เสียชีวิตจากไวรัสอีโบลาอย่างน้อย 932 คน และติดเชื้อกว่า 1,700 คน นับตั้งแต่ระบาดในแอฟริกาตะวันตกตั้งแต่เมื่อต้นปี
เอเชียตื่นตัวเฝ้าระวังผู้ติดเชื้ออีโบลาตามสนามบิน
หลายประเทศเอเชียรวมทั้งไทยตื่นตัวระวังเชื้ออีโบลาเข้าประเทศด้วยการใช้กล้องถ่ายภาพความร้อนและมีแพทย์ประจำตามท่าอากาศยานคัดกรองผู้เดินทางที่ต้องสงสัยติดเชื้ออีโบลา
จนถึงขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันพบผู้ติดเชื้ออีโบลาในเอเชีย แต่เจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุขได้ดำเนินมาตรการเฝ้าระวังตามท่าอากาศยานและรณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนรวมทั้งแนะนำให้หลีกเลี่ยงประเทศที่มีการแพร่ระบาด โฆษกองค์การอนามัยโลกกล่าวว่า ตราบใดที่บุคคลนั้นยังไม่แสดงอาการป่วยให้เห็นชัดเจนก็น่าจะดำเนินชีวิตตามปกติได้ เขามองว่าประเทศในเอเชียดำเนินมาตรการที่เหมาะสมแล้ว
ประเทศไทยซึ่งมีนักท่องเที่ยวมาเยือน 26.5 ล้านคนเมื่อปีก่อนเผยว่า กำลังเฝ้าสังเกตผู้เดินทางมาจากเซียร์ราลีโอน ไลบีเรีย และกินี 21 คน เป็นเวลา 21 วัน อันเป็นระยะฟักตัวสูงสุดของเชื้อ แต่ไม่ได้สั่งกักตรวจโรค นอกจากนี้ ยังติดตั้งกล้องถ่ายภาพความร้อนตามด่านเข้าประเทศหลักๆ และมีแพทย์ประจำตามท่าอากาศยานสากลสนับสนุนคระเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่แล้ว
ด้านจีนสั่งการให้โรงพยาบาลแจ้งหากพบผู้ติดเชื้อต้องสงสัย ขณะที่อินเดียซึ่งมีพลเรือนเกือบ 45,000 คนอาศัยและทำงานใน 4 ประเทศที่พบการระบาดจะคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศที่ผ่านหรือมาจากประเทศเหล่านั้นด้วยการเฝ้าติดตามเป็นเวลา 4 สัปดาห์และจะตรวจแต่เนิ่น ๆ หากแสดงอาการ ญี่ปุ่นแถลงว่า พร้อมส่งผู้ต้องสงสัยติดเชื้อไปกักตัวที่โรงพยาบาลพิเศษ ส่วนออสเตรเลียระบุว่า มีความเสี่ยงต่ำที่เชื้ออีโบลาจะมาถึงแต่ก็เฝ้าระวังผู้เดินทางตามท่าอากาศยาน เช่นเดียวกับสิงคโปร์ที่มองว่ามีความเสี่ยงต่ำแต่ก็พร้อมติดตามและกักตรวจทุกคนที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ
สธ.เตรียมเสนอ 'พ.ร.บ.โรคติดต่อ'ให้ 'อีโบลา'เป็นโรคติดต่ออันตราย
ด้านพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาว่า ขณะนี้ สธ. ติดตามประเมินสถานการณ์โรคอย่างต่อเนื่องทุกวัน ในส่วนมาตรการของประเทศไทยที่ใช้ขณะนี้ นอกจาก 4 มาตรการหลักคือ การเฝ้าระวังโรคผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีปัญหาแพร่ระบาดที่ท่าอากาศยานนานาชาติทุกแห่งทุกวัน ความพร้อมด้านการดูแลรักษาของทีมแพทย์ ในโรงพยาบาลรัฐและเอกชนทั่วประเทศ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อการตรวจวินิจฉัยที่แม่นยำรวดเร็ว การให้ความรู้ความเข้าใจประชาชนที่ถูกต้องแล้ว จะเพิ่มมาตรการทางด้านกฎหมาย เพื่อผลในการจัดการด้านสาธารณสุข คือ การเพิ่มประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตราย ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เป็นโรคที่ 6 จากเดิมที่มี 5 โรคได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง กาฬโรค และโรคซาร์ส หรือโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเฉียบพลัน เพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถดำเนินการป้องกันควบคุมโรคได้อย่างเข้มข้น ทั้งในคนและสัตว์ โดยตรวจผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบท่าอากาศยาน ท่าเรือหรือท่าขนส่งทางบก เป็นต้น โดยกระทรวงสาธารณสุขจะเสนอขออนุมัติที่ประชุมของฝ่ายสังคมและจิตวิทยาในสัปดาห์หน้านี้ เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับทันที
