เมื่อวันที่ 25 กรกฏาคมที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดงานเสวนาในหัวข้อ “ถนนสู่โศกนาฏกรรม MH17: ไขปมวิกฤตยูเครน-รัสเซีย” โดยมีผู้บรรยายคืออาจารย์จิตติภัทร พูนขำ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และดร.ไบรอัน เคนเนดี้ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
จิตติภัทรกล่าวว่า จะขอพูดถึงปมปัญหาที่เกิดขึ้นภายในภูมิภาคนี้ที่นำไปสู่การเกิดโศกนาฏกรรม MH17 ซึ่งมีต้นตอมาจากปัญหาในยูเครนที่เกิดขึ้นในช่วง 6-7 เดือนที่ผ่านมา เครื่องบิน MH17 ตกที่เมืองโดเนช บริเวณพรมแดนด้านตะวันออกของยูเครนติดกับรัสเซีย ซึ่งตอนนี้ก็ยังมีการต่อสู้ปะทะกันอยู่ระหว่างกลุ่มกบฎแบ่งแยกดินแดนและรัฐบาลยูเครน ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงทีเดียวที่ MH17 ถูกยิงโดยขีปนาวุธของกลุ่มกบฎนี้ แต่คงไม่ได้เป็นการยิงอย่างตั้งใจ เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มกบฎก็ยิงเครื่องบินรบ และเฮลิคอปเตอร์ที่ผ่านเข้ามาในน่านฟ้าบริเวณดังกล่าวตกไปหลายลำ ซึ่งสาเหตุของความขัดแย้งในครั้งนี้เกิดจากปัญหาของประเทศยูเครนที่มีอยู่สองระดับคือระดับโครงสร้าง และระดับเฉพาะหน้า ซึ่งนำไปสู่การเกิดขึ้นของกระแสต่อต้านรัฐบาลที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2013
ความขัดแย้งภายในประเทศยูเครนเป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกมานานตั้งแต่แยกประเทศออกจากรัสเซีย คนในภาคตะวันตกของประเทศพูดภาษายูเครนส่วนใหญ่มีรายได้ส่วนใหญ่มาจากภาคเกษตรกรรม เป็นฝ่ายนิยมตะวันตกหรือสหภาพยุโรป ส่วนคนในภาคตะวันออกและใต้พูดรัสเซีย มีรายได้หลักมาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายนิยมตะวันออกหรือรัสเซีย ซึ่งความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ดังกล่าวได้นำไปสู่ปัญหาทางการเมือง การแข่งขันระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่มักจะเป็นการแข่งกันระหว่างพรรคที่นิยมสหภาพยุโรปกับพรรคที่นิยมรัสเซีย เมื่อประธานาธิปดีวิคเตอร์ ยานูโควิช ซึ่งมาจากพรรคฝ่ายนิยมรัสเซียต้องตัดสินใจว่าจะต้องลงนามความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับฝ่ายรัสเซียหรือสหภาพยุโรป ผลปรากฏว่าข้อเสนอของทางฝ่ายรัสเซียดีกว่าทั้งจำนวนเงินที่มากกว่า และข้อผูกมัดที่น้อยกว่า ยานูโควิชจึงตัดสินใจลงนามกับรัสเซียและชะลอการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปออกไปก่อน การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2013 โดยใช้ชื่อว่า “ยูโรไมเดน (Euro-maiden)” ที่กินระยะเวลานาน 3 เดือน มีการใช้ความรุนแรงโดยรัฐ 3 ครั้ง ซึ่งในการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้ายในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2014 มีผู้เสียชีวิตไปมากกว่า 100 คน หลังจากการสลายการชุมนุมครั้งสุดท้าย