รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 31 ก.ค. คณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) จะมีการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ/EIA)โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 3 จำกัด ที่ยื่นขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากชีวมวลเป็นถ่านหินเป็นครั้งที่3 หลังจากที่ คชก.เคยมีมติไม่เห็นชอบมาแล้วตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การพิจารณาของคชก.ในครั้งนี้ เกิดขึ้นในระหว่างที่ คสช.กำลังปฏิรูปประเทศ ขณะที่ประเด็นอีไอเอ เป็นประเด็นร้อนประเด็นหนึ่งที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า การทำและการพิจารณาอีไอเอไม่โปร่งใสและไม่เป็นธรรมและมีการนำเสนอให้ปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์3 จำกัด เป็นโรงไฟฟ้าในเครือของบริษัทผลิตกระดาษดับเบิ้ลเอ มีขนาด 47.4 เมกกะวัตต์ ตั้งอยู่ที่ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการโดยใช้ชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง แต่บริษัทได้ยื่นเรื่องขอเปลี่ยนเชื้อเพลิงมาใช้ถ่านหิน ถึง 2 ครั้ง ซึ่ง คชก.มีมติไม่เห็นชอบทั้ง 2 ครั้ง และบริษัทได้ยื่นอีไอเอเป็นครั้งที่3 เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา และ คชก.จะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้
นางยุพิน คะเสนา ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต กล่าวว่า พื้นที่การทำเกษตรอินทรีย์ อยู่ในรัศมีที่มีโอกาสจะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านี้ ซึ่งข้อมูลการศึกษาของชาวบ้านที่ร่วมกับคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติได้ประเมินแล้วว่าจะได้รับผลกระทบด้วย จนเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ทำให้ คชก.พิจารณาไม่เห็นชอบในอีไอเอรอบที่ผ่านมา แต่จนบัดนี้ กลุ่มเกษตรอินทรีย์ยังไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากบริษัท และไม่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมใดๆ ในการประเมินผลกระทบของบริษัท จนกระทั่งบริษัทยื่นอีไอเอในรอบนี้ และทางกลุ่มเพิ่งทราบข่าวว่าจะมีการพิจารณาในวันพรุ่งนี้ ดังนั้น กลุ่มและชาวบ้านจากหลายหมู่บ้านที่อยู่รอบๆ โครงการโรงไฟฟ้านี้ ได้ยื่นเรื่องไปยัง คชก. เพื่อขอเข้าร่วมประชุมพิจารณา และเข้าให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วย เพื่อให้การพิจารณาของ คชก.รอบคอบยิ่งขึ้น
“ขอวิงวอนให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการทุกท่าน โปรดใส่ใจกับการมีส่วนร่วมในการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารดีมีคุณภาพให้กับสังคมไทย กว่าที่ชาวบ้านจะรวมกลุ่มในการทำเกษตรอินทรีย์มาได้จนเข้มแข็งได้อย่างทุกวันนี้ ต้องใช้เวลากว่า 30 ปี ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆนานา มาอย่างนับไม่ถ้วน จนกระทั่งผลผลิตเกษตรอินทรีย์จากกลุ่ม ได้รับมาตรฐานสากล จากสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สหพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ (IFOAM) และสหภาพยุโรป (อียู) สมาชิกของกลุ่ม สามารถมีรายได้อยู่อย่างมีความสุข ครอบครัวไม่ต้องแตกแยกอยู่ห่างไกลกัน และที่สำคัญสมาชิกทุกคนมีสุขภาพที่ดี ซึ่งใช้งบประมาณของรัฐไม่มากในแต่ละปี ในการดูแลสุขภาพของสมาชิก ทั้งหมดนี้ ชาวบ้านต้องฝ่าฟันมาด้วยตนเอง แต่จะต้องมาสิ้นลงในเวลาไม่กี่ปี หากโรงไฟฟ้านี้ ได้รับความเห็นชอบให้เปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นถ่านหิน”
“พรุ่งนี้พวกเราอย่างน้อย 50 คน จะไปรออยู่หน้าห้องประชุมของ คชก. ที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ถนนพระราม6 เพื่อขอการมีส่วนร่วมในการพิจารณาอีไอเอในครั้งนี้ และจะพิสูจน์ ว่า คชก.จะมอบความสุขหรือความทุกข์ให้กับประชาชนกันแน่” ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์กล่าว