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า จากการประชุมวอร์รูมติดตามสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสอิโบลาในวันนี้ สถานการณ์การแพร่ของโรคยังอยู่ที่ 3 ประเทศหลัก คือ กินี ไลบีเรีย และเซียร์ราลีโอน จนถึงวันที่ 4 สิงหาคม 2557 มีผู้ป่วยติดเชื้อ 1,440 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิตไปแล้ว 887 ราย ผลการเฝ้าระวังผู้โดยสารที่มาจากประเทศดังกล่าวที่ท่าอากาศยานนานาชาติในวันที่ 7 สิงหาคม 2557 มีจำนวน 5 คน อยู่ในข่ายการติดตามเฝ้าระวังภายใน 21 วัน 1 คน ไม่มีรายใดป่วยหรือมีอาการไข้ ยอดสะสมการเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2557 ถึง 7 สิงหาคม 2557 รวม 381 คน ทุกรายปกติ
ภายหลังจากประกาศให้โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลาเป็นโรคติดต่ออันตรายในราชกิจจานุเบกษาแล้ว มาตรการสำคัญที่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องต้องดำเนินการ เช่น
1.มาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศที่ช่องทางและด่านตรวจคนเข้าเมือง สามารถตรวจตราพาหนะและตรวจผู้เดินทาง สิ่งของหรือสัตว์ที่มากับพาหนะ ตรวจตราและควบคุมให้เจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ แก้ไขการสุขาภิบาลของพาหนะให้ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งกำจัดสิ่งอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพในพาหนะ ห้ามเจ้าของพาหนะหรือผู้ควบคุมพาหนะ เป็นต้น
2.กรณีที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือมีเหตุสงสัยว่าได้มีโรคติดต่อดังกล่าวเกิดขึ้น ให้บุคคลต่างๆ เช่น เจ้าบ้าน เจ้าของพาหนะ แพทย์หรือสถานพยาบาลผู้ให้การรักษาผู้ป่วย แจ้งต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อสอบสวนโรค ควบคุมและป้องกันการระบาดของโรค หรือคุมไว้สังเกตอาการจนกว่าจะได้รับการตรวจว่าพ้นระยะติดต่อแล้ว เป็นต้น
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า เชื้อไวรัสอีโบลา มีอัตราตายค่อนข้างสูงถึงร้อยละ 50-90 เชื้อมีระยะฟักตัว 2-21 วัน อาการของผู้ป่วย คือ มีไข้สูงทันที อ่อนเพลียปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะมาก ตามด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงขึ้นตามตัว ในรายที่อาการรุนแรง เสียชีวิตมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลางและช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมหน้าที่ จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารของกระทรวงสาธารณสุข โดยช่วงนี้ให้หลีกเลี่ยงเดินทางเข้าพื้นที่ระบาดชั่วคราวไปก่อน หากมีความจำเป็นขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัดและสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
ที่มาเรียบเรียงจาก
สำนักข่าวไทย
ติดตามความเคลื่อนไหวของ ประชาไท ทางอีเมล คลิกอ่าน http://goo.gl/8xIcV หรือเฟซบุ๊ค http://fb.me/Prachatai