มีการตกลงกันระหว่างกลุ่มการเมืองต่างๆ ว่าจะมีการปฏิรูปทางการเมือง แต่หลังจากนั้นพรรคฝ่ายค้านซึ่งเป็นรัฐบาลรักษาการณ์อยู่ในขณะนั้นกลับยกเลิกข้อตกลงดังกล่าว และแถลงนโยบายที่สร้างความไม่พึงพอใจให้กับคนในภาคตะวันออกของประเทศเป็นอย่างยิ่ง เช่น ประกาศยกเลิกภาษารัสเซียเป็นภาษาราชการ และประกาศไม่ให้รัสเซียเช่าฐานทัพในเมืองนาวาสโทโพลในคาบสมุทรไครเมีย ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการทหารของรัสเซียในตอนใต้ รัสเซียจึงอยู่เฉยไม่ได้จึงออกมาสนับสนุนขบวนการ แอนไท-ไมเดน (Anti-Maiden) ที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลรักษาการณ์ โดยพื้นที่ที่มีกระแสต่อต้านรุนแรงคือในคาบสมุทรไครเมียซึ่งปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียไปแล้ว กับในพรมแดนภาคตะวันออกซึ่งเป็นพื้นที่ที่ MH17 ถูกยิงตก หลายฝ่ายเกิดคำถามว่ากลุ่มคนเหล่านี้ มีรัสเซียให้การสนับสนุน หรือออกมาด้วยความสมัครใจ ซึ่งเป็นคำถามที่ตอบยากมาก เพราะทางฝ่ายรัสเซียก็เห็นดีเห็นงามกับขบวนการดังกล่าวอย่างออกนอกหน้า แต่สิทธิ์ของคนเหล่านี้ก็ถูกละเมิดจริงๆ เหตุผลที่รัสเซียต้องเข้ามาแทรกแซงความขัดแย้งภายในประเทศยูเครนมีอยู่ 4 เหตุผล 1. รัสเซียประกาศนโยบายต่างประเทศว่าจะจะปกป้องคนรัสเซีย ทั้งในและนอกประเทศ ซึ่งนโยบายของรัฐบาลรักษาการณ์ก็เป็นการละเลิดสิทธิ์ของคนรัสเซียในยูเครนจริงๆ 2. คือเรื่องฐานทัพเรือในไครเมีย 3. คือผลประโยชน์ด้านพลังงานเพราะยูเครนเป็นทางผ่านส่งท่อก๊าซจากรัสเซียไปยุโรปตะวันออก 4. รัสเซียไม่อยากให้ประเทศเพื่อนบ้านกลายเป็นสมาชิก NATO
อย่างไรก็ตาม รัสเซียก็มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในไครเมียกับในพรมแดนภาคตะวันออก ในกรณีของไครเมีย รัสเซียเข้าไปแทรกแซงอย่างเต็มตัวเลยเพราะมีผลประโยชน์และคนรัสเซียอาศัยอยู่เยอะ ทำให้กระบวนแบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ทั้งกระบวนการประชามติที่มีมติเห็นด้วยกับการแบ่งแยกดินแดนถล่มทลายถึง 96.7% มีผู้มาใช้สิทธิ์มากถึง 83% การทำประชามติเกิดขึ้นในวันที่ 16 มีนาคม และการลงนามในข้อตกลงรวมประเทศเกิดขึ้นในอีก 2 วันต่อมา แต่ในกรณีพรมแดนยูเครนภาคตะวันออกในเมืองลูฮานซ์ กับโดเนซ แม้จะเกิดเหตุการณ์คลายๆ กับในไครเมีย คือมีกระแสต่อต้านรัฐบาลรักษาการณ์มีการยึดสถานที่ราชการ และมีการลงประชามติขอแบ่งแยกประเทศไปรวมกับรัสเซีย แต่รัสเซียกลับไม่ยอมรับการลงประชามติดังกล่าว ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ และจำนวนคนรัสเซียภายในพื้นที่มีไม่มากเท่าในคาบสมุทรไครเมีย อีกทั้งผลของการลงประชามติก็ไม่ถล่มทลายเท่าในไครเมียด้วย โศกนาฏกรรม MH 17 จึงเกิดขึ้นบนพื้นฐานความขัดแย้งทางภูมิภาคดังกล่าว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังคงมีการสู้รับกันอยู่
ไบรอันกล่าวว่า ประเทศตะวันตก และสหรัฐฯ อ่อนต่อโลกมากที่คิดว่า ว่ารัสเซียจะกลายมาเป็นพันธมิตรของพวกเขา ไม่พยายามตั้งตัวเป็นประเทศมหาอำนาจหลังจากจบสงครามเย็น เพราะปัญหาที่ทำให้รัสเซียมีพฤติกรรมแสวงหาอำนาจไม่ใช่เพราะลัทธิคอมมิวนิสต์แต่เป็นเพราะปัญหาภายในประเทศรัสเซีย เนื่องจากรัสเซียยังคงมีความเปราะบางอยู่ หลังจากประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซินพยายามจะเปิดประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการเมือง หลายประเทศจึงมองว่ารัสเซียกำลังจะกลายเป็นประชาธิปไตยและคิดว่าโลกจะสงบสุข บางคนถึงกับคิดว่ารัสเซียจะกลายมาเป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ เลยด้วยซ้ำ แต่รัสเซียก็มีปัญหาทางเศรษฐกิจที่เรื้อรังมานานตั้งแต่ตอนยังเป็นสหภาพโซเวียต ปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรจนต้องเข้าไปต้องแสวงหาทรัพยากรในประเทศจีน อีกทั้งโศกนาฏกรรม 9/11 ก็ได้กระตุ้นกระแสผู้ก่อการร้ายในรัสเซีย ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซีย-สหรัฐก็มักจะขึ้นๆ ลงๆ แต่ส่วนมากจะค่อนไปทางที่ไม่สู้ดีนัก แม้ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า พยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่ก็ไม่สามารถทำได้เนื่องจากมีผลประโยชน์ทางการทหารที่ขัดแย้งกัน
ในแง่ของข้อมูลด้านสถิติ เปรียบเทียบการเติบโตด้านประชากร (population growth) ของรัสเซียหลังสิ้นสุดสงครามเย็นมีสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในเครือสหภาพโซเวียต สูงกว่ายูเครนในขณะนั้นถึง 3 เท่า แต่กลับมีอัตตราการเจริญพันธุ์ (fertility rate) ต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากคนส่วนใหญ่อพยพจากประเทศในสหภาพโซเวียตกลับมาอยู่รัสเซีย ทำให้รัสเซียในปัจจุบันประสบปัญหาด้านประชากร ค่าจีดีพีต่อหัว (GDP per capita) ของรัสเซียแม้จะเพิ่มขึ้นหลังสงครามเย็น แต่ก็ยังถือว่าต่ำ ต่ำกว่าประเทศไทยและจีน รายได้หลักของรัสเซียมาจากอุตสหกรรมทรัพยากรธรรมชาติ (Extractive industries) เช่นเพชร น้ำมัน เหมืองยูเรเนี่ยม ซึ่งประเทศที่มีทรัพยากรแบบนี้เยอะจะอัตราการคอรัปชั่นจะสูง เช่นในกลุ่มประเทศอาหรับ รัสเซียก็เช่นกัน การเมืองภายในประเทศรัสเซียมีเป้าหมายคือช่วงชิงสิทธิ์ในการครอบครองทรัพยากรธรรมชาติภายในประเทศ และมุ่งห้ำหั่นนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามอย่างไม่ลดราวาศอก ระบบการเมืองเช่นนี้จึงสร้างนักการเมืองอย่างวาลาดิเมียร์ ปูติน ขึ้นมา จึงไม่น่าสงสัยเลยว่าเหตุใดรูปแบบการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศของรัสเซียจึงมีลักษณะแข็งกร้าวและยอมหักไม่ยอมงอเช่นนี้ ซึ่งในกรณีของ MH17 นี้เราก็จะได้เห็นว่ารัสเซียไม่แสดงท่าที หรือความรับผิดชอบใดๆ แม้จะมีคำครหาว่ารัสเซียมีส่วนในการสนับสนุนอาวุธให้กับกลุ่มกบฏซึ่งเป็นผู้ต้องสงสัยรายใหญ่ก็ตาม
ไบรอันกล่าวทิ้งท้ายว่า “อุบัติเหตุในครั้งนี้ มันก็เหมือนเอากุญแจรถ กับวิสกี้ไปให้กับเด็กวัยรุน เรื่องวุ่นวายย่อมเกิดขึ้นตามมาเสมอ”
หลังจากการบรรยาย วิทยากรทั้ง 2 ท่านได้เปิดโอกาสให้ผู้ร่วมเสวนาซักถาม โดยมีคำถามนี่น่าสนใจดังนี้
คำถาม: การที่รัสเซียมีท่าที่ไม่ชัดเจนในการสนับสนุนในกลุ่มกบฏในยูเครนตะวันออกจะส่งผลอย่างไรต่อไป
ตอบ: แน่นอนว่ามันทำให้ปัญหาดังกล่าวเรื้อรัง และไม่มีทีท่าจะจบง่ายๆ แต่ก็ดูเหมือนว่ารัสเซียก็คงยืนยันที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ของรัสเซียในพื้นที่ดังกล่าวยังมีไม่มากพอ ที่ผ่านมาในกรณีความขัดแย้งทางพรมแดนระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาเมเนียซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของรัสเซีย รัสเซียก็มิได้ทำอะไร มีอยู่เงื่อนไขเดียวก็คือมีคนรัสเซียเสียชีวิตในพื้นที่ เช่นในกรณีของจอเจียร์ที่แม้รัสเซียจะไม่ได้มีผลประโยชน์ในพื้นที่ แต่เมื่อมีคนรัสเซียเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความขัดแย้ง รัสเซียก็เข้าแทรกแซง
คำถาม: แนวทางของกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนจะเป็นอย่างไรต่อไป
คำตอบ: มีความเป็นไปได้อยู่ 3 ทาง 1. คือรวมดินแดนเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซียซึ่งน่าจะเกิดขึ้นได้ยากเพราะรัสเซียก็ไม่อยากจะยุ่งเท่าไร 2. คือการกระจายอำนาจ และตั้งเป็นเขตปกครองพิเศษ ผ่านกระบวนการเจรจาซึ่งอันนี้มีความเป็นไปได้มาก 3. คือส่งกองกำลังพิเศษจากนานาชาติเข้าไปเป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ย ซึ่งก็ไม่น่าเป็นไปได้อีกเช่นกัน เพราะไม่มีแรงจูงใจที่รัสเซียจะทำ อีกทั้งสหรัฐฯ ซึ่งเป็นอีก 1 ประเทศที่มีศักยภาพในการส่งกองกำลัง ก็ไม่น่าจะเข้ามายุ่งด้วยเช่นกัน เพราะแค่ปัญหาอิสราเอลในตอนนี้ก็ถือว่าน่าปวดหัวพอแล้ว
คำถาม: เหตุใดกรณี MH17 จึงไม่ได้รับความสนใจมากเท่า MH370 และหากผลการสอบสวนออกมาพบว่ากลุ่มกบฏเป็นผู้ยิงขีปนาวุธจริงๆ จะเกิดอะไรขึ้นกับกลุ่มกบฏ
ตอบ: ในประเด็นความสนใจ ผมคิดว่าเป็นปัญหาของสื่อมากกว่า สื่อในไทยอาจจะไม่ให้ความสนใจมากนัก แต่สื่อต่างชาติให้ความสนใจประเด็นนี้มาก และมีการรายงานข่าวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสื่อระหว่างประเทศเขาค่อนข้างเป็นกลาง และละเอียดอ่อนในประเด็นนี้มากจึงยังไม่รีบลงความเห็นว่าใครยิง แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าจะเป็นกลุ่มกบฏ แต่ก็น่าจะเป็นการยิงแบบไม่ตั้งใจ เนื่องจากเทคโนโลยีของกลุ่มกบฏยังไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะแยกแยะเครื่องบินรบกับเครื่องบินพาณิชย์ได้ ซึ่งหากผลการสอบสวนออกมาในลักษณะนี้ ย่อมส่งผลกระทบต่อการยอมรับของกลุ่มกบฎในประชาคมระหว่างประเทศอย่างแน่นอน อีกทั้งยังทำให้รัสเซียดูแย่ด้วย เนื่องจากรัสเซียไม่แสดงท่าทีใดๆ เลย แต่รัสเซียก็คงจะไม่สนใจอยู่แล้ว เพราะปูตินไม่ได้ให้ความสำคัญกับความนิยมของประชาคมระหว่างประเทศ เขาต้องการแค่ความยำเกรง